Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE VIDEO

ขอแสดงความยินดีกับ ‘ทีมกาสะลองเงิน’ ของ “โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย” คว้าแชมป์ การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ ปี 2567

 

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567  ที่เชียงใหม่ฮอลล์ เซ็นทรัลเชียงใหม่ แอร์พอร์ต ทีมกาสะลองเงิน ของโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2567 เพื่อเชิดชูเกียรติการแสดงดนตรีและการแสดงพื้นบ้านของภาคเหนือ

 

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานและมอบรางวัลให้ทีมผู้ชนะในครั้งนี้ ทั้งนี้ การประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน “รวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ” ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดประกวดขึ้นเพื่อถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ในแต่ละภูมิภาคไปสู่สายตาประชาชน

ในปีนี้มีคณะที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ จำนวน 5 คณะ ประกอบด้วย

  1. คณะกาสะลองเงิน จากจังหวัดเชียงราย
  2. คณะร่มบัวสวรรค์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) จากจังหวัดปทุมธานี
  3. คณะลูกน้ำของ (โรงเรียนอนุบาลเชียงของ) จากจังหวัดเชียงราย
  4. คณะยุ้งข้าวสตูดิโอ จากจังหวัดเชียงใหม่
  5. คณะต้นกล้าดาราภิรมย์ จากจังหวัดเชียงใหม่.

สำหรับการประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือนั้น ผู้เข้าประกวดจะต้องสร้างสรรค์ชุดการแสดงและการบรรเลง โดยนำเอาการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือมาเรียงร้อยให้มีความเชื่อมโยงที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดีและวรรณกรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ โดยด้านดนตรี ให้เลือกเครื่องดนตรีที่เหมาะสมกับการแสดง เช่น วงสะล้อ ซอ ซึง กลองสะบัดชัย หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ที่เป็นดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ การแสดงพื้นบ้านร้อยเรียง เชื่อมโยงโดยอาศัยนาฏศิลป์พื้นบ้าน เช่น ฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนสาวไหม หรือฟ้อนพื้นเมืองตามอัตลักษณ์ การแสดงท้องถิ่นของวัฒนธรรมในภาคเหนือ เป็นต้น

พร้อมทั้งการนำเสนอกิจกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อบูรณาการให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือได้อย่างเหมาะสมและลงตัว และการบรรเลงดนตรีประกอบการขับร้องทำนองมีเนื้อหาการแสดงเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีอยู่ในภาคเหนือ

 

ทั้งนี้ เกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากด้าน 1. ดนตรี 2. การแสดง 3. การขับร้อง และ 4. กระบวนการบูรณาการ ซึ่งมีคณะกรรมการตัดสินเป็นผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ครอบคลุมทั้งด้านศิลปะการแสดง ด้านการแสดงพื้นบ้านภาคเหนือและด้านดนตรีพื้นบ้านล้านนา ด้านการบรรเลงและการประพันธ์เพลงสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านล้านนา ซึ่งการประกวด “รวมศิลป์พื้นบ้านภาคเหนือ” ในครั้งนี้มีผลการประกวดดังนี้

1. รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ คณะกาสะลองเงิน จังหวัดเชียงราย

2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ คณะต้นกล้าดาราภิรมย์ จังหวัดเชียงใหม่

3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ คณะร่มบัวสวรรค์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) จังหวัดปทุมธานี

4. รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล เงินรางวัลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จำนวน 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ คณะลูกน้ำของ (โรงเรียนอนุบาลเชียงของ) จังหวัดเชียงราย และคณะยุ้งข้าวสตูดิโอ จังหวัดเชียงใหม่

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

 
เมื่อวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565 ที่หอประชุมสมเด็จย่า โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัย (อธิการบดีผู้ก่อตั้ง) กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
 
 
สำหรับปีนี้ผู้เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ตามที่สภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีมติอนุมัติ ได้แก่ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง แก่ รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ แก่ รองศาสตราจารย์ นภาลัย สุวรรณธาดา และสำหรับผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ‘ตุงทองคำ’ คือ นายศิริชัย มาโนช และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุริยพงศ์ วัฒนาศักดิ์
 
 
โดยผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต และบัณฑิต เป็นจำนวน 2,169 คน จากสำนักวิชา แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ นวัตกรรมสังคม จีนวิทยา การแพทย์บูรณาการ ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมเกษตร นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง วิทยาศาสตร์สุขภาพ และพยาบาลศาสตร์ เป็นบัณฑิตชาวต่างชาติ จำนวน 60 คน ชาวต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาในปีนี้ทั้งหมด 100 คน จากจีน เมียนมา ญี่ปุ่น มอริเชียส เกาหลีใต้ เยเมน อเมริกา บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ ลาว อัฟริกาใต้ ศรีลังกา ภูฏาน อังกฤษ ไนจีเรีย
 
 
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเปิดสอน 69 หลักสูตร ใน 15 สำนักวิชา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี โท และ เอก ในปีการศึกษา 2566 มีนักศึกษาทั้งสิ้น 14,488 คน จากทั่วทุกภาคของประเทศไทยและจากกว่า 47 ประเทศทั่วโลก จากนโยบายการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง และมีภาษาที่สองเป็นภาษาจีน ตลอดมานั้น ทำให้บัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีทักษะและความสามารถ ที่จะร่วมพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า การรับรู้ในวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นพลเมืองโลกได้อย่างสมบูรณ์ โดยปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 39,612 คน กระจายการทำงานอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News