Categories
FEATURED NEWS

ม.มหิดล สร้างสรรค์‘โดรน 6 ใบพัดสมอง AI’เพื่องานเกษตรอัจฉริยะ

 
ยุคแห่ง “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Farmer) เช่นปัจจุบันที่แข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี ทำให้อากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” (Drone) กลายเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรอัจฉริยะ

ที่ผ่านมา ได้มีการใช้ “โดรน” เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันได้พัฒนาสู่ “โดรน 6 ใบพัด” ที่ช่วยให้สามารถพยุงตัว และรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น

โดยนับเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สร้างสรรค์พัฒนา “โดรน 6 ใบพัด“ ต้นแบบให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ด้วยระบบการบินที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้สามารถกะระยะได้แม่นยำมากขึ้นในระยะไกล ผ่านระบบดาวเทียมของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

อาจารย์ ดร.รัตนะ บุญประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำให้ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ตอบโจทย์การทำเกษตรอัจฉริยะแนวใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางที่ตรงจุด แบบ “เกษตรแม่นยำ“ (Precision Agriculture) ที่ทำให้โลกประหยัดทรัพยากรได้มากขึ้น

จากการประดิษฐ์และทดลองจนเห็นผล โดยใช้ประโยชน์จาก “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ในการพ่นปุ๋ยน้ำแบบแยกกระบอกปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพืชเกษตรโดยองค์รวม และปุ๋ยเคมีที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตเฉพาะส่วน ทั้งราก-ผล-ดอก-ใบของพืชเกษตรได้ในคราวเดียว โดยไม่เปลืองแรงงานมนุษย์ ต้นทุน และเวลาเช่นในอดีตที่ผ่านมาต้องพ่นถึง 2 รอบ โดยได้ออกแบบให้ใช้ปริมาณเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการสิ้นเปลืองและตกค้างในสิ่งแวดล้อม

จากคุณสมบัติพิเศษของ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ที่สามารถบินแบบกะระยะได้อย่างแม่นยำ พร้อมควบคุมผ่านดาวเทียมแม้จากข้ามทวีป ทำให้การดูแลพืชเกษตรเป็นไปโดยตรงจุด และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ช่วยในการผสมเกสรพืชเกษตร อาทิ ข้าวโพด และยังสามารถใช้ลมใต้ปีกของ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ในการปัดเป่าความชื้นที่ก่อให้เกิดเชื้อราบนใบพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ชาวสวนยางพาราต้องเผชิญได้ต่อไป ปรับเปลี่ยนได้ตามมุมมองของโจทย์ปัญหา ตามความมุ่งหมายของผู้วิจัยได้ต่อไปอีกด้วย

โดยนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ที่จะทำให้โลกได้มีนวัตกรรมใหม่เพื่อเกษตรอัจฉริยะใช้กันต่อไปอย่างแพร่หลาย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

ม.เชียงใหม่ ติดอันดับ 99 จาก 300 มหาวิทยาลัยดีที่สุดในเอเชีย

 

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 Quacquarelli Symonds (QS) ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้เผยการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย ประจำปีการศึกษา 2567 ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก ประจำปี 2024 (World University Rankings 2024) โดยใช้หลักพิจารณาความเป็นเลิศใน 9 ด้าน ประกอบไปด้วย ชื่อเสียงด้านวิชาการ (Academic Reputation) ทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิตของแต่ละมหาวิทยาลัย (Employer Reputation) สัดส่วนคณาจารย์ต่อนักศึกษา (Faculty Student Ratio) สัดส่วนจำนวนการอ้างอิงต่อผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ (Citations per Faculty) สัดส่วนจำนวนอาจารย์ต่างชาติ (International Faculty Ratio) สัดส่วนจำนวนนักศึกษาต่างชาติ (International Student Ratio) เครือข่ายวิจัยนานาชาติ(International Research Network) ผลลัพธ์ด้านการจ้างงาน (Employment Outcomes) และ ความยั่งยืน(Sustainability)

 

มหาวิทยาลัย 20 อันดับแรกของเอเชีย มีดังนี้

อันดับ 1 มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) จีน

อันดับ 2 มหาวิทยาลัยฮ่องกง (The University of Hong Kong) ฮ่องกง

อันดับ 3 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) สิงคโปร์

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technological University) สิงคโปร์

อันดับ 4 มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) จีน

อันดับ 6 มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) จีน

อันดับ 7 มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University) จีน

อันดับ 8 มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) เกาหลีใต้

อันดับ 9 มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) เกาหลีใต้

อันดับ 10 มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong) ฮ่องกง

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) จีน

อันดับ 11 มหาวิทยาลัยมาลายา (University Malaya) มาเลเซีย

อันดับ 13 สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเกาหลี (KAIST) เกาหลีใต้

อันดับ 14 มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) ญี่ปุ่น

อันดับ 15 มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง (HKUST) ฮ่องกง

อันดับ 16 มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) เกาหลีใต้

อันดับ 17 มหาวิทยาลัยซิตี้ฮ่องกง (City University of Hong Kong)

อันดับ 17 มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ญี่ปุ่น

อันดับ 19 มหาวิทยาลัยซองคยุนกวาน (Sungkyunkwan University) เกาหลีใต้

อันดับ 20 มหาวิทยาลัยโทโฮคุ (Tohoku University) ญี่ปุ่น

สำหรับอันดับมหาวิทยาลัยไทยในเอเชียที่อยู่ใน Top 300 พบว่า

 

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่อันดับที่ 37

มหาวิทยาลัยมหิดลอันดับที่ 47

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับที่ 99

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับ 140

มหาวิทยาลัยเกริก อันดับ 149

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 150

มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับ 171

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับ 195

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  อันดับ 246

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Quacquarelli Symonds

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS NEWS UPDATE

4 มหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯ-มหิดล-มช.-มข. ติดอันดับ Top 100 เวทีโลก

4 มหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯ-มหิดล-มช.-มข. ติดอันดับ Top 100 เวทีโลก

Facebook
Twitter
Email
Print

เมื่อ4 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ Times Higher Education (THE) ซึ่งเป็นผู้จัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาที่ดีที่สุดโลกที่เป็นที่ยอมรับแห่งหนึ่ง ได้ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2566 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลก เข้าร่วมการจัดอันดับทั้งสิ้น 1,591 แห่ง จาก 112 ประเทศ และสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้ารับการจัดอันดับทั้งสิ้น 65 แห่ง เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2022 ซึ่งมีจำนวน 52 แห่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาไทยในปีนี้ที่ติดอันดับ Top 100 แบบคะแนนรวม มีจำนวน 4 สถาบัน เพิ่มจากปีที่แล้วที่ติดอันดับ Top 100 มีจำนวน 2 สถาบัน ได้แก่ 

– จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับที่ 17 

– มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับที่ 38 

– มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดอันดับที่ 74 

– มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดอันดับที่ 97


นอกจากนี้ ยังมีสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่ได้รับการจัดอันดับ Top 10 ของโลกในด้านต่าง ๆ อีก 6 ประเด็น ดังนี้ 
-มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 3 ใน SDG3 เรื่องสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย รวมทั้งอันดับ 5 ใน SDG7 เรื่องสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยาว์ และยังได้อันดับ 5 ใน SDG17 เรื่องเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  
-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อันดับที่ 4 ใน SDG1 เรื่องขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ 
-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับที่ 7 ใน SDG5 เรื่องบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง และ
-มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้อันดับที่ 9 ใน SDG2 เรื่อวยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

“นายกฯ ยินดีและชื่นชมสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่มีความโดดเด่นไม่แพ้ชาติใด ทุกสถาบันต่างมีความแตกต่างและความเป็นเลิศที่เฉพาะตัว โดยเฉพาะการมุ่งสู่ความยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีการพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นฐานที่ดี ในการทำงานที่ตอบโจทย์ของประเทศรวมทั้งความยั่งยืนที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาล และ อว. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มกำลังเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาไทยก้าวสู่ความสำเร็จและเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไป” 
นายอนุชาฯ กล่าว 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Times Higher Education (THE)

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News