Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

“Fashion on the Road 2nd Chiang Rai” สืบสานวัฒนธรรมล้านนา

 

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 บริษัท วัฒนกูล กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดย ภูมิภาคภาคเหนือ และจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรม “Fashion on the Road 2nd Chiang Rai Designer’s Competition” ในรูปแบบงานออกแบบผ้าพื้นเมือง ผ้าจากแต่ละภูมิภาค ผสมผสานผ้าชาติพันธุ์ของเชียงราย ภายใต้แนวคิด “แฟชั่นผ้าล้านนาสู่แฟชั่นระดับโลก” เชียงราย โลดแล่นบนเวทีแฟชั่นโชว์แคทวอล์กเหนือสุดของประเทศไทย นำเสนอ 100 ชุดผ้าไทยล้านนา จาก 168 ดีไซน์เนอร์ทั่วประเทศ ร่วมดันจุดขาย F-Fashion เพื่อพัฒนาส่งเสริมผ้าไทย แฟชั่น และสิ่งทอของประเทศ และยกระดับผ้าแฟชั่นของเชียงรายสู่ระดับสากล ตลอดจนสร้างและพัฒนานักออกแบบของจังหวัดเชียงรายและขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศ 

ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าของแต่ละภูมิภาคของไทย รวมถึงเปิดช่องทางการขาย ขยายตลาดไปสู่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยมี นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานในพิธีเปิดฯ และนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงราย พร้อมหน่วยงานพันธมิตรทุกภาคส่วนให้เกียรติร่วมงาน ณ หน้าด่านพรมแดนไทย – เมียนมา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

กิจกรรมไฮไลต์ในงาน ได้แก่ Fashion on the Road 2nd At Mae Sai ครั้งที่สองของงานแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยของภูมิภาคภาคเหนือกว่า 100 ชุด ในวันที่ 1 กันยายน 2567 เวลา 16.00 น. นำโดยนางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยให้เกียรติร่วมเดินแบบ พร้อมเหล่านายแบบและนางแบบ การร่วมเฟ้นหาสุดยอดนักออกแบบแฟชั่นดีไซน์รุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่มีความสนใจแฟชั่น งานออกแบบผ้าพื้นเมือง ภายใต้แนวคิด “แฟชั่นผ้าล้านนาสู่แฟชั่นระดับโลก” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 400,000 บาท การจัดงานกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงแฟชั่นโชว์ชุดจากการออกแบบของผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำมาแสดงแฟชั่นโชว์กว่า 100 ชุด 

จากดีไซน์เนอร์ทั่วประเทศที่ออกแบบตัดเย็บชุดจากผ้าไทยของแต่ละภูมิภาค ผสมผสานผ้าชาติพันธุ์จังหวัดเชียงรายเป็นการต่อยอด F-Fashion โดยมีร้านค้าที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานผ้า Art & Craft อันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมยกทับร้านอาหารดังของเมืองเชียงรายรวมกว่า 100 ร้าน ให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัส และยังชวนร่วมสนุกกับกิจกรรม Check in @ Chiang Rai เพียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย ผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการร่วมกิจกรรมสแกน QR Code พร้อม Check in at Chiang Rai บนสื่อโซเซียลเพื่อรับสิทธิพิเศษส่วนลดจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ บริษัท วัฒนกูล กร๊ป จำกัด จังหวัดเชียงราย และ ททท.โดยภูมิภาคภาคเหนือ รวมถึงหน่วยงานพันธมิตรทุกภาคส่วน เชื่อมั่นว่า กิจกรรม “Fashion on the Road 2nd” Chiang Rai Designer’s Competition จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านผ้า แฟชั่น และด้านการท่องเที่ยวที่ดีของภาคเหนือแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ รวมทั้งสะท้อนศักยภาพของหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนและเสนอขายสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ นำสู่การหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง ตลอดจนผลักดันภาพรวมตลาดในประเทศ ประจำปี 2567 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Chiang Rai Fashion To The World

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI FOOD

ล้านนาตะวันออก สวรรค์ของเมืองกาแฟ Eastern Lanna Coffee Fest 2024

 

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567  ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลกาแฟล้านนาตะวันออก สวรรค์ของเมืองกาแฟ Eastern Lanna Coffee Fest 2024” กิจกรรม ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟ และพัฒนาเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ โครงการเพิ่มขีดในการแข่งขันการเกษตรระดับภูมิภาค โดยมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย  ผู้อำนวยการส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
.
นายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ตามประเด็นการพัฒนา ส่งเสริมการผลิตและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างตราสินค้ากาแฟ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ และนำเสนอกาแฟคุณภาพของเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาต่อผู้บริโภค และเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ
.
ซึ่งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันดำเนินการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จำนวน 27 ราย จาก 4 จังหวัด โดยการอบรมให้ความรู้ด้านการทดสอบรสชาติของกาแฟ หรือ cupping และประเมินคุณภาพเมล็ดกาแฟโดย Q grader ตามมาตรฐานการรับรองของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ SCAA พร้อมทั้งให้เกษตรกรแบ่งผลผลิตมาผลิตเป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปกติเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอินทรีย์ส่วนใหญ่จะจำหน่ายเป็นแบบเชอรี่ ในราคา 29-40 บาท/กก. หากมีการผลิตแบบประณีตยกระดับเป็นกาแฟพิเศษแล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นได้มากกว่า 1,000 บาท/กก. อีกทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม และสร้างตราสินค้า พร้อมทั้งนำเสนอกาแฟคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2567 ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย 

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การออกบูธประชาสัมพันธ์ จัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพของจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน และบูธของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากาแฟ รวม 30 บูธ การเจรจาธุรกิจ และมีกิจกรรม workshop สาธิตให้ความรู้ด้านกาแฟ การทำสครับกาแฟ เทคนิคการชงกาแฟให้ได้รสชาติที่ดี และชิมกาแฟคุณภาพจากเกษตรกรผู้ปลูกที่คัดสรรมาจาก 4 จังหวัด ที่จะสลับสับเปลี่ยนมาให้ผู้ร่วมงานได้ชิมรสชาติกันทุกวัน พร้อมกิจกรรมการแสดงดนตรี ศิลปวัฒนธรรม และการร่วมสนุกเล่นเกมส์รับของรางวัลด้วย
.
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีพื้นที่ปลูกกาแฟร้อยละ 30.36 ของพื้นที่ปลูก ทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้ามากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมาเป็นจังหวัดน่าน แพร่ และพะเยา โดยกาแฟของแต่ละจังหวัดจะมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นต่างกัน เนื่องจากด้วยพื้นที่ปลูกและกระบวนการแปรรูป สถิติพื้นที่ปลูกกาแฟตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมกาแฟในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จะเห็นว่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กลุ่มจังหวัด ไม่ต่ำกว่า 721 ล้านบาทต่อปีแล้ว ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ด้วยการปลูกร่วมกับไม้ผลและป่าธรรมชาติ จึงเรียกได้ว่าเป็นกาแฟรักษาป่า สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของภาคเหนือและกลุ่มจังหวัดที่ว่า “ท่องเที่ยวบนพื้นฐานวัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สู่เศรษฐกิจมั่นคง” 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

กาดอุตสาหกรรมรักษ์โลก ชม ชิม ช้อป ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป จ.เชียงราย

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานในพิธีเปิดงาน “BCG Industry Happy market กาดอุตสาหกรรมรักษ์โลก” ณ ศูนย์การค้า บิ๊กซี  ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เชียงราย 1  มีนางกฤษนันท์ ทะวิชัย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้  ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงาน  ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยว มาจับจ่ายซื้อของภายในงานอย่างคึกคัก 

          นางกฤษนันท์ ทะวิชัย อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า งาน “BCG Industry Happy market กาดอุตสาหกรรมรักษ์โลก” กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปโดยใช้วิทยาศาสตร์  นวัตกรรม ตามแนวคิด BCG ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและสร้างเครือข่ายผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ อาหารปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้  เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่จัดแสดงและทดสอบตลาด ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการจัดจำหน่าย ให้แก่ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่ได้รับองค์ความรู้ การปรับเปลี่ยนแนวคิด โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตามแนวคิด BCG จากการที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ได้จัดหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่” เมื่อวันที่ 23 – 26 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา

          ด้าน นางสุภาพรรณ  หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย  กล่าวว่า  จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคการเกษตร ดังนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของจังหวัดเชียงราย ซึ่งการสร้างมูลค่าเพิ่ม  โดยยการส่งเสริมการเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญโดยเน้นการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมี  หรือใช้ในระดับที่ปลอดภัย รวมทั้งการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ตลอดจนการส่งเสริม
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกร  วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการอุตสาทกรรมเกษตรแปรรูป ให้มีความมั่นคงด้านอาชีพ และมั่งคั่งด้านรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป

          สำหรับงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป “BCG Industry Happy market กาดอุตสาหกรรมรักษ์โลก” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 10 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์การค้าบิ๊กซีเชียงราย 1 ชั้น 1 ลานบิ๊กบาร์ซาร์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มหกรรม “แก้จน คนเจียงฮาย” ความสำเร็จการขจัดความยากจน

 

เมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานมหกรรมความสำเร็จการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้คอนเซป “มหกรรม Show case แก้จน คนเจียงฮาย” โดยมีนางอำไพ บัวระดก พัฒนาการจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

ทั้งนี้สืบเนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัย การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมขับเคลื่อนนโยบายขจัดความยากจนฯ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอย่างบูรณาการเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
 
จังหวัดเชียงรายได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้กำหนดการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ( ศจพ. ) ในทุกระดับ และมีการติดตามการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนตามระบบ TPMAP จำนวนเป้าหมาย 7,281 ครัวเรือน รวมถึงกรบูรณาการให้ความช่วยหรือครัวเรือนยากจน ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ได้จัดทำโครงการ 1 เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน 1 ครัวเรือนยากจน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 
 
โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการคือ 
1. เพื่อหนุนเสริมกลไกในการเยี่ยมเยือน ดูแลชีวิต ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนโดยยึดหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา 
2. เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี 
3. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบรอบวันเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา
 
สำหรับการจัดกิจกรรม ” มหกรรม Show Case แก้จน คนเจืองฮาย ” ในวันนี้ มีผู้เข้าร่ามกิจกรรมได้แก่ พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกอำเภอ จำนวน 109 คน และกิจกรรมประกอบด้วยการจัดนิทรรศการเผยแพร่ผลสำเร็จผลการดำเนินงานขจัดความยากจนฯ และผลสำเร็จ Best Practice ตามโครงการ 1 เจ้าหน้าที่พัฒนาชุน 1 ครัวเรือนยากจน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต จาก 18 อำเภอ กิจกรรมทุปกระปุกออมสิน ตามโครงการออมวันละบาท สร้างสุข สร้างรอยยิ้ม สร้างองค์กรคุณธรรม การมอบเงินสมทบทุนสร้างบ้านตามโครงการ เชียงรายสานฝัน ปันสุข สร้างรอยยิ้มปีที่ 7 และการประกวดการจัดการความรู้ ( KM ) ในรูปแบบแผนที่ความคิด ( Mind mapping )
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลฯ ดันก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมชลประทานเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมปัจฉิมทเทศ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำ จังหวัดเชียงราย โดยมีนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย เป็นผู้กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์โครงการ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 2 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 140 คน

เนื่องจากลุ่มน้ำแม่คำและลุ่มน้ำแม่จัน ในฤดูแล้งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนในฤดูฝนประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย สร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งก่อนหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กกระจายอยู่พื้นที่รอบๆ ไม่ประสบความสำเร็จ และแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงดำเนินการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่คำและลุ่มน้ำแม่จัน โดยวางแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำ 

ด้านอ่างเก็บน้ำแม่คำ มีที่ตั้งหัวงานอยู่ในเขต ม.13 บ.สามัคคีใหม่ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความยาวสันเขื่อน 352 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 64 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 51.73 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จตามแผนงาน จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ประมาณ 67,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ช่วยรักษาสมดุลนิเวศรอบอ่าง/ตลอดลำน้ำ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำด้านอื่นๆ ของประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นเพียงการสรุปผลการดำเนินงานของโครงการให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่อาศัยในบริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวฯ อยู่ในช่วงการสำรวจพัฒนาโครงการ โดยกรมชลประทานมอบหมายให้บริษัท วิศวชลกร จำกัด และ บริษัท ศุภฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ ซึ่งมีแผนจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 และคาดว่าจะทำการก่อสร้างประมาณปี 2570 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้ ช่วยเหลือประชาชนให้รับความเป็นธรรม

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์คอนเวนชั่น อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายกำธร นาคทิพย์ ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนอธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกันทำพิธีเปิดโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” 

โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 10 หน่วยงาน และสถาบันการเงิน ตลอดจนลูกหนี้ เข้าร่วมพิธีเปิดจำนวนมาก ซึ่งจัดโดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย ร่วมกับเจ้าหนี้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยสถาบันการเงิน 6 สถาบัน ส่วนราชการ 2 แห่ง และบริษัทเอกชน 1 แห่ง คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด สหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด และเจ้าหนี้อื้นๆ มาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ สำหรับการไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้ครัวเรือน 

โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย ให้ความช่วยเหลือคู่ความ ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน โดยจะทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ได้รวดเร็วขึ้น เป็นที่พอใจกับทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ปริมาณคดีการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และการอายัดทรัพย์สินลดลง ก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม และช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้โดยง่าย และส่งผลให้สามารถยุติข้อพิพาทชั้นบังคับคดีด้วยความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย อีกด้วย

นายกำธร นาคทิพย์ ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำหรับโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” ครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สิน การอายัดทรัพย์สิน หลังศาลมีคำพิพากษา ได้เห็นความสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี สืบเนื่องจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) หรือมีเหตุอื่นทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ 
 
เป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องบังคับคดี ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด หรือถูกอายัดทรัพย์ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมบังคับคดี โดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” เป็นประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

ต้อนรับฤดูฝน Green season ครั้งแรกของเชียงราย ดอกไม้ในสายฝน

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดงานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีสวนสาธารณะหลายแห่ง เช่น สวนสาธารณะเกาะลอย สวนสาธารณะนครเชียงรายริมน้ำกก สวนสาธารณะหาด รด. เชียงราย ซึ่งมีการพัฒนาเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ริมแม่น้ำกกและสามารถเชื่อมโยงมาถึงสวนสาธารณะหาดนครเชียงรายแห่งนี้ เทศบาลฯ จึงอยากพัฒนาหาดนครเชียงรายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝน Green season ที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างกระแสความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวช่วงฤดูฝน  ซึ่งจะทำให้ เชียงราย เที่ยวได้ทั้งปี ดังนั้นเทศบาลนครเชียงรายจึงได้ร่วมกับ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงราย เครือข่ายด้านการท่องเที่ยว จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จัดงานดอกไม้ในสายฝนขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น  กระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้า การลงทุน สร้างงานสร้างรายได้ ให้กับประชาชน และส่งเสริมสนับสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์จังหวัดเชียงราย ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ด้านนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงฤดูฝน Green season ถือว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันต้อนรับนักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือน ผลักดันให้เกิดกระแส Soft power ซึ่งปีนี้การจัดงานดอกไม้ในสายฝนเป็นครั้งแรก นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาจังหวัดเชียงรายที่มุ่งเน้นการทำงานแบบ บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า “เชียงรายเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สะอาด ปลอดภัย น่ายล”

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขอชื่นชมจังหวัดเชียงราย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจ สนับสนุนการจัดงานดอกไม้ในสายฝนในครั้งนี้  ซึ่งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อยอด เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน“สุขทันที ที่เที่ยวไทย”เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวออกไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องอาศัยทำงานแบบบูรณาการความ ร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม ชมรม หอการค้า สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ชุมชน ฯลฯ ที่จะสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ ในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดประทับใจของผู้ที่มาเยี่ยม ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ผ่านการเดินทางและประสบการณ์ จากการได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารพื้นเมือง เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยว งานศิลปะ งานหัตถกรรมฝีมือ ผ้าทอ การแต่งกายพื้นเมืองเชียงราย ที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่นสวยงาม และสัมผัสวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าชาติพันธุ์หลากหลาย ในจังหวัดเชียงราย สิ่งเหล่านี้นับเป็น ซอฟเพาเวอร์ ที่สามารถก่อให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนในแต่ละจังหวัด และในชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ภายในงานมีขบวนพาเหรดจากหลากหลายกลุ่มของจังหวัดเชียงราย เช่น กลุ่มน้องนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 6 โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา สถาบันสอนเต้นจาก MY Dance Academy Step it Up กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยวัยที่สาม นครเชียงราย กลุ่มรุ้งสร้างสรรค์เชียงราย และอีกมากมาย ทั้งนี้งานดอกไม้ในสายฝน Chiangrai Floral & Fog Fest จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 28 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 07.00 – 21.00 น. ชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การแสดงของน้องๆ เยาวชน การประกวดแข่งขันขับร้องเพลง รำวงย้อนยุคจากชุมชนในเขตเทศบาลฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การแสดงของศิลปินชื่อดัง การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง การออกร้านจำหน่ายอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงโซนหน่วยราชการ อปท. และโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงราย ตลอดทั้ง 10 วัน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘พิสันต์’ ดันผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ต่อยอดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางหลังแรก) นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามโครงการการพัฒนากิจกรรมและการตลาด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมหลัก การส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดยมีนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้แทน เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วม

นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า งานอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การนำมรดกทางภูมิปัญญาการทอผ้าให้คงอยู่ เกิดความภาคภูมิใจในลายผ้าอัตลักษณ์ ประจำจังหวัดเชียงราย “เชียงแสนหงส์ดำ” สีม่วงเชียงราย และผ้าลายพระราชทาน รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เด็ก เยาวชนและ ประชาชน ให้ความสนใจ ในการอนุรักษ์ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย มากยิ่งขึ้น

ซึ่งกิจกรรม ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์ การพัฒนากิจกรรมและการตลาด การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงรายฯ ระหว่างวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียนเชียงราย รีสอร์ท การจัดการประกวดการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเอ็ม บูทีค รีสอร์ท เชียงราย โดยมีผู้เข้

าร่วมประกวด จำนวนทั้งสิ้น 33 ผลงาน และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก 20 ผลงาน เพื่อนำมาแสดงแบบในครั้งนี้

นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย สู่ระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ Food อาหาร, Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย

รวมทั้ง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ยูเนสโกได้ยกให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างงาน สร้างอาชีพ สู่การเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน ก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย

  1. กิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญา นิทรรศการผ้าทอ และการออกบูธแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ผ้า และเครื่องประดับ ของฝากของที่ระลึก
  2. จัดกิจกรรมแสดงแบบแฟชั่นจากผู้เข้าร่วมประกวดการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงรายฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเอ็ม บูทีค รีสอร์ท เชียงราย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำนวนทั้งสิ้น 20 ผลงาน เพื่อนำมาแสดงแบบในวันนี้
  3. กิจกรรมการแสดงแฟชั่นจากนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์ ในชุด“สีสันผ้าเชียงราย สู่แฟชั่นผ้าไทยใส่ให้สนุกที่ยั่งยืน” (Sustainable Fashion Style @ Chiangrai)

     ชุดที่ 1 นายอำเภอและประธานแม่บ้านมหาดไทยอำเภอ จำนวน 18 คู่

     ชุดที่ 2 หัวหน้าส่วนราชการและคู่สมรส จำนวน  5 คู่

     ชุดที่ 3 รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ) (ชุดฟินนาเล่ Finale set)

  1. การมอบรางวัลการประกวดการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
  2. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางแว่นแก้ว ภิรมย์พลัด ชื่อชุดผลงาน เดรสฮ้อยใจ๋สายใยไทลื้อ
  3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นางสาวกนกพร ธรรมวงค์ ชื่อชุดผลงาน วัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญา Culture of wisdom
  4. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นางสุขาวดี ติยะธะ ชื่อชุดผลงาน ผ้าชุดไทลื้อร่วมสมัยไฉไลด้วยฝ้ายธรรมชาติ
  5. รางวัลชมเชย ได้แก่ นายลิขิต รินชมพู ชื่อชุดผลงาน กอด
  6. รางวัลชมเชย ได้แก่ นายสมชัย ธงชัยสว่าง ชื่อชุดผลงาน Drive to The Future

อีกทั้งภายในงานยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์ การเดินแบบผ้าอัตลักษณ์เชียงราย โดยมีนายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอ กลุ่มพัฒนาสตรีจังหวัดเชียงราย ร่วมเดินแบบในครั้งนี้ พร้อมทั้งกิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญา นิทรรศการผ้าทอ และการออกบูธแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ผ้า และเครื่องประดับ ของฝากของที่ระลึก ระหว่างวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2567ณ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังแรก)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เชียงราย ยึดแผนพัฒนา 5 ปี ส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่น ด้วยอัตลักษณ์

 

เมื่อวันวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังแรก) ได้มีจัดกิจกรรม ส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่น ด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการการพัฒนากิจกรรมและการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งได้รัยเกียรติจากสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีนางอำไพ บัวระดก พัฒนาการจังหวัดเชียงราย ในนามผู้ดำเนินการจัดอบรมโครงการการพัฒนากิจกรรม และการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ กิจกรรม ส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่นด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย

 

นางอำไพ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยกำหนดให้มีการสร้างความหลากหลาย ด้านการท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และเน้นการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับ มุ่งพัฒนาธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้น ด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทยและใช้ประโยชน์จากข้อมูล และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจและความหลากหลายของการท่องเที่ยวให้สอดรับ กับทิศทางและแนวโน้มของตลาดยุคใหม่การใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้เอื้อต่อผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

 

โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและกระจายโอกาสในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนโครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ และจะช่วยส่งเสริมในการพัฒนาจังหวัด ที่จะมาเน้นเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณค่าเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแผนการพัฒนาจังหวัดในระยะ 5 ปี ในปี พ.ศ. 2566-2570

 

ซึ่งการส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่น ด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย กิจกรรมที่ 4 เป็นการส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สนับสนุนการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้และกระจายร้ายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน ดำเนินการระหว่าง วันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.30 น. ของทุกวัน ภายในงานมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มากถึงจำนวน 31 บูท

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

จัดอบรมผู้ประกอบการ ดีไซน์เนอร์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 67 ณ ห้องยูโทเปีย 2 โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย และการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าของเชียงรายในเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี พ.ศ. 2567 เพื่อส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การนำมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าให้คงอยู่สืบไป รวมทั้ง สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เด็ก เยาวชน และประชาชน ให้ความสนใจในการอนุรักษ์ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย มากยิ่งขึ้น โดยมี เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย คณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และวิทยาลัยการอาชีวศึกษาเชียงราย ภาคีเครือข่ายนักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ ช่างทอผ้า ช่างเย็บผ้า ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมการอบรม

 

ซึ่งการอบรมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท โดยมีผู้เข้าอบรม ได้แก่ นักออกแบบ ดีไซน์เนอร์ ช่างทอผ้า ช่างเย็บผ้า ผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป รวมจำนวน 50 ราย เพื่อต่อยอดสำหรับการจัดประกวด การออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเอ็ม บูทีค รีสอร์ท เชียงราย และการจัดงานแสดงแบบแฟชั่น กิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญาฯ ในวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2567 ณ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางหลังแรก)
 
 
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย สู่ระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ Food Film Fashion Fighting และ Festival อีกทั้ง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 UNESCO ได้ยกจังหวัดเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล จังหวัดเชียงรายจึงส่งเสริมสนับสนุน การนำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย มาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างงาน สร้างอาชีพ สู่การเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดเชียงรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News