Categories
ECONOMY

ส่งออกไทย 7 เดือนแรกปี 67 ไทย ยังขาดดุลการค้าที่ 231,556.5 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม และ 7 เดือนแรกของปี 2567 โดยชี้ข้อมูลระบุว่า การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง มีมูลค่า 25,720.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (938,285 ล้านบาท) ขยายตัว 15.2% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 5-8% นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 

โดยการส่งออก 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค. 2567) ขยายตัว 3.8% มูลค่า 171,010.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.8% ขณะที่การนำเข้า 7 เดือนแรก มูลค่า 177,626.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.4%  โดยรวม ไทยยังขาดดุลการค้าที่ 6,615.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นายพูนพงษ์ ยังมั่นใจว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ จะอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-2% และมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ในกรอบบน ซึ่งจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังปรับตัวดีขึ้น แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์ที่ยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้า หลังการเลือกตั้งในปลายประเทศสำคัญ

“ส่งออกเดือนกรกฎาคม ขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ทั้งเกษตร ตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรม ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ตามเทคโนโลยีดิจิทัล และการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ที่จะได้รับประโยชน์ในด้านราคาที่สูงขึ้น จากภาวะอุปทาน (Supply) ในตลาดโลกที่น้อยลง แต่ยังคงมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ ค่าระวางเรือของโลกสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน และสินค้าส่งออกสำคัญบางรายการ ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของสินค้าใหม่ที่เข้ามาทดแทนสินค้าเดินชมในตลาดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ” นายพูนพงษ์ กล่าว

สำหรับสินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,245.6 ล้านดอลล่าร์ กลับมาขยายตัว 3.7% โดยสินค้าที่ขยายตคัวดีได้แก่ ยางพารา, ข้าว, ไก่สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแปรรูป ส่วนอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าส่งออก 2,118.3 ล้านดอลล่าร์ กลับมาขยายตัว 14.6% โดยสินค้าที่ขยายตัวดีได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารทะเลกระป๋อง-แปรรูป และสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าส่งออก 20,254.2 ล้านดอลล่าร์ ขยายตัว 15.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง 

ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ ขยายตัวได้ดี ตามภาพรวมเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐฯ, จีน, อาเซียน (5), กลุ่ม CLMV และสหภาพยุโรป ส่วนตลาดสวิสเซอร์แลน์ ขยายตัวสูงที่สุด 517.5% ตามด้วยเอเชียใต้ ขยายตัว 29.5% และสหรัฐ ขยายตัว 26.3% ส่วนจีน อยู่อันดับสิบ ที่ขยายตัว 9.9%

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาพรวมส่งออกไทยปีนี้ คาดว่า จะทำได้ตามเป้าหมาย 1-2% แม้ว่า เงินบาทแข็งอาจมีผลกระทบกับคำสั่งซื้อใหม่ในช่วงปลายปีนี้ ถึงต้นปีหน้าอยู่บ้าง ซึ่งผู้ส่งออกต้องพิจารณาปัจจัยค่าเงินให้ดี ก่อนตกลงทำสัญญาซื้อขายสินค้า

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

กาแฟไทยโตต่อเนื่อง หลังปี 66 ขยายตัวมูลค่าพุ่ง 4.5 พันล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามข้อมูลการค้าของสินค้ากาแฟ พบว่าตลาดกาแฟไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นแนวโน้มและโอกาสที่ดีในการปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อเร่งพัฒนาตลาดกาแฟของไทย

บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก Euromonitor International รายงานมูลค่าตลาดกาแฟไทย พบว่ากาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าตลาดกาแฟไทยเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 8.55% ต่อปี ขณะที่ล่าสุดปี 2566 มีมูลค่าตลาด 34,470.3 ล้านบาท ขยายตัว 7.34% ปี 2565 ขยายตัว 9.78% และเมื่อพิจารณายอดขายตามประเภทกาแฟ ในปี 2566 พบว่ากาแฟสำเร็จรูปมีมูลค่าตลาดสูงถึง 28,951.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 84% ของมูลค่าตลาดกาแฟในประเทศ และกาแฟสดมีมูลค่าตลาด 5,519.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มวัยทำงาน สภาพอากาศที่ร้อนของไทย และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกในการบริโภคเครื่องดื่ม  

 

กระแสความต้องการบริโภคกาแฟในไทยที่เพิ่มขึ้น ความต้องการบริโภคเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่หลากหลาย ประกอบกับสภาพอากาศร้อน ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ความต้องการกาแฟเย็นจากร้านสะดวกซื้อ กาแฟสำเร็จรูปแบบ RTD (Ready To Drink) และกาแฟบรรจุขวดพร้อมทานเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบและดื่มด่ำกับบรรยากาศในการดื่มกาแฟสดที่ได้เห็นความพิถีพิถันในการชงกาแฟก็ทำให้กาแฟสดเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งการตอบสนองความต้องการที่หลากหลายเหล่านี้ เกิดจากการที่ผู้ประกอบการเริ่มศึกษาและเรียนรู้ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี 

 

ในปี 2566 ประเทศไทยมีผลผลิตกาแฟ 16,575 ตัน แบ่งเป็นพันธุ์อาราบิก้า และโรบัสตา 48.2% และ 51.8% ตามลำดับ เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้ากาแฟ พบว่าการนำเข้ากาแฟของไทยเติบโตต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 25661 ไทยมีมูลค่าการนำเข้ากาแฟ 338.42 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 12.90% เมื่อเทียบกับปี 2565 ประมาณ 299.77 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการนำเข้า 

 

(1) กาแฟดิบ (พิกัดศุลกากร 090111 และ 090112) 184.76 ล้านเหรียญสหรัฐ (62,171.01 ตัน) 
(2) กาแฟคั่ว (พิกัดศุลกากร 090121 และ 090122) 27.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,647.14 ตัน) 
(3) กาแฟสำเร็จรูป (พิกัดศุลกากร 210111 และ 210112) 126.11 ล้านเหรียญสหรัฐ (15,947.11 ตัน) 

 

สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – มี.ค.) ไทยมีมูลค่าการนำเข้ากาแฟ 76.3 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น (1) กาแฟดิบ 31.21 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) กาแฟคั่ว 6.15 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (3) กาแฟสำเร็จรูป 38.94 ล้านเหรียญสหรัฐ 

 

นอกจากนี้ พบว่า มูลค่าการส่งออกกาแฟของไทยก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการส่งออกกาแฟ 125.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.59% เมื่อเทียบกับปี 2565 (108.92 ล้านเหรียญสหรัฐ) แบ่งเป็นการส่งออก

 

(1) กาแฟดิบ 2.20 ล้านเหรียญสหรัฐ (255.18 ตัน) 
(2) กาแฟคั่ว 2.75 ล้านเหรียญสหรัฐ (243.23 ตัน)
(3 )กาแฟสำเร็จรูป 120.95 ล้านเหรียญสหรัฐ (24,517.72 ตัน)

 

สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – มี.ค.) ไทยมีมูลค่าการส่งออกกาแฟ 34.18 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,237,316,000 บาท
 
แบ่งเป็น
(1) กาแฟดิบ 0.21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,602,000.00 บาท
(2) กาแฟคั่ว 1.24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 36,207,500 บาท
(3) กาแฟสำเร็จรูป 32.72 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,184,709,400 บาท

 

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า ไทยมีการนำเข้ากาแฟดิบในปริมาณมาก เพื่อบริโภคในประเทศและแปรรูปส่งออกเป็นกาแฟสำเร็จรูป แสดงให้ถึงศักยภาพด้านการแปรรูปกาแฟของไทย โดยในปี 2566 ตลาดส่งออกกาแฟสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของไทย คือ กัมพูชา รองลงมา ได้แก่ สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ ส่วนด้านการนำเข้า ไทยนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจากเวียดนามมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว 

 

นายพูนพงษ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดกาแฟของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคในประเทศ และการแปรรูปเพื่อส่งออก ประเทศไทยมีศักยภาพในการแปรรูปกาแฟดิบเป็นกาแฟสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสุขภาพและความยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รักษ์โลกมาใช้ในขั้นตอนการผลิต เพื่อสามารถพัฒนากาแฟที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และสอดคล้องกับระเบียบการค้าโลกใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกกาแฟไทยไปยังตลาดคู่ค้าใหม่ ๆ มีโอกาสขยายตัว เนื่องจากตลาดกาแฟยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมากทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดโลก

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

สนค. จัดสัมมนาการแยกห่วงโซ่อุปทาน สหรัฐ-จีน และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษา “โครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจการค้าไทย” ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท โดยภายในงานมีผู้แทนภาคเอกชนจาก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยในจีน และบริษัท
วิสอัพ จำกัด ร่วมในเวทีสัมมนา

 

            นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ เปิดเผยว่า สงครามการค้าของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ที่สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีไปจีน และได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ ในโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยเฉพาะไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดกับการค้าการลงทุนของโลกอย่างต่อเนื่องยาวนาน จุดเปลี่ยนสำคัญของสงครามการค้าและทำให้เกิดการแยกห่วงโซ่อุปทาน คือ สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมาย Chip and Science

 
Act 2022 เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐฯ โดยการให้เงินอุดหนุนอย่างมหาศาล และผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act 2022 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมาตรการในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การใช้นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ต้องออกมาตรการในการดึงดูดการลงทุน รวมถึงป้องกันไม่ให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากประเทศตน โดยเฉพาะประเทศที่มีการผลิตชิป ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ทวีความสำคัญในแทบทุกสินค้า ความพยายามแบ่งแยกอุปทานดังกล่าวจึงน่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างกับโครงสร้างการผลิต การค้า และการลงทุนของโลก ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ไทยควรติดตาม ประเมิน และเตรียมแนวทางดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด  เรื่องดังกล่าวเป็นโจทย์ของโครงการศึกษาวิจัยนี้ 

 

            ผลการศึกษา พบว่า decoupling ที่เกิดขึ้น ทำให้สหรัฐฯ และจีน มีบทบาทในฐานะประเทศคู่ค้า
ต่อกันและกันลดลง  โดยเฉพาะส่วนแบ่งตลาดของจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากสหรัฐฯ
หันมานำเข้าสินค้าจากไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้นแทนที่  สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในช่วงปี
พ.ศ. 2561-2565 เช่น เครื่องปรับอากาศ กล้องบันทึกรูป ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำแบบไวแสง วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์  ในขณะที่ไทยยังไม่สามารถเข้าตลาดจีนได้เพิ่มมากนัก โดยส่วนแบ่งตลาด
ของไทยในตลาดจีนทรงตัวที่ประมาณร้อยละ 2 ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งขยายตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ อย่างเวียดนาม และมาเลเซีย

 

            อีกทั้งไทยยังได้รับอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การลงทุนจากจีนในกลุ่มยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์ แต่มูลค่าการลงทุนในไทยน้อยว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนส่วนใหญ่

 

            บทวิเคราะห์แผนที่การลงทุนของบริษัทข้ามชาติ พบว่า บริษัทจำนวนมากชะลอการลงทุนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำที่เป็นเทคโนโลยีสำคัญท่ามกลางการแยกห่วงโซ่อุปทาน การลงทุนใหม่ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในการผลิตชิป ไม่ใช่เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสารเคมีพื้นฐาน  และการลงทุนที่ผ่านมาเป็นการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพียงไม่กี่ประเทศ

 

            ที่ผ่านมา Decoupling ยังไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในห่วงโซ่อุปทานในลักษณะที่ทำให้เกิดการหันเหแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากจีน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะบทบาทของจีนที่มีอยู่ก่อน การปรับเปลี่ยนต่าง ๆ อาจต้องใช้เวลา โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในทางกลับกันชิ้นส่วนอื่น ๆ (ที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์) ซัพพลายเออร์ในจีนพยายามเข้าสู่ตลาดอื่น ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ  

 

            ในอุตสาหกรรมยานยนต์ Decoupling ส่งผลดีต่อชิ้นส่วนรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยสามารถขยายตัวในตลาดชิ้นส่วนทดแทน (Aftermarket) ได้มากขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบในส่วนรถยนต์ ทั้งนี้ เพราะรถยนต์ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในมีการแบ่งเขตการขาย ไทยอยู่ในโซนอาเซียนและโอเชียเนีย
จึงไม่ได้อานิสงส์ในการเข้าตลาดสหรัฐฯ แต่อย่างใด  ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตในประเทศยังอยู่ในระยะเริ่มต้นจึงยังไม่เห็นแนวโน้มที่ชัดเจน

 

            นายพูนพงษ์ กล่าวเสริมว่า ผลการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่า ไทยต้องเตรียมการเพื่อเพิ่มศักยภาพทาง
ด้านการผลิตโดยเฉพาะประเด็นการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อตักตวงประโยชน์จาก decoupling
ที่เกิดขึ้น เรื่องดังกล่าวต้องทำอย่างเป็นระบบที่มีแผนระยะสั้นและระยะยาวที่สอดรับกัน  นอกจากนั้นไทยจำเป็นต้องเดินหน้ากระจายตลาดส่งออกเพื่อลดความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มกระจุกตัวสูง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลด
ความสลับซับซ้อนของกฎระเบียบ และมียุทธศาสตร์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่เพียงการให้สิทธิประโยชน์การลงทุน รวมไปถึงการดึงดูดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาทำงานในประเทศ  สุดท้ายหัวใจสำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน มีอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางของการออกแบบนโยบายที่ตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ (เราทำอะไรได้ เราต้องระวังอะไร เราพร้อมอะไร) และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News