Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย เสริมพลังต้านยาเสพติด สร้างโอกาสผู้ถูกคุมประพฤติ คืนสู่สังคม

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม  2567 ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สานสัมพันธ์ น้อง- พี่ เสริมพลังต้านยาเสพติด  รุ่นที่ 4 ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีนายเกียรติภูมิ จารุเสน ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม คณะวิทยากร และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ รังสินี รีสอร์ท ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 
.
          ด้วยกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดให้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดี และกลับมาสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ตามแนวคิดการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง จึงได้น้อมนำโครงการกำลังใจ ในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มาปรับประยุกต์ใช้เพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติด เป็นการให้โอกาส  และช่วยให้ผู้เข้าอบรมสามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้โดยนำกรอบแนวคิดจากโครงการนำร่อง “ศูนย์การเรียนรู้ดอยฮาง” หรือ “ดอยฮาง Model” ที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือการปรับทุกข์-ผูกมิตร เป็นขั้นตอนการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ผู้อื่นและสะท้อนตัวเอง การถอดรื้อ-สร้างใหม่ เป็นขั้นตอนการสะท้อนเหตุ ที่นำไปสู่การใช้ยาเสพติดและเสริมสร้างกำลังใจสู่ชีวิตใหม่ และการดูแลต่อเนื่อง โดยภาคีเครือข่าย รวมทั้งบุคคลแวดล้อม  เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมีความเข้มแข็งทางใจ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เสริมสร้างแรงจูงใจให้เลิกสารเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับโอกาส  ในการกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นส่วนหนึ่งของสังคมส่วนรวม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยอมรับจากครอบครัวและชุมชน  เป็นการป้องกันการกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
 
              สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ผู้ถูกคุมความประพฤติที่ศาลมีคำสั่งให้คุมความประพฤติ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามมาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง จำนวน 40 คน 
 
          ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ทุกคนในที่นี้ล้วนผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาแล้ว แต่ได้รับโอกาสจากศาลให้รอการลงโทษจำคุกและให้คุมความประพฤติ ซึ่งทุกคนมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัว เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ  ถือเป็นก้าวแรกในการเอาชนะใจตัวเอง ให้ก้าวผ่านปัญหายาเสพติด ขอให้ทบทวน ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เสริมสร้างพลังและกลับไปดำเนินชีวิต โดยการลด ละ เลิก ยาเสพติดอย่างยั่งยืน เพื่อชีวิตและครอบครัวต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้ ช่วยเหลือประชาชนให้รับความเป็นธรรม

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์คอนเวนชั่น อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายกำธร นาคทิพย์ ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนอธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกันทำพิธีเปิดโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” 

โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 10 หน่วยงาน และสถาบันการเงิน ตลอดจนลูกหนี้ เข้าร่วมพิธีเปิดจำนวนมาก ซึ่งจัดโดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย ร่วมกับเจ้าหนี้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยสถาบันการเงิน 6 สถาบัน ส่วนราชการ 2 แห่ง และบริษัทเอกชน 1 แห่ง คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด สหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด และเจ้าหนี้อื้นๆ มาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ สำหรับการไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้ครัวเรือน 

โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย ให้ความช่วยเหลือคู่ความ ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน โดยจะทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ได้รวดเร็วขึ้น เป็นที่พอใจกับทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ปริมาณคดีการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และการอายัดทรัพย์สินลดลง ก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม และช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้โดยง่าย และส่งผลให้สามารถยุติข้อพิพาทชั้นบังคับคดีด้วยความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย อีกด้วย

นายกำธร นาคทิพย์ ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำหรับโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” ครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สิน การอายัดทรัพย์สิน หลังศาลมีคำพิพากษา ได้เห็นความสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี สืบเนื่องจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) หรือมีเหตุอื่นทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ 
 
เป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องบังคับคดี ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด หรือถูกอายัดทรัพย์ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมบังคับคดี โดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” เป็นประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ ทำความดีด้วยหัวใจ ดอยอินทรีย์

 

เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 2567 ที่วิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยาน ดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย พื้นที่ดำเนิน “โครงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน” โดย สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน)  สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส่วนราชการทหารตำรวจพ่อค้าประชาชน นักเรียนจิตอาสา

ร่วมกันปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ (ทำความดีด้วยหัวใจ) น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ แด่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้โดยร่วมกันทำความดีด้วยหัวใจน้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ ภาคเช้า นักเรียนจิตอาสาดำนา ขณะที่วิสาหกิจชุมชน ร่วมทำบุญแจกข้าวสาร ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 

ทั้งนี้ วัดพระธาตุชัยมงคล (พระอาจารย์อนุสรณ์) และศรัทธาวัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานทุกคน

ในภาคบ่าย ทุกภาคส่วนร่วมกันปลูกต้นไม้ ปล่อยนกคืนธรรมชาติ เพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย “ขอพระองค์ทรงพระเจริญ”

กิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ (ทำความดีด้วยหัวใจ) มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย พระอาจารย์วิบูลย์ ธมเตโช เจ้าอาวาส วัดพุทธอุทยาน (ดอยอินทรีย์) พร้อมด้วยส่วนราชการในจ.เชียงราย นำโดย นายประเสริฐ  จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, ทหาร มทบ 37 เชียงราย โดย พ.อ.สิงหนาถ โลสุยะ, พ.ต.ต.เกรียงไกร  พุทธวงค์ สวป.สภ.แม่ยาว, กอ.รมน.เชียงราย โดย พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หน. กลุ่มนโยบายแผนและการข่าวฯ, ทหารกองพันทหารราบ 17 โดย ผบ.กองพัน, เรือนจำกลางเชียงราย, พัฒนาชุมชนอำเภอเมืองเชียงราย โดย น.ส.ชาลิสา กาปัญญา, ฝ่ายปกครอง ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลดอยฮางทุกหมู่บ้าน ส่วนท้องถิ่น โดยนายกเทศบาลดอยฮาง 

 

ส่วนวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยาน ดอยอินทรีย์ โดย นายเอนก มานะการ ประธานวิสาหกิจชุมชน, นักเรียนจิตอาสาโดย อ.สุรสิทธิ์ คุณหมอภัค ชาวบ้านใกล้เคียงห้วยกีด หมู่ 1 ต.ดอยฮาง นำโดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 คณะศรัทธาวัดพระธาตุชัยมงคล อ.แม่สรวย นำโดยพระอาจารย์อนุสรณ์ คณะศรัทธาวัดพุทธอุทยาน(ดอยอินทรีย์) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยอินทรีย์ นำโดย นายอายุวัฒน์  แพอ่อน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อุทยาน 

 

พร้อมกันนี้ ยังมีเจ้าของที่ดินผู้ใจบุญนำ ที่เข้าร่วม “โครงการที่ดินปันสุข” กับธนาคารที่ดิน ประกอบด้วย  ม.ร.ว.วิภาสิริ   วุฒินันท์, คุณนันทสิริ อัสสกุล, คุณหมอ ดร.ปิยะวัฒน์ , คุณต้นรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง 26-28 ก.ค. 67 หาดนครเชียงราย

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง โดยมี นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยไชย) พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและคณะผู้แทนจากประเทศอนุภาคภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมียนมาร์ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมในพิธีเปิดอย่างคึกคัก

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้บูรณาการร่วมกับภาคการท่องเที่ยวและภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทยร่วมงานนี้ จังหวัดเชียงรายเป็นประตูสู่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการคมนาคมขนส่งของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่สำคัญในการเชื่อมโยงทั้ง 4 ประเทศ

งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 ณ สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย ภายใต้ธีม “ดอกไม้ในสายฝน” ซึ่งเป็นงานเชียงรายดอกไม้งามที่ท่ามกลางดอกไม้นับล้านดอกที่บานสะพรั่ง ตลอดระยะเวลาการจัดงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ การแสดงจากประเทศไทย สปป.ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมียนมาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงดนตรีและการเต้นรำที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์และความงดงามของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ ทุกคืนยังมีมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังอย่าง ไก่ พรรณนิภา และ เต๋า ภูศิลป์ ที่จะมาสร้างความบันเทิงและความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงาน นอกจากการแสดงศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังมีการจัดแสดงสินค้าและอาหารพื้นเมืองผู้เข้าร่วมงานสามารถเดินชมและลิ้มลองอาหารท้องถิ่นที่มีความหลากหลายและอร่อย

การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีในอนาคต การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยรวม

งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี และร่วมสัมผัสกับบรรยากาศแห่งความสนุกสนานและความอบอุ่นจากการแสดงศิลปวัฒนธรรมของทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ทางจังหวัดเชียงรายขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การจัดงานครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ทางจังหวัดเชียงรายหวังว่า งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงจะเป็นงานที่สร้างความประทับใจและความทรงจำที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ประมงเชียงราย ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ 700,072 ตัว เฉลิมพระเกียรติ

 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 67 เวลา 09.30 น. ที่ หนองฮ่างสาธารณะประโยชน์ บ้านสันปง หมู่ที่ 5 ตำบลทานตะวัน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยหน่วยงานกรมประมงจังหวัดเชียงราย ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทานตะวัน อำเภอพาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร และเพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมี นายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชน เข้าร่วมพิธี

นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า หน่วยงานสังกัดกรมประมงพื้นที่จังหวัดเชียงรายร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลทานตะวัน จัดโครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำฯ ขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ปลากาดำ จำนวน 200,000 ตัว ปลาบึก 72 ตัว และลูกปลาตะเพียนขาว อายุ 2 วัน 500,000 ตัว รวม 700,072 ตัว จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเชียงราย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศล รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากร และเพิ่มผลผลิตพันธุ์สัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
 
ภายในงาน มีการประกวดขบวนแห่หุ่นปลายักษ์ การแสดงจากแม่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้านในตำบลทานตะวัน การแสดงจากเด็กเยาวชน บูธนิทรรศการให้ความรู้เรื่องพันธุ์ปลาจากหน่วยงานสังกัดกรมประมง ร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน การมอบประกาศนียบัตรให้แก่หมู่บ้านที่เข้าร่วมงาน และมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวดขบวนแห่หุ่นปลายักษ์ พร้อมกันนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาลงสู่แหล่งน้ำหนองฮ่าง เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

จังหวัดเชียงราย จัดการแข่งขันจักรยานขาไถ ( Balance Bike )

 

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการจัดการแข่งขันจักรยานขาไถ (Balance Bike) เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายเจตณรงค์ อินกัน ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงาน  พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน
.
          ด้วยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้จัดโครงการจัดการแข่งขันจักรยานขาไถ (Balance Bike) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนืองในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยได้ออกกำลังกายเพื่อพัฒนาการที่สมวัยรอบด้าน มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

         สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และภาคีเครือข่ายจัดโครงการแข่งขันจักรยานขาไถ (Balance Bike) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขึ้น โดยกำหนดจัดการแข่งขันขึ้นจำนวน 8 รุ่น มีนักกีฬาจากโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับปฐมวัย และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 183 คน ได้แก่ รุ่นอายุ 3 ปี ชาย มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 23 คน รุ่นอายุ 3 ปี หญิง มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 23 คน รุ่นอายุ 4 ปี ชาย มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 23 คน รุ่นอายุ 4 ปี หญิง มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 23 คน รุ่นอายุ 5 ปี ชาย มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 22 คน รุ่นอายุ 5 ปี หญิง มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 22 คน รุ่นอายุ 6 ปี ชาย มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 23 คน และรุ่นอายุ 6 ปี หญิง มีนักกีฬาสมัครเข้าร่วม จำนวน 24 คน โดยนักกีฬาผู้ชนะเลิศลำดับที่ 1 ของแต่ละรุ่นจะได้เป็นตัวแทนระดับจังหวัดไปแข่งขันระดับประเทศต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

สปก.จังหวัดเชียงราย มอบโฉนดเพื่อการเกษตร 72 ฉบับ

 

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีมอบโฉนดเพื่อการเกษตร ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 72 ฉบับ ตามโครงการมอบโฉนดเพื่อการเกษตร จำนวน 72,000 ฉบับ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 67 ที่ห้องประชุมประดู่แดง 1 อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย


        นายชำนาญ บุญประเสริฐ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนาการธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ ส.ป.ก. นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้ ปัจจุบัน ส.ป.ก. มีที่ดินพระราชทานในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา นครปฐม นครนายก ปทุมธานี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 และ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี เพื่อพระราชทานเอกสารสิทธิสัญญาเช่าที่ดิน ตามโครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน และพระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “ผู้ที่ได้รับมอบที่ดินสำหรับทำกิน พร้อมทั้งเอกสารแสดงสิทธิ์ในที่ดินนั้นอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและ ควรจะถื่อว่าแต่ละคนมีภาระอย่างยิ่งที่จะดูแลรักษาและพัฒนาที่ดินของตนเอง ให้เกิดประโยชน์อย่างดีที่สุด ด้วยความตั้งใจจริง อดทนขยันหมั่นเพียร และซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต้องอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตาปรองดองกัน และยึดมั่นในสามัคคีธรรมให้มั่นคง โดยถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นจุดหมายสำคัญอันสูงสุดตามพระบรมราโชวาท เพื่อสามารถสร้างความสำเร็จให้แก่ตนเอง และเพื่อสามารถรักษาแผ่นดินของเราไว้ให้มั่นคงตลอดไป 


        โดยทาง ส.ป.ก. ได้ดำเนินงานด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยยึดมั่นและน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน บนเนื่อที่ กว่า 40 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 72 จังหวัด ซึ่งจัดให้เกษตรกรกว่า 2.90 ล้านราย ได้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง สามารถขจัดความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรพร้อมกับคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้ ส.ป.ก. ได้ปรับปรุงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินจาก (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อปรับปรุงสิทธิ์ และการถือครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อีกทั้งส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘พิสันต์’ ดันผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัด ต่อยอดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางหลังแรก) นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามโครงการการพัฒนากิจกรรมและการตลาด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมหลัก การส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดยมีนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้แทน เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วม

นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า งานอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ การนำมรดกทางภูมิปัญญาการทอผ้าให้คงอยู่ เกิดความภาคภูมิใจในลายผ้าอัตลักษณ์ ประจำจังหวัดเชียงราย “เชียงแสนหงส์ดำ” สีม่วงเชียงราย และผ้าลายพระราชทาน รวมทั้งสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เด็ก เยาวชนและ ประชาชน ให้ความสนใจ ในการอนุรักษ์ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย มากยิ่งขึ้น

ซึ่งกิจกรรม ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์ การพัฒนากิจกรรมและการตลาด การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับ ผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงรายฯ ระหว่างวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียนเชียงราย รีสอร์ท การจัดการประกวดการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเอ็ม บูทีค รีสอร์ท เชียงราย โดยมีผู้เข้

าร่วมประกวด จำนวนทั้งสิ้น 33 ผลงาน และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก 20 ผลงาน เพื่อนำมาแสดงแบบในครั้งนี้

นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายผลักดัน Soft Power ความเป็นไทย สู่ระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5 F ได้แก่ Food อาหาร, Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย, Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ Festival เทศกาลประเพณีไทย

รวมทั้ง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ยูเนสโกได้ยกให้จังหวัดเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  โดยนำวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น มาสร้างงาน สร้างอาชีพ สู่การเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ นำมาซึ่งรายได้สู่ชุมชน ก่อให้เกิดคุณค่าทางสังคม ได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมประกอบด้วย

  1. กิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญา นิทรรศการผ้าทอ และการออกบูธแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ผ้า และเครื่องประดับ ของฝากของที่ระลึก
  2. จัดกิจกรรมแสดงแบบแฟชั่นจากผู้เข้าร่วมประกวดการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงรายฯ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมเอ็ม บูทีค รีสอร์ท เชียงราย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย จำนวนทั้งสิ้น 20 ผลงาน เพื่อนำมาแสดงแบบในวันนี้
  3. กิจกรรมการแสดงแฟชั่นจากนายแบบนางแบบกิตติมศักดิ์ ในชุด“สีสันผ้าเชียงราย สู่แฟชั่นผ้าไทยใส่ให้สนุกที่ยั่งยืน” (Sustainable Fashion Style @ Chiangrai)

     ชุดที่ 1 นายอำเภอและประธานแม่บ้านมหาดไทยอำเภอ จำนวน 18 คู่

     ชุดที่ 2 หัวหน้าส่วนราชการและคู่สมรส จำนวน  5 คู่

     ชุดที่ 3 รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ) (ชุดฟินนาเล่ Finale set)

  1. การมอบรางวัลการประกวดการออกแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าถิ่น ผ้าชาติพันธุ์ ผ้าอัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
  2. รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางแว่นแก้ว ภิรมย์พลัด ชื่อชุดผลงาน เดรสฮ้อยใจ๋สายใยไทลื้อ
  3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ นางสาวกนกพร ธรรมวงค์ ชื่อชุดผลงาน วัฒนธรรมแห่งภูมิปัญญา Culture of wisdom
  4. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ นางสุขาวดี ติยะธะ ชื่อชุดผลงาน ผ้าชุดไทลื้อร่วมสมัยไฉไลด้วยฝ้ายธรรมชาติ
  5. รางวัลชมเชย ได้แก่ นายลิขิต รินชมพู ชื่อชุดผลงาน กอด
  6. รางวัลชมเชย ได้แก่ นายสมชัย ธงชัยสว่าง ชื่อชุดผลงาน Drive to The Future

อีกทั้งภายในงานยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์ การเดินแบบผ้าอัตลักษณ์เชียงราย โดยมีนายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอ กลุ่มพัฒนาสตรีจังหวัดเชียงราย ร่วมเดินแบบในครั้งนี้ พร้อมทั้งกิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญา นิทรรศการผ้าทอ และการออกบูธแสดงสินค้า ผลิตภัณฑ์ผ้า และเครื่องประดับ ของฝากของที่ระลึก ระหว่างวันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2567ณ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังแรก)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เชียงราย ยึดแผนพัฒนา 5 ปี ส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่น ด้วยอัตลักษณ์

 

เมื่อวันวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย (ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังแรก) ได้มีจัดกิจกรรม ส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่น ด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย ภายใต้โครงการการพัฒนากิจกรรมและการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งได้รัยเกียรติจากสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีนางอำไพ บัวระดก พัฒนาการจังหวัดเชียงราย ในนามผู้ดำเนินการจัดอบรมโครงการการพัฒนากิจกรรม และการตลาดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ กิจกรรม ส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่นด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย

 

นางอำไพ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยกำหนดให้มีการสร้างความหลากหลาย ด้านการท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และเน้นการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับ มุ่งพัฒนาธุรกิจ ด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงเพิ่มมากขึ้น ด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทยและใช้ประโยชน์จากข้อมูล และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจและความหลากหลายของการท่องเที่ยวให้สอดรับ กับทิศทางและแนวโน้มของตลาดยุคใหม่การใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้เอื้อต่อผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

 

โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและกระจายโอกาสในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนโครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ และจะช่วยส่งเสริมในการพัฒนาจังหวัด ที่จะมาเน้นเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณค่าเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแผนการพัฒนาจังหวัดในระยะ 5 ปี ในปี พ.ศ. 2566-2570

 

ซึ่งการส่งเสริมผ้าทอและผ้าพื้นถิ่น ด้วยอัตลักษณ์จังหวัดเชียงราย กิจกรรมที่ 4 เป็นการส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สนับสนุนการท่องเที่ยว เพิ่มรายได้และกระจายร้ายได้สู่ท้องถิ่นและชุมชน ดำเนินการระหว่าง วันที่ 12 – 14 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 – 20.30 น. ของทุกวัน ภายในงานมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้มากถึงจำนวน 31 บูท

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย ร่วม UNHCR หาแนวทาง แก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

 

เมื่อวันอังคารที่ 9 ก.ค. 67 ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสถานะของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและคนไร้รัฐไร้สัญชาติกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)    ณ  ห้องประชุมเวียงกาหลง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย

 

             จังหวัดเชียงรายได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลเกี่ยวกับการขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง  แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติไทย พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2551 ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559  อนุมัติหลักเกณฑ์การให้สัญชาติไทย เพื่อการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนนักศึกษา  และบุคคลไร้สัญชาติที่เกิดในราชอาณาจักร  และดำเนินการเกี่ยวกับการให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564  ประกอบกับกรมการปกครองได้กำหนดให้งานด้านสัญชาติ และสถานะบุคคลเป็น 1 ใน 10 งานสำคัญของกรมการปกครอง ( Flaghips to DOPA  New  Normal 2021 ) 

 

            จังหวัดเชียงรายได้กำชับให้ทุกอำเภอที่มีกลุ่มเป้าหมายดำเนินการรับคำร้องขอลงรายการ สัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน,  คำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย,  คำร้องขอถือสัญชาติไทยตามสามี  และคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย  โดยให้พิจารณารายที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพและด้านการศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก  ซึ่งในการพิจารณาคำขอกำหนดสถานะต่างๆจังหวัดเชียงรายได้มีการประชุมพิจารณาพิจารณาเป็นตามแผนการดำเนินการของฝ่ายทะเบียนและสัญชาติฯ  ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย  และมีผลการดำเนินการส่งให้สำนักทะเบียนกลาง  กรมการปกครอง  อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

 

          สำหรับการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของจังหวัดเชียงราย การขอมีสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสองฯ  กรณีผู้ขอฯ อายุ 18 ปีขึ้นไป คำร้อง ที่อำเภอต่างๆส่งให้จังหวัดเชียงราย จำนวน 1,935 ราย ได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว จำนวน 1,208 ราย อยู่ระหว่างรอกำหนดเลขประจำตัวประชาชน ฯ 159 ราย  อยู่ในระหว่างการพิจารณาของจังหวัด จำนวน 197 ราย อยู่ในระหว่างยื่นคำขอที่อำเภอ จำนวน 411 ราย การให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 17 คำร้องที่อำเภอต่างๆส่งให้จังหวัดเชียงรายจำนวน 992 ราย ผลตรวจพฤติการณ์ครบถ้วนรอเข้าประชุมจำนวน 875 ราย อยู่ในระหว่างตรวจสอบพฤติการณ์  จำนวน 117 ราย การขอถือสัญชาติไทยตามสามีตามมาตรา 9 คำขอที่อำเภอต่างๆส่งให้จังหวัดเชียงรายจำนวน 111 ราย ส่งให้กรมการปกครองแล้วจำนวน 74 ราย อยู่ในระหว่างติดตามตรวจสอบพฤติการณ์จำนวน 77 ราย

 

           การขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา 10 กรณีผู้ขอฯ อายุ 60 ปีขึ้นไป คำขอที่อำเภอต่างๆส่งให้จังหวัดเชียงรายจำนวน 1,246 ราย ส่งให้กรมการปกครองแล้วจำนวน 1,133 ราย รอเข้าที่ประชุม จำนวน 113 ราย การขอแปลงสัญชาติไทยตามมาตรา 10 กรณีผู้ขอฯ ต่ำกว่าอายุ 60 ปี คำขอที่อำเภอต่างๆส่งให้จังหวัดเชียงรายจำนวน 29 ราย ส่งให้กรมการปกครองแล้ว  จำนวน 11 ราย อยู่ในระหว่างติดตามตรวจสอบพฤติการณ์จำนวน 18 ราย กลุ่มเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีจำนวนเป้าหมาย จำนวน 3,730 ราย กำหนดเลขประจำตัว 13 หลักจำนวน 94 ราย ขาดคุณสมบัติ จำนวน 14 ราย ไม่ได้อยู่ในสถานศึกษา ( ย้าย,ตาย,ติดต่อไม่ได้ ) จำนวน 26 ราย อยู่ในระหว่างดำเนินการ จำนวน 3,596 ราย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News