Categories
EDITORIAL

สกสว.หนุนนักวิจัยปรับระบบเตือนภัย น้ำท่วม-ดินถล่ม เร่งทำ แผนที่น้ำท่วม

 

3 ตุลาคม 2567 รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดการประชุมและแถลงข่าว “แนวทางการปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติเพื่อลดความเสียหาย (น้ำท่วม ดินถล่ม)” ณ ห้องประชุม สกสว. เพื่อรับทราบสถานะของระบบป้องกันและแจ้งเตือนภัยในปัจจุบัน เทคโนโลยีของการป้องกันและเตือนภัย ข้อจำกัดและการปรับปรุงที่ควรมี ตลอดจนแนวทางการจัดการในพื้นที่ และงานวิจัยที่ควรดำเนินการในอนาคต

 

ผู้อำนวยการ สกสว. ระบุว่า ระบบป้องกันและเตือนภัยพิบัติน้ำท่วมและดินถล่มในปัจจุบันยังบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่ทันกาล ทำให้การประมวลผลและตัดสินใจล่าช้า รวมถึงปัญหาความแม่นยำของการคาดการณ์สถานการณ์ และโครงสร้างพื้นฐานทั้งอุปกรณ์ตรวจวัดและระบบเครือข่ายยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง และใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์และเพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ สกสว.เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและได้หนุนเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบป้องกันและแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มาโดยตลอด การจัดประชุมและแถลงข่าวในครั้งนี้ได้ระดมความเห็นจากหน่วยงานในระดับปฏิบัติการ ภาควิชาการ และผู้นำท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การวางแผนและจัดสรรงบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์แก่หน่วยงานต่าง ๆ และชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความแม่นยำและแจ้งเตือนได้ทันท่วงทีต่อสถานการณ์ และลดความสูญเสียต่อประชาชน

ด้าน รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ระบบเตือนภัยของไทยยังมีปัญหาในระดับปฏิบัติการ การเชื่อมโยง ข้อมูลที่เข้าถึงพื้นที่ยังไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ สื่อสารไม่ทั่วถึงและเข้าใจยากสำหรับชุมชน กระทรวง อว.จึงควรเข้ามามีบทบาทหนุนเสริมทางวิชาการโดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ พัฒนาระบบเตือนภัย และร่วมพัฒนาความสามารถของชุมชนในพื้นที่ให้สามารถตอบโจทย์ในพื้นที่ ทั้งการสนองต่อสถานการณ์ได้จริงและเข้าถึงประชาชนได้ง่าย โดยจากนี้ไปจะต้องจัดลำดับความสำคัญเพื่อพัฒนางานวิจัยและทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้เห็นว่าวิชาการช่วยประชาชนในพื้นที่ได้จริง โดยมีสถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดทำแผนที่น้ำท่วมเพื่อเตรียมรับมือในพื้นที่เสี่ยงสูง

ที่ผ่านมา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน. )ได้พัฒนาขีดความสามารถของเทคโนโลยีเฝ้าระวังและคาดการณ์อุทกภัย ทั้งการคาดการณ์จากดัชนีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลและปริมาณฝนล่วงหน้า 6-12 เดือน เทคโนโลยีข้อมูลจากการสำรวจ โทรมาตร ดาวเทียมและเรดาร์ รวมถึงระบบคาดการณ์ 1-7 วัน เพื่อเตือนภัยและสนับสนุนการปฏิบัติงาน พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้งานทุกระดับและเป็นระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและศูนย์ข้อมูลน้ำจังหวัดที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา สสน.ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้ดี มีข้อมูลออกสู่สาธารณชนมากขึ้น และเริ่มถึงเชิงลึกรายพื้นที่ แต่ปัญหาในพื้นที่เฉพาะยังไม่ตอบสนองสถานการณ์ได้เพียงพอ มีผู้ประสบภัยติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และรถจมน้ำจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงประสิทธิภาพของระบบเตือนภัยและการบริหารจัดการน้ำท่วม

 

ขณะที่ รศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การปรับปรุงระบบเตือนภัยและบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชน โดยมีภาควิชาการเข้าไปช่วยเหลือ ชุมชนต้องแข็งแรงและมีความรู้ ไม่เน้นเทคนิคมากมายแต่เน้นการพัฒนาชุมชนให้มีระบบเตือนภัยฐานชุมชน ซักซ้อมเพื่อช่วยเหลือกันเอง รวมถึงสนับสนุนปราชญ์ชุมชนด้านภัยพิบัติ และพร้อมรับข้อมูลจากวิทยาการภายนอกเข้าเสริม เช่นเดียวกับ รศ. ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง ระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับพื้นที่เสี่ยงสูงต้องเริ่มมาจากการพยากรณ์น้ำล่วงหน้าที่แม่นยำและมีเวลามากพอ มีเครื่องมือสนับสนุนให้ประชาชนตะหนักถึงความลึกของระดับน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณต่าง ๆ โดยเครื่องที่ทำได้ก่อนใช้งบประมาณและเวลาไม่มาก ได้แก่ แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและหมุดหมายระดับน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่น้ำท่วม ซึ่ง อว. สามารถสนับสนุนองค์ความรู้ให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้

สำหรับเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้นำชุมชนซึ่งเป็นเครือข่ายวิจัย พบว่าทิศทางการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพจะต้องได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการและวิชาการ  ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนเ                                                                                                                                                                          น้     นการแจ้งเตือนกันเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การโทรศัพท์ ใช้วิทยุสื่อสาร รวมถึงปัญหาสำคัญในการสื่อสารด้วยศัพท์ทางวิชาการของหน่วยงานที่เข้าใจยาก การสื่อสารข้อมูลจากส่วนกลางที่น่าเชื่อถือ รับฟังและนำไปปฏิบัติได้ยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องหาทางแก้ไข นอกจากนี้ยังต้องซ้อมแผนเผชิญเหตุในเชิงนโยบายและระบุอำนาจของผู้นำ อปท. ว่าสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง และจะมีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที

ทั้งนี้ นายอาร์ม จินตนาดิลก ผู้อำนวยการส่วนวิชาการการเตือนภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เสริมว่า ปกติจะมีการทบทวนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุก 5 ปี แต่ประชาชนต้องให้ความตระหนักในการฝึกซ้อมด้วย รวมถึงส่งเสริมอุปกรณ์ที่จำเป็นตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ขณะนี้แผนของจังหวัดมีอยู่แล้วแต่แผนของ อปท. ยังไม่ครอบคลุมแต่จะส่งเสริมให้เต็มทั่วทุกพื้นที่ และจะรื้อฟื้นเครือข่าย “มร.เตือนภัย” ให้ใช้ได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ในเวทียังมีข้อเสนอในระยะยาวว่าควรออกกฎหมายการควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยง การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินและวางระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง โดยปรับโครงสร้างเดิมที่จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมาเป็นสถาบันมืออาชีพ  มีกลไกจัดการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเนื่องจากเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและต้องทำจากพื้นที่ เพื่อจะได้ทราบว่ามีพื้นที่ใหม่ ๆ ที่น้ำท่วมอยู่ตรงไหน และหารือเรื่องออกผังน้ำกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อปรับเปลี่ยนเกณฑ์การก่อสร้าง พื้นที่สีเขียว การวางระบบจัดการ การควบคุมการใช้ที่ดิน และการจัดการของชุมชนให้ไปด้วยกันอย่างเหมาะสม มีการแบ่งอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นให้สอดคล้องและชัดเจน ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าใจและวางระบบบริหารจัดการภัยพิบัติใหม่ และหวังว่านักการเมืองจะเริ่มเข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการภัยพิบัติตามแนวคิดใหม่

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม (สกสว.) 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
EDITORIAL

นักวิจัยเตือนฝนตกหนักปลายสัปดาห์เฝ้าระวังกทม.-ปริมณฑลและอยุธยา

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและน้ำท่วมในขณะนี้ว่า ภาคเหนือน้ำเริ่มลดแล้วแต่ต้องเฝ้าระวังภาคกลางเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ระดับน้ำสูงขึ้นไล่มาตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี นครสวรรค์ ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา อาจมีน้ำท่วมริมตลิ่งและมีโอกาสล้นคันกั้นน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนครศรีอยุธยาระดับน้ำเพิ่มจาก 1,832 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,682 ลบ.ม./วินาที ถือว่าใกล้ปริ่มน้ำมาก หากเกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที อาจต้องปล่อยน้ำเข้าพื้นที่อำเภอบางบาลและบางไทรซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ

“การคาดการณ์ฝนในช่วงนี้ ร่องความกดอากาศต่ำจะทำให้ปลายสัปดาห์นี้ มีโอกาสฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณภาคกลาง จึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านเรือนริมน้ำ ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้กรุงเทพมหานครแล้ว โดยทาง กทม. ได้เตรียมขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำ แก้ปัญหาพื้นที่ฟันหล่อพร้อมรับมือ กับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นตามแผนรับมือหน้าฝนปี 2567 แล้ว” รศ. ดร.สุจริตระบุ

สำหรับสถานการณ์น้ำ ฝนคาดการณ์ การบริหารเขื่อน และสภาพน้ำท่าท้ายเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึง 14 ตุลาคม 2567 จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ น่าน ยม วัง และเจ้าพระยารวม 20 จังหวัด จำนวน 1.347 ล้านไร่ โดยจะยังคงมีปริมาณน้ำฝนสูงในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และเริ่มลงภาคใต้ โดยปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ 61 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 91 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 68 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 64

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ทีมวิจัยเตือนเฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เผยน้ำท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 1.6 พันลบ.

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้คาดการณ์น้ำเขื่อน น้ำท่า น้ำท่วม ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ โดยใช้ฝนคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ร่วมกับงานน้ำเขื่อนโดยมหาวิทยาลัยมหิดล งานน้ำท่าของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และงานน้ำท่วมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันคาดการณ์ว่าวันที่ 8 กันยายน 2567 ปริมาณน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะเพิ่มขึ้นถึง 2,180 ลบ.ม.ต่อวินาที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเฝ้าระวัง (เนื่องจากจะเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ริมแม่น้ำ และค่าเกิน 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ตามเกณฑ์การจัดการน้ำที่จังหวัดนครสวรรค์จะเป็นการจัดการน้ำระดับชาติ)

 

 

ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 พบว่าพื้นที่น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีขนาด 407,311 ไร่ ครอบคลุมจังหวัดเชียงราย พะเยา ลำพูน แพร่ สุโขทัย น่าน และลำปาง โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยบางส่วน คาดว่าพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในปีนี้อาจจะแผ่ขยายออกไปอีกในช่วงต้นเดือนกันยายนในบริเวณเส้นทางน้ำหลากไหลผ่าน รวมถึงพื้นที่ตามแนวเส้นทางผันน้ำทางตอนกลางของประเทศสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วน

 

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 47% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 7,104 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 78% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 2,110 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 46% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 503 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 28% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 688 ล้านลบ.ม. เขื่อนกิ่วคอหมา มีเปอร์เซ็นต์ปริมาณน้ำเก็บกัก 89% (ปริมาตรเก็บกักที่รับได้ 18 ล้านลบ.ม.

 

 

“ข้อมูลผลกระทบจากน้ำท่วม ประเมินผล ณ วันที่ 4 กันยายน 2567 ทั้งประเทศไทย พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 749,511 ไร่ ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ปลูกข้าว 355,255 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,608 ล้านบาท โดยพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จังหวัดที่มีข้าวเสียหายมากที่สุดคือ อุตรดิตถ์ มูลค่า 323.7 ล้านบาท รองลงมาคือ พิจิตร และนครพนม มูลค่า 266.3 ล้านบาท และ 243.1 ล้านบาทตามลำดับ มีพื้นที่ถนนได้รับผลกระทบรวมระยะทาง 508.9 กม. ขณะที่ผลกระทบด้านสังคมทำให้มีผู้ประสบภัย 123,603 คน” รศ. ดร.สุจริตกล่าวสรุป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

สกสว.หนุนพื้นที่พลิกวิกฤติน้ำ ต่อจิ๊กซอว์ “โมเดลน่าน”

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศึกษาดูงานพื้นที่รูปธรรมการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เรียนรู้การพัฒนาผู้บริหาร บุคลากรและแกนนำตำบลในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผนน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยมีจิ๊กซอว์สำคัญคือ นักจัดการ ที่เป็นทีมงานหลังบ้านผู้ขับเคลื่อนงาน รวมถึงเรียนรู้การนำระบบภูมิสารสนเทศด้านน้ำมาขับเคลื่อนการจัดทำแผนงานและกิจกรรม นำโดยนายชิษนุวัตร มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับแผนการจัดการน้ำระดับจังหวัด

            นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ระบุว่าการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ต้องวิเคราะห์ปัญหาและดำเนินงานตามหลักวิชาการทั้งเรื่องมวลน้ำ ความสามารถในการผ่านน้ำของเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูและตั้งรับ มีระบบป้องกันและคันกั้นน้ำ ควบคู่กับความสามารถในการจัดการน้ำที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่และการใช้ประโยชน์ของแม่น้ำ รวมถึงการปรับตัวของชุมชนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับการออกแบบเชิงนโยบาย การจัดการสิ่งแวดล้อม คน น้ำ ป่า ด้วยหลักวิศวกรรมแบบผสมผสาน เพื่อปกป้องและช่วยเหลือตัวเองได้ ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการที่คล่องตัว ต่อรองและจูงใจคนส่วนรวมได้ ตัดสินใจแจ้งเตือนโดยไม่ผิดพลาดด้วยองค์ความรู้และข้อมูล รวมถึงสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้ประชาชน งานวิชาการจะเป็นตัวตอบโจทย์ที่นำไปสู่การสื่อสารและการวิเคราะห์ที่แม่นยำ

เช่นเดียวกับนายมนูญศักดิ์ สังข์ทอง นายอำเภอบ้านหลวง ที่กล่าวว่าเป็นโอกาสดีที่ภาควิชาการมาช่วยพื้นที่ขนาดเล็กที่มีศักยภาพระดับหนึ่งตามนโยบายของปลัดกระทรวงมหาดไทยที่เน้นการบูรณาการกับ 7 ภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการป้องกัน เฝ้าระวัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ด้วยการบริหารจัดการแบบพึ่งพาด้วยความรวดเร็วโดยไม่ต้องรอส่วนราชการ ขณะที่นายประดิษฐ์ เพชรแสนอนันต์ กรรมการลุ่มน้ำน่านและ เลขานุการชมรมคนรักษ์ดิน น้ำ ป่า น่าน เสริมว่า การบริหารจัดการน้ำชุมชนต้องใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมร่วมกับทุกภาคส่วนให้มีน้ำกินน้ำใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขับเคลื่อนเมืองน่านให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยมีพื้นที่ต้นแบบที่เห็นผลจริงซึ่งใช้กระบวนการวิจัยหนุนเสริมจัดการน้ำโดยท้องถิ่นชุมชนผ่านการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างง่าย จัดทำแผนที่เดินดิน ปฏิทินการผลิตตามฤดูกาล

ด้าน ว่าที่ ร.ต.อลงกต ประสมทรัพย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยกลไกการมีส่วนร่วม เพื่อจัดเก็บข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ สมดุลน้ำ ผังน้ำ ว่าจะอัพเดตทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับตำบลทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและนักวิชาการ วิเคราะห์สถานการณ์และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้วยตัวเอง ในระยะกลางโครงการที่เกินศักยภาพของ อบต. ต้องใช้งบประมาณร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำแผนผ่านระบบ Thai Water Plan และระยะยาวโครงการที่ใช้งบประมาณสูงในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ จะทำงานร่วมกับทีมวิชาการเสนอไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบ

            รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า สกสว.สนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำชุมชนมาหลายปีแล้ว ทำให้มีต้นแบบที่เป็นรูปธรรมหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือจังหวัดน่านที่มีศักยภาพในระดับท้องถิ่น การศึกษาดูงานครั้งนี้ทำให้รับรู้ถึงความซับซ้อนของระบบการจัดการน้ำและภัยพิบัติ ชุดข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นทำให้การทำงานยากขึ้น จึงต้องมีความรู้ใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกับพื้นที่และระดับนโยบาย เพื่อให้องคาพยพทั้งหมดเห็นปัญหาที่มีความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน และหาทางเชื่อมโยงกับท้องถิ่นและจังหวัดตลอดจนลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการการทำงานโดยใช้ศักยภาพของพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาด้วยข้อมูลต่าง ๆ ส่งต่อให้จังหวัด มีภาควิชาการช่วยให้การคาดการณ์แม่นยำมากขึ้น ซึ่งโมเดลน่านมีความน่าสนใจในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้

“การจัดการน้ำชุมชน ชุมชนต้องเข้าใจและลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเอง เติมเต็มด้วยการพัฒนากลไกและถอดบทเรียนความสำเร็จแก่ อบต.อื่น สกสว.จะทำงานร่วมกับทีมวิชาการและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่รัฐบาลอาจจะต้องลงทุนเพิ่มเติมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงสื่อสารกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ได้ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามความยากลำบากไปได้ โดยจะคัดเลือกพื้นที่ 10 จังหวัดเพื่อขับเคลื่อนงานตามโจทย์ปัญหาและความพร้อมของพื้นที่ เราจะหนุนเสริมความพร้อมของทีมวิชาการ จังหวัดและชุมชน สิ่งสำคัญคือต้องมีรายละเอียดของชุดข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ พร้อมแบ่งปันข้อมูลชุมชนและความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงไปสู่กลไกระดับจังหวัดและระดับลุ่มน้ำ และมีองค์ความรู้ตามหลักวิชาการมาประกอบการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการน้ำของแต่ละภาคส่วน”

ด้าน รศ. ดร.สุจริต กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปจะเตรียมต่อยอดขับเคลื่อนงานโดยเพิ่มเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยใช้แนวคิดการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ชุมชน และจังหวัด เสริมด้วยการจัดการด้านการตลาด เพื่อเตรียมแผนงานและงบประมาณรองรับในการจัดทำกลไกคลินิกวิชาการสนับสนุน โดยวางเป้าไว้ว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

“จากผลงานวิจัยชี้ว่าพื้นที่มีความสามารถในการพัฒนาโครงการได้ดี จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ดีกว่า รูปแบบการทำงานในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันตามปัจจัยและบริบท ซึ่งต้องกำหนดผู้ขับเคลื่อน โดยมีนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอร่วมรับผิดชอบดำเนินการในระดับพื้นที่ ในระยะยาวควรมีกฎกระทรวงรองรับการวางแผนและทำงานด้านน้ำระดับพื้นที่ที่ชัดเจน และมีโอกาสได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงบประมาณเพิ่มขึ้น เริ่มจากการทำ sandbox เชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย อว. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการเป็นกลไกด้านเทคนิค มีงานวิจัยประกอบการทำแผนงานหลักในการบริหารจัดการน้ำและแผนงานสร้างรายได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเพื่อทำแผนการตลาดนำเป็นเครือข่ายร่วมกัน” รศ. ดร.สุจริตกล่าวสรุป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News