นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุบันไดเลื่อน หรือ ทางลาดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าและสถานที่ต่างๆ หนีบขาประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานบันไดเลื่อน ทางเดินอัตโนมัติ และ ลิฟท์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยบอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ให้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นการด่วนจากแผนการกำหนดมาตรฐานในปีงบประมาณ 2567 ที่กำหนดไว้จำนวน 600 เรื่อง นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ “คาร์ซีท” หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นสินค้าควบคุม โดยเร่งรัด สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานโดยเร็ว เพื่อให้เด็กเล็กที่ใช้คาร์ซีทได้รับความปลอดภัยในการโดยสารรถยนต์
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ด สมอ. ครั้งนี้ ได้เห็นชอบร่างมาตรฐานและวิธีทดสอบอื่นๆ อีก จำนวน 43 เรื่อง เช่น มาตรฐานหลอดฟลูออเรสเซนส์สำหรับเปลี่ยนสีผิวเป็นสีแทน มาตรฐานวิธีทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐานระบบอัตโนมัติในกระบวนการอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ จัดทำมาตรฐานเพิ่มเติมในปี 2567 อีก 3 เรื่อง โดยเพิ่มเติมจากแผนการกำหนดมาตรฐานเดิมที่ สมอ. ตั้งเป้าไว้ 600 เรื่อง ได้แก่
1) มาตรฐานบันไดเลื่อน ทางลาดเลื่อน คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยที่จำเป็น
2) มาตรฐานบันไดเลื่อน ทางลาดเลื่อน พารามิเตอร์ตามคุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยที่จำเป็น และ
3) ฟิล์มติดกระจกรถยนต์
ด้าน นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า บันไดเลื่อน เป็นสิ่งประชาชนได้พบเจอและใช้บ่อยมากในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามบิน อาคารสำนักงาน ซึ่งที่ผ่านมา จะได้ยินข่าว บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน หนีบขาคน หรือบางครั้ง ถึงขั้นตัดขาคนขาด ท่านรัฐมนตรีพิมพ์ภัทรา จึงได้มีปรารภว่าจะปล่อยให้ประชาชนมารับเคราะห์กรรมจากการใช้บันไดเลื่อนไม่ได้มาตรฐาน แบบนี้ไม่ได้ สมอ. จึงได้เตรียมออกประกาศมาตรฐาน “บันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟท์” เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า โดยอ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ส่วนประกอบ การติดตั้ง ความสูง ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2567
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงอุตสาหกรรม