สปสช. แจ้งความคลินิกเชียงราย เบิกจ่ายเท็จ มูลค่าความเสียหายกว่า 1.8 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เวลา 10.00 น. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. ได้เดินทางไปที่ สภ.บ้านดู่ จังหวัดเชียงราย เพื่อแจ้งความกรณีคลินิกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ได้กระทำการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นเท็จ
พบความผิดปกติหลายกรณี
ทพ.อรรถพร เปิดเผยว่า หลัง สปสช. ได้รับเรื่องร้องเรียน ได้เร่งดำเนินการตรวจสอบและพบหลักฐานการกระทำผิด 3 กรณี ได้แก่
กรณีที่ 1 คลินิกที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ได้แจ้งเรื่องร้องเรียนมาที่ สปสช. เนื่องจากมีผู้ป่วยเข้ารับบริการที่คลินิก แต่ยืนยันตัวตน (Authen) การเข้ารับบริการในระบบไม่ได้ เนื่องจากในเวลาเดียวกันมีคลินิกอีกแห่งหนึ่งที่ สปสช. ได้เข้าแจ้งความในวันนี้ ทำการยืนยันตัวตนรับบริการไปแล้ว ทั้งที่ผู้ป่วยไม่ได้รับบริการแต่อย่างใด
กรณีที่ 2 สปสช. ได้รับการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านกลุ่มไลน์ กรณีการให้บริการของคลินิกดังกล่าวที่มีจำนวนมากผิดปกติ และไม่น่าเชื่อถือ โดยมีทั้งการส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลที่เจ้าของคลินิกฯ ปฏิบัติงานประจำอยู่ให้กับคลินิกตนเองเพื่อให้บริการจำนวนมาก ทั้งยังมีการให้บริการที่บ้านทุกวัน บางวันมีมีจำนวนมากกว่า 10 ราย โดยแต่ละครั้งบริการที่บ้านจะไม่เกิน 10 นาที ใช้วิธีถ่ายรูปกับผู้ป่วย บันทึกข้อมูลในไอแพดที่มีรายละเอียดไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ ไม่มีลายเซ็นชื่อผู้รับบริการ ซึ่งเจ้าของคลินิกชี้แจงว่า ไม่ได้จัดทำเอกสารแบบสมบูรณ์ จะจัดทำเฉพาะรายที่ สปสช. เรียกตรวจสอบของแต่ละปีงบประมาณนั้น ๆ เท่านั้น
และกรณีที่ 3 เป็นข้อมูลจากการร้องเรียนผ่านเพจ Facebook ข่าวสารเวียงป่าเป้า ที่ข้อความระบุว่า มีคลินิกทำการรวบรวมเก็บบัตรประชาชนผู้รับบริการแลกเป็นนม แชมพู และยาสีฟัน ฯลฯ เพื่อนำมาเบิกชดเชย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่สภาวิชาชีพ สปสช. กฎหมาย หรือระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกำหนด
จากการตรวจสอบ พบว่า คลินิกดังกล่าวเริ่มให้บริการในระบบบัตรทองตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2566 และมีการเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองเป็นมูลค่ารวม 1,843,460 บาท ทำให้ สปสช. ได้รับความเสียหาย
สาธารณสุขเชียงรายเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง
ด้าน นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า หลังได้รับรายงานดังกล่าว ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก สปสช.
นายแพทย์วัชรพงษ์ ย้ำว่า หากพบเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในสังกัดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จะดำเนินการทั้งทางกฎหมายและทางวินัยอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน
สปสช. เตรียมขยายการตรวจสอบทั่วประเทศ
ทพ.อรรถพร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการแจ้งความดำเนินคดีกับคลินิกแห่งนี้ สปสช. จะขยายการตรวจสอบไปยังคลินิกอื่นๆ ในระบบที่มีการเบิกจ่ายผิดปกติ เพื่อให้ระบบบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ยังคงโปร่งใสและเชื่อถือได้
ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสเพื่อยกระดับระบบสุขภาพ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย เชิญชวนประชาชนที่พบเห็นหรือสงสัยกรณีทุจริต หรือมีปัญหาในการรับบริการด้านสาธารณสุข แจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนผ่านทุกช่องทาง เพื่อช่วยกันยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพให้มีคุณภาพ โปร่งใส และเป็นที่เชื่อถือได้
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)