Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

หวั่นลำไยภาคเหนือราคาตกหลังปีนี้ผลผลิตรวมกว่า 9.7 แสนตัน

 

เมื่อวันจันทร์ ที่  27 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่1เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์ผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกภาคเหนือ จัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ครั้งที่ 2/2567 (ข้อมูล ณ 14 พฤษภาคม 2567) พบว่าปี 2567 ลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือมีเนื้อที่ยืนต้น จำนวน 1,254,937 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 1,269,344 ไร่ (ลดลง14,407 ไร่ หรือร้อยละ 1.13เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลำไยที่มีอายุมากและให้ผลผลิตน้อย โดยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา ทุเรียน มะม่วง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 

 ด้านผลผลิตรวม มีจำนวน 978,974 ตันเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 949,473 ตัน (เพิ่มขึ้น 29,501 ตัน หรือร้อยละ 3) ทั้งนี้ผลผลิตลำไยในฤดู จะออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนมิถุนายน และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน 2567โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2567 ประมาณ 366,273 ตัน หรือ ร้อยละ 37 ของผลผลิตทั้งหมด

 

   สถานการณ์การผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2567 พบว่าลำไยในฤดู มีจำนวน637,501 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 606,900 ตัน (เพิ่มขึ้น 30,601 ตัน หรือ ร้อยละ 5)เนื่องจากราคาลำไยในปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นลำไยและราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก แม้ว่าในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน2567สภาพอากาศจะร้อนจัด ส่งผลให้บางพื้นที่ต้นลำไยขาดน้ำและสลัดลูกทิ้งบางส่วน

 

แต่เนื่องจากการออกดอกและติดผลมีมากกว่าปีที่แล้วทำให้ภาพรวมผลผลิตยังคงเพิ่มขึ้นและลำไยนอกฤดู มีจำนวน 341,473 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 342,573 ตัน (ลดลง 1,100 ตัน หรือร้อยละ 0.32) ลดลงเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งและร้อนจัดทำให้ต้นลำไยในบางพื้นที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอกได้

 

ด้านสถานการณ์ราคาลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไยนอกฤดู ออกสู่ตลาด (ลำไยนอกฤดูออกตลาด ม.ค. – พ.ค. และ ต.ค. – ธ.ค.)แบ่งตามเกรด ได้แก่ลำไยสดช่อ เกรดAAกิโลกรัมละ 25 บาทส่วนลำไยรูดร่วง เกรดAAกิโลกรัมละ 22 บาท,เกรดAกิโลกรัมละ 15 บาท,เกรดBกิโลกรัมละ 10 บาท และเกรดCกิโลกรัมละ 3 บาทด้านลำไยในฤดู เกษตรกรเริ่มเกี่ยวเก็บตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะอยู่ ในเกณฑ์ดี จากการที่เกษตรกรเอาใจใส่ดูแลทำให้ลำไยมีคุณภาพดียิ่งขึ้นสำหรับสถานการณ์ตลาดลำไยภาคเหนือ ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตลาดจีนจะเปิดการซื้อขายแล้วแต่ยังมีมาตรการตรวจคัดกรองที่เข้มงวด ทั้งการตรวจโรคแมลงศัตรูพืช ณ ด่านนำเข้าเพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

 

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการลำไยในฤดูของภาคเหนือ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันวางแนวทางการบริหารสมดุลDemand-Supplyโดยมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ สำหรับความต้องการผลผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น และลำไยกระป๋อง จำนวน 480,725 ตัน บริโภคสดในประเทศจำนวน 60,724 ตัน และส่งออกลำไยสด จำนวน 96,053 ตัน

 

 อย่างไรก็ตาม เดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวอาจส่งผลกระทบต่อราคาลำไย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด ได้เตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เรียบร้อยแล้ว อาทิ การจำหน่ายลำไยเพื่อบริโภคสดในประเทศ โดยมุ่งเน้นกระจายออกนอกแหล่งผลิตผ่านModern Tradeเครือข่ายสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ธ.ก.ส. ไปรษณีย์ และตลาดออนไลน์

 

 “การผลิตลำไยในปีนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระยะต่อจากนี้เป็นช่วงที่ลำไยเริ่มมีการพัฒนาช่อผล ซึ่งถ้าเกิดภัยแล้งขึ้นช่อผลที่กำลังพัฒนามีการหยุดชะงัก ผลเล็กไม่เจริญเติบโต หรือผลที่เติบโตเต็มที่แล้วจะมีอาการผลแตกในช่อผลได้ เกษตรกรชาวสวนลำไยควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ และให้เฝ้าระวังเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญในลำไยเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด

 

โอกาสนี้ ขอเชิญชวนผู้บริโภคทุกท่านร่วมสนับสนุนผลผลิตลำไยของเกษตรกร ซึ่งพร้อมออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรในการผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพต่อไป”

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่1เชียงใหม่ (สศท.1) 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

ภาคเหนือปีนี้ผลผลิต ‘ลำไย’ เพิ่ม แต่หนาวไม่พอทำ ‘ลิ้นจี่’ ไม่ติดดอก

 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคมคม 2567 นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และผู้แทนเกษตรกรดำเนินการจัดทำข้อมูลพยากรณ์ปริมาณการผลิตไม้ผลภาคเหนือ ลำไยและลิ้นจี่ ปี2567 พบว่า ลำไยใน8จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แพร่ และน่าน) มีเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยมีจำนวน1.243 ล้านไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 1.244 ล้านไร่ (ลดลงร้อยละ0.10)เนื่องจากเกษตรกรโค่นลำไยเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ทุเรียน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนโค่นเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย
 
 

โดยจะให้มีปริมาณผลผลิต1.047ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.949 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ10.24)แบ่งเป็นผลผลิตรวมในฤดู0.702 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.627 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ12.04)และผลผลิตรวมนอกฤดู0.344 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.323 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ6.73)

 

ด้านผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมอยู่ที่842กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 763 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ10.35)เนื่องจากราคาลำไยในปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นลำไย จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพื่อรับมือกับสภาพอากาศร้อนและราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพและเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำลำไยนอกฤดูมากขึ้น โดยผลผลิตลำไยในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน และออกสู่ตลาดมากในเดือนสิงหาคม ประมาณร้อยละ38.72หรือ4.05แสนตัน

 

สำหรับลิ้นจี่4จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน)เนื้อที่ให้ผลมีจำนวน 7.30 หมื่นไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 7.52 หมื่นไร่ (ลดลงร้อยละ2.86)เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน เงาะ ยางพารา โดยให้ผลผลิตรวม2.72 หมื่นตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีปริมาณผลผลิต 3.32 หมื่นตัน (ลดลงร้อยละ18.14)โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลอยู่ที่372กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 442 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ15.84)

เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนสลับหนาว และอากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการออกดอกติดผล เพราะลิ้นจี่เป็นพืชที่อาศัยความหนาวเย็นในการชักนำการออกดอก และจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม ทำให้ลิ้นจี่บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการออกดอก

 

ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไม่ดูแลรักษา เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ดูแลยาก ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ช่อดอกไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ โดยในปีที่แล้วลิ้นจี่ออกสู่ตลาดกระจุกตัวอยู่ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งปีนี้ลิ้นจี่แทงช่อดอกช้าคาดว่าปี2567จะมีผลผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม และจะออกสุดมากในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน รวมประมาณร้อยละ93.03หรือ2.53หมื่นตัน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการไม้ผลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ทั้งนี้ สศก. จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างต่อเนื่องต่อไปและจะรายงานผลพยากรณ์รอบต่อไปให้ทราบเป็นระยะ เนื่องจากผลไม้มีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวง กรม และจังหวัดได้นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

แอป ‘บอกต่อ’ เข้าถึงบริการกระทรวงเกษตรฯ ครอบคลุมมากกว่า 50 บริการ โหลดเลย!

 

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลสารสนเทศการเกษตรของประเทศ ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “บอกต่อ” เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจสามารถเข้าถึงบริการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) โดยให้บริการด้วยชุดเมนูหลักต่าง ๆ ครอบคลุมมากกว่า 50 บริการ นั้น ขอย้ำเชิญชวนเกษตรกรและผู้ที่สนใจ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “บอกต่อ” ผ่านระบบ Android และระบบ IOS รวมถึงใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ทั่วไปเพื่อการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ดังนี้ 

-รับปัจจัยการผลิตฟรี เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด. น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ หญ้าแฝก พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ สารควบคุมแมลงศัตรูพืช วัสดุการเกษตร เป็นต้น
-ด้านกองทุน การติดต่อขอคำปรึกษา ขอคำแนะนำ ทั้งกองทุน FTA  กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน เป็นต้น
-การขอรับบริการ เช่น การตรวจรับอง GAP อินทรีย์ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง ตรวจรับรองมาตรฐานหม่อนไหม บริการวิเคราะห์คุณภาพอาหารสัตว์ การให้บริการรับจดทะเบียน การตรวจสอบดินเพื่อการเกษตร ให้บริการผสมเทียม การตรวจสอบรายชื่อในเขตปฏิรูปที่ดิน ศูนย์เรียนรู้ให้คำแนะนำประชาชน การให้บริการฝนหลวง งานวิจัยต่างๆ รวมถึงบริการคำแนะนำ ร้องเรียน ร้องทุกข์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น 
-การช่วยเหลือ เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยโรคใบด่างมันสำปะหลัง การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยโรค AFS ในสุกร มาตรการและนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐ มาตราการช่วยเหลือด้านการผลิต การประกันรายได้ เยียวยาเกษตรกร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ เป็นข้อมูลราคารายสัปดาห์ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งมีสถานการณ์สินค้าผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร รวมถึงมีข้อมูลการพยากรณ์สภาพอากาศให้เกษตรกรได้ใช้ในการวางแผนการเพาะปลูกอีกด้วย

นายอนุชาฯ กล่าวว่า สศก. มุ่งหวังให้แอปพลิเคชัน “บอกต่อ” เป็นศูนย์รวมการให้บริการด้านการเกษตรอย่างรอบด้าน โดยผู้ใช้แอปพลิเคชัน สามารถกดแชร์เพื่อบอกต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้ตามความต้องการ ซึ่ง สศก. ได้พัฒนาและออกแบบแอปพลิเคชัน บอกต่อ ให้ใช้งานง่าย ผ่านทางสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต หรือ PC คอมพิวเตอร์ทั่วไป ได้ทุกที่ทุกเวลา สำหรับการใช้งานในระยะแรก แนะนำให้ผู้ใช้ ติดต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ โดยตรงควบคู่ไปด้วย เนื่องจากบางเมนูข้อมูลการให้บริการอาจสิ้นสุดหรือใกล้หมดแล้ว เช่น การขอรับปัจจัยการผลิต พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ วัสดุด้านการเกษตรต่าง ๆ เป็นต้น โดยเกษตรกรและผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านระบบ Android และระบบ IOS รวมถึงใช้งานผ่านคอมพิวเตอร์ทั่วไปได้ที่ https://bohktoh.oae.go.th  ซึ่งหากมีปัญหาด้านระบบการใช้งาน แอปพลิเคชัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร.0 2561 2870 Email : prcai@oae.go.th

“การพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘บอกต่อ’ โดย สคก. เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการพัฒนาระบบให้บริการดิจิทัลในภาคการเกษตร เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการจำนวนมาก ให้สามารถเข้าถึงบริการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีข้อมูลด้านการเกษตรที่ครบถ้วนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ทั้งการวางแผนบริหารจัดการ การแก้ไขปัญหา ตลอดจนการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ” นายอนุชาฯ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News