เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ คณบดี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ จัดพิธีทำบุญสำนักวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ และเปิดการดำเนินโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากพระสงฆ์ ที่ห้องประชุมวันชัย ศิริชนะ อาคารสำนักวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ ชั้น 5 ภายในศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ตลอดจน พระเถระผู้ใหญ่ เจ้าคณะอำเภอ ร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย
โดยจัดให้มีพิธีทางศาสนาพระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้บริหาร แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่หลังจากนั้น นายสมหวัง บุญระยอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และ ผศ. (พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ คณบดี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันเปิดดำเนินโครงการส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากพระสงฆ์ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการของสำนักวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของพระสงฆ์ ให้มีความรู้ มีเจตคติและปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ดี
ผศ.(พิเศษ) ทันตแพทย์ ไพศาล กังวลจิต คณบดี สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ม หาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าสุขภาพอนามัยที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นของชีวิต ปัญหาสุขภาพช่องปากทั้งโลกฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ รวมถึงโรคปริทันต์ และโรคติดเชื้อในช่องปาก เป็นโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมและมีผลต่อการรักษาโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า พระสงฆ์และสามเณรจำนวนมากมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก ทั้งโรคฟันผุ โรคปริทันต์ โรคติดเชื้อต่างๆ นอกจากทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานและนำไปสู่การสูญเสียฟันก่อให้เกิดปัญหาต่อการบดเคี้ยวอาหาร และส่งผลต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มพระสงฆ์เป็นกลุ่มที่เข้าถึงบริการรักษาทางทันตกรรมในอัตราที่ต่ำ ทำให้โรคในช่องปากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม จึงทำให้โรคลุกลามไปจนถึงขั้นติดเชื้อที่รุนแรง และสูญเสียฟัน ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ดังนั้นเพื่อให้พระสงฆ์ได้มีความรู้และปฏิบัติตนอย่างถูกต้องในการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง และเพื่อให้พระสงฆ์ได้รับบริการทางทันตกรรมที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างครบวงจร เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพระสงฆ์ควบคู่ไปกับกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพ โดยการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อให้บริการตรวจ วินิจฉัย การอุดรักษาฟัน การขุดหินปูน รักษาโรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ รวมทั้งการถอนฟันที่วัด ให้ทันตสุขศึกษาควบคู่ไปกับการรักษาทางทันตกรรมเพื่อให้พระสงฆ์และสามเณรสามารถดูแลสุขภาพช่องปากตนเองได้อย่างเหมาะสมในกรณีที่เป็นโรคที่รุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ หรืออาศัยทันตแพทย์เฉพาะทาง เช่น การรักษาโรคปริทันต์อักเสบที่รุนแรง การรักษาคลองรากฟัน การรักษาโรคติดเชื้อ เนื้องอกต่างๆ ในช่องปากและกระดูกขากรรไกร รวมทั้งการใส่ฟันปลอมจะส่งตัวมารับการรักษาที่สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งโครงการนี้ได้ตั้งเป้าหมายให้บริการแก่พระสงฆ์และสามเณร ที่วัดต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย จำนวน 300 รูป ระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิ โสภณพาณิชย์ อีกด้วย
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม