Categories
FEATURED NEWS

กสว.ชุดใหม่รับไม้ต่อ ทำงานแบบบูรณาการ วิจัยตอบโจทย์ประเทศ และพัฒนานักวิจัย

 

สิริฤกษ์” นำทีม กสว.ชุดใหม่ รับไม้ต่อสานงานจากชุดเก่า เน้นการบูรณาการ ววน. กับการพัฒนาด้านอุดมศึกษา ขับเคลื่อนภาพรวมการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ร่วมมือจัดทำนโยบายและแผนบูรณาการด้านวิจัยกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมสานงาน 7 ด้าน ภายใต้แนวคิด ‘สหสัมพันธ์ ความร่วมมือ บูรณาการ การผลิตร่วมกัน’

คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้จัดการรับส่งมอบงานและหารือแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการ กสว. ระหว่างกรรมการชุดเดิมและชุดปัจจุบัน โดยเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการทั้งสองชุด เพื่อสรุปผลงานที่ได้ดำเนินการมา และหารือแนวทาง ข้อสังเกต คำแนะนำในเรื่องต่างๆ โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงานของสำนักงาน สกสว. เข้าร่วมด้วย

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. กล่าวว่า ขอขอบคุณกรรมการชุดที่ผ่านมาทุกท่านที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมเกียรติและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติและหน่วยงาน พร้อมเป็นตัวแทนมอบโล่เกียรติคุณจาก น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขอบคุณกรรมการ กสว. ที่ครบวาระการปฏิบัติงาน

การรับมอบงานครั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องของการดำเนินงาน รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่าน ปัญหา อุปสรรค แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมกับหารือรับคำแนะนำในเรื่องที่คณะกรรมการชุดใหม่จะดำเนินการ โดยสิ่งที่บอร์ดชุดที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วนั้นนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้ปฏิรูประบบการวิจัยรูปแบบใหม่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งได้เกิดประโยชน์และวางรากฐานการดำเนินงาน เป็นโอกาสอันดีที่คณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับทราบข้อมูล ประสบการณ์ และความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเป็นบทเรียนในการสานต่อการดำเนินงานและริเริ่มประเด็นใหม่ๆ ที่สำคัญคือการถอดบทเรียนการทำงานในเรื่องใหญ่ ๆ มุ่งเน้นการพัฒนารายได้ใหม่ที่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เห็นผลได้จริงทั้งในระยะสั้น และวางรากฐานการพัฒนาการวิจัยในระยะกลางและระยะยาว โดยในการประชุมในครั้งนี้รู้สึกยินดีอย่างยิ่งว่า คณะกรรมการทั้งสองชุดนี้ได้เห็นว่า กสว. จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ เกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งเป็นการพัฒนานักวิจัยและหน่วยงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการสร้างความเข้มแข็งของนักวิจัยทั้งในด้านพื้นฐานและประยุกต์ บูรณาการทุกภาคส่วนให้เกิดประโยชน์ต่อประะทศโดยตรง ซึ่ง กสว.ชุดแรกได้ทำงานหนักอย่างมากในการจัดตั้งระบบ โดย กสว. ชุดใหม่ก็ต้องทำงานต่อและริเริ่มงานเพิ่มขึ้นอีก ทั้งการสร้างฐานวิชาการและการใช้ประโยชน์ โดยต้องทำทั้งในการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนให้เกิดผล ตลอดจนติดตามและประเมินผลได้ทั้งระบบ รวมทั้งให้ดำเนินการในแต่ละส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 

ขณะที่ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว.ชุดเก่า เผยว่า เชื่อมั่นว่ากรรมการชุดใหม่จะทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ได้ดี ทั้งนี้การทำงานที่ผ่านมา กสว.มีหน้าที่สำคัญ 7 ด้าน คือ ด้านนโยบาย ด้านกองทุนและงบประมาณ ด้านข้อมูลสารสนเทศการวิจัย ด้านการพัฒนาบุคลากรวิจัย ด้านมาตรฐานและจริยธรรม ด้านการพัฒนานวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากผลวิจัย และด้านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา

“การปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศนั้นได้มุ่งออกแบบระบบให้สามารถแก้ปัญหาการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพ มีกลไกการตัดสินใจในระดับที่สูงขึ้น คือ มีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และมีการจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม เป็นครั้งแรกที่ทำแผนแบบบูรณาการ แต่ถ้าจะทำวิจัยให้ได้ดี ต้องบริหารจัดการทั้งคน เครื่องมือ และระบบ ต้องพร้อมด้วย มองให้ครบทุกด้าน และต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจนบรรลุผล“

คณะกรรมการ กสว. ทั้งสองชุด ยังได้หารือ เรื่อง การบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กับด้านอุดมศึกษา ความร่วมมือจัดทำนโยบายและแผนบูรณาการด้านวิจัยและนวัตกรรมกับหน่วยงานอื่น ให้เป็นแผนเดียวกับ ววน. โดยเริ่มจากหน่วยงานภาครัฐ และขยายไปสู่ภาคเอกชน
กลไกการขับเคลื่อนให้ ววน. สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์เร่งด่วนได้ ตามที่ได้ทำแล้วในช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีประเด็นการขับเคลื่อนให้โปรแกรมต่างๆ สามารถทำได้อย่างคล่องตัวโดยบรรลุผลตามที่ได้กำหนด มีธรรมาภิบาล โปร่งใส เกิดความคุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ กสว. ได้ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นสำนักงบประมาณด้าน ววน. เน้นผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนการนำเอาข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการสนับสนุนระบบบริหารจัดการ ตรวจสอบ และติดตามได้อย่างต่อเนื่อง

ก้าวต่อไปของ กสว. คือ การดูแลภาพรวมการวิจัยของประเทศที่สัมพันธ์กับความต้องการของประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และการพัฒนารายได้ใหม่ที่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคม และสร้างความเข้มแข็งของระบบวิจัย เน้นตอบโจทย์เห็นผลได้จริงในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

สธ.-อว. เตรียมความพร้อม ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

 

 วันนี้ (17 กรกฎาคม 2566) ที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการเตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (Medical Preparedness and Response for Radiological and Nuclear Emergency) โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นสักขีพยาน


          นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริม ยกระดับภารกิจด้านการเตรียมความพร้อม และการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงตอบโต้ภัยฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับบริบทของประเทศ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 แผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2564 – 2570 และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงในโครงการ “เตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี  (Medical Preparedness and Response for Radiological and Nuclear Emergency)” เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐาน เป้าหมายและการปฏิบัติงานให้มีความเชื่อมโยงทุกระดับ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงและจัดการสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ “การรู้รับ – ปรับตัว – ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน”


            โดย กระทรวงสาธารณสุข จะมีภารกิจในการประสานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานกลางของหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในระดับต่างๆ สนับสนุนและพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากร ระบบข้อมูลสารสนเทศ องค์ความรู้ นวัตกรรมด้านบริหารจัดการในการจัดการภาวะฉุกเฉิน รวมถึงด้านวิชาการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย


          ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ขอบเขตและแนวทางการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย, การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็ง, บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสถานพยาบาล, พัฒนาศักยภาพบุคลากรและงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง, การกำหนดรายละเอียดเฉพาะเรื่องให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ,การติดตามประเมินผลร่วมกัน, จัดตั้งคณะทำงาน รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีภารกิจในการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และกำกับให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ประชาชน และสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการ กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี ตามพันธกรณีหรือความตกลงระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News