เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับวิกฤตทางสังคมที่น่ากังวล เมื่อรายงานจากสำนักข่าวเอ็นเอชเค (NHK) ของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีผู้เสียชีวิตในบ้านอย่างโดดเดี่ยวสูงถึง 37,227 คน จากจำนวนศพทั้งหมด 102,965 ศพที่ถูกส่งมาชันสูตร ซึ่งคิดเป็นกว่า 30% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด โดยศพเหล่านี้เป็นผู้ที่ใช้ชีวิตตามลำพัง ไม่มีครอบครัวหรือผู้ดูแล และบางรายใช้เวลามากกว่า 1 เดือนกว่าจะมีผู้มาพบศพ
รายงานระบุว่ากว่า 70% ของผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเหล่านี้เป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปี ขึ้นไป จำนวน 7,498 คน และผู้ที่มีอายุระหว่าง 75 ถึง 79 ปี อีก 5,920 คน และอายุระหว่าง 70 ถึง 74 ปีอีก 5,635 คน ทั้งนี้ สถิติที่น่าตกใจเพิ่มเติมคือจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 3,936 คน ถูกพบหลังจากผ่านไปมากกว่า 1 เดือน และยังมีอีกไม่ต่ำกว่า 130 คน ที่ศพถูกพบหลังจากเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 1 ปี
การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวสะท้อนถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก จากรายงานของสหประชาชาติ แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามแก้ไขปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่การจัดการกลับเป็นเรื่องที่ท้าทายและยากลำบาก
นอกจากปัญหาผู้สูงอายุที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวแล้ว ญี่ปุ่นยังเผชิญกับปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยิ่งทำให้วิกฤตสังคมผู้สูงอายุนั้นรุนแรงขึ้น โดยผลสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีนี้ มีทารกเกิดใหม่เพียง 350,074 คน ลดลง 5.7% จากช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว นับว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์
สถานการณ์นี้ยิ่งสร้างความกังวลต่ออนาคตของญี่ปุ่น โดยสถาบันวิจัยประชากรและความมั่นคงทางสังคมแห่งชาติของญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่า จำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นเป็น 10.8 ล้านคนภายในปี 2050 หรืออีกประมาณ 26 ปีข้างหน้า และในปีเดียวกัน คาดว่าจะมีผู้ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้นถึง 23.3 ล้านคน
นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกัน โดยจีนพบว่าประชากรลดลงสวนทางกับอัตราการเกิดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1961 ขณะที่เกาหลีใต้ในขณะนี้ได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกแล้ว
รายงานจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่นเตรียมที่จะยื่นเรื่องไปถึงรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวนี้ และหวังว่ารายงานนี้จะช่วยสร้างความตระหนักถึงวิกฤตประชากรสูงอายุที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ปัญหาการเกิดของประชากรและการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีสังคมสูงอายุและอัตราการเกิดที่ลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวเอ็นเอชเค (NHK)