Categories
CULTURE WORLD PULSE

การค้นพบโบราณวัตถุสำคัญ จากดอนเผิ้งคำ เมืองต้นผึ้ง ส.ป.ป.ลาว

 
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเพจภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์ข้อมมูลเกี่ยวกับการค้นพบกลุ่มโบราณวัตถุจากดอนเผิ้งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาว ได้รับความสนใจจากผู้ที่สนใจทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขนาดใหญ่ที่สร้างกระแสในหมู่ผู้สนใจจำนวนมาก โดยศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความเห็นจากการพิจารณาหลักฐานดังกล่าวผ่านข้อมูลสื่อโซเชียลว่า เบื้องต้นในภาพรวมของกลุ่มพระพุทธรูปเป็นศิลปะล้านนาสกุลช่างเชียงแสน แบ่งเป็น 2 กลุ่มอย่างกว้างๆ คือ:
  1. กลุ่มที่มีพระพักตร์กลม พระวรกายอวบอ้วน กำหนดอายุได้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21
  2. กลุ่มที่พระพักตร์ออกเสี้ยมยาว พระวรกายเริ่มแข็งกระด้าง มีอายุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งกลุ่มหลังนี้อาจมีอิทธิพลต่อศิลปะล้านช้างต่อไปด้วย

พระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสนพบแพร่หลายในเขตเชียงแสน เชียงของ และชุมชนในลุ่มแม่น้ำอิง สำหรับพระพุทธรูปที่ค้นพบเมื่อเดือนมีนาคม 2567 นั้น จากรูปแบบและบริบทร่วมแล้วเป็นหลักฐานชั้นต้น ซึ่งอาจเกิดจากการพังทลายของวัดด้วยการกัดเซาะของแม่น้ำโขงและถูกทับถมในชั้นทรายไว้

 

พระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ที่พบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 นั้น พุทธศิลป์ดูเป็นพระพุทธรูปล้านนาในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 แต่ส่วนฐานมีรูปแบบที่น่าสงสัยเพราะเป็นการประดับเสาอิงเรียงเป็นแถว ไม่เคยพบในระเบียบของพระพุทธรูปล้านนาหรือล้านช้างมาก่อน อาจเป็นไปได้ว่าถูกเคลื่อนย้ายมาจากแห่งอื่น รัศมีที่หล่อแยกชิ้นกับองค์พระดูเป็นโลหะที่ต่างสีกันชัดเจน

 

แหล่งที่พบนี้อาจเป็นวัดที่มีการใช้งานในพุทธศตวรรษที่ 21 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 22-23 เนื่องจากพบหลักฐานที่มีรูปแบบศิลปกรรมหลายสมัย เช่น เสาวิหารที่มีปูนปั้นประดับลวดลายมีเค้าของศิลปะพม่า และจารึกที่พบล่าสุดซึ่งมีผู้ปริวรรตอ่านได้ศักราชตรงกับช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 แสดงว่าแม้เมืองเชียงแสนตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าหรือทิ้งร้างไปแล้ว ชุมชนทางฝั่งดินแดนประเทศลาวยังมีการอยู่อาศัยกันสืบมา โดยความสัมพันธ์นี้น่าจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเมืองเชียงแสนและเมืองสุวรรณโคมคำ ซึ่งเป็นเมืองโบราณในวัฒนธรรมล้านนาที่ปัจจุบันอยู่ริมแม่น้ำโขงฝั่ง ส.ป.ป.ลาว ห่างลงไปราว 10 กิโลเมตร

 

น่าสังเกตว่าการค้นพบกลุ่มพระพุทธรูปสำคัญนี้ เป็นการดำเนินการขุดหาโดยไม่มีกระบวนการทางโบราณคดีมารองรับ ทำให้ขาดบริบทในการวิเคราะห์ตีความไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ / Art and culture of Laos / ขัตติยะบารมี ขัตติยะบารมี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

การค้นพบวัตถุริมแม่น้ำโขง ของลาว อาจเป็นพื้นที่ของล้านนา-ล้านช้าง

 
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาทางเพจภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์ข้อความว่าจากการค้นพบโบราณวัตถุที่ริมแม่น้ำโขง ดอนเผิ่งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาวฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดทั้งขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รวมทั้งยังพบซากอาคารที่เป็นเสาก่ออิฐจมดินอยู่ด้วย ประชาชนทั้งชาวลาวและชาวไทยให้ความสนใจกันอย่างมากในโลกโซเชียลต่อเนื่องกันมาหลายวัน
 
รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่ารูปแบบศิลปกรรมที่พบประกอบด้วยพระพุทธรูปและชิ้นส่วนอาคารวิหาร โดยพระพุทธรูปอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
 
1.กลุ่มศิลปะล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีรูปแบบพระพักตร์อวบอ้วน เม็ดพระศกใหญ่ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวปางมารวิชัย
2.คือกลุ่มพระพุทธรูปล้านนาสกุลช่างเชียงราย-เทิง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ดังเช่นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ ซึ่งมีเทคนิคพิเศษในการหล่อโลหะต่างสีมาประกอบเข้าด้วยกัน และมีพุทธลักษณะบางประการร่วมกับพระพุทธรูปศิลปะลาวล้านช้างเช่นการทำส่วนฐานยกสูงฉลุลาย พระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็กมีไรพระศก
3.พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างขนาดเล็กอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 รูปแบบเป็นพื้นถิ่นเช่นส่วนฐานเป็นบัวงอน รัศมีสูงเป็นแฉก
 
 
เสาอาคารเป็นเสากลมของวิหารประดับด้วยลวดลายปูนปั้นแบบล้านนาคือลายกรอบวงโค้งหยักและดอกโบตั๋นที่เป็นอิทธิพลจากศิลปะจีน กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ข้อมูลในภาพยังมีพระพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเป็นศิลปะล้านนา
 
 
พื้นที่ที่พบมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงในอดีตซึ่งยังมิได้แบ่งเป็นประเทศไทย-ลาว เหมือนปัจจุบัน แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจจากสองอาณาจักรคือล้านนาที่เชียงใหม่กับล้านช้างที่หลวงพระบาง-เวียงจัน น่าสนใจที่มีการผสมผสานรูปแบบกันระหว่างสองศิลปะนั้นด้วยเพราะเป็นพื้นที่ชายขอบของล้านนา-ล้านช้าง
 
 
ส่วนตำแหน่งของพื้นที่ว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงแสนหรือไม่นั้น อาจต้องใช้การวิเคราะห์ทางด้านธรณีวิทยาความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำโขงจากนักวิทยาศาสตร์มาประกอบด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News