Categories
ECONOMY

การค้าชายแดนไทยพุ่ง 4% ไทยได้ดุลการค้า 21,149 ล้านบาท

การค้าชายแดนและผ่านแดนเดือนพฤศจิกายน 2567 ขยายตัว 4% ไทยดุลการค้า 21,149 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่ามีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 150,203 ล้านบาท ขยายตัว 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการส่งออก 85,676 ล้านบาท (+15.3%) และการนำเข้า 64,527 ล้านบาท (-8.0%) ทำให้ไทยได้ดุลการค้า 21,149 ล้านบาท

ตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน 11 เดือนแรกปี 2567

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่ารวม 1,665,295 ล้านบาท (+6.0%) แบ่งเป็นการส่งออก 957,945 ล้านบาท (+6.5%) และการนำเข้า 707,350 ล้านบาท (+5.4%) ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 250,596 ล้านบาท

การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน 2567 การค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่ารวม 82,439 ล้านบาท (+4.6%) โดยไทยได้ดุลการค้า 20,974 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้:

  • มาเลเซีย: มูลค่า 25,395 ล้านบาท (+2.8%)
  • ลาว: มูลค่า 23,865 ล้านบาท (+1.3%)
  • เมียนมา: มูลค่า 18,286 ล้านบาท (+1.9%)
  • กัมพูชา: มูลค่า 14,893 ล้านบาท (+18.1%)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล (3,479 ล้านบาท) น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ (1,597 ล้านบาท) และน้ำยางข้น (1,320 ล้านบาท)

การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม

เดือนพฤศจิกายน 2567 การค้าผ่านแดนมีมูลค่ารวม 67,764 ล้านบาท (+3.2%) โดยไทยได้ดุลการค้า 174 ล้านบาท รายละเอียดการส่งออกสำคัญ:

  • จีน: มูลค่าสูงสุด 37,264 ล้านบาท (+9.0%)
  • สิงคโปร์: มูลค่า 8,859 ล้านบาท (+2.7%)
  • เวียดนาม: มูลค่า 5,867 ล้านบาท (+19.3%)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (7,497 ล้านบาท) ผลิตภัณฑ์ยาง (3,006 ล้านบาท) และยางแท่ง TSNR (2,344 ล้านบาท)

การส่งออกชายแดนไทย – เมียนมา

การส่งออกชายแดนไทย – เมียนมาในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีมูลค่า 11,402 ล้านบาท (+6.5%) แม้ว่าการขนส่งในพื้นที่ด่านแม่สอด จังหวัดตาก จะหยุดชะงักเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบ แต่มีการเปลี่ยนเส้นทางไปใช้ด่านอื่นที่ปลอดภัยกว่า เช่น:

  • ด่านระนอง: มูลค่าการส่งออก 2,257 ล้านบาท (+131.0%)
  • ด่านแม่สาย: มูลค่าการส่งออก 1,496 ล้านบาท (+13.0%)
  • ด่านสังขละบุรี: มูลค่าการส่งออก 708 ล้านบาท (+714.5%)

สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม และกระเบื้องปูพื้น

แผนการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนปี 2568

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเผยว่าในปี 2568 กรมการค้าต่างประเทศมีแผนเชิงรุกเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและกระตุ้นการค้าชายแดน โดยจะจัดกิจกรรมภายใต้โครงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจในพื้นที่แนวชายแดน เริ่มจากงาน “พาณิชย์นำทัพสินค้าชุมชน” ที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2568 และกิจกรรมต่อเนื่องในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ

เป้าหมายของแผนพัฒนา

  • กระจายการลงทุนและกิจกรรมเศรษฐกิจไปยังแนวชายแดน
  • เพิ่มโอกาสการค้าสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย
  • ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชนในพื้นที่ชายแดน

การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนยังคงเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยมีการส่งเสริมการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค และผลักดันให้เกิดความร่วมมือที่ยั่งยืนในอนาคต

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR
Categories
ECONOMY

ส่งออกไทย 7 เดือนแรกปี 67 ไทย ยังขาดดุลการค้าที่ 231,556.5 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2567 โดยชี้ข้อมูลระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง มีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (938,285 ล้านบาท) ขยายตัว 15.2% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5-8% นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 

โดยการส่งออก 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 2567) ขยายตัว 3.8% มูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8% ขณะที่การนำเข้า 7 เดือนแรก มูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4%  โดยรวม ไทยยังขาดดุลการค้าที่ 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นายพูนพงษ์ ยังมั่นใจว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-2% และมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ในกรอบบน ซึ่งจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้า หลังการเลือกตั้งในปลายประเทศสำคัญ

“ส่งออกเดือนกรกฎาคม ขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งเกษตร ตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรม ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ตามเทคโนโลยีดิจิทัล และการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ที่จะได้รับประโยชน์ในด้านราคาที่สูงขึ้น จากภาวะอุปทาน (Supply) ในตลาดโลกที่น้อยลง แต่ยังคงมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ ค่าระวางเรือของโลกสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน และสินค้าส่งออกสำคัญบางรายการ ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าใหม่ที่เข้ามาทดแทนสินค้าเดินชมในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ” นายพูนพงษ์ กล่าว

สำหรับสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,245.6 ล้านดอลล่าร์ กลับมาขยายตัว 3.7% โดยสินค้าที่ขยายตคัวดีได้แก่ ยางพารา, ข้าว, ไก่สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแปรรูป ส่วนอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าส่งออก 2,118.3 ล้านดอลล่าร์ กลับมาขยายตัว 14.6% โดยสินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารทะเลกระป๋อง-แปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าส่งออก 20,254.2 ล้านดอลล่าร์ ขยายตัว 15.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง 

ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ ขยายตัวได้ดี ตามภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ, จีน, อาเซียน (5), กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป ส่วนตลาดสวิสเซอร์แลน์ ขยายตัวสูงที่สุด 517.5% ตามด้วยเอเชียใต้ ขยายตัว 29.5% และสหรัฐ ขยายตัว 26.3% ส่วนจีน อยู่อันดับสิบ ที่ขยายตัว 9.9%

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาพรวมส่งออกไทยปีนี้ คาดว่า จะทำได้ตามเป้าหมาย 1-2% แม้ว่า เงินบาทแข็งอาจมีผลกระทบกับคำสั่งซื้อใหม่ในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้าอยู่บ้าง ซึ่งผู้ส่งออกต้องพิจารณาปัจจัยค่าเงินให้ดี ก่อนตกลงทำสัญญาซื้อขายสินค้า

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ทุเรียนแชมป์ส่งออกรถไฟเร็วสูงจีน – สปป.ลาว ลดเวลาขนส่งเหลือ 15 ชั่วโมง

 

วันที่ 20 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ของปี 2566 มี มูลค่ารวม 2,848.41 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 260 จากปี 2565 โดยผลไม้ไทยได้รับความนิยมในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งการใช้รถไฟจีน-ลาว สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เหลือใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคในอนาคต
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า 10 อันดับแรกของสินค้าที่ส่งออกทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนมีมูลค่าการส่งออกและขยายตัวสูงที่สุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ได้แก่ 1) ทุเรียนสด อยู่ที่ 2,073.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 364 เมื่อเทียบกับช่วงกันของปี 2565 2) มังคุดสด 378.65 ล้านบาท 3) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท 4) ลำไยสด 37.40 ล้านบาท 5) สินค้าแร่ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ 17.89 ล้านบาท 6) สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท 7) ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท 8) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท 9) มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท และ 10) ผลไม้อื่น ๆ 1.52 ล้านบาท ตามลำดับ 
 
ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ – หนองคาย) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค สำหรับระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย เชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาการขนส่งน้อยลง และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ในการส่งออกสินค้าไปจีนได้อีกด้วย
 
“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางราง ซึ่งเป็นการขนส่งที่สามารถลดต้นทุน เวลา และค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออกไทย พร้อมเชื่อมั่นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครอบคลุมตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการ จะมีส่วนสำคัญ ส่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News