Categories
AROUND CHIANG RAI FOOD

ล้านนาตะวันออก สวรรค์ของเมืองกาแฟ Eastern Lanna Coffee Fest 2024

 

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567  ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน “เทศกาลกาแฟล้านนาตะวันออก สวรรค์ของเมืองกาแฟ Eastern Lanna Coffee Fest 2024” กิจกรรม ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟ และพัฒนาเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ โครงการเพิ่มขีดในการแข่งขันการเกษตรระดับภูมิภาค โดยมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย  ผู้อำนวยการส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน
.
นายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ จัดขึ้นตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ตามประเด็นการพัฒนา ส่งเสริมการผลิตและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างตราสินค้ากาแฟ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ และนำเสนอกาแฟคุณภาพของเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาต่อผู้บริโภค และเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ
.
ซึ่งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันดำเนินการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จำนวน 27 ราย จาก 4 จังหวัด โดยการอบรมให้ความรู้ด้านการทดสอบรสชาติของกาแฟ หรือ cupping และประเมินคุณภาพเมล็ดกาแฟโดย Q grader ตามมาตรฐานการรับรองของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ SCAA พร้อมทั้งให้เกษตรกรแบ่งผลผลิตมาผลิตเป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปกติเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอินทรีย์ส่วนใหญ่จะจำหน่ายเป็นแบบเชอรี่ ในราคา 29-40 บาท/กก. หากมีการผลิตแบบประณีตยกระดับเป็นกาแฟพิเศษแล้ว จะสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นได้มากกว่า 1,000 บาท/กก. อีกทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม และสร้างตราสินค้า พร้อมทั้งนำเสนอกาแฟคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2567 ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย 

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การออกบูธประชาสัมพันธ์ จัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพของจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน และบูธของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากาแฟ รวม 30 บูธ การเจรจาธุรกิจ และมีกิจกรรม workshop สาธิตให้ความรู้ด้านกาแฟ การทำสครับกาแฟ เทคนิคการชงกาแฟให้ได้รสชาติที่ดี และชิมกาแฟคุณภาพจากเกษตรกรผู้ปลูกที่คัดสรรมาจาก 4 จังหวัด ที่จะสลับสับเปลี่ยนมาให้ผู้ร่วมงานได้ชิมรสชาติกันทุกวัน พร้อมกิจกรรมการแสดงดนตรี ศิลปวัฒนธรรม และการร่วมสนุกเล่นเกมส์รับของรางวัลด้วย
.
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีพื้นที่ปลูกกาแฟร้อยละ 30.36 ของพื้นที่ปลูก ทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟอาราบิก้ามากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมาเป็นจังหวัดน่าน แพร่ และพะเยา โดยกาแฟของแต่ละจังหวัดจะมีเอกลักษณ์และความโดดเด่นต่างกัน เนื่องจากด้วยพื้นที่ปลูกและกระบวนการแปรรูป สถิติพื้นที่ปลูกกาแฟตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมกาแฟในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 จะเห็นว่ากาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้กลุ่มจังหวัด ไม่ต่ำกว่า 721 ล้านบาทต่อปีแล้ว ยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในระบบเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ด้วยการปลูกร่วมกับไม้ผลและป่าธรรมชาติ จึงเรียกได้ว่าเป็นกาแฟรักษาป่า สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของภาคเหนือและกลุ่มจังหวัดที่ว่า “ท่องเที่ยวบนพื้นฐานวัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สู่เศรษฐกิจมั่นคง” 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เปิดโครงการบูรณาการการท่องเที่ยว ภาคเหนือตอนบน 2 ยกระดับมาตรฐานสากล

 

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม จังหวัดเชียงราย มีพิธีเปิดโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ภายใต้กิจกรรมหลัก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรด้านการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากล โดยมีนางสาวนพรัตน์ ศตะรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธี

นางหทัยกาญจน์ อิภิชาติ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน กล่าวรายงานว่า โครงการบูรณาการการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากล ยกระดับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2

โครงการนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน โดยมีเป้าหมายในการฝึกอบรมจำนวน 4 หลักสูตรนำร่อง ได้แก่ 1. หลักสูตรการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว 2. หลักสูตรยกระดับศักยภาพบุคลากรและสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว เป็นกิจกรรมล่องแก่งและ รู้สึกเรื่องกาแฟ 3. หลักสูตรพัฒนาศักยภาพของมัคคุเทศก์น้อยและนักสื่อความหมาย และ 4. หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ในระหว่างวันที่ 26 – 29 กรกฎาคม 2567 จะมีการจัดอบรม 3 หลักสูตร ได้แก่ 1. การพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยว 2. การพัฒนาศักยภาพของมัคคุเทศก์น้อยและนักสื่อความหมาย 3. การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และในระหว่างวันที่ 9 – 12 สิงหาคม 2567 จะมีการอบรมหลักสูตรยกระดับศักยภาพบุคลากรและสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมรู้ลึกเรื่องกาแฟ

งานนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาฝึกอบรม และมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหลากหลายกลุ่ม อาทิ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ และสถานประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “Next Step ก้าวสู่การยกระดับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว หรือ Tourism Hub ของภูมิภาค

ซึ่งในพิธีเปิดเริ่มต้นด้วยการแสดงในพิธีเปิดในชุด “มนตราแห่งล้านนาตะวันออก เสน่ห์สู่สากล” และภายในงานยังมีการเสวนาเรื่อง “Next Step ก้าวสู่การยกระดับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล” โดยวิทยากรระดับประเทศและนานาชาติ ได้แก่ นางสาวนพรัตน์ ศตะรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน,นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย,นายวิรัตน์ วงค์มา แรงงานจังหวัดเชียงราย, นายฐิติวัชร ไลศิริพันธุ์ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย ผู้จัดการหลักสูตรมัคคุเทศก์น้อย (เชียงราย),ดร.ภัทรโรบล จริยฐิตินันท์ ผู้จัดการหลักสูตรภาษาอังกฤษ, ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา และอาจารย์ธัญญ์นภัส ฐิติกิตวรธัญญ์ ผู้จัดการหลักสูตรการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การนวด สปา และอาหารชุมชน

หลังการเสวนา ผู้เข้าร่วมอบรมฯ จะเข้ารับการปฐมนิเทศในแต่ละห้องของตนเอง โดยหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์น้อยอยู่ในโรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม ส่วนหลักสูตรการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การนวด สปา และอาหารชุมชน เดินทางไปยังโรงแรมโพธิ์วดล การบูรณาการและการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคเหนือตอนบน 2 นี้ ถือเป็นการผลักดันให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ก้าวไกลสู่มาตรฐานสากล

ซึ่งการจัดโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดท่องเที่ยวโลก โดยการเน้นการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะเฉพาะทาง จะช่วยให้บุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสามารถให้บริการที่มีคุณภาพสูงและตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและยั่งยืน การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาการท่องเที่ยวครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

พัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมศรีจอมทอง ชั้น 2 โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 

 

โดยมีนายธนะสิทธิ์ ศรีคำภา หัวหน้าสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นำส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พะเยา แพร่ น่าน และเจ้าหน้าที่จากพะเยา แพร่ น่าน เพื่อเตรียมความพร้อม และระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับใช้เป็นข้อเสนอในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับทบทวน พ.ศ. 2568 – 2570 และแผนปฏิบัติราชการประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2569 ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 “ท่องเที่ยวบนพื้นฐาน วัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สู่เศรษฐกิจมั่นคง”

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว รักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน เทคโนโลยี และการเงิน โดยมีแผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่งของภูมิภาค ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค นอกจากนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน2 มีโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ (Logstics) 

 

ที่สามารถเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศ GMS ได้สะดวก รวดเร็ว เช่น การสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของจังหวัดเชียงรายและศูนย์รับซ่อมอากาศยานครบวงจร ของท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับ กลุ่มจังหวัด ฯ มีภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่สำคัญในภาคเหนือและของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น กลุ่มจังหวัด จึงควรเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด ๆ ภายใต้ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาสัมฤทธิ์ผลผ่านแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดได้ก้าวต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 วัน ผู้เข้าร่วมฯ จะได้ร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อแก้ไข ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด ส่วนราชการ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน  รวมถึงมีการบรรยายที่สำคัญ ได้แก่ “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง “

 

การเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากวิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) “ศักยภาพระบบโลจิสติกส์ทางอากาศสู่การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ” จากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ”การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ภายใต้ศูนย์เปลี่ยนถ่าย รูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย” จากขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News