Categories
EDITORIAL

‘วราวุธ’ ชี้ไทยเผชิญวิกฤติประชากร AI เปลี่ยนพฤติกรรมรวดเร็วปรับตัวไม่ทัน

 

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล”  โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ร่วมปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางสังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตมากมาย ทั้ง Climate Change, Pollution, Pandemic, Conflicts, Digital Transformation, Population Crisis ซึ่งวิกฤตเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ แน่นอนว่าความท้าทายทางด้านสังคมย่อมมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า แนวโน้มความท้าทายทางสังคมจะต้องอาศัย Global Trends : Urbanization, New business model แบบ Innovation Driven & Digital Disruption, AI เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และรูปแบบของสังคม ซึ่งโครงสร้าง และลักษณะของสังคมไทย โดยเฉพาะรูปแบบของความสัมพันธ์ในครอบครัว และวัฒนธรรมได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว และรุนแรง จนอาจพูดได้ว่า เร็วและแรงเกินกว่าที่จะรับมือได้อย่างเหมาะสม ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องเผชิญกับความท้าทายนี้ โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่มีต้นทุนและความสามารถในการปรับตัว (Adaptive Capacity) ไม่เท่ากับกลุ่มคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมโลกหรือสังคมไทยก็ตาม ย่อมได้รับผลกระทบสูงกว่า และดำเนินชีวิตต่อไปได้ยากเข็ญกว่า

 

 

นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยเผชิญกับอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างฉายภาพ “ปัญหาสังคม” จากข้อมูลของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผู้แจ้ง ร้องเรียน สอบถาม ผ่านช่องทางของกระทรวง พม. เดือนละ 12,000 – 18,000 ราย โดยในเดือน พ.ค. รับแจ้ง 18,607 กรณี ซึ่งกว่า 50% เป็นเรื่อง “ความสัมพันธ์ในครอบครัว” ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว และเหยื่อส่วนใหญ่เป็นเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมไทย ที่จะบ่มเพาะ และสร้างโครงสร้างที่แข็งแกร่งของสังคม และเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังสั่นคลอน

 

“เด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ส่งผลให้การพัฒนาศักยภาพเชิงความคิด สติปัญญา และความสามารถทางกายภาพถูกบั่นทอน โครงสร้างประชากรของไทยกำลังเปลี่ยนแปลง จนเรียกได้ว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤตประชากร” นายวราวุธ กล่าว

รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า วิกฤตประชากร คือปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญกับวิกฤตนี้ เช่น ญี่ปุ่นมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากถึงประมาณ 30% ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 20% เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือ Aged Society และคาดว่าจะเป็น Super-Aged Society เหมือนญี่ปุ่น ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า เนื่องจากเด็กเกิดน้อยประมาณ 5 แสนคน จำนวนบุตรเฉลี่ย 1 คนต่อสตรี 1 คน ซึ่งน้อยกว่าญี่ปุ่นอีก ซ้ำเด็กยังด้อยคุณภาพ และเมื่อเกิดน้อยลง “ครอบครัว” มีขนาดเล็กลง โครงสร้างครอบครัวไทย (Living arrangement) ก็เปลี่ยนแปลงไป การฟูมฟักอบรมเลี้ยงดูบุตรโดยพ่อ-แม่ ลดน้อยลง การเกื้อหนุนกันและดูแลกันระหว่างรุ่นเริ่มจางหายไป รูปแบบรายได้/รายจ่ายเปลี่ยนแปลงไป จนหลายครอบครัวไม่สามารถตั้งรับ และปรับตัวได้ ครอบครัวบางรูปแบบมีแนวโน้ม “เปราะบาง” เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือสภาวะที่ผู้สูงอายุต้องอยู่คนเดียว ทั้งนี้ แนวโน้มครัวเรือนอยู่คนเดียว ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับคู่สมรสเพียงลำพังมีมากขึ้น แน่นอนว่าวัยแรงงาน ซึ่งเพิ่มขึ้นไม่ทันกันกับพีระมิดของผู้สูงวัย ทำให้ต้องรับภาระ ทั้งดูแลตนเอง ลูก และพ่อแม่ ซึ่งเป็นผู้สูงวัย กลายเป็น “The แบก” ซึ่งผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ณ ขณะนี้ จะกลายเป็นผู้สูงอายุในอีก 5-10 ปีข้างหน้า แต่ยังคงมีภาระที่จะต้องดูแลพ่อ-แม่ ที่จะมีอายุ 80 ปีขึ้นไปอีก 10 ปีข้างหน้า

 

 

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตประชากร ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ นับเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ประการแรก คือ ประชากรไทยลดลงจาก 70 ล้านคน จะเหลือ 58.26 ล้านคน ในอีก 25 ปี ประการต่อมา คือ เด็กเกิดน้อย แต่จะทำอย่างไรให้เด็กมีคุณภาพ และประการสุดท้าย คือ รัฐต้องรับภาระงบประมาณด้านสังคม จนอาจเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งการรับมือนั้น หลายประเทศใช้การกำหนดนโยบาย ปรับเปลี่ยนกฎหมาย พัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ผลักดันและขับเคลื่อน “นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร” จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ซึ่งนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และแต่ละยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 มาตรการหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของสังคมไทย เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เสริมพลังวัยทำงานให้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต ด้วยการเพิ่มโอกาส พัฒนาทักษะ (Upskill/Re-skill) และสมรรถนะในการบริหารการเงิน พร้อมๆ ไปกับการดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มคุณภาพเด็ก เร่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตและความรู้ วิชาชีพตามวัย ให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน/ยกระดับผลิตภาพ (productivity) เพื่อรับมือกับการลดลงของประชากร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างพลังผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญชีวิต นำมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจ ด้วยการเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) ในการทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างโอกาสและคุณค่าให้คนพิการ สัดส่วนของคนพิการ ร้อยละ 6 ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้องเสริมทักษะ (Upskill/Re-skill) และปรับทัศนคติในการจ้างงาน ฃ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งสำคัญมาก คือ สร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม และทางกายภาพที่เอื้อต่อการสร้างและดูแลครอบครัวให้มั่นคง/พลิกฟื้นสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ Green Economy, Carbon footprint, Sustainable consumption and production (SCP)

 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า คนไทยทุกคนต้องร่วมเดินฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน หรือเราจะรอให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย เมื่อเราไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากในการสร้างทัศนคติ ค่านิยม และกระแสความคิดของประชาชน จึงขอวอนร่วมสร้างความตระหนักรู้ กระตุ้นการลงมือทำ และร่วมลงมือทำทันที “Action Now” ซึ่งปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์นั้น “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” เป็นทางเลือกที่คนไทยนิยมมากขึ้นทุกวัน บางคนถึงขั้นเสพติดสื่อในลักษณะนี้ ดังนั้น ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคม ต้องรักษาคุณค่า และจรรยาบรรณการสร้างคอนเทนต์ ต้องระมัดระวัง ไม่ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเด็กและเยาวชน การนำเสนอความรุนแรง อาชญากรรม ความขัดแย้ง และเรื่องราวทางเพศ ในลักษณะที่อาจนำไปสู่การบ่มเพาะพฤติกรรม

“บางครั้งสื่อเองก็อาจกำลังทำหน้าที่พ่อ หรือแม่ หรือลูก แต่ที่แน่นอน ท่านเป็นวัยแรงงานที่มีภาระที่ต้องดูแลตัวเอง และบุคคลอันเป็นที่รัก และกำลังจะก้าวไปเป็นผู้สูงอายุในอนาคตอันไม่ไกลนัก ท่านมีศักยภาพและโอกาสสูงในการช่วยดึงพลังแฝงจากผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ในกลุ่มต่างๆ มาเป็นพลังของสังคมได้ เป็นพลังสำคัญของสังคมไทย ในการเชื่อมโยงประเด็นความท้าทายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตีแผ่ให้ทุกภาคส่วนได้เห็นถึงความจำเป็นในการเดินหน้าฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งผมเชื่อมั่นในพลังของสื่อในการผลักดันสังคมไทยสู่ความยั่งยืนอย่างมั่นคง” นายวราวุธ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

“วราวุธ” เป็นพยาน พม. – ออมสิน แก้หนี้ ขรก.พม. เตรียมขยายแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย

 
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 67 เวลา 09.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงิน (MSO FinProtect)” ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับธนาคารออมสิน โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าฐานรากและสนับสนุนนโยบายรัฐ ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สะพานขาว กรุงเทพฯ

นายวราวุธ กล่าวว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยถึงปัญหาหนี้สิ้นของประชาชน และได้สั่งการให้ทุกกระทรวงรวบรวมปัญหาหนี้สิ้นทั้งระบบ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวางแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรกระทรวง พม. โดยความร่วมมือกับธนาคารออมสิน ภายใต้ “โครงการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางการเงิน (MSO FinProtect)” เป็นการประสานความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่บุคลากรกระทรวง พม. ตลอดจนสนับสนุนความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำ การวางแผน และการรักษาวินัยทางการเงิน 

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งสองหน่วยงานในการช่วยเหลือสวัสดิการด้านการเงินให้แก่บุคลากรกระทรวง พม. ทุกคน ทุกระดับ โดยผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสวัสดิการด้านการเงินของบุคลากร เพื่อแบ่งเบา แก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน ด้วยการสนับสนุนข้อมูล ความรู้ การให้คำปรึกษาแนะนำ การจัดการมาตรการผ่อนปรนทางด้านดอกเบี้ย การวางแผนและการรักษาวินัยทางการเงิน ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลากรที่พร้อมเข้าร่วมโครงการในวันนี้ จำนวน 3,233 คน มียอดหนี้สินรวมกัน 3,884,720,010 บาท ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้สินของบุคลากรกลุ่มนำร่อง จำนวน 150 คน วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท โดยเบื้องต้นของเป้าหมายคือ ลูกหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้นอกระบบ มีจำนวนหนี้รวมทั้งหมด 16,118,109 บาท ในจำนวนเงินดังกล่าว มีภาระชำระดอกเบี้ย จำนวนเงิน 3,183,665 บาทต่อปี หากทำการปรับโครงสร้างหนี้สินกับธนาคารออมสินแล้ว จะสามารถลดภาระการชำระดอกเบี้ยได้ จำนวนเงิน 1,733,035 บาทต่อปี จะเห็นได้ว่าเบื้องต้น เป็นโครงการนำร่องจากจำนวนบุคลากร 150 เท่านั้น และหากดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สินได้ทั้งหมด 3,233 คน จะส่งผลให้ภาระหนี้สินด้านดอกเบี้ยที่จ่ายได้ผ่อนคลายลง สำหรับบุคลากรที่ได้ปรับโครงสร้างหนี้สินในเรื่องการยืดระยะเวลาชำระ ยิ่งจะส่งผลให้ลดภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน ทำให้สามารถบริหารการเงินส่วนบุคคลให้เกิดสภาพคล่องในการดำรงชีพได้ดียิ่งขึ้น

นายวราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่ที่ตนได้เข้ามาทำงานที่กระทรวง พม. เมื่อเดือนกันยายน 2566 เห็นได้ว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ รวมถึงอาสาสมัครของกระทรวง พม. มีภารกิจมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรับฟังปัญหาและเข้าไปแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านที่อยู่อาศัย สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว ดังนั้น การที่กระทรวง พม. จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องดูแลคนของเรา ก่อนที่จะเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น เพราะฉะนั้นแล้ว เราจะเป็นน้ำที่ไม่เคยเต็มแก้ว ดังนั้น วันนี้สิ่งที่สำคัญคือการแสดงให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ได้เห็นว่าผู้บริหารของกระทรวง พม. ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการ เข้าใจและให้ความสำคัญกับสถานการณ์และความเป็นอยู่ของเพื่อนข้าราชการทุกคน จึงเป็นเหตุผลให้เริ่มดำเนินโครงการในวันนี้ และต้องขอขอบคุณธนาคารออมสินที่เข้ามาเป็นผู้แก้โครงสร้างหนี้สินและดูแลการจัดระเบียบของหนี้สินทั้งหลายของข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. 

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นของโครงการนี้ จะเข้ามาดูปริมาณหนี้สินทั้งหมดว่า มีจำนวนเท่าไหร่และจะมาปรับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตนั้นค่อนข้างสูง ดังนั้น การที่ธนาคารออมสินเข้ามาดูแลหนี้สิน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต เราจะสามารถปรับมูลค่าดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายลดลงไปได้กว่าครึ่ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ไปได้มากพอสมควร นอกจากนี้ เรายังมีแผนเจรจากับสถาบันการเงิน เรื่องหนี้ที่อยู่อาศัย เพราะปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของพี่น้องประชาชนรวมถึงเพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ดังนั้น การที่เราจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินเรื่องบ้าน ตนเชื่อมั่นว่าการทำโครงการนี้และในอนาคตนั้น จะเพิ่มศักยภาพการทำงาน
ของเพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ได้เป็นอย่างดี
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News