Categories
NEWS UPDATE

‘นิด้าโพล’ เผย 34.35 % ไม่ค่อยพอใจ 9 เดือนรัฐบาลนายกฯ ‘เศรษฐา’

 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ขอถามบ้าง … 9 เดือน รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

 

                จากการสำรวจเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน พบว่า ตัวอย่าง

  • ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ มีความล่าช้า และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม 
  • ร้อยละ 31.69 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ไม่มีความก้าวหน้าในการทำงานและไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ 
  • ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีความพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเห็นผลงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา 
  • ร้อยละ 7.40 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยเหลือประชาชน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

               

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น ผลงานยังไม่ชัดเจน แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะ การทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงาน มีทักษะด้านการบริหาร สามารถทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้ ร้อยละ 5.42 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา มีการบริหารที่ดีสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

                ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ภายในระยะเวลา 2 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 43.44 ระบุว่า นายกฯ เศรษฐา ยังคงอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 15.65 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 15.50 ระบุว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 10.92 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 10.46 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.56 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 6.11 ระบุว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 4.58 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ 3.21 ระบุว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.05 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง ร้อยละ 2.60 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และ สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนลดลง ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

                เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.26 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.28 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 35.65 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.60 สมรส และร้อยละ 2.75 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 20.61 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.39 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.40 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 6.10 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 9.08 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.18 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.15 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.76 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.65 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.38 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.80 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 21.45 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.63 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 33.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.76 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.86 ไม่ระบุรายได้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI VIDEO

“ศิริกัญญา” กางงบฯ 67 ถามรัฐบาลวิกฤตเศรษฐกิจ แต่กลาโหมงบเพิ่มขึ้น

 

เมื่อเวลา 13.55 น. วันที่ 3 มกราคม 2567 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า ใช้เวลา 7 วันเต็มกับการดูงบประมาณ 2567 โดยเมื่อดูแล้วเกิดคำถามว่า วิกฤติเศรษฐกิจแบบใด ทำไมงบไม่เหมือนมีวิกฤติ

 

น.ส.ศิริกัญญา อภิปรายรายงานภาวะเศรษฐกิจและการคลัง ดูแล้วยังไม่ค่อยวิกฤติ ซึ่งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีก็ไม่มีตรงที่บอกได้ว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่งบประมาณฉบับประชาชนยังพบด้วยว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพี (GDP) โต 5.4% ในปี 2567 รู้สึกตกใจว่าต้องแพ้พนัน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (ประธานวิปฝ่ายค้าน) แล้วไปบวชชีหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจโต 5% ซึ่งเมื่อดูดีๆ แล้ว นี่คือการเติบโตของจีดีพีที่รวมเงินเฟ้อ เกิดคำถามว่า รัฐบาลโกงสูตรปรับจีดีพีหรือไม่ ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำมาก่อน ขอร้องว่าอย่าโกงสูตรเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

 

ขณะที่การพักหนี้เกษตรกร ก็ไม่ได้ใช้งบปี 2567 เป็นงบในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนการลดภาระใช้จ่ายพลังงาน จะเคลมลดค่าไฟที่ทำมาหลายปีแล้วใช่หรือไม่ รวมถึงการผลักดันการท่องเที่ยว ซึ่งหลายเรื่องต่อเนื่องมาจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ 

 

“วิกฤติแบบใด ทำไมงบกลาโหมเพิ่มขึ้น ทุกครั้งที่ประเทศเกิดวิกฤติ กระทรวงกลาโหมจะเสียสละเพื่อประเทศโดยการตัดลดงบประมาณของตัวเอง เพื่อนำไปใช้ในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในวิกฤติของ ท่านเศรษฐา งบกลาโหมเพิ่มขึ้น 2% สรุปแล้วนี่มันวิกฤติแบบใดกันแน่” 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News