Categories
FEATURED NEWS

บพข. หนุน ม.มหิดล และมจท. พร้อมร่วมมือเอกชน เปิดตัวโครงการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 – ครั้งแรกของประเทศไทยในการก้าวสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล (Accessible Thailand Wellness Tourism: ATWT) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมจากสื่อมวลชนและภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ด้วยฐานงานวิจัยแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่สนับสนุนทุนวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)  จัดขึ้น ณ SIRIRAJ H SOLUTIONS ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันและบูรณาการสมดุลชีวิต บริเวณชั้น 5 อาคาร ICS Lifestyle Complex

 

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) กล่าวว่า โครงการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอโครงการวิจัยในรูปแบบใหม่ของประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลที่สามารถเข้าถึงได้ทุกคนอย่างแท้จริง บนรากฐานแก่นแท้ของ “ความเป็นไทย” ผ่านการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ที่ส่งต่อประสบการณ์ท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวคุณภาพที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย

 

โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลด้วยการเพิ่มศักยภาพสินค้าและบริการต่อยอดการพัฒนาการตลาด โดย ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม สังกัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) งบประมาณจาก กองทุน ววน. ซึ่งได้มอบทุนสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ร่วมทุนจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท นัตตี้ส์ แอดเวนเจอร์ส์ จำกัด และ บริษัท แพน โฟ จำกัด  ในการพัฒนาโครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มุ่งเป้า เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยมีพื้นที่ในการวิจัยภายในประเทศไทยด้วยกัน 3 จังหวัดดังนี้ 1) จังหวัดกรุงเทพฯ 2) จังหวัดนครปฐม 3) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศเป้าหมายทางการตลาด คือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  และกลุ่มเป้าหมายทางตลาดแบ่งเป็น 3กลุ่มดังนี้ 1) กลุ่ม Wheelchair กรุงเทพฯ 2) กลุ่มผู้สุงอายุ  3) ผู้พิการทางสายตา

 

ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในมิติต่างๆอย่างยอดเยี่ยมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามการวิจัยและการพัฒนาในส่วนของ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล” ยังคงเป็นความต้องการเพื่อให้มั่นใจได้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถมีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์จากการบริการในด้านนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อสื่อสารการตลาดเชิงบูรณาการทั้งภายในและต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ Wellness Tourism พัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อการเข้าถึงของคนทั้งมวล และพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล

 

ด้านคุณนิธิ สืบพงษ์สังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัตตี้ แอดเวนเจอร์ จำกัด ในฐานะภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนที่ได้มีการดำเนินงานการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลมาอย่างยาวนานกว่า 7 ปี เริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2561 ได้พานักท่องเที่ยวยุโรปที่บกพร่องทางการมองเห็นเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย ออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์เทียบเท่ากับนักท่องเที่ยวทั่วไป มองเห็นการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้สนับสนุนการดำเนินงานในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การนำเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลที่ได้จากผลการวิจัยไปขายจริงในงาน ITB 2024


โดยภายใต้การดำเนินงานของโครงการจะมีกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบที่ออกแบบและนำเสนอให้แก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการที่หลากหลาย เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวอันน่าประทับใจเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้ ได้แก่ การจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล การเผยแพร่สูตรอาหารบำบัดสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ การจัดเทศกาลดนตรีนานาชาติ “Szense Music Festival” ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ (2567) และการพัฒนาเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการใช้งานเพื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ให้บริการเพื่อนักท่องเที่ยวผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ ตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ATWT

 

สำหรับการจัดงานเพื่อเปิดตัวโครงการ Accessible Thailand Wellness Tourism (ATWT) ในครั้งนี้ มุ่งหวังที่จะให้ทุกภาคส่วนได้เห็นศักยภาพและความพร้อมของการให้บริการทางการดูแลสุขภาพในระดับแนวหน้าของ SIRIRAJ H SOLUTIONS และโรงพยาบาลในเครือข่ายของศิริราช อีกทั้งได้รับข้อมูลจากบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการนี้ เพื่อการจัดทำแผนการพัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว รวมถึงแนวทางของการทำการตลาดเพื่อสื่อสารที่ครอบคลุมในทุกกิจกรรมของโครงการ ATWT

 

นอกจากนี้ โครงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ยังได้ถูกกำหนดให้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศ โดยมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 100 คนภายในปีพ.ศ. 2567 และมีผลลัพธ์ด้านการเพิ่มรายได้อย่างมีนัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบการอย่างน้อย 1 รายภายในปีพ.ศ. 2568 และ 9 รายภายในปีพ.ศ. 2570

 

โครงการนี้คาดว่าจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ของจังหวัดหลักอย่างกรุงเทพมหานครและภูเก็ต รวมถึงจังหวัดเมืองรองด้านการท่องเที่ยวอย่างเช่น นครปฐม ผ่านการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและการขยายโอกาสทางธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หากกล่าวถึงมิติด้านสังคม ATWT ยืนยันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาทักษะ และมีความเข้าใจต่อการบริการที่ให้ความสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในด้านความเท่าเทียมของมนุษย์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของพื้นที่ให้บริการ

 

ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการแพทย์ การตรวจสุขภาพ การแพทย์แผนไทย และบริการการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล อีกทั้ง ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ออกแบบมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งมักจะเดินทางพร้อมครอบครัวหรือผู้ดูแล รวมถึงนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลได้ทางเพจเฟสบุ๊ค https://facebook.com/atwt.project หรือเว็บไซต์ของโครงการที่ https://atwt.in.th/

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อ้างอิงข้อมูลเบื้องต้นจาก Press Release โดย บริษัท ไนน์ตี้ไนน์ คอมมิวนิเคชั่น เอเจนซี่

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

ม.มหิดล พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีฟื้นวิกฤติส่งกำลังใจผู้ผลิตอาหารแพลนต์เบสอย่าเพิ่งถอดใจ!

 

เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆ รวมถึงภาคเกษตรกรรม ในการเพิ่มมูลค่า และพัฒนาศักยภาพของสินค้าเกษตรให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือหนึ่งในความภาคภูมิใจในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ผู้อุทิศสร้างสรรค์นวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหารทางการแพทย์ จากข้าว – น้ำนม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และเศรษฐกิจชาติ จนได้รับพระราชทานโล่รางวัล “นักวิจัยด้านการเกษตรดีเด่น ประจำปี 2566“ จาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ไปเมื่อเร็วๆ นี้

ภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมบนความเรียบง่าย แต่มากมายด้วยประโยชน์ ทำให้ในช่วงกลางปี 2567 นี้ คนไทยจะได้สัมผัสกับอาหารทางการแพทย์ฝีมือคนไทย จากการเพิ่มคุณค่าข้าวไทยในส่วนที่เหลือจากโรงสีข้าว ขยายผลเพิ่มเติมคุณค่าด้วยน้ำนมข้าว จาก “ข้าวระยะเขียว” ซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าจากสารอาหารต่างๆ มากมาย

ก่อนต่อยอดผสมด้วยส่วนประกอบจาก “ผลิตผลเกษตรไทยทางเลือก” จากมันสำปะหลัง ใช้เป็นส่วนผสมหลักแทนข้าวในอาหารทดแทนมื้ออาหาร สำหรับผู้ที่มีเบาหวาน มากด้วยคุณสมบัติที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มกากใยอาหารในเฟสถัดไป ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาได้แล้วเสร็จไม่เกินช่วงต้นปีหน้า 2568

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล กล่าวว่า ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวและแป้งมันสำปะหลังไทย ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีขยายผลสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช หรือ “แพลนต์เบส” (Plant – based Products) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน แต่เพิ่งประสบปัญหา “กำลังการซื้อที่ลดลง” ของผู้บริโภคทั่วโลก จากผลสรุปทางการตลาดของปี 2566 ที่ผ่านมา

เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ในฐานะผู้สร้างสรรค์และถ่ายทอดเทคโนโลยีอาหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล ได้ให้มุมมองต่อผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสว่ายังไม่ควรถอดใจ เนื่องจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเมื่อ 2 – 3 ปีก่อนเป็นเพียง “กลไกทางการตลาด” ซึ่งผู้บริโภคอาหารจากพืชเป็นประจำอยู่ก่อนแล้วยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

แต่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยที่ยังคง “ไม่ตอบโจทย์” จากการไม่สามารถทำให้ “ผู้บริโภคหน้าใหม่” เกิดความรู้สึกคุ้นเคยใน “รสสัมผัส” ที่ทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังคงเป็นที่วิตกกังวลในเรื่อง “ความปลอดภัย” ที่มาจาก “สารเติมแต่ง” เป็นประเด็นสำคัญอีกต่างหาก

ในขณะที่ประเทศไทยยังคงนับเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก จากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ จึงทำให้ยังคงมีผลิตผลทางการเกษตรอีกมากมายที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสที่มากด้วยคุณค่า และคุณภาพ

การต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์จากข้าวไทยในส่วนที่เหลือจากโรงสีข้าว ผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล นอกจากทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ถึง 10 เท่าในเฟสแรก จะยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เมื่อได้นำแป้งมันสำปะหลังมาเป็นส่วนประกอบ

ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าจับตาไม่แพ้ในช่วงเวลาที่ผลิตภัณฑ์อาหารแพลนต์เบสกำลังมาแรง หากจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐผลักดันให้เข้าสู่ระบบสาธารณสุข เช่นเดียวกับนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค“ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้สัมผัสกับ “ยาจากธรรมชาติ” ที่ได้จากอาหารทางการแพทย์ซึ่งพัฒนาขึ้นจากผลิตผลทางการเกษตรที่มากด้วยคุณค่า – คุณภาพของไทย เพื่อทำให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกันโดยถ้วนหน้า

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News