อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเชียงราย ได้ริเริ่มโครงการ “หมีเกย วาดหวัง” เพื่อฟื้นฟูจิตใจของผู้ประสบภัยหลังเกิดมหาอุทกภัยในตัวเมืองเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 โดยโครงการนี้เริ่มต้นจากการเก็บตุ๊กตาหมีตัวแรกที่ถูกทิ้งไว้ริมขอบกำแพง จากนั้นขยายเป็นการรวบรวมตุ๊กตาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทั้งหมดกว่า 200 ตัวเพื่อนำมาทำความสะอาดและหาวิธีส่งคืนเจ้าของเดิม
“ผมตระหนักดีว่าจะมีหนทางใดที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้สูญเสียให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง”
ผลงานที่อาจารย์ได้ริเริ่มเป็นท่านแรกนี้ ทางโครงการ “วาดหวัง” จะขอนำไปเสนอในงาน UCCN (UNESCO Creative Cities Network) ที่จัดขึ้น ณ เมืองอาซาฮิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 21-25 ตุลาคม 2567 โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงถึงการฟื้นฟูจิตใจและการสร้างความหวังให้กับเด็กๆ และครอบครัวในเชียงรายที่สูญเสียข้าวของสำคัญหลังน้ำท่วม
“ผมจะเล่าผ่านเรื่องราวของตุ๊กตาหมีเกย วาดหวัง ฟื้นฟู ชูใจ เจียงฮาย บ้านเฮา”
อาจารย์สืบสกุลเล่าว่า ตุ๊กตาหลายตัวที่เก็บได้มักอยู่ในสภาพเปื้อนโคลน บางตัวเปรอะเปื้อนจนแทบจำไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่ตุ๊กตาได้รับการทำความสะอาดและจัดแสดง ผู้คนที่พบเห็นกลับมีความยินดีและซาบซึ้งกับสิ่งเล็กๆ ที่ถูกสร้างขึ้นจากสิ่งของที่เคยสูญเสีย
นอกจากการเก็บและทำความสะอาดตุ๊กตา โครงการยังมีการเชิญชวนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกว่า 600 คน ช่วยกันล้างบ้านและฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่ประสบภัยทั่วเชียงราย รวมถึงช่วยกันจัดเก็บขยะน้ำท่วมกว่า 50,000 ตัน เพื่อให้บ้านและชุมชนกลับมามีสภาพพร้อมใช้งานอีกครั้ง
โครงการนี้ไม่ได้เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการคืนสภาพบ้านเรือน แต่ยังเน้นการฟื้นฟูจิตใจและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียครั้งใหญ่
โครงการได้กำหนดจัดแสดงตุ๊กตาที่เก็บมาได้ทั้งหมดในงาน “จดหมายเหตุฉบับประชาชน มหาอุทกภัยเชียงราย 2567” ที่ขัวศิลปะ จ.เชียงราย ในวันที่ 19 ตุลาคม 2567 เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าของเดิมมาตามหาตุ๊กตาของตนเอง โดยจะมีการเก็บรักษาและตามหาเจ้าของจนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2567 หากยังมีตุ๊กตาที่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ โครงการจะนำตุ๊กตาเหล่านั้นไปประมูลเพื่อนำรายได้เข้าสู่กองทุนฟื้นฟูชุมชนและเมืองเชียงรายต่อไป
อาจารย์สืบสกุลยังกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะไม่หยุดเพียงแค่การฟื้นฟูชุมชนเท่านั้น แต่ยังมีแผนในการพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มศิลปิน นักธุรกิจ และหน่วยงานท้องถิ่นในเชียงราย เพื่อสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและสามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ผมตระหนักดีว่าจะมีหนทางใดที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจผู้สูญเสียให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง”
อาจารย์สืบสกุลเล่าให้ฟังอีกว่า ทุกวันๆ ที่ออกไปทางานร่วมกับอาสาสมัคร ผมพบว่าประชาชนจ่อมจมอยู่ในความเศร้าโศก ท้อแท้ และสิ้นหวัง เนื่องจากการล้างบ้านเป็นงานหนักและใช้เวลานานหลายวัน อีกทั้งขยะน้าท่วมคือข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจาวัน ตั้งแต่ของชิ้นใหญ่เช่นทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตียง โซฟา ที่นอนไปจนถึงของชิ้นเล็กๆ เช่น ของเล่น และตุ๊กตาผ้า ข้าวของทั้งหมดที่จมน้าและกองโคลนคือทรัพย์สิน ความรัก และความผูกพันของผู้คน นอกเหนือจากการล้างบ้านแล้ว
การร่วมมือระดับสากลและแนวทางในอนาคต
การนำเสนอ “โครงการวาดหวัง” ในเวที UCCN ณ ประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้เชียงรายได้รับการยอมรับในระดับสากลและกลายเป็นเมืองตัวอย่างในการฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยหลังภัยพิบัติ โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรท้องถิ่น เช่น Chiang Rai Creative City Network, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเชียงราย และกลุ่มศิลปินเชียงราย
อาจารย์สืบสกุลสรุปว่า สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เพียงแค่การจัดการภัยพิบัติ แต่คือการสร้างขวัญกำลังใจและความหวังให้กลับคืนสู่ผู้ประสบภัย เพราะทุกคนต่างมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูชุมชนและสร้างอนาคตใหม่ให้กับบ้านเกิดของตนเอง
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง