เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566
ณ ห้องประชุมโรงแรมแม่โขง เดลต้า บูทีค อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายรุจ ธรรมงคล อธิบดีกรมกงสุล พร้อมด้วยข้าราชการสถานเอกอัคราชฑูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา นางปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุล เพื่อเด็กเเละสตรี ข้าราชการพื้นที่ชายแดนด้าน จ.เชียงราย น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ จ.เชียงราย ฯลฯ ได้จัดประชุมเพื่อบูรณาการความร่วมมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาคนไทยถูกหลอกไปทำงานและตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศเมียนมา
ซึ่งที่ประชุมได้สรุปสภาพปัญหาว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีคนไทยที่หลงเชื่อสื่อสาธารณะหรือโซเซียลมีเดียร์ว่าจะมีงานที่ทำให้มีรายได้มาก และสวัสดิการดีในเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ในเขตของชนกลุ่มน้อย และมีกลุ่มทุนจีนเข้าไปลงทุนสถานบันเทิง เมื่อไปทำงานกลับประสบกับความทุกข์ยากต่างๆ เช่น ได้เงินไม่ตรงตามเป้า บังคับให้ค้าประเวณี บริการในคาราโอเกะแต่เมื่อทำยอดเงินไม่ได้ก็ถูกขายต่อ ฯลฯ จึงเห็นควรให้ทุกฝ่ายบูรณาการช่วยเหลือ โดยกรณีของมูลนิธิปวีณาฯ พบว่ามีผู้แจ้งว่าถูกหลอกไปทำงานจำนวน 32 ราย สามารถช่วยเหลือกลับมาได้เพียง 5 ราย ส่วนที่เหลืออีก 27 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ รายล่าสุดชื่อ น.ส.แนน ชาว จ.ชลบุรี ถูกหลอกไปทำงานที่เมืองเล้าไก่หรือล็อกกิ่ง รัฐฉาน ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.ซึ่งนางปวีณาได้สื่อสารทางโทรศัพท์ติดต่อด้วยทราบว่าได้ถูกบังคับทำงาน ทำร้ายร่างกายและเสพยาเสพติดด้วยซึ่งนางปวีณารับปากว่าจะพยายายช่วยเหลือกลับประเทศไทยให้ได้ต่อไป
ขณะที่ฝ่ายปกครอง อ.แม่สาย ระบุว่ามีอยู่จำนวน 1 ราย ที่ข้ามไปทำงานแล้วถูกเรียกค่าไถ่เป็นเงิน 300,000 บาท โดยทางญาติได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ได้รับทราบว่าหากไม่ไถ่ตัวจะถูกนำไปขายต่อและปัจจุบันคาดว่าเหยื่อยังอยู่ที่เมืองเล้าไก่ รัฐฉาน
วันเดียวกันคณะที่ประชุมได้ประสานกับคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (TBC) ฝ่ายไทย อ.แม่สาย และ TBC ฝ่ายเมียนมา เพื่อเดินทางข้ามไปหารือกับนายอู่ มิ้น ไหน่ ผู้ว่าการ จ.ท่าขี้เหล็ก และหน่วยงานในประเทศเมียนมา ติดกับ อ.แม่สาย และเป็นพื้นที่สำคัญที่กลุ่มคนไทยมักข้ามพรมแดนไปก่อนกระจายไปทำงานตามเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน เพื่อประสานขอความช่วยเหลือคนไทยที่ตกค้างดังกล่าวต่อไป
นายรุจ กล่าวว่าการช่วยเหลือระยะสั้นคงต้องประสานกับทางการเมียนมาเป็นหลักก่อนส่วนระยะยาวจะมีการประชาสัมพันธ์และร่วมกับอีกหลายหน่วยงานแจ้งเตือนคนไทยให้ทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงต่อไป
น.ส.พิมพ์ ไชยสาส์น เลขานุการเอก (รับผิดชอบฝ่ายกงสุล) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง กล่าวว่าปัจจุบันงานที่นิยมชักชวนคนไทยไปทำงานคือประเภทคอลเซ็นเตอร์ และต่อมาคือโรแมนซ์สแกมเมอร์ สาเหตุที่คนไปทำงานกันมากนั้นพบว่าแม้ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศเมียนมาจะไม่ดึงดูดทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีธุรกิจสีเทาในบางพิ้นที่ที่รัฐบาลเมียนมาเข้าไปดูแลไม่ทั่วถึงโดยมีรัฐต่างๆ และเขตปกครองตนเอง โดยเหยื่อที่ถูกหลอกหรืออ้างว่าถูกหลอกมักจะถูกส่งไปทำงานที่เมืองป๊อก เมืองลา เมืองเล้าไก่ ชเวโก๊กโก่ ฯลฯ และล่าสุดไปถึงเมืองย่างกุ้งแล้ว แรงดึงดูดสำคัญคือการอ้างว่าจะให้เงินจำนวนมากและทำสัญญาจ้างงานเป็นภาษาจีน เมื่อหาเงินไม่ได้ตามเป้าก็จะถูกขายต่อ
ด้านนางปวีณาได้นำภาพของเมืองเล้าไก่มาแสดงว่ากำลังมีการก่อสร้างใหญ่โต และเป็นจุดสำคัญที่คนไทยโดยเฉพาะผู้หญิงถูกหลอกไปทำงาน พร้อมระบุว่านับเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันหญิงไทยถูกหลอกให้เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และค้าประเวณีในประเทศเมียนมา ซึ่งสาเหตุเกิดจากกลุ่มทุนจีนสีเทาที่เข้าไปสร้างอาณาจักรของตัวเองตามเมืองต่างๆ เช่น เมืองป๊อก เมืองเล้าไก่ เมืองเมียวดี ฯลฯ และมีอีกหลายจุด ทำให้การช่วยเหลือคนไทยออกมาต้องใช้วิธีพิเศษโดยประสานกับฝ่ายทหาร
นางปวีณายังได้ยกตัวอย่างเหยื่อหลายราย เช่น มีเด็กหญิงไทยชาว จ.บุรีรัมย์ อายุ 16 ปี ถูกเด็กหญิงอายุ 17 ปีหลอกทางเฟซบุ๊กชักชวนให้ไปเที่ยวชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ก่อนหลอกพาไปกินข้าวฝั่ง จ.เมียวดี แล้วถูกจับไปทำงานในสถานบันเทิงครบวงจรที่มีซ่องโสเภณีอยู่นับ 10 แห่ง กระทั่งผ่านไปหลายวันเจ้าหน้าที่ไทยช่วยเหลือกลับมาได้ในสภาพสะบักสะบอมจนต้องพาไปฟื้นฟูสภาพจิตใจ และอีกรายปลายปี 2565 มีหญิงไทยถูกหลอกให้ไปทำงานที่เมืองเล้าไก่ชายแดนประเทศเมียนมา-จีนโดยถูกบังคับให้ค้าประเวณีเมื่อไม่ยอมก็ให้อดข้าว 3 วัน ทำร้ายร่างกาย เมื่อยินยอมทำงานก็ให้เสพยาเสพติดกระทั่งได้รับการช่วยเหลือกลับด้าน อ.แม่สาย ได้แล้ว ฯลฯ
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย