Categories
TOP STORIES

สธ. ตั้งเป้าผลิตหมอปีละ 5,000 คน ร่วมมือ ม.พะเยา และมหาวิทยาลัยอีก 15 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่าง สธ. กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ประกอบด้วย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหาสารคาม ม.มหิดล ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ม.อุบลราชธานี และสถาบันพระบรมราชชนก

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. โดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีรพ.ของสธ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบ 77%

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการขยายกรอบความร่วมมือทั้งด้านการศึกษา การผลิตบุคลากรสาธารณสุข การวิจัยเพิ่มมากขึ้น รองรับโยบายรัฐบาลในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และอีกส่วนสำคัญคือรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์รองรับเพิ่มมากขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์ภาพรวมเรามีแพทย์อยู่ประมาณ 50,000 คน อยู่ในสังกัดสธ. 25,000 คน ที่เหลือ 20-30% อยู่ที่ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ และหน่วยความมั่นคง ส่วนอีก 20% อยู่ในภาคเอกชน หากเทียบหลายปีก่อนถือว่าไม่ขาดแคลน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการผลิตแพทย์ 1 คน สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้หลายสิบหลายร้อยล้าน ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมทั้งประเทศโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 3,500 คน โดยแต่ละปี สธ.ร่วมผลิตในชั้นคลินิกประมาณ 2,000 คน ขณะนี้สธ.กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนากำลังคน

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เดิมเรามองแต่บริบทการผลิตบุคลากรสาธารณสุขตอบสนองเฉพาะประชาชนในประเทศ แต่บริบทใหม่จะต้องตอบสนองบริการทางการแพทย์ที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับมากขึ้นโดยความร่วมมือกับทุกหน่วย โดยเฉพาะแพทย์ที่ตั้งเป้าช่วง 6-10 ปีจากนี้จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 5,000 คน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

กทม.-เชียงราย แชมป์เสียชีวิต 13 ราย พบเยาวชนอายุเพียง 10 ปี ดื่มแล้วขับ

 
เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 ที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ว่า ตั้งแต่วันที่ 11 – 15 เมษายน เกิดอุบัติเหตุสะสม 1,564 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บสะสม 14,621 ราย ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 1.37 ในจำนวนนี้ ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,593 ราย ลดลงร้อยละ 8.29 ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 206 ราย ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 2.74 โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเชียงราย 13 ราย ร้อยเอ็ด 12 ราย และนครราชสีมา 10 ราย

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นขับรถเร็ว ร้อยละ 43.19 การดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ ร้อยละ 23.92 และตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 15.28 โดยพบว่าเกิดเหตุบนถนนสายรองในอบต.หรือในหมู่บ้านถึง ร้อยละ 31.88 ด่านชุมชนจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยคัดกรองผู้มีอาการมึนเมาสุรา ซึ่งในช่วง 5 วันนี้ สามารถสกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกมาขับขี่บนท้องถนนได้ถึง 9,144 ราย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ขับขี่รถยนต์/รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 66.29 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย/ไม่สวมหมวกนิรภัย ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น

 

“ที่น่าเป็นห่วงคือ พบเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่ดื่มแล้วขับถึง 324 ราย โดยมีอายุน้อยที่สุดเพียง 10 ปี กระทรวงสาธารณสุขจึงมุ่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการตรวจตราร้านค้า สถานที่และเวลาห้ามจำหน่าย และการห้ามจำหน่ายให้กับเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งมีการตั้งด่านตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ และตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย โดยหากเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีการสืบเอาผิดไปถึงร้านค้าที่จำหน่ายให้ด้วย“ นายแพทย์ชลน่านกล่าว

 

นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า ช่วงวันที่ 16 – 17 เมษายน นี้ ประชาชนเริ่มเดินทางกลับมาทำงานตามปกติ การจราจรจึงมีความหนาแน่นมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อ่อนเพลียระหว่างขับรถได้ง่าย และมีโอกาสเกิดอาการหลับในสูง ดังนั้น ก่อนเดินทางจึงควรตรวจเช็คสภาพรถและเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วง ระหว่างขับรถหากรู้สึกอ่อนล้าหรือง่วง ขอให้จอดพักผ่อนที่จุดบริการประชาชนแล้วค่อยไปต่อ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด สวมหมวกนริภัย/คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล และหากพบผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

สธ.- สกมช. เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ คุ้มครองข้อมูลสุขภาพผู้รับบริการ

 
วันนี้ (28 สิงหาคม 2566) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีเปิดการอบรมการจัดการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงและปลอดภัยไซเบอร์ (Security Operation Center : SOC) ภายใต้โครงการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) ด้านสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยมี พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธี 

          นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จึงเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย การให้บริการและการรักษา เป็นต้น ความปลอดภัยของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาล เพื่อยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนการป้องกัน รับมือ ตอบโต้และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

          ด้านพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่มีระบบและข้อมูลสารสนเทศในกระบวนการปฏิบัติงานของแพทย์ พยาบาลและผู้รับบริการที่มีความสำคัญทั้งสิ้น การอบรมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญ สร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเสริมการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ให้สามารถตรวจจับการโจมตี เพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองและบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทำให้การบริการดำเนินต่อไปได้ โดยไม่กระทบต่อประชาชน 

          สำหรับการอบรมในครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ สถานการณ์ การรับมือและการป้องกัน ตลอดจนการใช้เครื่องมือเพื่อตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานดูแลระบบสารสนเทศของหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของแต่ละหน่วยงาน สร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลของผู้รับบริการ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการโดยจัดในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 90 คน จากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลพุทธชินราช
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News