Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘สุดาวรรณ’ เยือนชุมชนปกาเกอะญอ จัดพื้นที่คุ้มครองวีถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

 
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานตามแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ณ ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยเยี่ยมชมและร่วมหารือกับชุมชนถึงแนวคิดการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของชุมชน เป็นต้นแบบให้กับชุมชน ชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่
 
ในโอกาสนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเยี่ยมชมการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนว่า “รู้สึกยินดีมาก ที่ได้มาเห็นรูปธรรมความสำเร็จของชุมชนพี่น้องปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพราะได้เห็นถึงแนวทางการจัดการที่ดีของชุมชน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนชาติพันธุ์ที่สามารถพึ่งตนเองได้บนฐานทุนทางวัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางที่นอกจากจะทำให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาติพันธุ์ด้วยมิติวัฒนธรรม ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงในชีวิต สามารถทำธุรกิจและสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล จึงเห็นว่านี่เป็นรูปธรรมของการใช้พลังทางวัฒนธรรม หรือ Soft Power เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์”
 
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวด้วยว่า “รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะดูแลพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ให้เป็นกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมศักยภาพของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เชื่อว่าเมื่อกฎหมายนี้ประกาศใช้แล้วจะเป็นหลักประกันให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต สามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มากไปกว่านั้น คือ เป็นประโยชน์กับประเทศที่เราจะได้โอบรับความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชาติ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยทุนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย”
 
“ประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย และการที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนชุมชนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลานใน ในวันนี้ นอกจากได้เห็นและให้กำลังใจพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้มาบอกกล่าวกับพี่น้องให้ได้ร่วมยินดีที่ในอีกเร็ววันนี้ที่เราจะมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับแรกของประเทศไทย” นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวปิดท้าย
 
บ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ชาวบ้านห้วยหินลาดในอยู่ที่นี่มานานกว่า 150 ปี ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ นำร่อง 1 ใน 4 พื้นที่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง โดยชาวบ้านได้จัดทำข้อตกลงในการดูแลป่าชุมชนบนฐานวัฒนธรรมและข้อห้ามตามประเพณี ทำให้ชุนชนที่มีจำนวนชาวบ้านเพียงกว่าร้อยชีวิต สามารถรักษาผืนป่ากว่า 10,000 ไร่เอาไว้อย่างสมบูรณ์
 
นอกจากนี้ชุมชนยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยเฉพาะกาแฟ ชา และน้ำผึ้ง สร้างรายได้ให้กับชุมชนจำนวนมาก การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านห้วยหินลานในได้รับการยอมรับจากในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2548 และได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบการจัดการทรัพยากรบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

รมว.วัฒนธรรม เยี่ยมบ้านเมืองรวง ชุมชนโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการกิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2568 ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าและผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวชุมชนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง เข้าร่วม

 
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กราบนมัสการพระพระณัฐวัฒน์ กิตฺติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดท่าไคร้ บ้านเมืองรวง ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จังหวัดเชียงราย และร่วมรับฟังผลการดำเนินงานของชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน
 
ทั้งนี้ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนชาวไทยวนและมีชาติพันธุ์อาข่าอพยพมาอยู่ในชุมชนร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสามัคคี ชุมชนก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2397 ผู้ริเริ่มสร้างหมู่บ้านครั้งแรก เป็นชาวลวงซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ชื่อหมู่บ้านว่า บ้าน “เมืองลวง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้าน “เมืองรวง”
 
ชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ อยู่เย็น เป็นสุขดีเด่น ระดับเขตและระดับภาค ชุมชนต้นแบบจัดการขยะ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ต่อเนื่องกัน 2 ปี ได้แก่ ปี 2564 และ 2565 มีกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน หมู่บ้านน่าอยู่ ผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน เช่น กาแฟ น้ำพริกตาแดงปลาช่อนป่น มะขามแก้ว ผลิตภัณฑ์จักสาน สบู่สมุนไพร และ “แหนมหมู”หรือ “จิ้นส้ม” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ที่ขึ้นชื่อของชุมชนแห่งนี้ เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวผ่านตลาดวัฒนธรรม“สุดสาย ยายกอง” และมีลานวัฒนธรรมสร้างสุข นำเสนอความเข้มแข็งของชุมชน ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของชุมชน เช่น การแสดงฟ้อนเล็บ การแสดงชาติพันธุ์อาข่า เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดท่าไคร้ วัดพุทธมิ่งโมลี และเทศกาล ประเพณีท้องถิ่น เช่น พิธีสงเคราะห์ทำบุญสืบชะตาหมู่บ้านเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นต้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News