Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ไทยประชุมบูรณาการ สปป.ลาว ปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์คิงส์โรมัน

 

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2567 ที่ห้องประชุม สภ.เชียงแสน จ.เชียงราย พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผช.ผบ.ตร.ได้ประชุมบูรณาการร่วมหน่วยงานความมั่นคงชายแดน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ไทย-สปป.ลาว-เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ” โดยมี เจ้าหน้าที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ฝ่ายปกครอง ทหาร คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยมีท่านคำเพ็ง กุมพัน หัวหน้าห้องว่าการเมืองต้นผึ้ง ท่านบุญถี ยัดทะวง รองหัวหน้ากองบัญชาการ ปกส.(ตำรวจ) เมืองต้นผึ้ง ท้าวอุ่นเรือน วิไซพัน หัวหน้าห้องการเทคโนโลยีและการสื่อสารเมืองต้นผึ้ง และท่านดาวเพ็ด วันมะแสง หัวหน้าหน่วยงานประสานชายแดนเมืองต้นผึ้ง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในการประชุมด้วย ซึ่งที่ประชุมมีการหารือเรื่องเดียวคือการปราบปรามขบวนการหลอกลวงหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลีย่มทองคำ เมืองต้นผึ้ง ร่วมกัน

โดยมีมติร่วม 2 ข้อคือ 1.ทางการ สปป.ลาว จะไม่ยินยอมให้มีขบวนการหลอกลวงหรือแก๊งคอลเซ็นเตอ์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำโดยเด็ดขาด โดยหลังจากวันที่ 25 ส.ค.เป็นต้นไปหากพบผู้เข้าไปลักลอบตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์รวมถึงคนไทยจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของ สปป.ลาว อย่างเช้มงวด 2.เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องจึงจะมีการศึกษาและกำหนดแนวทางในการตั้ง “คณะทำงานปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามเขตแนวชายแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว” ซึ่งในส่วนของฝ่ายไทยทาง พล.ต.ท.ธัชชัย ได้มอบหมายให้ตำรวจไซเบอร์และ ภ.5 ได้ศึกษาในการตั้งคณะกรรมการ โดยหากมีการแจ้งความดำเนินคดีในฝ่ายไทยก็จะมีการแจ้งข้อมูลต่อให้กับคณะกรรมการถ้าเป็นคนไทยก็นำมาลงโทษในประเทศไทยหรือหากมีหมายจับก็จะควบคุมดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ท.ธัชชัย กล่าวว่า การหารือครั้งนี้มีเพียงเรื่องการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์โดยเฉพาะ เพราะถือเป็นปัญหาใหม่สำหรับการพูดคุยหารือกันระหว่างประเทศเพราะเราต้องการความมั่นใจว่าต่อไปนี้จะต้องไม่มีพื้นที่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนและมาหลอกลวงคนไทยอีก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่ไทยได้มีการตัดสัญญานอินเตอร์เน็ตที่ส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ผลคือมีการใช้สัญญานโทรศัพท์จากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นจนเกิดการโทรศัพท์ที่มีหมายเลขจำนวนมาหาคนไทย แสดงให้เห็นว่าแก๊งนี้ทำไม่ได้เหมือนเดิม และในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาแก๊งที่ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชาหลบหนีเข้ามายังฝั่งไทยที่ จ.ชลบุรี ซึ่งถูกตำรวจไทยจับกุมดำเนินคดีได้แล้วที่ อ.ศรีราชา ในที่สุด

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : หน่วยงานความมั่นคงชายแดน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

นักวิ่งทีมชาติไทย คว้ารองแชมป์ มาราธอนครั้งที่ 4 สามเหลี่ยมทองคำ

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิ่งชาวไทยจำนวนมากได้เดินทางเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งที่ 4 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันต้านยาเสพติดสากล ครบรอบ 37 ปี ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณเกาะดอนซาว เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และถือว่าเป็นรายการวิ่งต่างประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งนักวิ่งยังรวมถึง “เบล ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม” นักวิ่งทีมชาติไทย ก็เข้าร่วมการแข่งขันด้วย 

 

พิธีเปิดการแข่งขันมี พลตรี คำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว ปริญญาเอก ทองจัน มะนีไช เจ้าแขวง แขวงบ่อแก้ว นำคณะผู้บริหารทุกฝ่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมกันปล่อยตัวนักกีฬาวิ่งวิ่งมาราธอนครั้งที่ 4 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันต้านยาเสพติดสากลครบรอบ 37 ปี

 

โดยการแข่งขันในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.0975 กิโลเมตร และวิ่งระยะสั้น 6.26 กิโลเมตร โดยเริ่มวิ่งจากเกาะดอนซาว ไปตามถนนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และกลับมาเข้าเส้นชัยจุดเดิมที่ออกสตาร์ท

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันในครั้งนี้มีนักวิ่งเข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ โดยมาจากประเทศในกลุ่มเอเชีย โดยมีนักวิ่งเข้าร่วมกว่า 1,500 คน โดยเฉพาะนักวิ่งจากประเทศไทยได้เข้าร่วมวิ่งในครั้งนี้จำนวนมาก และลงวิ่งแข่งขันครบทุกรุ่นทั้งชายและหญิง 

 

การแข่งขันวิ่งประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.0975 กิโลเมตร รองแชมป์ Overall ชาย เป็นของ “เบล ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม” นักวิ่งทีมชาติไทย ได้รับเงินรางวัล 150 ล้านกีบ (ประมาณ 250,000 บาท) ส่วนอันดับ 1 และ 3 เป็นของนักวิ่งชาวจีน 

 

ขณะที่ รุ่นชายระยะทาง 6.26 กิโลเมตร นักกีฬาจากประเทศไทย ได้ที่ 1-3 Overall ทั้งรับเงินรางวัลรวมกันมากกว่า 63 ล้านกีบ (ประมาณ 100,000 บาท) โดย นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย ได้เข้าร่วมแสดงความยินดีและกล่าวชื่นชมกับนักกีฬาจากประเทศไทยทั้ง 3 คน.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

ไทย-จีน-ลาว-พม่า-กัมพูชา-เวียดนาม 6 ประเทศ แม่น้ำโขง ปราบยาเสพติด

 

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือปราบปรามยาเสพติดในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งได้เชิญทางป.ป.ส.ประเทศไทย เข้าร่วม พร้อมกับผู้แทน ประเทศจีน เมียนมา เวียดนาม และ ประเทศกัมพูชา

 

พลตรี คำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดประชุม
โดยการจัดการประชุมครั้งนี้เพื่อแสดงความร่วมมือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสวันต่อต้านยาเสพติดสากล 26 มิถุนายน 2567 และเป็นการกระชับมิตรภาพ ความสามัคคี และความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ
 
 
พลตรี คำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง กล่าวว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567 ที่นครเวียงจันทน์ สปป. ลาว และ มีคณะผู้แทนของเราเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการประชุมด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัญหายาเสพติดถือเป็นอันตรายร้ายแรงและได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางจากเมืองสู่ชนบทในระดับต่างๆ
 
 
จนเป็นสาเหตุของเกิดปัญหาความยากจนและอาชญากรรมประเภทต่างๆ ในสังคม จำนวนคดียาเสพติด นักโทษ ผู้ติดยา รวมทั้งจำนวนยาเสพติดแต่ละประเภทมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้าย ขนส่ง ค้าขาย และผลิตยามีลักษณะเป็นเครือข่ายมีวิธีการหลายรูปแบบที่ซับซ้อน
 
 
“สปป.ลาวและประเทศที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำของเราได้รับผลกระทบโดยตรงและเผชิญกับปัญหายาเสพติด ปัจจุบันยาเสพติดมีผลกระทบร้ายแรงต่อทุกเพศทุกวัยและทุกชนชั้นทั่วทั้งสังคม ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ผู้ค้า คนงาน คนว่างงาน ไปจนถึงข้าราชการจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสังคมถดถอย ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของสังคม” พลตรี คำกิ่ง กล่าว
 
 
หลังจากนั้นที่ประชุมได้ให้ผู้แทนทั้ง 6 ประเทศ ได้กล่าวถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพคิดของตนเอง และจะได้รวบรวมข้อมูลของแต่ล่ะประเทศเพื่อนำไปสู่การร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

ครม.ไทยอนุมัติเงิน 1,833 ล้านบาทช่วยลาว ปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 – R12

 
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาทำเนียบรัฐบาล นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในการปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 12 (R12) ช่วงเมืองท่าแขก – จุดผ่านแดนนาเพ้า สปป. ลาว (โครงการ R12) จำนวน 1,833,747,000 บาท 

นางสาวเกณิกากล่าวว่า การดำเนินโครงการ R12 เริ่มต้นจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน บริเวณจุดเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ห่างจากจุดผ่านแดนถาวรนครพนม ประมาณ 17 กิโลเมตร (ผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3) เชื่อมต่อไปยังเมืองยมมะลาด เมืองบัวพะลา สิ้นสุดที่บริเวณจุดผ่านแดนสากลนาเพ้า สปป. ลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดผ่านแดนสากลจาลอ กวางบิงห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระยะทางประมาณ 147 กิโลเมตร ประกอบด้วย

1.ปรับปรุงสายทางตามมาตรฐานทางหลวงสายเอเชีย (Asian Highway) 2.ปรับปรุงจุดผ่านแดน อาคารสำนักงานต่าง ๆ สถานีขนถ่ายสินค้าและลานกองเก็บ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบริเวณด่าน 3.ปรับปรุงระบบไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณทางร่วมทางแยกในชุมชนระบบระบายน้ำและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย4.พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเงื่อนไขและรูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ดังนี้ 

เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
  • อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1.75 ต่อปี 
  • อายุสัญญา 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 7 ปี)
  • ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ.ร้อยละ 0.15 ของวงเงินกู้
  • ระยะเวลาการเบิกจ่าย 6 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา
  • ผู้ประกอบการงานก่อสร้างและที่ปรึกษานิติบุคคลสัญชาติไทย
  • การใช้สินค้าและบริการจากประเทศไทย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าสัญญา
  • ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษานิติบุคคลสัญชาติไทย
  • กฎหมายที่ใช้บังคับกฎหมายไทย
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน

วงเงินให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน1 (Concessional Loan) วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,833,747,000 บาท แบ่งออกเป็น

  • วงเงินให้กู้ (จากแหล่งเงินงบประมาณร้อยละ 50 และเงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศร้อยละ 50) 1,742,684,000 บาท 
  • วงเงินให้เปล่า (จากแหล่งเงินงบประมาณ) 91,063,000 บาท 
แหล่งที่มาของเงินทุนโครงการ R12 ประกอบด้วย
  • เงินงบประมาณ แบ่งเป็น วงเงินให้เปล่า จำนวน 91,063,000 บาท และ วงเงินให้กู้ (ร้อยละ 50 ของวงเงินให้กู้) จำนวน 871,342,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 962,405,000 บาท โดยขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจาก สงป. เป็นรายปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 รวมระยะเวลา 3 ปี 
  • เงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศ (เงินนอกงบประมาณ) คิดเป็นร้อยละ 50  ในส่วนของเงินกู้ รวมวงเงิน 871,342,000 บาท ซึ่ง สพพ. จะกู้เงินระยะเวลา 5 ปี โดยใช้วิธีการประมูลเพื่อหาผู้เสนอเงื่อนไขที่ดีที่สุด โดยในช่วง 5 ปีแรก ใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี ซึ่งภายหลังจะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้โดยการออกพันธบัตรระยะเวลา 10 ปี สำหรับปีที่ 6 – 15 และออกพันธบัตรระยะเวลา 15 ปี สำหรับปีที่ 16 – 30 โดยใช้ประมาณการอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.00 ต่อปี โดย สพพ. เป็นผู้รับภาระส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา

ทั้งนี้ กรณีที่ สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ สพพ. จะพิจารณาใช้เงินสะสมของ สพพ. ไปก่อน หาก สพพ. ไม่สามารถดำเนินการได้หรือมีสภาพคล่องไม่เพียงพอจะขอให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อเสริมสภาพคล่องและเมื่อ สพพ. สามารถเรียกเก็บหนี้ได้จะนำเงินดังกล่าวส่งคืนคลังต่อไป

รายละเอียดค่าใช้จ่ายภายใต้วงเงินให้ความช่วยเหลือ
  • ค่าก่อสร้าง ประกอบด้วย งานก่อสร้างภายใต้วงเงินกู้ 1,584,937,000 บาท 
  • งานก่อสร้างภายใต้วงเงินให้เปล่า ได้แก่ งานปรับปรุงเส้นทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว 44,212,000 บาท งานสร้างจุดพักรถ 6,454,000 บาท งานปรับปรุงด่านนาเพ้า 40,397,000 บาท 
  • ค่าที่ปรึกษา 51,000,000 บาท 
  • ค่าบริหารจัดการ 20,000,000 บาท
  • ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 84,000,000 บาท 
  • ค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2,747,000 บาท 

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการ R12 แล้ว สพพ. จะดำเนินการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการเงินกู้ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรลุโครงการดังกล่าวตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง 5 ปี ต่อไป

นางสาวเกณิกากล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า เส้นทาง R12 จะสนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทย สปป. ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายใต้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย โดยสามารถประหยัดเวลาการขนส่งและพิธีการทางศุลกากรระหว่างประเทศได้ (Transit & Customs time) จากจุดเริ่มต้น (Origin) และจุดหมาย (Destination) เดียวกันจาก 10 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมง เนื่องจากลดขั้นตอนการผ่านด่านศุลกากรจาก 5 จุด เหลือ 2 จุด และช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก 

นางสาวเกณิกากล่าวว่า ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งภาคการผลิตและบริการที่สำคัญ รวมถึงส่งเสริมให้มีการเดินทางและติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีระหว่างกันส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตได้อย่างรวดเร็วปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“เส้นทาง R12 เป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางหมายเลข 8 (R8) และเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor : EWEC) และคาดว่า มีโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนการใช้เส้นทางจากเส้นทาง R9 มาใช้เส้นทางโครงการ R12 ประมาณร้อยละ 50 ซึ่งจะส่งผลให้โครงการ R12 สามารถเพิ่มมูลค่าการค้าชายชายแดนระหว่างไทย – สปป. ลาว ผ่านด่านศุลกากรนครพนมได้มากขึ้น”นางสาวเกณิกากล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

“ณพลเดช” หวังดัน จ.เชียงราย การเงินโลก – โมเดลสวิตฯ แห่งเอเชีย

 

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟสบุ๊ค ดร.ปิง ณพลเดช มณีลังกา 李冰阳 ระบุจากที่เป็นคนเชียงรายแท้ๆ วันนี้ไม่ได้ข้ามมายังแผ่นดินลาวบริเวณสามเหลี่ยมทองคำมานาน ผมเคยมาที่นี่น่าจะเกิน 30 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เปลี่ยนไปมาก กลางคืนเป็นเมืองไม่หลับใหลแบบฮ่องกง กลางวันเป็นแหล่งท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ จากที่ทราบคือ ประเทศลาวให้ นักลงทุนชาวจีนมาลงทุนระยะยาว จึงเกิดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และ”เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์” รวมทั้งกาสิโน ต้องบอกว่ามีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ถ้ามองในสายตาของผมแล้ว หากปล่อยให้เจริญขึ้นเอง ก็คงจะใช้เวลาอีกพันปี แต่พอให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ 

 

ผมเห็นคนลาวที่ไม่มีงานทำ ก็มีอาชีพลืมตาอ้าปากได้ ไม่เพียงชาวลาว คนพม่าก็มาทำงานจำนวนมาก ด้วยแผ่นดินตรงนี้เชื่อม 3 ประเทศ โดยคั่นด้วยแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ไทย-ลาว-พม่า โดยมียักษ์ใหญ่คือจีน เชื่อมโดยการเดินทางอยู่ไม่เกิน 6 ชม. ในการเดินรถไฟความเร็วสูงการเดินทางโดยเครื่องบินก็ง่ายเพราะอยู่ตรงกลาง และเชียงรายมีสนามบิน นานาชาติ น่าสนใจเข้าไปอีกมีทางเชื่อมออกทะเลทางเวียดนามและพม่า หมายความว่า สามารถจะเชื่อมทางธุรกิจขนาดใหญ่อย่างน้อย 5 ประเทศ ที่อยู่ใกล้กัน

 

การลงทุนฝั่งลาว มีการลงทุนสัมปทานพื้นที่จากกลุ่มทุนจีนชื่อ กลุ่มดอกงิ้วคำ เป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงที่มีจ้าวเหว่ย กลุ่ม คิงส์โรมัน บริหาร ด้วยเม็ดเงินมหาศาล ในสายตาของผมเราไม่ต้องอิจฉาเขาหรือไม่ต้องไปแข่งกับเขาเลยครับ ถ้าประเทศไทยเราใช้ยุทธศาสตร์ในฐานะ อยู่กึ่งกลางของทุกประเทศข้างต้น ออกกฎหมายที่เหมาะสม เชียงรายจะกลายเป็นเมืองการค้าการลงทุนที่ใหญ่มาก 
 
 
ในภูมิภาคนี้ ไม่แน่อาจกลายเป็นศูนย์กลางทาง Finance แบบสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยภูมิประเทศโอบล้อมด้วยแผ่นดินรอบล้อมด้วยประเทศต่างๆ ไม่ติดทะเล ปลอดภัยจากสงครามจากทางทะเล อาจนำไปสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ผนวกกับ เชียงราย โดยเฉพาะเชียงแสน เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีศิลปะและวัฒนธรรม ที่ยาวนาน เราจะสามารถขายการท่องเที่ยวขายเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นให้ต่างชาติ มาเยี่ยมชมเราได้อีกมาก
 
 
พอเดินทางกลับจากประเทศลาว ผมจึงถือโอกาสไปรดน้ำดำหัวท่านศุลกากรเชียงของ และได้ถือโอกาสหารือกับนายด่านเชียงของ ถึงแนวคิดการ ผลักดันการค้าชายแดน ที่เชียงของที่เชื่อมกับถนน R3A ของลาวเชื่อมทางรถไฟความเร็วสูงสู่จีน นายด่านให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก ตรงนี้ผมเริ่มเห็น โอกาสภูมิประเทศของเชียงราย ที่คล้ายกับสวิสเซอร์แลน การเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจทั้งการเงินการธนาคาร ธุรกิจการค้าขาย แน่นอนหากมีการหมุนเม็ดเงินลงทุนมาสู่เชียงราย อาจนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งของโลก 
 
 
เบื้องต้นต้องผลักดันเชียงราย-เชียงใหม่ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเสียก่อน โดยออกกฎหมายเฉพาะ และเชิญชวนองค์กรสันติภาพระหว่างประเทศมาตั้งสำนักงานที่นี่ ดึงการค้าการเงินการธนาคาร เพื่อผลักดันการเป็นศูนย์กลาง ซึ่งประเทศไทยมีความมั่นคงอยู่แล้ว อีกทั้งเชื่อมโยงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ให้สะดวกขึ้น และดึงเม็ดเงินมาลงในพื้นที่ ก็อาจจะทำให้เชียงราย-เชียงใหม่ กลายเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย อย่างไรผมจะลองเอาโมเดลนี้ไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไปครับ
 
นอกจากความร่ำรวยระดับโลกแล้ว ฟรังก์สวิส ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยังเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ปลอดภัย ที่นักลงทุนทั่วโลกเชื่อมั่น และครอบครองเมื่อตลาดผันผวน
 
 
โดยปัจจัยที่ทำให้ฟรังก์สวิส เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย มีอยู่ 4 ข้อหลัก ๆ ด้วยกัน
นั่นก็คือ
1. ระบบธนาคารที่แข็งแกร่ง และมีความน่าเชื่อถือ
2. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
3. ความเป็นเอกภาพ และเสถียรภาพทางการเมือง
4. ปัจจัยสุดท้ายคือ สถานะความเป็นกลางของประเทศ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.ปิง ณพลเดช มณีลังกา 李冰阳

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

ผู้อบรมหลักสูตรวิเคราะห์ข่าวระเบียบโลก ศึกษาดูงาน จ.เชียงราย – สปป.ลาว

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสกสว.และ สภาการการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดกิจกรรมศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านตลาดการค้าชายแดน สปป.ลาว – ประเทศไทย ” ระหว่างวันศุกร์ที่ 26 – วันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567

 

เมื่อวันที่ 26 – 27 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกให้กับสื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความสามารถของสื่อมวลชนในการรายงานและวิเคราะห์ข่าว ความเคลื่อนไหวในมุมต่างๆ ของระเบียบโลกได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน และเป็นไปตามหลักจริยธรรมสื่อมวลชน ที่ซึ่งจัดโดย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยได้ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แลนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

โครงการได้คัดเลือกในรูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ตามสัดส่วนของทั้งสื่อมวลชน องค์กรภาครัฐและเอกชนรวม จำนวน 31 คน นอกจากจะมีการศึกษาดูงานในส่วนกลางที่กระทรวงการต่างประเทศ และสหประชาชาติใน ประเทศไทย นอกจกานี้ยังจะมีในส่วนภูมิภาคที่จังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาดูงานการค้าขายชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว – เมียนมา – จีน เพื่อให้ได้รับข้อมูลและความรู้โดยตรงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดทำรายงานกลุ่มเพื่อร่วมกันออกแบบการสื่อสารเกี่ยวกับระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปให้น่าสนใจและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้รับสาร ต้องขอบคุณ สกสว. กองทุน ววน.ที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ในครั้งนี้

 

 

ซึ่งทาง สำนักข่าว นครเชียงรายนิวส์ หรือเดิมชื่อหนังสือพิมพ์นครเชียงราย มีนายกันณพงศ์ ก.บัวเกษร ผู้ก่อตั้งนครเชียงรายนิวส์ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งท่านในโครงการอบรมครั้งนี้ด้วย

 

ในวันที่ 26 มกราคม 2567  ผู้เข้ารับการอบรม โครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” จัดโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เดินทางไปศึกษาดูงานในส่วนภูมิภาค ที่จังหวัดเชียงราย

 

โดยมี นายเกรียงศักดิ์ วันไชยธนวงศ์ รองนายก อบจ. เชียงราย ให้การต้อนรับ และนางสาวผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ได้บรรยาย สถานการณ์การเมือง-เศรษฐกิจชายแดน แก่ผู้เข้ารับการอบรมทราบ

 

จากนั้น คณะฯ เดินทางไปสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) เพื่อศึกษาดูงานแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว  โดยมี ท่านไพบูน พิลาทอง รองอธิบดีกรมสื่อมวลชน กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว แห่ง สปป.ลาว ให้การต้อนรับ และนายสีสุพรรณ สีลิวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมและการค้า แขวงบ่อแก้ว บรรยายสรุปอุตสาหกรรมและการค้าแขวงบ่อแก้ว ให้ผู้เข้ารับการอบรมทราบ และนมัสการพระธาตุสุวรรณผ้าคำ เมืองห้วยทราย 

 

โดยในวันที่ 27 มกราคม คณะฯ ได้เยี่ยมชมหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ในช่วงการจัดงาน ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ซึ่งนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางสุภัสสร ประภาเลิศ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ร่วมต้อนรับ มีนางสาววัจนีย์ บุญเจ็น ผู้จัดการขัวศิลปะ กล่าวต้อนรับและนำชมงาน นอกจากนี้ คณะฯ มีโอกาสได้ไปเยี่ยมกิจการสิงห์ปาร์ค วัดร่องเสือเต้น และถนนคนเดินเมืองเชียงรายด้วย

โดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ประกาศรับสมัครผู้เข้ารับการอบรบโครงการ “เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง : โลกาภิวัตน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ” ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566 – 25 ตุลาคม 2566 นั้น บัดนี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้ดำเนินการพิจารณาแล้ว ผลปรากฎว่ามีผู้มีสิทธิ์เข้ารับการอบรมจำนวน 31 คน ดังนี้

1. นายกันณพงศ์ ก.บัวเกษร ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ นครเชียงรายนิวส์

2. นายกิตติกร แสงทอง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา

3. นางสาวจารุพร โอภาสรัตน์ ผู้สื่อข่าว องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

4. ดร.ฉัตรฉวี คงดี ผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

5. นายชนาภัทร กำลังหาญ ผู้สื่อข่าว The Nation (บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน))

6. นายณรงค์กร มโนจันทร์เพ็ญ คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด (The Standard)

7. นายณัฐพล สมุหเสนีโต นักสื่อสารมวลชนชำนาญการ กรมประชาสัมพันธ์

8. นางสาวณัฐยา เมืองแมน รองผู้อำนวยการอาวุโส ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

9. นางสาวดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าว-เว็บไซต์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

10. นางสาวดารินทร์ หอวัฒนกุล ผู้สื่อข่าวอาวุโส บริษัท เนชั่น ทีวี จำกัด (เนชั่น ทีวี)

11. อาจารย์ต้นฝน ทรัพย์นิรันดร์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

12. นางธัญดา วาณิชฤดี ผู้วิเคราะห์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย

13. นายนครินทร์ ศรีเลิศ หัวหน้าข่าวเศรษฐกิจ – นโยบายสาธารณะ บริษัท กรุงเทพธุรกิจ จำกัด (หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)

14. นางสาวนิธิปรียา จันทวงษ์ นักวิชาการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

15. นางสาวเนาวรัตน์ เสือสอาด ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

16. นายปรัชญา ชีพเจริญรัตน์ บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ (Onenews) บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) (ช่อง ONE)

17. นายพงษ์ธร กิจเจริญยิ่ง ผู้สื่อข่าว บริษัท ไทย เวิลด์ มีเดีย จำกัด (ผู้จัดการออนไลน์)

18. นางสาวมนกนก ภาณุสิทธิกร ผู้จัดการ – Public Relations บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

19. นางสาววนิดา เพ็งจันทร์ ผู้ชำนาญการ ขั้นพิเศษ ส่วนสารนิเทศและกิจกรรมสังคม ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

20. นายวรพล เพชรสุทธิ์ หัวหน้าข่าวภูมิภาค บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด(หนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

21. นางสาววรางคณา จำปาทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซียน ทีวี จำกัด

22. นายวิชัย สอนเรือง หัวหน้าข่าวออนไลน์ บริษัท สยามรัฐ จำกัด (หนังสือพิมพ์สยามรัฐ)

23. ผศ.วิภาวี วีระวงศ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

24. นายวีรยุทธ แก้วจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

25. นายวีระพันธ์ โตมีบุญ ผู้ดำเนินรายการวิทยุ สถานีวิทยุศึกษา

26. นายศราวุธ ดีหมื่นไวย์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส เจาะประเด็น บริษัท เทรนด์วีจี 3 จำกัด (ไทยรัฐออนไลน์)

27. นางสาวศิดาพักตร์ ศักดิ์บุญญารัตน์ บรรณาธิการการเมือง บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น 16)

28. นายศุภเกษม เกษมศรี ณ อยุธยา นักวิจัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

29. นางสาวสราลี แซ่เตี๋ยว กรรมการบริหารฝ่ายปฏิบัติการ บจก.เชียงใหม่รายวัน จำกัด (สำนักข่าวเชียงใหม่นิวส์)

30. นางสาวสุมนชยา จึงเจริญศิลป์ ผู้จัดการแผนก บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)

31. นางสาวอาทิตญา ทาแป้ง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ บริษัท วัชรพล จำกัด (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

เปิดแล้วเซเว่น อีเลฟเว่น สปป.ลาว สาขาแรกอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์

 

ท่านบุญเถิง ดวงสะหวัน รองรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และการค้า แห่ง สปป.ลาว นางสาวมรกต ศรีสวัสดิ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ ให้เกียรติเป็นประธานตัดริบบิ้นในพิธีเปิดให้บริการร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแรกในสปป. ลาว อย่างเป็นทางการ ร่วมกับนายชัยโรจน์ ทิวัตถ์มั่นเจริญ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และ Managing Director International Business บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา

          โดย เซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแรกนี้ ตั้งอยู่ที่ถนนสุพานุวง บ้านหนองปาใน เมืองสีโคดตะบอง ในนครหลวงเวียงจันทน์ บริหารโดย บริษัท ซีพี ออลล์ ลาว จำกัด ในกลุ่มซีพี ออลล์  ซึ่งจะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง นำเสนอสินค้ากว่า 5,000 SKUs เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม มุ่งเน้นคุณภาพมาตรฐาน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารพร้อมทาน รวมถึงสินค้าเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น อาทิ สินค้ายอดนิยมตลอดกาลในอย่าง Slurpee หรือเครื่องดื่มชงสด All Café นอกจากนี้ ยังมีสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคภายในประเทศ และผู้ที่มาเยือน สปป. ลาว ซึ่งเพิ่มขึ้นตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวกสบายรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปี 2567 นี้ รัฐบาล สปป. ลาวกำหนดให้เป็นปีท่องเที่ยวลาว ซึ่งจะตรงกับวาระที่สปป.ลาว จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ก็จะทำให้บรรยากาศภายในประเทศคึกคักมากยิ่งขึ้นด้วย     

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : บริษัท ซีพี ออลล์ ลาว จำกัด

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ทุเรียนแชมป์ส่งออกรถไฟเร็วสูงจีน – สปป.ลาว ลดเวลาขนส่งเหลือ 15 ชั่วโมง

 

วันที่ 20 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ของปี 2566 มี มูลค่ารวม 2,848.41 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 260 จากปี 2565 โดยผลไม้ไทยได้รับความนิยมในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งการใช้รถไฟจีน-ลาว สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เหลือใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคในอนาคต
 
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ พบว่า 10 อันดับแรกของสินค้าที่ส่งออกทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนมีมูลค่าการส่งออกและขยายตัวสูงที่สุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 ได้แก่ 1) ทุเรียนสด อยู่ที่ 2,073.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 364 เมื่อเทียบกับช่วงกันของปี 2565 2) มังคุดสด 378.65 ล้านบาท 3) หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท 4) ลำไยสด 37.40 ล้านบาท 5) สินค้าแร่ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ 17.89 ล้านบาท 6) สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท 7) ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท 8) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท 9) มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท และ 10) ผลไม้อื่น ๆ 1.52 ล้านบาท ตามลำดับ 
 
ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ – หนองคาย) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค สำหรับระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย เชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาการขนส่งน้อยลง และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ในการส่งออกสินค้าไปจีนได้อีกด้วย
 
“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางราง ซึ่งเป็นการขนส่งที่สามารถลดต้นทุน เวลา และค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออกไทย พร้อมเชื่อมั่นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครอบคลุมตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการ จะมีส่วนสำคัญ ส่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News