Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘พิสันต์’ รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” 4 ปีติดต่อกัน

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 09.30 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานมอบนโยบายการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการ “22 ปี กระทรวงวัฒนธรรม นำคุณค่า พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้กับบุคลากรในหน่วยงานด้านวัฒนธรรมทั่วประเทศ พร้อมยกระดับการขับเคลื่อนวัฒนธรรมไปสู่การพัฒนาชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยมีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าส่วนราชการ และองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัด และสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวในพิธีเปิดว่า การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นก้าวสำคัญที่จะนำคุณค่าของศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคเอกชน รวมถึงการสานต่อโครงการต่าง ๆ ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

ในงานดังกล่าว นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้บรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนวัฒนธรรมสู่พลังแห่งอนาคต” ซึ่งเน้นย้ำถึงบทบาทของวัฒนธรรมในฐานะเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของวัฒนธรรมในชุมชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ กรมการศาสนา กรมศิลปากร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ร่วมบรรยาย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
CULTURE

นุ่งซิ่นตีนจก แอ่วแม่แจ่ม ม่วนใจ๋ เปิดขบวนรถผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า

 

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า อำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567” โดยมี นายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการจัดงาน ประชาชนชาวอำเภอแม่แจ่ม แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ณ เวทีกลางหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ภายในงานพบกับขบวนเปิดงานมหกรรมฯ และการประกวดรถขบวนผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า จากนั้นปลัดวธ.พร้อมคณะ เดินชมนิทรรศการแม่แจ่มยั่งยืน คืนชีวิตให้แจ่ม แบบบูรณาการและเยี่ยมชมนิทรรศการผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า ลานวัฒนธรรม บ้านชนเผ่า การละเล่นพื้นบ้าน/ชนเผ่า (พิธีขึ้นบ้านใหม่ของ พี่น้อง ชนเผ่าทั้ง 4 ชนเผ่า คือ ชนพื้นเมือง ชนเผ่าม้ง ชนเผ่าล้ำวะ ชนเผ่ากะเหรี่ยง) ณ ลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม

 

นางยุพา กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จึงได้สนับสนุนการจัดงานมหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่าอำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่พี่น้องชาวอำเภอแม่แจ่ม ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่งดงาม ผ้าตีนจกแม่แจ่มเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของอำเภอแม่แจ่มและจังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้ง อำเภอแม่แจ่ม นอกจากจะมีผ้าตีนจกที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังมีศิลปภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมชนเผ่าที่งดงาม ที่สมควรได้รับการส่งเสริมและอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับอำเภอแม่แจ่มสืบไป ทั้งนี้ งานดังกล่าวจึงนับเป็นการส่งเสริมอาชีพของประชาชนในอำเภอแม่แจ่ม ให้สามารถพัฒนาเป็นอาชีพหลัก ส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอแม่แจ่มด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์อย่างแท้จริง อีกทั้งการต่อยอดหลังจากการเปิดงานในครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม พร้อมเป็นหน่วยงานผลักดัน สนับสนุน ฟื้นฟู และคุ้มครองงานภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภูมิปัญญา ที่มีเอกลักษณ์ของชาวชาติพันธุ์ ชนเผ่าต่างๆ สอดคล้องกับรัฐบาลที่มุ่งให้ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ หรือเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาชาติพันธุ์ ได้ให้คำปรึกษาและดำเนินงานคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ…

 

ด้านนายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม คณะกรรมการจัดงานฯงานมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม กล่าวว่า งานมหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่ม จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2537 มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งการจัดงานในปี 2567 นี้ นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 29 ชื่องานว่า “งานมหกรรมผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า อำเภอแม่แจ่ม ครั้งที่ 29 ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บริเวณลานหน้าที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม ลานหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่แจ่ม และลานหน้าสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่แจ่ม เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตีนจกและผลิตภัณฑ์ชนเผ่าอำเภอแม่แจ่ม ศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมชนเผ่าแม่แจ่ม ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวอำเภอแม่แจ่ม สร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจในชุมชน รวมทั้งยกย่องเชิดชูเกียรติแม่ครูผ้าทอและผู้ก่อตั้งการจัดงานผ้าตีนจกแม่แจ่มด้วย

 

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ตลอดการจัดงานทั้ง 5 วัน มีนิทรรศการมากมายให้เลือกชม อาทิ นิทรรศการภูมิปัญญาท้องถิ่น ลานวัฒนธรรมบ้านชนเผ่า นิทรรศการผ้าตีนจกและผ้าทอชนเผ่า นิทรรศการแสง สี เส้นทอ และนิทรรศการโครงการหลวงในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม ม่วนอกม่วนใจ๋ไปกับความบันเทิงภายในงาน อาทิ การประกวดธิดาผ้าตีนจก และธิดาชนเผ่าและไทใหญ่ การประกวดรำวงย้อนยุค กิจกรรมการแสดงชนเผ่า ขบวนแห่ผ้าตีนจกและวัฒนธรรมชนเผ่า การเดินแฟชั่นโชว์ผ้าตีนจกและผ้าชนเผ่า แบบโบราณและแบบประยุกต์ การประกวดธิดาจำแลงแม่แจ่ม การแสดงดนตรีของเยาวชนอำเภอแม่แจ่ม พร้อมชวนช้อปร้านจำหน่ายสินค้าของโครงการหลวง การออกร้านจำหน่ายผ้าตีนจก ผลิตภัณฑ์กลุ่มโอทอป และ ผลิตภัณฑ์ชนเผ่า กาดมั่วคัวฮอม ณ สาธารณสุขอำเภอแม่แจ่ม

 

ทั้งนี้ แม่แจ่ม เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ในหุบเขาซึ่งมีเทือกเขาถนนธงชัยและ ดอยอินทนนท์ล้อมรอบ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ ที่สำคัญของภาคเหนือ นับเป็นหนึ่งในชุมชนไม่กี่แห่งของไทยที่ยังคงรักษาและสืบทอดมรดกพื้นเมืองซิ่นตีนจก และ ผ้าทอหลายประเภท อันเป็นศิลปหัตถกรรมที่มีคุณค่าทั้งความงดงามและความหมาย วิถีชีวิตของ คนแม่แจ่ม ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและศรัทธาต่อศาสนา

 

“ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม” เป็นงานหัตถกรรมผ้าทอพื้นบ้านของผู้หญิงในอำเภอแม่แจ่มที่เกิดจากฝีมือการทออย่างประณีตตามกรรมวิธีการทอและการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยเทคนิคการจกแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาของกลุ่มชนชาวไทยวนในอำเภอแม่แจ่ม ทำให้เกิดเป็นผ้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นของชาวแม่แจ่มที่มีความงดงาม เป็นผ้าซิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนที่อื่น มีความละเอียดประณีต ลวดลายอ่อนช้อย มีความหมายในตัวเอง ความประณีตของลวดลายเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุมมีกฎเกณฑ์ บางผืนอาจซ่อนเร้นเรื่องราวและเนื้อหาที่สามารถเล่าขานถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชน การตั้งถิ่นฐาน เชื้อชาติ สภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อ และประเพณี นอกจากนี้ยังเป็นผ้าทอที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงใหม่ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สันนิษฐานว่าซิ่นตีนจกแม่แจ่มน่าจะมีขึ้นในยุคสมัยที่พุทธศาสนาของล้านนามีความเจริญรุ่งเรือง จากลวดลายของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิด ความเชื่อทางพุทธศาสนา จากองค์ประกอบของซิ่นตีนจกแม่แจ่มจะปรากฏลวดลายต่างๆ เช่น โคม ขัน นาค หงส์ น้ำต้น สะเปา อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อทางพุทธศาสนา

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

เชียงใหม่ เปิดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา วัดพระสิงห์

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 เวลา 18.00 น. จังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดกิจกรรมตามรอยเส้นทางธรรมแห่งศรัทธา สักการะพระธาตุประจำปีเกิด ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้คัดเลือกวัดที่ร่วมโครงการ ดังนี้

  1. วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร พระมหาธาตุเจดีย์พระธาตุประจำปีเกิดปีมะโรง
  2. วัดเจ็ดยอด พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา พระธาตุประจำปีเกิดปีมะเส็ง
  3. วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระบรมธาตุดอยสุเทพ พระธาตุประจำปีเกิดปีมะแม
  4. วัดเกตการาม พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี พระธาตุประจำปีเกิดปีจอ

 

 

โดยมีพระพรหมเสนาบดี เจ้าคณะภาค 7 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดภาคเหนือ 16 จังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กร ประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมพิธี ณ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

ในการนี้ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย โดย นายพิสันต์  จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ เข้าร่วมงานดังกล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

เริ่มแล้ว 9 ประเทศอาเซียนร่วมเทศกาล อาเซียนปันหยี ที่อินโดนีเซีย

 

เริ่มแล้ว 9 ประเทศอาเซียนร่วมเทศกาลอาเซียนปันหยี หรือ “อิเหนา” ที่อินโดนีเซีย วธ.ขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาททางวัฒนธรรมของไทยในเวทีอาเซียนใน ASEAN Panji Festival 2023 วันที่ 7 – 28 ตุลาคมนี้ ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ฉลองในวาระครบรอบ 6 ปี ในการขึ้นทะเบียนปันหยีเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World: MOW)

 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายกรมศิลปากรในการส่งคณะศิลปินนักแสดงเข้าร่วมจัดการแสดงปันหยี หรืออิเหนา ในงานเทศกาลอาเซียนปันหยี 2023  ระหว่างวันที่ 7 – 28 ตุลาคม 2566 ณ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย) ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การวิจัย และเทคโนโลยี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 6 ปี ในการขึ้นทะเบียนปันหยีเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World: MOW) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาค ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ความสำคัญทางวัฒนธรรม รูปแบบการนำเสนอและเทคนิคการแสดง การแต่งกายและดนตรี รวมถึงพัฒนาการและความท้าทายร่วมของวรรณกรรมปันหยีโดยผู้เข้าร่วมเทศกาล ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนจาก 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม 

 

ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า อิเหนา เป็นวรรณกรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังคงเป็นวรรณกรรมสำคัญที่ใช้สำหรับจัดทำการแสดงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นวรรณกรรมร่วมที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถสะท้อนคติ ความคิดความเชื่อ ค่านิยมของสังคม ขนบประเพณีของแต่ละประเทศ การส่งศิลปินนักแสดงเข้าร่วมเทศกาลดังกล่าวจึงเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจในการนำเสนอปันหยีหรืออิเหนาผ่านการแสดงและการตีความตามบริบทของแต่ละประเทศ รวมถึงจะเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการด้านงานสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงในอนาคต ตามแนวนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมในการมุ่งพัฒนาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศ และการส่งเสริมบทบาททางวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก

 

ในโอกาสนี้ นายลสิต อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้เข้าร่วมพิธีเปิดและรับชมการแสดงอาเซียนปันหยี ในวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ณ เมืองยอกยาการ์ตา โดยกล่าวว่า สำนักการสังคีต กรมศิลปากรได้ร่วมส่งศิลปินนักแสดงหญิง จำนวน 6 คน ร่วมจัดการแสดงในเทศกาลอาเซียนปันหยี 2023 โดยการแสดงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การแสดงรายประเทศ และการแสดงรวมประเทศ (Finale) โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้จัดการแสดงในตอน พิธีมงคลสมรสของปันจี อีนูเกอร์ตาปาตี (Panji Inukertapati) กับกาลุห์อาเยง (Galuh Ajeng) ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องตอนที่ไม่ปรากฏในวรรณกรรมอิเหนาของประเทศไทย จึงเป็นการประดิษฐ์ท่ารำตีบทตามเนื้อเรื่องของประเทศอินโดนีเซีย และใช้เสียงเพลงจากวงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการรำตีบทเพื่อสื่อความหมายในการดำเนินเรื่องในรูปแบบละครใน โดยในส่วนของการแสดงรวมประเทศ (Finale) นางสาวศรีสุคนธ์ บัวเอี่ยม นาฏศิลปินอาวุโส สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้รับคัดเลือกจากผู้กำกับการแสดงให้รับบท ปันจี อีนูเกอร์ตาปาตี หรือ อิเหนา ซึ่งเป็นตัวละครเอกของเรื่อง นับเป็นเกียรติสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง การแสดงอาเซียนปันหยีจะดำเนินการจัดการแสดงไปยังอีก 4 เมือง ได้แก่ เกดิรี สุราบายา มาลัง และสุราการ์ตา (โซโล) รวมถึงกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Workshop) ระหว่างศิลปินนักแสดงอาเซียนร่วมกับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ตลอดทั้งเดือนตุลาคมนี้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

วธ. ปลื้มกระแสตอบรับบ้านศรีดอนชัย “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จ.เชียงราย

 

วธ. ปลื้มกระแสตอบรับ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 64-65 ดีเกินคาด สร้างรายได้ท่องเที่ยว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 134.27 รายได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.19 เกิดนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 100.64 ด้านบ้านเชียง จ.อุดรธานี , บ้านศรีดอนชัย จ.เชียงราย , บ้านถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ได้รับความนิยมสูงสุด ผู้คนติดใจเสน่ห์บรรยากาศของชุมชน อาหาร และสินค้าชุมชน 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ทางคณะทำงานโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อโครงการสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เครือข่ายทางวัฒนธรรม นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ชุมชนได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ ฯ จำนวน 19 จังหวัด และในพื้นที่จังหวัดที่ชุมชนไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสุดยอดชุมชนต้นแบบ ฯ จำนวน 57 จังหวัด รวมจำนวน 3,089 คน ซึ่งเป็นการสอบถามเกี่ยวกับการรับรู้ ประสบการณ์ ความประทับใจ การมีส่วนร่วม ตลอดจนมุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชุมชน

ปลัด วธ. กล่าวว่า ผลปรากฏว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ เคยได้ยินหรือรับรู้รับทราบเกี่ยวกับโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ดังกล่าวมาบ้างแล้ว โดยผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จะมีการรับรู้รับทราบมากกว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่นอกพื้นที่ ในส่วนของชุมชนที่ได้รับความนิยมและมีผู้เคยไปท่องเที่ยวมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย จ.เชียงราย และ3.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู ด้านชุมชนที่ส่วนใหญ่คิดว่าจะไปเพิ่มเติมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย 2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน 3.ชุมชนคุณธรรมฯ แหลมสัก จ.กระบี่ นอกจากนี้ ด้านเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบจากการที่ได้ไปท่องเที่ยว ณ สุดยอดชุมชนต้นแบบฯ ได้แก่ “บรรยากาศของชุมชน” รองลงมา คือ “อาหาร” และ “สินค้าชุมชน” ตามลำดับ

นางยุพา กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ในปี 2564 และ 2565 รวม 20 ชุมชน นั้น ทำให้ระดับการพัฒนาของสุดยอดชุมชนต้นแบบฯ ทั้ง 20 ชุมชน มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน จากเดิมการก่อนได้รับคัดเลือก 133,033,148 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 311,659,739 บาท คิดเป็นร้อยละ 134.27 รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เดิม 8,929,479 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 14,214,750 บาท คิดเป็นร้อยละ 59.19 จำนวนนักท่องเที่ยว เดิม 678,008 คน เพิ่มขึ้นเป็น 1,360,376 คน คิดเป็นร้อยละ 100.64 โดยเป็นการเปรียบเทียบจากข้อมูลรายได้ภายหลัง 1 ปี ของชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2564 และครึ่งปีของชุมชนที่ได้รับรางวัลสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2565 นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีบรรยากาศของชุมชนมากขึ้น การเดินทางสะดวก ชุมชนแสดงออกถึงอัตลักษณ์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

“ขณะนี้ วธ. กำลังคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ทั่วทั้งประเทศ ทั้งนี้ วธ. จะมุ่งส่งเสริมพัฒนาสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ที่มีบรรยากาศของชุมชน มีภูมิทัศน์น่าสนใจและรื่นรมย์ รวมถึงส่งเสริมให้ชุมชนนำอัตลักษณ์และทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น เน้นให้ความสำคัญในเรื่องการเดินทางสะดวกเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน พร้อมด้วยการจัดพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี เป็นการการันตีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และทำให้มีผู้มาเยือนเพิ่มมากขึ้น” ปลัด วธ.กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

ผลิตภัณฑ์ CPOT มาแรง วธ.เผย 30 ชุมชน เตรียมบุกขายตลาดลาซาด้า

 

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ส่งเสริม Soft Power ความเป็นไทยหลากหลายสาขาให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ และ วธ. มีนโยบายสู่ “กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ” ภายใต้แนวคิด วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน ส่งเสริมสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับประชาชน จึงได้มีการปรับโครงการพัฒนาต่อยอดสินค้าจากทุนทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ Cultural Product of Thailand หรือ CPOT โดยส่งเสริมอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ในช่วงแรกเราเน้นการพัฒนาต้นน้ำและกลางน้ำ โดยให้ความรู้ในการนำทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอด อบรมการออกแบบ วัสดุ ให้มีความน่าสนใจ ร่วมสมัย ตอบโจทย์การใช้งาน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือสามารถจับต้องได้ มีการนำผลิตภัณฑ์ไปออกงานแสดงสินค้าเป็นบ้างครั้ง จนกระทั่งในช่วงปี 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา เราต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด ชุมชน ผู้ประกอบการ  ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงต้องปรับการดำเนินการโดยเน้นสนับสนุนปลายน้ำหรือ ภาคการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายโดยเฉพาะในรูปแบบ e Commerce ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ชุมชน ผู้ประกอบการ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ “ทุกที่ ทุกเวลา อยู่รอดได้ แม้ภัยมา”



ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรมจะขับเคลื่อนเพียงหน่วยเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรที่เป็นมืออาชีพ เข้าร่วมสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจวัฒนธรรมยกระดับผลิตภัณฑ์ CPOT ของไทยไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้ วธ. ได้แพลตฟอร์มในตลาดค้าปลีกออนไลน์อย่างลาซาด้า (Lazada) มาร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ เบื้องต้น วธ. ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีผลต่อการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปรากฏว่า 3 อันดับแรกที่ผู้บริโภคสนใจ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารแปรรูป  ผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้/ของตกแต่งบ้าน และผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องหอม/เวชสำอาง ทั้งนี้ วธ. ได้ดำเนินการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพและมีคุณภาพได้รับมาตรฐานรับรองต่างๆแล้ว 30 ชุมชน พร้อมเตรียมทำรายการสินค้านำเสนอผลิตภัณฑ์ขึ้นจำหน่าย และกำหนดจัดอบรมทำความเข้าใจกับการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ กว่า 200 คน จากทั่วประเทศ ในเดือนกรกฎาคมนี้  เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน ผู้ประกอบการสามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าผู้บริโภคจะสามารถช้อปสินค้า CPOT บนช่องทางการจำหน่ายของลาซาด้า เร็วๆนี้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

กระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ บ้านศรีดอนชัย และบ้านเมืองรวง เชียงราย

เมื่อวันที่ 5-8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม เอส รัชดา เลเชอร์ กรุงเทพมหานคร

กระทรวงวัฒนธรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 5- 8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม เอส รัชดา เลเชอร กรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ในด้านการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
 
วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วิทยากร ผู้ประกอบการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วม จำนวน 70 คน
 
การอบรมฯ ในวันนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้การนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าทางวัฒนธรรม การพัฒนาต่อยอดสินค้าทางวัฒนธรรม การยื่นคำขอจดลิขสิทธิ์ การขยายช่องทางการจำหน่ายและสร้างเครือข่ายทางการค้า
 
วันที่ 7 มิถุนายน 2566 กิจกรรม Workshop เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย นำเสนอแบบแนวคิดในการพัฒนาสินค้า
 
วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ศึกษาดูงาน ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี และชุมชนคุณธรรมฯ บ้านจอมปลวก จังหวัดสมุทรสงคราม
 
ในการนี้ จังหวัดเชียงราย มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุม จำนวน 2 แห่ง คือ
1. ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปี 2564 ผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ผ้าทอไทลื้อศรีดอนชัย และผลิตภัณฑ์ กระเป๋าและตุ๊กตาไทลื้อศรีดอนชัย
 
2. ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปี 2565 ผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ กาแฟอาข่ามิโน และผลิตภัณฑ์ ผ้าปักเมืองรวง
 
ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางกัลยา แก้วประสงค์ และนายจิรัฏฐ์ ยุทธ์ธนประวิช นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ กลุ่มกิจการพิเศษ เข้าร่วมอบรมและอำนวยความสะดวกเครือข่ายวัฒนธรรมตลอดการจัดกิจกรรมนี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

กฤษยา จันแดง,กัลยา แก้วประสงค์ : รายงาน
จิรัฏฐ์ ยุทธ์ธนประวิช : ภาพ
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News