Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

วช. ผนึกกำลัง ทีม EARTH รับมือ 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว

 

 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย โดยมี ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยในพื้นที่ เป็นผู้นำคณะลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งหมด 5 จุด ณ พื้นที่ จ.เชียงราย 

 

           จุดแรกคณะได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” นำโดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ศุภโชค มาศปกรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ 2 และทีมผู้บริหารโรงพยาบาลให้การต้อนรับ 

 

          รศ.ดร.ธีรพันธ์ฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้รับความเสียหายตรงบริเวณช่วงจุดเชื่อมต่อระหว่างอาคารเก่าและใหม่ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อาคารแตกเป็นรอยแนวตั้งยาวสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก และในวันที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น ภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก โดยได้ทำการซ่อมแซมเพื่อความมั่นใจของประชาชนที่เข้ารับบริการ และเพิ่มเติมระบบป้องกันเพื่อเตรียมรับแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

          จากนั้นคณะได้เดินทางไปยัง โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ นำโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายพัฒน์พงษ์ เต็มเสาร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ กล่าวต้อนรับ และ ศ.ดร.อมรฯ ได้อธิบายว่า โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ อาคารเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนัก 1 หลัง ต่อมาได้มีการสำรวจความเสียหายของสถานศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินแล้วว่าต้องทุบทิ้งทั้งหมดอาคารเรียนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จึงได้ทำการทุบอาคารเรียนทิ้งและสร้างอาคารใหม่ทดแทน และเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จึงได้มีการหารือกับวิศวกร เพื่อเสริมกำลังอาคารเรียนด้วยโครงสร้างใหม่ที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

 

            ต่อด้วยการเดินทางไปยังวัดดงมะเฟือง  นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มูลนิธิมดชนะภัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสุทัศน์ กิจพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมหมอกแก้ว นายเหลี่ยม ปัญญาไว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดงมะเฟือง ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลว่า ในขณะนั้น วิหารของวัดที่เสียหายบางส่วนจากเหตุแผ่นดินไหวก็ได้พังเสียหายทั้งหลัง และเกิดรอยร้าวที่เสากลางเพิ่มขึ้น ผนังหลังพระประธานพังทลายลง หลังคาหลุดร่อน ต้องรื้อทิ้งสร้างใหม่ทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจากหลายภาคส่วนระดมเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างและปรับปรุงอาคารใหม่ ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว อีกทั้งได้รับความร่วมมือกับชุมชนในการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

          และคณะได้เดินทางไปยัง  “เขื่อนแม่สรวย” นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม กรมชลประทาน และคณะให้การต้อนรับ และนายทรงพล พงษ์มุกดา หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตนั้นจากการตรวจวัดค่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเท่ากับ 0.0000877g ซึ่งต่ำกว่าค่าความเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวที่ใช้ในการออกแบบอย่างมาก ดังนั้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้กรมชลประทานยังร่วมมือกับคณะวิจัยในการปรับปรุงโครงสร้างของเขื่อนให้มีความแข็งแรง ทนทาน และรองรับต่อการเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ดียิ่งขึ้น

 

          และจุดสุดท้ายคณะได้เดินทางไปยัง  โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา  นำโดย รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายรักษ์ชัย ฉัตรเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวต้อนรับ และรศ.ดร.สุทัศน์ฯ กล่าวว่า แม้ว่าในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวโรงเรียนจะได้รับความเสียหายไม่มากนัก แต่จากการดำเนินการสำรวจของทีมวิจัย พบว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และอาคารของโรงเรียนมีรูปแบบที่เหมาะสมที่จะดำเนินการปรับปรุงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ด้วยวิธีเสริมความแข็งแรงของเสาอาคารเรียน หรือ concrete jacketing ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้อาคารเดิมที่มีอยู่แล้วสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้นและป้องกันความเสียแก่อาคารเรียนได้ดียิ่งขึ้น

 

          สำหรับผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย นั้น นำไปสู่การสร้าง Research Ecosystem Facilities ที่จะเป็นกลไกหลักในการนำเสนอนโยบายและเพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีสำหรับตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ทันสมัย แต่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลหรือข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากเกิดแผ่นดินไหวได้จาก “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ วช. (EARTH)”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

นักวิจัย ชี้เมียนมาแผ่นดินไหว สะเทือนถึงไทย ภาคเหนือจรดกทม.

 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นักวิจัยศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติชี้ธรณีพิโรธเมียนมาสะเทือนถึงไทย ภาคเหนือจรดกทม. ต้องวางแผนรับมือระยะยาวหาแนวทางรับมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่า พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนเพิ่มเติมในรพ.สังกัดกทม. เพื่อศึกษาผลกระทบ ประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคาร และเป็นต้นแบบให้อาคารอื่น

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ลึก 9 กม. ใกล้เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 100 กม. เมื่อเวลาประมาณ 8.37 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนบนภาคพื้นดินหลายตำแหน่งและในอาคารโรงพยาบาล 2 แห่งทางภาคเหนือ ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังคำนวณแรงและข้อมูลการสั่นสะเทือนของพื้นดินและอาคาร โดยทำงานใกล้ชิดกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าผลการวัดการสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มติดตั้งอุปกรณ์มาเมื่อตุลาคม 2565

 

ขณะที่ รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า บริเวณใกล้เชียงตุงเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง (มากกว่า 5.0) บ่อยครั้ง เช่น ขนาด 6.8 ในปี 2554 หรือแผ่นดินไหวเชียงตุงขนาด 5.9 เมื่อปี 2565 เนื่องจากมีรอยเลื่อนมีพลังเป็นจำนวนมากอยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนงานวิจัยแผ่นดินในประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการในเชิงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พร้อมระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนกับบุคลากรประจำอาคาร เช่น วิศวกร เจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคารได้อย่างทันท่วงที และหวังว่าจะเป็นอาคารต้นแบบเพื่อให้อาคารอื่นนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจวัดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ล่าสุดตรวจวัดได้พร้อมกันทั้งสองโรงพยาบาล และมีความรุนแรงที่สุดที่เคยตรวจสอบมาแต่ยังมีค่าต่ำกว่าค่าในการออกแบบของอาคาร โดยระบบสามารถสื่อสารกับวิศวกรประจำอาคารและช่างเทคนิคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสับสนในการจัดการด้านการสื่อสารภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้

 

ด้าน ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้คนที่อยู่อาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหว ซึ่งทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของอาคารเนื่องจากแผ่นดินไหว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาจนถึงสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน  โดยในกรุงเทพฯ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งมีความสูง 37 ชั้น เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ทำให้การเก็บข้อมูลทราบถึงผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ เพราะการเกิดเหตุแต่ละครั้งจะเกิดการสั่นไหว สร้างความกังวลต่อความมั่นคงของอาคาร ประชาชนตื่นตระหนกวิ่งหนีและไม่กล้ากลับไปใช้อาคารเพราะไม่มั่นใจถึงความปลอดภัย

 

“แผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ หลายร้อยกม. แต่ก็สั่งผลให้เกิดการสั่นไหวในหลายอาคารสูง โดยพบว่าอาคารโยกด้วยความรุนแรงประมาณ 2.3 มิลลิ-จี (ค่าความเร่งโน้มถ่วงของโลก) ซึ่งปกติระดับที่คนรู้สึกจะอยู่ที่ 1.5 มิลลิ-จี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คนในอาคารสูงจะรับทราบถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ และแม้แผ่นดินไหวจะเกิดในระยะไกลแต่ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าเป็นเพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินตะกอนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพจะขยายความรุนแรงได้ 3 เท่าในระดับแผ่นดินไหวที่โครงสร้างอาคารสามารถต้านทานได้ หรือมากกว่า 5 เท่าในระดับต่ำก็จะขยายได้รุนแรงกว่า ดินอ่อนมีลักษณะเฉพาะในภาคกลางและลุ่มแม่น้ำ ทีมวิจัยจึงพัฒนาการออกแบบก่อสร้างให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหวได้ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับอาคารสูงที่ก่อสร้างใหม่ ส่วนอาคารเก่ายังมีกำลังสำรองต้านทานแผ่นดินไหวระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาในระยะยาวที่นักวิจัยและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและหาแนวทางเสริมกำลังหรือมาตรการอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนำโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังวางแผนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่โรงพยาบาลในสังกัด เช่น โรงพยาบาลกลาง” ศ. ดร.นครกล่าว

 

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่กล่าวถึงจุดเกิดแผ่นดินไหวว่ามีแนวรอยเลื่อนเชียงตุงพาดผ่าน จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลางในระดับตื้นจึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารต้านแผ่นดินไหว ปี 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือและพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ควรเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับแผ่นดินไหวในอนาคตที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่านี้หรือเกิดขึ้นใกล้กว่านี้ มาตรการรับมือแผ่นดินไหวที่ดีที่สุด คือ การทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง เพราะแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารใหม่ให้ต้านแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวในอนาคตได้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News