เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมเปิดเดินขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ ระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ที่มีกำหนดเปิดให้บริการเป็นทางการในวันที่ 19 ก.ค.นี้ นำโดย “สุรพงษ์ ปิยะโชติ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีพร้อมร่วมเดินทางออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ในเวลา 20.30 น.
โดย ขบวนรถเที่ยวปฐมฤกษ์ จะเดินทางด้วยขบวนรถเร็วที่ 133 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 11 ชั่วโมง ในการเดินทางและผ่านกระบวนการพิธีศุลกากรผ่านแดน (ขาออก) ณ สถานีหนองคาย ก่อนจะถึงสถานีปลายทางเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) และผ่านกระบวนการพิธีศุลกากร (ขาเข้า) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
สำหรับแนวเส้นทางให้บริการรถไฟ สายกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ จะใช้เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแยกออกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีรถไฟชุมทางบ้านภาชี ผ่านจังหวัดสระบุรี เข้าสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา ผ่านจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย ก่อนจะข้ามสะพานมิตรไทย-ลาวแห่งที่ 1 เข้าสถานีรถไฟท่านาแล้ง และสิ้นสุดที่สถานีเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ได้เดินทางไปร่วมประชุมกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) โดยมีประเด็นหารือ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.แผนการเปิดเดินรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี –หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) รวมถึงแผนการทดลองเดินรถเสมือนจริง ซึ่งกำหนดไว้ในระหว่างวันที่ 13 -14 ก.ค. 2567
2.แผนพัฒนาตลาดด้านการท่องเที่ยว
3.แผนการโฆษณาและประชาสัมพันธ์
4. การเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งสินค้าระหว่าง ไทย – ลาว- จีน
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาการรถไฟฯ ยังได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว ทำการทดลองและทดสอบการเดินขบวนรถไฟระหว่างสถานีอุดรธานี-สถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง-สถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 โดยผลการทดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการเดินรถใดๆ
ทั้งนี้ การเปิดเดินขบวนรถระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – อุดรธานี – หนองคาย – เวียงจันทน์ (คำสะหวาด) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 ประเทศ จากปัจจุบันที่สามารถเปิดเดินรถถึงสถานีท่านาแล้ง (สปป. ลาว) และเมื่อสามารถให้บริการได้เต็มรูปแบบจนถึงสถานีเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) จะก่อให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยวอย่างมหาศาล
โดยสามารถรับส่งผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบิน มาลงยังสนามบินอุดรธานี เพื่อเดินทางต่อเข้าไปนครหลวงเวียงจันทน์ได้ โดยไม่ต้องต่อรถโดยสารอื่น ซึ่งเป็นการยกระดับระบบโลจิสติกส์ของทั้งสองประเทศ สอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และโลจิสติสก์ของภูมิภาค
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ