เมื่อวัน 28 พ.ค. 67 ณ ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมติดตาม โครงการศึกษาการดำเนินงานจังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย โดยมีนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมอนามัย คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีเด็กพิการแต่กำเนิดสูงถึง 10,000 กว่าคน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน สำหรับการขับเคลื่อนโครงการศึกษาการดำเนินงานจังหวัดนำร่องป้องกันและลดอัตราความพิการแต่กำเนิด (Birth Defects Sandbox) จังหวัดเชียงราย ถือเป็นการป้องกันก่อนการรักษา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทางสังคม ลดภาระงบประมาณ และช่วยให้ประชาชนชาวไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โดย สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย (สวท.เชียงราย) ได้มีการประชาสัมพันธ์การลดอัตราความพิการแต่กำเนิด ผ่านรายการวิทยุเพื่อคนพิการ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย (สปชส.เชียงราย) นำสื่อประชาสัมพันธ์การให้ความรู้เรื่องวิตามินโฟลิก มาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ social media สถานศึกษาหลายแห่งในจังหวัดเชียงราย ได้บรรจุหลักสูตรการให้ความรู้เกี่ยวกับวิตามินโฟลิก ลงไปในหลักสูตรของวิชาสุขศึกษา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย ได้ส่งต่อสื่อประชาสัมพันธ์วิตามินโฟลิก แก่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงงานต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้พนักงานทราบถึงประโยชน์วิตามิน และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิตามินโฟลิกแก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ ตลอดจนขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์ในชุมชน ผ่านรพ.สต. ทุกพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย
จากนั้นในช่วงบ่าย ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะเดินทางไปประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จังหวัดเชียงราย โดยมีว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายสมชาติ สุภารี หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และนายเสริมสกุล พจนการุณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมสรุปผลการดำเนินงาน
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการติดตามผลการดำเนินงานโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จังหวัดเชียงราย รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ ฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งจากสถิติข้อมูลนักเรียนที่จบฝึกอบรมเมื่อปี 2566 ของกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศพบว่ามีจำนวนนักเรียนที่จบการฝึกอบรมโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ กว่า 800 คน ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 4 ปี และเข้าสู่ปีที่ 5 ใน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในส่วนของจังหวัดเชียงรายมีนักเรียนเข้ารับการอบรมหลักสูตรช่างซ่อมและบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ จำนวน 20 คน โดยฝึกอบรมในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 28 มิถุนายน 2567 และฝึกภาคปฏิบัติในสถานประกอบกิจการ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กรกฎาคม 2567
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพฯ เปิดรับสมัครนักเรียนจำนวน 2 ประเภท คือ เรียนจบ ม.3 ในปีการศึกษานั้น ๆ แล้วไม่ได้เรียนต่อ และผู้ที่จบ ม.3 ในปีอื่น ๆ แต่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งจากการติดตามผลดำเนินงานประจำปี 2567 พบว่ายังมีนักเรียนจำนวนมากที่ต้องการเข้าฝึกอบรมแต่ขาดคุณสมบัติ เช่น วุฒิการศึกษาไม่จบ ม.3 หรือจบ ม.3 ไปนานแล้วจนอายุเกิน 25 ปี รวมถึงปัญหาของหน่วยฝึกอบรมที่ยังขาดแคลนทุนในการจ้างวิทยากรนอกมาสอนหลักสูตรที่มีความทันสมัยทำให้ยังไม่สามารถเปิดหลักสูตรที่หลากหลาย จึงยังไม่ตรงกับความต้องการของผู้ที่จะอบรม
ทั้งนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับจังหวัดเชียงราย ได้มีการพิจารณาทบทวนคุณสมบัติทั้งอายุ และวุฒิการศึกษาเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสที่สนใจเข้าร่วมโครงการได้ รวมทั้งหาวิธีในการจัดหาวิทยากรมาสอนเพื่อรองรับวิทยาการที่ทันสมัย ตลอดจนประสานงานกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด และสถานประกอบกิจการ ในเครือข่ายเพื่อรองรับเด็กที่จบการฝึกอบรมแล้วมีงานทำทันที เช่น บริษัท ทวียนต์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย
สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อ ๆ ไป อาจมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมแนวทางการขับเคลื่อนบางประการ เช่น แนวทางการประชุมชี้แจงครูแนะแนวที่ต้องให้ทราบรายละเอียดอย่างทั่วถึง เพราะครูแนะแนวบางโรงเรียนอาจมีการโยกย้ายหรือไปสู่ตำปหน่งที่สูงขึ้น รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาการประชุมให้เป็นปัจจุบัน สิ่งที่จำเป็นต้องให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของโครงการอย่างชัดเจน เช่น เรียนฟรี พักฟรี กินฟรี อบรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 – 6 เดือน ได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือระหว่างการฝึกอบรม ประมาณ 6,000 – 8,000 บาทต่อครอบครัว จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีงานทำจากแรงงานไร้ฝีมือ กลายเป็น แรงงานที่มีฝีมือได้รับอัตราค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำโดยทั่วไป เพราะเป็นผู้ที่มีทักษะความสามารถทางวิชาชีพ มีใบประกาศนียบัตรรับรองหลังจบการฝึกอบรมในสายอาชีพ รวมถึงรู้ช่องทางเพื่อพัฒนาต่อยอดศักยภาพสถานะฝีมือแรงงาน
ซึ่งนอกจากการสร้างความเข้าใจกับครูแนะแนวแล้ว การประชุมชี้แจงโดยตรงกับนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจส่งลูกหลานเข้ารับการอบรมต่อไป เพราะลูกหลานที่เข้าฝึกอบรมทักษะด้านอาชีพตามโครงการเมื่อจบมาแล้ว จะมีตำแหน่งงานว่างรองรับทันที ทำให้มีอาชีพ มีหน้าที่การงาน มีความมั่นคงและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวและตนเองได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาการพนัน ฯลฯ ให้มีจำนวนลดลงได้ในระดับหนึ่ง