Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

รถไฟทางคู่สายใหม่เหนือ-อีสาน เปิดบริการปี 2571 เชื่อมเศรษฐกิจไทย-ชายแดน

รถไฟทางคู่สายใหม่เหนือ-อีสาน คืบหน้า! เตรียมเปิดบริการปี 2571

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้าง รถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางสำคัญ คือ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้ครอบคลุมพื้นที่ใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ

โครงการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ

  • ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงิน 72,921 ล้านบาท
  • สัญญา 1: เด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กม. ผลงาน 18.64% (เร็วกว่าแผน 4.75%)
  • สัญญา 2: งาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กม. ผลงาน 25.08% (ช้ากว่าแผน 6.30%)
  • สัญญา 3: เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กม. ผลงาน 20.74% (ช้ากว่าแผน 16.70% เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน)

โครงการก่อสร้างรถไฟสายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร – นครพนม

  • ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงิน 66,848 ล้านบาท
  • สัญญา 1: บ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. ผลงาน 16.05% (ช้ากว่าแผน 21.40%)
  • สัญญา 2: หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. ผลงาน 0.33% (ช้ากว่าแผน 33.31% เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน)

เป้าหมายเปิดบริการปี 2571

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการนี้จะช่วยพัฒนาโครงข่ายรถไฟในพื้นที่ที่ไม่เคยมีรถไฟมาก่อน พร้อมเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน โดยโครงการสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ จะรองรับการขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยวเชื่อมชายแดนไทย-ลาว ขณะที่โครงการสายบ้านไผ่ – นครพนม จะเชื่อมเศรษฐกิจภาคอีสานตอนบนไปยังท่าเรือแหลมฉบังและศูนย์ขนส่งชายแดน

จุดเด่นของโครงการ

  • สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ
    • อุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย
    • มี 26 สถานี (สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง)
    • สะพานรถไฟและถนนลอดรวม 254 จุด พร้อมลานขนถ่ายสินค้าและพื้นที่กองเก็บตู้สินค้าที่สถานีเชียงของ
  • สายบ้านไผ่ – นครพนม
    • มี 30 สถานี และย่านบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง
    • ถนนยกข้ามทางรถไฟ 81 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 245 แห่ง
    • เชื่อมโยงเศรษฐกิจแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

ประโยชน์ที่คาดหวัง

โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ รองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนและเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พร้อมเพิ่มโอกาสด้านการท่องเที่ยวและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย และจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ พัฒนาใหม่ มุ่งสร้างมาตรฐานระบบราง

ความคืบหน้าโครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เพิ่มมาตรฐานระบบระบายน้ำ ป้องกันภัยธรรมชาติ

กรมรางเผยโครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คืบหน้ากว่า 20% พร้อมพัฒนาระบบระบายน้ำและมาตรการป้องกันภัยธรรมชาติในระบบราง

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 นายพิเชฐ คุณธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง อัปเดตความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญเชื่อมโยงภาคเหนือของไทยเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา และจีน โดยโครงการดังกล่าวแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ครอบคลุมระยะทางรวม 323.1 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟทั้งหมด 26 สถานี และระบบทางวิ่งที่ครอบคลุมทั้งระดับพื้นดิน ทางยกระดับ และอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว รวม 4 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์สอง อุโมงค์งาว อุโมงค์แม่กา และอุโมงค์ดอยหลวง

การพัฒนาระบบระบายน้ำและมาตรการป้องกันภัยธรรมชาติ

โครงการนี้เผชิญกับความท้าทายจากปริมาณน้ำฝนที่สูงในเขตภาคเหนือของไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างระบบรางในบางพื้นที่ กรมการขนส่งทางรางจึงได้ดำเนินการศึกษามาตรฐานโครงสร้างระบบระบายน้ำและมาตรการลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ดินถล่ม และทางทรุด โดยได้วิเคราะห์ตัวอย่างภัยพิบัติในระบบรางจากหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และจีน พร้อมทั้งนำไปออกแบบระบบโครงสร้างป้องกัน เช่น ระบบระบายน้ำบริเวณอุโมงค์ ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และมาตรฐานโครงสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว

นายพิเชฐกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการออกแบบมาตรฐานใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ โครงสร้างระบบระบายน้ำสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย มาตรฐานโครงสร้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ (DRT Alert) เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติ

จุดเด่นทางเทคนิคและนวัตกรรมใหม่ในโครงการ

หนึ่งในนวัตกรรมที่ใช้ในโครงการนี้คือการก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้ง (Railway Arch Culvert) ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้คอนกรีตหล่อเสริมเหล็กแบบโค้งสำเร็จรูปจากโรงงาน ช่วยลดปริมาณวัสดุ ลดระยะเวลาการก่อสร้าง และเพิ่มความแข็งแรง สามารถรองรับแรงกดได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับแบบเดิม นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) เพื่ออำนวยความสะดวกในการกระจายสินค้าไปยังพรมแดนลาว เมียนมา และจีน

การวางแผนแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติในอนาคต

กรมการขนส่งทางรางยังได้วางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว โดยคัดเลือกพื้นที่เสี่ยง 10 จุดเพื่อนำมาปรับปรุงระบบระบายน้ำและโครงสร้างทางราง พร้อมจัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถในอนาคต

ความสำคัญของโครงการและประโยชน์ต่อประเทศ

โครงการรถไฟเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ นอกจากจะช่วยพัฒนาระบบรางในประเทศแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งในภูมิภาคอาเซียน โดยรองรับทั้งการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า อันจะส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่และสร้างโอกาสการค้าและการลงทุนในระดับสากล

นายพิเชฐย้ำว่า กรมการขนส่งทางรางให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยธรรมชาติและการบริหารจัดการโครงสร้างระบบราง เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยและประสิทธิภาพของระบบราง ซึ่งโครงการนี้จะช่วยยกระดับการขนส่งของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากลในอนาคต.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้ง ทางคู่ แห่งแรกของไทย! “เด่นชัย-เชียงของ”

 
เมื่อวันที่12 มีนาคม 2567  รฟท.เปิดภาพทางลอดใต้ทางรถไฟแบบโค้งแห่งแรกของไทย ไซต์ก่อสร้างทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นรูปแบบใหม่นวัตกรรมจากสวิตเซอร์แลนด์ ก่อสร้างง่าย ประหยัด ประชาชนสัญจรสะดวก เผยตลอดเส้นทางมี 37 แห่ง เผยภาพรวมก่อสร้างตามแผน เปิดบริการในปี 71
 
 
นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ หัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขยายขีดความสามารถการคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีศักยภาพก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง การอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ผู้โดยสารให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ให้เสร็จตามแผนที่กำหนด
 
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟฯ ได้มีการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างระบบรางให้เดินหน้าเป็นไปตามแผนงาน ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟสายใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมกับมุ่งนำนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการก่อสร้างให้เกิดความคุ้มค่า รวดเร็ว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
 
 
ในการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 72,835 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟฯ ได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ก่อสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟ แบบโค้ง (Railway Arch culvert) ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่แห่งแรกในไทยที่มีลักษณะเป็นคอนกรีตหล่อเสริมเหล็กแบบสำเร็จรูปจากโรงงาน สามารถยกไปประกอบติดตั้งได้ง่าย ช่วยลดระยะเวลาการก่อสร้าง ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าร้อยละ 20-25 อีกทั้งยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ซีเมนต์ และเพิ่มความสูงและความกว้างของทางลอด (Clearance) ซึ่งประชาชนสามารถสัญจรได้สะดวกมากกว่าการทำทางลอดใต้ทางรถไฟแบบเดิมอีกด้วย
 
 
สำหรับทางลอดใต้ทางรถไฟรูปแบบโค้งดังกล่าวได้สร้างขึ้นแห่งแรกในพื้นที่ตำบลปงป่าหวาย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว มีระยะช่วงสะพาน 16.5 เมตร ความยาว 33.5 เมตร มีความสูง 4.2 เมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างคาดจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการสร้างเสร็จ จากนั้นจะมีการสร้างทางลอดใต้ทางรถไฟแบบเดียวกัน ตลอดเส้นทางโครงการฯ ไม่น้อยกว่า 37 แห่ง ซึ่งอยู่ในพื้นที่สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว จำนวน 21 แห่ง สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย จำนวน 8 แห่ง และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ อีก 8 แห่ง ขณะเดียวกัน การรถไฟฯ ยังได้พิจารณานำรูปแบบการสร้างทางลอดดังกล่าวไปปรับใช้กับการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางอื่นๆ ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จจะช่วยเพิ่มความคุ้มค่าทางการลงทุนเป็นอย่างมาก
 
 

ส่วนความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ล่าสุดมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีรายละเอียด ดังนี้

– สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.7 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 6.499 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ร้อยละ 3.443

– สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132.3 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 2 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 7.766 ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ร้อยละ 0.014

– สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87.1 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท มีกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-ดีซี 3 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 5.548 ช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ร้อยละ 2.913

ทั้งนี้ โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดใช้บริการได้ในปี 2571 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า สามารถลดระยะเวลาเดินทางเมื่อเทียบกับรถยนต์ได้กว่า 1-1.30 ชม. อีกทั้งยังช่วยเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ กับอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ที่มุ่งตรงสู่เมืองคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีนได้อีกด้วย ที่สำคัญยังมีทางขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลทางท่าเรือแหลมฉบัง รองรับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย (SEZ)

 
 

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีสถานีและป้ายหยุดรถทั้งสิ้น 26 แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 แห่ง สถานีขนาดเล็ก 9 แห่ง ป้ายหยุดรถ 13 แห่ง และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า บรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อไปยังชายแดนเชียงของ

 

โครงการนี้ได้มีการออกแบบให้มีรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ไม่มีจุดตัดทางถนนโดยทำสะพานรถยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ (Overpass / Underpass) รวมถึงสะพานลอยสำหรับทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ รวม 254 จุด ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางผ่านเสมอระดับ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งของนายปิยะพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้งสามารถรักษาระดับความเร็วของขบวนรถไฟให้คงที่ มีความปลอดภัย และมีอุโมงค์ทางคู่ตามแนวเส้นทางที่พาดผ่านพื้นที่ภูเขาอีก 4 แห่ง

 

ประกอบด้วย 1. อุโมงค์สอง จังหวัดแพร่ ความยาว 1.2 กิโลเมตร 2. อุโมงค์งาว จังหวัดลำปาง ความยาว 6.2 กิโลเมตร 3. อุโมงค์แม่กา จังหวัดพะเยา ความยาว 2.7 กิโลเมตร 4. อุโมงค์ดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาว 3.4 กิโลเมตร รวมระยะทาง 13.5 กิโลเมตร โดยอุโมงค์งาวเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างเสร็จ รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเป็นเส้นทางรถไฟที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างอันทันสมัย มีทิวทัศน์รอบข้างสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อีกทั้งยังช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ นำพาให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News