เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตากและประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC ฝ่ายไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการลักลอบวางสายเคเบิลใต้ดินข้ามแดนจากหมู่บ้านสันติสุข ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงรายไปยังเขตอิทธิพลของกองกำลังว้าที่เมืองยอนในฝั่งพม่าว่า ผู้ลักลอบได้มีการตัดสายสัญญาณช่วงที่ต่อจากบ้านของเขา เพื่อไม่ให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าใครเป็นคนทำ รวมทั้งชาวบ้านแถวนั้นก็รู้ ส่วนเรื่องการดำเนินคดีนั้นเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย ซึ่ง กสทช.( คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ)บอกว่าในความผิดครั้งแรกเป็นการตักเตือน เพราะกฎหมายกำหนดไว้อย่างนี้ หากผิดครั้งที่ 2 จึงจะเป็นการดำเนินคดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า การลากสายสัญญาณนับ 10 กม.เป็นเรื่องของความมั่นคงชาติจะไม่เอาผิดกับใครได้เลยหรือ พ.อ.ณฑีกล่าวว่า ได้แจ้ง กสทช. ไปแล้วว่ามีการสืบทางลับ ทราบอยู่แล้วว่าใครเป็นคนทำคือคนในหมู่บ้าน แต่เขาก็รู้ตัวจึงตัดสายของตัวเองออก อย่างไรก็ตามการวางสายข้ามไปฝั่งโน้นระยะทางไกล แม้หลักฐานที่เป็นประจักษ์โดนทำลายไปก่อน แต่ถ้าเอาจริงๆ ก็สืบสาวรู้อยู่แล้ว
“อินเตอร์เน็ตคุณจ่ายรายเดือนเท่าไหร่ ความเร็วเท่าไหร่ รู้หมดนั่นแหละ แต่ต้องอยู่ที่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเขาดำเนินการได้เต็มที่แค่ไหน ถ้าไม่เต็มที่ก็ตอบว่าพยานหลักฐานไม่ได้ออกจากบ้านเขา กำปั้นทุบดินก็จบไป หน่วยปฏิบัติก็ได้แต่ทำงานไป แต่จับไม่ได้ รอเวลาว่าเมื่อไหรเจ้าหน้าที่เผลอ เขาก็ทำอีก” ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กล่าว
ประธาน TBC ฝ่ายไทย กล่าวว่า การวางสายเคเบิลนั้นเป็นสัญญาณคงที่กว่าการใช้จานรับส่งสัญญาณ แต่จานได้รับความนิยมมากกว่าโดยเป็นจานกลมๆ เป็นตัวขยายสัญญาณ ซึ่งจะติดตั้งในบ้านได้เลยแล้วหันสัญญาณส่งออกไป ทั้งนี้การส่งสัญญาณมีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ 1.การใช้แผงของบริษัทโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นทรู เอไอเอส ดีแทค โดยในส่วนนี้เราส่งข้อมูลให้ กสทช.ช่วยตรวจสอบและให้หันแผงกลับมาเข้าฝั่งประเทศไทย พร้อมทั้งมีตรวจสอบสัญญาณตามแนวชายแดนว่ามีการส่งสัญญาณออกไปถึงมากน้อยแค่ไหน และตรวจวัดระดับสัญญาณ ซึ่ง กสทช.แจ้งว่าดำเนินการเรียบร้อยแล้วขณะนี้ระดับสัญญาณอ่อนลงและบางจุดไม่สามารถใช้การได้ 2. วิธีลากสายเคเบิลออกไป และ 3. ใช้ตัวขยายสัญญาณ ซึ่งเหมือนจานดาวเทียมโทรทัศน์ โดยแต่ละบ้าน สามารถติดตั้งไว้ภายในแล้วเปิดหน้าต่าง เปิดประตู หันจานออกไปเพื่อส่งสัญญาณขยายไปยังที่ที่ต้องการ ลักษณะเดียวกันกับแผงสัญญาณของบริษัทใหญ่
“นิยมใช้ตัวขยายสัญญาณกัน เพราะเอื้อประโยชน์มากที่สุด แค่ติดตั้งภายในบ้าน พอเจ้าหน้าที่มาตรวจ เขาก็หันจานกลับและบอกว่าไม่ได้ส่ง เมื่อเจ้าหน้าที่กลับไปก็หันจานส่งไปที่เดิม เราพบวิธีการแบบนี้มากตามบ้านเรือนที่อยู่แนวชายแดน หรือแนวตามลำน้ำโขง วิธีการแบบนี้ทำให้ตรวจสอบหลักฐานได้ยากเพราะไม่มีสายลากไป เพียงใช้จานขนาดเล็กแค่เมตรกว่าๆ ซึ่งง่ายที่สุด ใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตบ้านที่จะเพิ่มเมกให้แรงๆ แล้วส่งไป”พ.อ.ณฑี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแก้ปัญหาลักลอบในรูปแบบที่ 3 นี้อย่างไร บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ต้องไปเข้าตรวจ หากเจอก็ถ่ายรูปและดำเนินการทันทีแม้เป็นเรื่องยาก ตอนนี้กลายเป็นเรื่องปกติของผู้กระทำความผิดซึ่งต้องหลบเลี่ยงอยู่ตลอด แตกต่างจากแผงสัญญาณของโทรศัพท์ใหญ่ที่มองเห็นทำให้ทำได้ยาก สาเหตุที่บริษัทใหญ่ทำก็เพราะได้รายได้ แต่สำหรับจานขยายสัญญาณนั้นเล็กจึงทำให้ตรวจสอบยาก
“เขาลักลอบส่งสัญญาณไปได้ไกลเพราะมีตัวขยายไปอีกเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่ายิงสัญญาณข้ามไป 50-60 กม. ไม่ใช่แบบนั้น แต่จานขยายสัญญาณไปได้ 4 กม. แล้วก็มีจานฝั่งโน้นขยายอีก ส่งต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทเจ้ายของสัญญาก็ไม่รู้ ตรวจไม่ได้ ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้ ต้องให้คนในชุมชนช่วยกัน เพราะผู้ใหญ่บ้านต้องทราบอยู่แล้ว กระทรวงมหาดไทยต้องช่วย อสม.ประจำหมู่บ้านต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา”พ.อ.ณฑี กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการลากสายเคเบิลจากหมู่บ้านสันติสุขไปฝั่งเพื่อนบ้านมีวัตถุประสงค์อะไร ประธาน TBC ฝ่ายไทย กล่าวว่าเป็นการเอื้ออำนวยฐานปฏิบัติการของชนกลุ่มน้อยเพื่อนำไปใช้ส่งข่าว วิทยุและภาพต่างๆและรายงานข่าวสารให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งสายเคเบิลที่วางแม้มีความยาวนับ 10 กม. แต่จะมีตัวขยายสัญญาณเป็นระยะๆเหมือนกล่องปลั๊กไฟซึ่งเราได้ขุดเจอ
ด้านนายสุธีระ พึ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กสทช.กล่าวว่า บริษัทต่างชาติที่เป็นบริษัทเพื่อนบ้านในภูมิภาค แต่ไม่ใช่บริษัทในประเทศเมียนมา ได้มาเช่าอินเตอร์เนตลีสไลน์(สายอินเทอร์เน็ตแบบเช่าใช้) ดรอปไว้ และแอบลักลอบลากสายกว่า 10.5 กม.ข้ามแดนไปยังประเทศเมียนมา ดังที่ปรากฏเป็นข่าว โดยบริษัทต่างชาติได้ขอให้โอเปอร์เรเตอร์มาวางไว้ 2 จุด โดยจุดที่หน้าแปลงสวนเกษตร กับอีกจุดหนึ่งที่ท่าสุเทพ
“กสทช.ได้เรียกโอเปอร์เรเตอร์บริษัทผู้ให้บริการ 2 รายมาสอบแล้ว ว่าเอาไปลงตรงนั้นได้อย่างไร ทางบริษัทได้ไปดูหรือไม่ว่าลูกค้าบริษัทต่างชาตินำไปใช้อะไร เขาบอกว่าเขาไม่ได้ไปดูเลย เขามีหน้าที่แค่ว่าผู้ซื้อบอกดรอปตรงนี้ก็ไปดรอป ผมบอกว่าไม่ได้ละ ผมขอใช้คำว่า สักแต่ว่าขายของ ขายของแบบเอาไปดรอปไว้ตรงแนวชายแดน คุณก็รู้อยู่ว่าวันนี้มันมีประเด็นเรื่องนี้อยู่ค่อนข้างรุนแรง คุณไม่รู้หรือว่าเป็นความเสี่ยง จากการตรงสอบพบว่าบริษัทต่างชาติที่ขอให้ติดตั้งไม่มีบริษัทอยู่ที่เมืองไทย ถ้ามีออฟฟิศอยู่จุดที่ดรอปเป็นสาขา อันนี้เราไม่ว่า แต่นี่มาดรอปหน้าแปลงสวนป้าคนนั้น แล้วออฟฟิศเขาอยู่ไหน บริษัทก็ไม่ได้สนใจ ผมจึงขอดูการดรอปสายทั้งหมดเลย เพราะไม่ไว้ใจโอเปอร์เรเตอร์แล้ว มันทำให้สถิติการร้องเรียนภัยไซเบอร์ไม่ลดลง มันยังสายอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเราตามอยู่” ผ.อ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมกล่าว
นายสุธีระกล่าววว่า ทาง กสทช. ได้มีหนังสือตักเตือน โดยทางกฎหมายปกครอง ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ของ กสทช. เราต้องตักเตือน2 บริษัทนี้ให้แก้ไขก่อนว่าห้ามมีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีก ถ้ามีกรณีแบบนี้อีกจะมีโทษปรับตามกฎหมายปกครอง เป็นมาตรการปกครอง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่หันจานขยายสัญญาณออกนอกประเทศแต่เมื่อเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบก็หันกลับมาในประเทศ ทาง กสทช.แก้ไขปัญหาอย่างไร นายสุธีระ กล่าวว่า กสทช. จะมีการส่งรถตรวจสอบสัญญาณไปในพื้นที่ทุกสัปดาห์ หากมีสัญญาณเพิ่มขึ้นมาจากจุดที่เราเคยวัดระดับไว้ ก็จะค้นหาทันทีว่าเพราะอะไร
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวชายขอบ