เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาทางเพจภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์ข้อความว่าจากการค้นพบโบราณวัตถุที่ริมแม่น้ำโขง ดอนเผิ่งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาวฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดทั้งขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รวมทั้งยังพบซากอาคารที่เป็นเสาก่ออิฐจมดินอยู่ด้วย ประชาชนทั้งชาวลาวและชาวไทยให้ความสนใจกันอย่างมากในโลกโซเชียลต่อเนื่องกันมาหลายวัน
รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่ารูปแบบศิลปกรรมที่พบประกอบด้วยพระพุทธรูปและชิ้นส่วนอาคารวิหาร โดยพระพุทธรูปอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
1.กลุ่มศิลปะล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีรูปแบบพระพักตร์อวบอ้วน เม็ดพระศกใหญ่ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวปางมารวิชัย
2.คือกลุ่มพระพุทธรูปล้านนาสกุลช่างเชียงราย-เทิง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ดังเช่นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ ซึ่งมีเทคนิคพิเศษในการหล่อโลหะต่างสีมาประกอบเข้าด้วยกัน และมีพุทธลักษณะบางประการร่วมกับพระพุทธรูปศิลปะลาวล้านช้างเช่นการทำส่วนฐานยกสูงฉลุลาย พระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็กมีไรพระศก
3.พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างขนาดเล็กอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 รูปแบบเป็นพื้นถิ่นเช่นส่วนฐานเป็นบัวงอน รัศมีสูงเป็นแฉก
เสาอาคารเป็นเสากลมของวิหารประดับด้วยลวดลายปูนปั้นแบบล้านนาคือลายกรอบวงโค้งหยักและดอกโบตั๋นที่เป็นอิทธิพลจากศิลปะจีน กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ข้อมูลในภาพยังมีพระพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเป็นศิลปะล้านนา
พื้นที่ที่พบมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงในอดีตซึ่งยังมิได้แบ่งเป็นประเทศไทย-ลาว เหมือนปัจจุบัน แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจจากสองอาณาจักรคือล้านนาที่เชียงใหม่กับล้านช้างที่หลวงพระบาง-เวียงจัน น่าสนใจที่มีการผสมผสานรูปแบบกันระหว่างสองศิลปะนั้นด้วยเพราะเป็นพื้นที่ชายขอบของล้านนา-ล้านช้าง
ส่วนตำแหน่งของพื้นที่ว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงแสนหรือไม่นั้น อาจต้องใช้การวิเคราะห์ทางด้านธรณีวิทยาความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำโขงจากนักวิทยาศาสตร์มาประกอบด้วย
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร