Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘พิสันต์’ เคาะมติที่ประชุมเห็นชอบ ผู้ทำประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม

 

เมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้จัดการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติภาคีเครือข่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการ/งาน/กิจกรรม และทำประโยชน์เพื่อชุมชน สังคม ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม  จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทเด็กหรือเยาวชน , ประเภทบุคคลธรรมดา และประเภทนิติบุคคลหรือคณะบุคคล โดยพิจารณาคัดเลือกประเภทละ 1 ราย/แห่ง/คณะ เพื่อเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เป็น ประธานการประชุมฯ  พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากจังหวัดเชียงรายเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวผลการพิจารณามติที่ประชุมเห็นชอบ เสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามเกณฑ์ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีดังนี้

 

  • ประเภทเด็กหรือเยาวชน ได้แก่ นายวงศ์วริศ บูราณ นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อำเภอเมืองเชียงราย
  • ประเภทบุคคลธรรมดา ได้แก่ นางสาวภัททิรา วิภวภิญโญ อาจารย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย
  • ประเภทนิติบุคคล หรือคณะบุคคล ได้แก่ บริษัทโตโยต้าเชียงราย จำกัด อำเภอเมืองเชียงราย

 

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายจะได้ส่งผลงานพร้อมเอกสารของผู้ได้รับการคัดเลือกฯ ดังกล่าว ให้สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อไป ซึ่งผู้ได้รับคัดเลือกฯ จะได้รับโล่รางวัล “วัฒนคุณาธร” จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม หรือวันที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เปิดรายชื่อ “เลือกสว.67” เชียงราย ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ เช็คทั้งหมดได้ที่นี่

 

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67  ข้อมูลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 หรือ สว. 2567 ในการเลือกระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิ.ย. มีจำนวนผู้มารายงานตัวรอบแรก จำนวน 43,818 คน โดยเป็นชาย 25,459 คน และเป็นหญิง 18,359 คน

จำนวนผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ รอบแรก จำนวน 32,190 คน เป็นชาย 19,754 ราย และ เป็นหญิง 12,436 คน จากนั้นการเลือกในรอบที่ 2 ระดับอำเภอ หรือการจับฉลากแบ่งสายเลือกไขว้ ได้จำนวนผู้ได้รับเลือก เข้าไปสู่การเลือกในระดับจังหวัด จำนวน 23,645 คน โดยเป็นชาย 15,077 คน และเป็นหญิง 8,568 คน

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.ที่มีคุณสมบัติ ตามกฎหมายและประกาศเป็นบัญชีผู้สมัคร สว. 46,206 คน เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้มีสิทธิ์เลือกหลังการเพิ่มชื่อและถอนชื่อแล้วมีจำนวน 45,753 คน ซึ่งเป็นชาย 26,436 คน และเป็นหญิง 19,317 คน

ซึ่งหลังจากนี้สำนักงาน กกต.รันหมายเลขผู้สมัคร สว.ในรอบการเลือกระดับจังหวัดวันนี้ (10 มิ.ย.67) ส่วนในวันถัดไปจะประกาศลงในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.และแอปพลิเคชัน “สมาร์ทโหวต” เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบต่อไป

สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกระดับอำเภอไประดับจังหวัดรายกลุ่ม 20 กลุ่มสาขาอาชีพ โดยกลุ่มผู้สูงอายุมีผู้ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัดมากที่สุด ซึ่งผู้สมัครที่เข้ารอบในแต่ละกลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 1,332 คน

กลุ่ม2 กลุ่มกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม 1,171 คน

กลุ่ม 3 กลุ่มการศึกษา 1,975 คน

กลุ่ม4 กลุ่ม สาธารณสุข 1,024 คน

กลุ่ม 5 กลุ่ม กลุ่มอาชีพทำนาปลูกพืชล้มลุก 1,460 คน

กลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทำสวนป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 1,565 คน

กลุ่ม7 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน 1,261 คน

กลุ่ม 8 กลุ่มประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคทรัพยากรธรรมชาติพลังงานพลังงาน 756 คน

กลุ่ม 9 กลุ่ม ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฏหมายว่าด้วยการนั้น 1,057 คน

กลุ่ม 10 กลุ่ม ผู้ประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากกิจการตามกลุ่ม 9 จำนวน 808 คน

กลุ่ม 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 707 คน

กลุ่ม 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม 443 คน

กลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม 671 คน

กลุ่ม 14 กลุ่มสตรี 1,800 คน

กลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุคนพิการฯ 1,984 คน

กลุ่ม 16 กลุ่ม ศิลปะวัฒนธรรมดนตรีการแสดงและบันเทิง นักกีฬา 1,103 คน

กลุ่ม 17 กลุ่ม ประชาสังคมฯ 1,163 คน

กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 616 คน

กลุ่ม 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอาชีพอิสระ 1,465 คน

กลุ่ม 20 อื่นๆ 1,275 คน

โดยส่งให้ผู้อำนวยการการ เลือกระดับจังหวัด ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ซึ่งจะเผยแพร่ในแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต (Smart Vote) และทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ก่อนวันเลือกระดับจังหวัดไม่น้อยกว่า 3 วัน ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมอบหมาย จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของแต่ละกลุ่มที่อยู่ภายในเขตอำเภอของตน จากระบบบริหารจัดการการเลือก พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมารับเอกสาร เพื่อให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอนำมาในวันเลือกระดับจังหวัด

 

ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายได้มีการเตรียมความพร้อมของแต่ละอำเภอ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายบัลลังก์ ไวทย์ศิริปลัดจังหวัดเชียงราย ร่วมเข้าสังเกตการณ์ที่ว่าการอำเภอแม่จัน มีผู้สมัคร 20 คน ส่วนที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีผู้สมัคร 28 คน ในโอกาสเดียวกันมีนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย มาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย และผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพ เกษตรกร ค้าขาย ข้าราชการ และรับจ้าง
 
 
สำหรับผู้สังเกตการณ์ ต้องเป็นผู้ที่ได้แจ้งรายชื่อไว้กับทาง กกต. มาก่อนแล้ว จึงจะสามารถเข้ามาสังเกตการณ์ในอาคารโดมได้ ส่วนผู้สังเกตการณ์อื่น ที่ไม่ได้แจ้งชื่อมาก่อน จะให้สังเกตการณ์ นอกอาคาร ซึ่งจะมีพื้นที่และเก้าอี้ไว้สำหรับผู้มาสังเกตการณ์
 
 
โดยในเวลา 08.00 น. ผู้สมัครต้องรายงานตัวต่อกรรมการประจำสถานที่เลือกของกลุ่มที่ตนลงสมัคร ส่งมอบโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสาร และแสดงหลักฐานเป็น บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน จากนั้นเวลา 09.00 น. ผอ.การเลือกระดับอำเภอประชุมชี้แจงผู้สมัคร และเริ่มลงคะแนนรอบแรกเป็นการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพ โดยผู้สมัครแต่ละคนโหวตได้ไม่เกิน 2 คะแนน จะลงคะแนนให้ตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ซึ่งในการลงคะแนนต้องเขียนเลขอารบิกลงไปในบัตร ถ้ากลุ่มใดมีผู้สมัครหรือผู้มารายงานตัวไม่เกิน 5 คน ให้ถือว่าทุกคนในกลุ่มนั้นเป็น ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ผ่านเข้าสู่รอบ “เลือกไขว้” ไปโดยปริยาย
 
 
ส่วนการนับคะแนนรอบแรก จะเกิดขึ้น ณ สถานที่เลือกภายหลังการปิดลงคะแนนแล้ว โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 5 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่มีผู้สมัครหรือผู้มารายงานตัวไม่เกิน 5 คน ให้เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น ๆ กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน จนมีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 5 คน ให้ผู้ได้คะแนนเท่ากันจับสลากกันเองเพื่อหาผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่ม แต่ถ้ากลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 5 คน ให้เฉพาะผู้ได้คะแนนเป็นผู้สมัครที่ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น จากนั้นผู้สมัครต้องจับสลากเพื่อแบ่งสายให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนไปจับสลากแบ่งสาย จำนวนไม่เกิน 4 สาย สายละ 3-5 กลุ่ม
 
 
หลังจากนั้นจะเริ่มลงคะแนนรอบสองเป็นการ “เลือกไขว้” กลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยผู้สมัครแต่ละคนต้องลงคะแนนให้ผู้สมัครที่มาจากกลุ่มอื่นที่อยู่สายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน โดยจะเลือกตนเองหรือผู้สมัครกลุ่มเดียวกับตนเองมิได้
การนับคะแนนรอบสองจะเกิดขึ้น ณ สถานที่เลือกภายหลังการปิดลงคะแนนแล้ว โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้น กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน จนมีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 3 คน ให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันจับสลากกันเองเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้น ถ้ากลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 3 คน ให้เฉพาะผู้ได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ จากนั้นจะประกาศผลนับคะแนนเบื้องต้นหลังเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ผอ.การเลือกระดับอำเภอจะประกาศบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ พร้อมจัดส่งให้ ผอ.การเลือกระดับจังหวัดปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และเผยแพร่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป
 
 
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง https://senator.ect.go.th/ หรือ แอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต (Smart Vote) และ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วน 1444
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

เปิดงาน นครเชียงรายเกมส์ 2567 ระดับภาคเหนือ ครั้งที่ 38

 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นท้องถิ่นแห่งประเทศไทย รอบคัดเลือก ระดับภาคเหนือ ครั้งที่ 38 “นครเชียงรายเกมส์” 2567 โดยมีนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ว่าที่ร้อยตรีศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ ผู้ควบคุมทีม และคณะนักกีฬาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมอย่างคึกคัก

 

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่าการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เทศบาลนครเชียงรายเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยใช้ชื่อว่า “นครเชียงรายเกมส์” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เด็ก นักเรียน ในสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการเล่นกีฬา เพื่อการออกกำลังกายเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี มีระเบียบวินัย มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ควบคู่กับวิชาการ เพิ่มพูนทักษะกีฬาขั้นพื้นฐาน พัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ และมุ่งสู่การเป็นนักกีฬาอาชีพในระดับสากล ภายใต้หลักการที่ว่า “กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ” ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยของคนไทย ให้สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยใช้กีฬาและการออกกำลังกาย 

 

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าการแข่งขันกีฬาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเมื่อได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ได้รับการเรียนรู้ ควบคู่กับการพัฒนาความสามารถ ใช้กีฬาฝึกฝนให้เป็นผู้มีจิตใจ อดทน เข้มแข็ง กล้าแสดงออก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและเยาวชน เป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจ สังคม รู้ห่างไกลยาเสพติด และกล่าวต่อไปว่า เมื่อแพ้ก็ต้องหมั่นฝึกฝน เมื่อชนะก็อย่าทะนงตน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการรู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง และก้าวไปสู่การเป็นพลเมืองไทยที่มีสุขภาพใจที่เข้มแข็ง อีกทั้งการพัฒนาคนเป็นเป้าหมายที่สำคัญของประเทศชาติในปัจจุบัน ที่ทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่จุดมุ่งหมายมั่นคงยั่งยืน และก้าวไกลไปในอนาคต พร้อมกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญ ร่วมแรงร่วมใจกัน ในการจัดการแข่งขันกีฬาฯ ในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

 

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ให้การสนับสนุน เพื่อแสดงความขอบคุณในการส่งเสริมการกีฬาให้กับนักเรียนเยาวชน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงจากน้อง ๆ จากโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงขบวนพาเหรดจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ

 

ทั้งนี้การแข่งขันกีฬา “นครเชียงรายเกมส์” จัดระหว่างวันที่ 4-13 มิถุนายน 2567  รวมทั้งสิ้น 10วัน โดยมีจังหวัดในเขตภาคเหนือเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 17 จังหวัด รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งนักกีฬาเข้าร่วมจำนวน 80 แห่ง มีการแข่งขันจำนวน 11 ชนิดกีฬา ได้แก่ประเภทชายและหญิง ประกอบด้วย กรีฑา ฟุตบอล ฟุตซอล วอลเลย์บอล วอลเลย์บอลชายหาด เซปักตะกร้อ เปตอง/เปตองชู้ตติ้ง แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส หมากฮอส และ หมากรุก สามารถร่วมชมและเชียร์ให้กำลังใจแก่นักกีฬาตลอดการแข่งขัน ตลอดจนติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ www.north.sport-th.com หรือ ทางเพจเฟซบุ๊ค “นครเชียงรายเกมส์ ครั้งที่ 38” 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย เยียวยาและมอบรางวัล ผลการปฏิบัติการป้องกันการเผา

 

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 67 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานมอบเงินเยียวยาแก่ผู้บาดเจ็บจากการปฎิบัติงานด้านการจัดการไฟป่า เงินรางวัลผู้แจ้งเบาะแสการลักลอบเผา พร้อมมอบเงินรางวัลผลงานการปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โลกทุกชนิดระดับตำบล แก่ผู้แทนตำบลและอำเภอ ที่การประชุมกรมการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ประจำจังหวัดเชียงราย ห้องประชุมจอมกิตติ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย

 

ตามที่จังหวัดเชียงรายได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและPM 2.5 จังหวัดเชียงราย ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ประสานการปฎิบัติเฝ้าระวังติดตาม บริหารจัดการสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา จังหวัดเชียงรายได้มีประกาศห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาด “76 วัน ปลอดการเผา” ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 30 เมษายน 2567  เพื่อควบคุมและป้องกันการเผา เป็นสาเหตุของการสะสมของฝุ่นละออง มลพิษทางอากาศ อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยได้สรุปผลการดำเนินงานในห้วงห้ามเผา จังหวัดเชียงรายเกิดจุดความร้อน จำนวน 1,962 จุด ลดลงจากปีที่ผ่านมา 5,826 จุด คิดเป็นร้อยละ 74.81 (ปี 2566 จำนวน 7,788 จุด) ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM 2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานสูงสุด 209.9 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ณ สถานีตรวจวัดตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย

 


ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายได้มอบเงินเยียวยาการบาดเจ็บจากการปฎิบัติงาน จำนวน 6 ราย ประกอบด้วยอำเภอเชียงของ 2 ราย อำเภอแม่สรวย 1 ราย อำเภอเมืองเชียงราย 1 ราย และอำเภอเวียงป่าเป้า 1 ราย  เงินรางวัลนำจับให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสจำนวน 10 คดี ประกอบด้วย อำเภอเชียงของ 3 ราย อำเภอแม่สรวย 3 ราย อำเภอเวียงชัย 1 ราย อำเภอพญาเม็งราย 1 ราย อำเภอแม่ฟ้าหลวง 1 ราย และชุดปฏิบัติการของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้2 จำนวน 1 ราย 
สำหรับผลการประกวดผลงานการปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งทุกชนิด ระดับตำบล มีตำบลที่ได้รับรางวัล จำนวน 11 รางวัล โดยแบ่งเป็นกลุ่มตำบลเสี่ยงน้อย 3 รางวัล อันดับหนึ่ง ได้แก่ ตำบลต้า อำเภอขุนตาล อันดับที่2 ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย อันดับที่ 3 ตำบลม่วงคำ อำเภอพาน กลุ่มตำบลเสี่ยงปานกลาง จำนวน 5 รางวัล อันดับหนึ่ง ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย อันดับ 2 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย และตำบลแม่พริก อำเภอแม่สรวย อันดับที่ 3 ตำบลห้วยสัก และตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย และกลุ่มตำบลเสี่ยงสูง รวม 3 รางวัล อันดับที่1 ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย อันดับที่ 2 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน และอันดับที่ 3 ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ขอให้ทุกภาคส่วน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ขอให้ตั้งใจ อุทิศตน ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ขอให้ตั้งเป้าหมายการลดจุดความร้อนของจังหวัดเชียงราย ให้ลดลงในปีต่อไป ซึ่งการมอบรางวัลในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานที่ได้เสียสละและอุทิศเวลาให้ทางราชการ และเพื่อเป็นการยกย่องสรรเสริญให้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ม่วนจอย เดินจิม ผลไม้ถิ่น สับปะรดลิ้นจี่เจียงฮาย ปี 67

 

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 67 ที่สวนตุงและโคมนครเมืองเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการตลาดประชารัฐของดีนครเชียงราย 2567 “ม่วนจอย เดินจิม ผลไม้ถิ่น สับปะรดลิ้นจี่เจียงฮาย” โดยมีนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชน เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก

 

นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย กล่าวว่า เทศบาลนครเชียงราย ได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาตลาดประชารัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพและกลุ่มเกษตรกรให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง จึงได้จัดทำโครงการตลาดประชารัฐของดีนครเชียงรายประจำปี 2567 กิจกรรม “ม่วนจอย เดินจิม ผลไม้ถิ่น สับปะรดลิ้นจี่เจียงฮาย” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตรผลไม้ และสินค้าประจำจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย สามารถกระตุ้นการบริโภคและการขยาย ธุรกิจอันจะนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจของภาคการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของจังหวัดเชียงราย ให้เติบโต เพื่อสร้างพื้นที่ให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมาพบกันอย่างเป็นธรรมชาติตามแนวทางตลาดประชารัฐ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนจัดทำตลาดนัดท้องถิ่นสีเขียว โดยการจำหน่ายสินค้าและบริการที่หลากหลายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและพัฒนา ผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะลิ้นจี่และสับปะรด ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย โดยเป็นการบูรณาการร่วมกับจังหวัดเชียงราย สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย และหน่วยงานภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการตลาด กระตุ้นการบริโภค และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการรวมกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย มีอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ เกิดการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นำสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนหมุนเวียนในชุมชน ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พร้อมกล่าวต่อไปว่า ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นที่มีนโยบายและมีเจตคติที่ดี ต่อการพัฒนาความอยู่ดี กินดีของประชาชน ในการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าเกษตรผลไม้ สินค้าประจำจังหวัดเชียงราย และสินค้าพื้นบ้าน ส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตต่างๆ
 
 
ทั้งนี้มีการจำหน่ายสินค้าทางด้านเกษตร ผักปลอดสารพิษ ผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย สินค้า OTOP จากวิสาหกิจชุมชน สินค้าพื้นบ้าน พื้นเมือง สินค้าขึ้นชื่อประจำ จังหวัดเชียงราย รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ การร่วมบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย และเกษตรจังหวัดเชียงรายในการออกร้านสินค้าธงฟ้าราคาประหยัดและสินค้าเกษตรแปรรูปมากกว่า 100 ร้าน อีกทั้งภายในงานยังมีกิจกรรมบันเทิง วงดนตรีจากศิลปินในท้องถิ่น กิจกรรมส่งเสริมการขายและลด แลก แจก แถมโปรโมชั่นต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งจัดจำหน่ายสินค้าเป็นระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2567
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เชียงรายฟ้าใส (ไร้ควัน) ผู้ว่าฯ จับซ้ำ บุหรีไฟฟ้าร้านเดิมในรอบไม่ถึงเดือน

 
เมื่อวันที่ (15 พฤษภาคม 2567) เวลา 13.50 น. ภายใต้การอำนวยการของ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายบุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย และ พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผกก.สภ.เมืองเชียงรายได้สั่งการให้ฝ่ายปกครองร่วมกับตำรวจ 
 
 
นำโดยนายกองรบ กระทุ่มนัด ป้องกันจังหวัดเชียงราย ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดเชียงราย สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงรายที่ 1 นายธีรัตน์ อิทธิพลาลักษณ์ ปลัดอำเภอเมืองเชียงราย สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอเมืองเชียงรายที่ 3 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ออกปราบปรามร้านลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ให้แก่เด็กและเยาวชน
 
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 ชุดจัดระเบียบสังคมได้เข้าทำการจับกุมร้านลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าชื้อร้าน บ้านควันหอม (สาขาตลาดล้านเมือง) ตั้งอยู่ที่ 66/23 หมู่ 11 ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย พบผู้ต้องหา 1 คนแสดงตัวเป็นผู้ดูแล และได้นำส่งผู้ต้องหาพร้อมของกลางดำเนินคดีตามกฎหมาย นั้นชุดจัดระเบียบสังคมฯ ได้รับข้อมูลจากผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนมาเป็นจำนวนมาก ว่าร้านดังกล่าวกลับมาเปิดให้บริการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอีกครั้งหลังจากถูกจับกุม ไม่ถึงเดือน 
 
 
โดยยังคงเปิดหน้าร้านและมีการวางน้ำหอมตบตาเจ้าหน้าที่เช่นเดิม ซึ่งพฤติกรรมยังคงพบมีการจำหน่ายให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงลูกค้าทั่วไปเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่จึงได้วางแผนเข้าตรวจสอบร้านดังกล่าวพบว่าร้านมีการติดฟิล์มสีขาวขุ่นอำพรางไม่ให้มีการมองจากข้างนอกเข้าไปเห็นในบริเวณด้านใน และมีกล้องวงจรปิดรอบทิศทางเพื่อดูสถานการณ์จากภายนอก แต่ผู้ซื้อจะรู้กันภายในกลุ่มไลน์ เฟสบุ๊ค หรือสื่อสังคมต่างๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการเข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าจำแล้ว 3 ร้าน คือ
 

      1. ร้านบ้านควันหอม (สาขาตลาดล้านเมือง) ตั้งอยู่ที่ 66/23 หมู่ 11 ตำบลสันทราย อำเภอเมืองเชียงราย พบผู้ต้องหา 2 คนแสดงตัวเป็นผู้ดูแล ซึ่งร้านนี้เจ้าหน้าที่ได้ทำการเข้าจับกุมไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567
      2. ร้านบ้านควันหอม (สาขาในเมืองหอนาฬิกา) ตั้งอยู่ที่ 531 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย พบผู้ต้องหา 1 คนแสดงตัวเป็นผู้ดูแล
      3. ร้าน P-VAPE ตั้งอยู่ที่ 197/8 ม.15 ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย พบผู้ต้องหา 4 คนแสดงตัวเป็นผู้ดูแล ซึ่งร้านดังกล่าวขณะเจ้าหน้าที่เข้าสังเกตการณ์ พบว่าร้านมีการปิดประตูม้วนเหล็กลงอย่างมิดชิด เมื่อเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์อยู่หน้าร้านสักพัก พบว่ามีพนักงานปิดประตูม้วนออกมาจากด้านใน เหมือนจะออกมาส่งของ (บุหรี่ไฟฟ้า) เจ้าหน้าที่จึงเปิดหน้าต่างและเรียนพนักงาน พนักงานดังกล่าวจึงเข้ามาถามว่าได้สั่งของ (บุหรี่ไฟฟ้า) ไหม เจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัวและพาตรวจสอบภายในร้านแล้ว จากการตรวจสอบภายในร้านพบบุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์ น้ำยา และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายซึ่งสินค้าที่ตรวจยึดได้ของกลางกว่า 1,000 ชิ้น มูลค่าหลักแสนบาท
 

และจากการตรวจสอบการรับจ่ายเงินหรือเงินหมุนเวียนภายในร้าน พบแต่ละร้านมีรายได้ต่อวันตั้งแต่วันลหลายหมื่น บาทต่อวัน ซึ่งจากการสอบถามผู้ดูแลพบ เจ้าของที่แท้จริงจะติดต่อผ่านไลน์และส่งของมาให้ขายจึงไม่ทราบราคาต้นทุนต่อชิ้น และจะขายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ตั้งแต่ราคาหลักสิบ ถึง หลักพันบาท และระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบจะมีลูกค้ามาใช้บริการตลอดเวลา เจ้าหน้าที่จึงนำตัวผู้ดูแลทั้ง 7 ราย โดยแจ้งข้อหา 
 

          1) ได้มีการซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ตามมาตรา 246 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
 

         2) ขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ต้องระวางโทษ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะได้ปราบปรามร้านทั้งเปิดหน้าร้านและขายออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร

 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อำเภอเมืองเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ คณะสมาชิกวุฒิสภาในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร (Center Of Therapeutic Radiology and Oncology) โดยมีพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา ได้สวดอนุโมทนา พร้อมเจิมป้าย และประพรมน้ำพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวรายงาน ทั้งนี้แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นำผู้บริหาร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริจาคสมทบทุนสร้างศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร เข้าร่วมพิธี

 

ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 758 เตียง รับผิดชอบประชากรผู้ป่วยโรคมะเร็งจังหวัดเชียงราย-พะเยา รวมถึงประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย จากฐานข้อมูลทะเบียนมะเร็งของโรงพยาบาลเชียงรายฯ พบว่ามะเร็งที่พบบ่อยในประชากรเพศชาย สามอันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และมะเร็งปอด ซึ่งในเพศหญิงสามอันดับแรก ได้แก่มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ส่วนมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดของจังหวัดเชียงราย อันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม ตามลำดับ โดยจากข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยมะเร็งของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา จะมีประมาณ 2,400ราย/ปี โดยมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสีประมาณ 1,200 ราย/ปี และกล่าวต่อไปว่า 

 

โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สามารถให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัด แต่ยังขาดการรักษาด้วยรังสีรักษา ซึ่งเป็นการรักษาที่สามารถลดการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และบรรเทาอาการของโรคในระยะแพร่กระจายได้ โดยผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยรังสีรักษา จำเป็นต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นส่วนใหญ่ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงโรงพยาบาลมะเร็งลำป่าง มีประมาณ 900 ราย/ปี ผู้ป่วยหายจากระบบประมาณ 300 ราย ที่ไม่เดินทางไปรับการรักษา เพราะผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจังหวัดลำปาง เพื่อเข้ารับการรักษาเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ประมาณ 15,000 บาทต่อราย 

 

ซึ่งการจัดตั้งศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร ณ อาคารรังสีรักษาแห่งนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างครบถ้วนและสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถรับการรักษาได้ตามแผนการรักษา ส่งผลให้มีโอกาสหายจากโรคมะเร็งได้มากขึ้น สามารถบริการผู้ป่วยมะเร็งด้านรังสีรักษา พัฒนาบุคลากรรองรับบริการด้านรังสีรักษา และพัฒนาระบบสารสนเทศรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานบริการในเครือข่าย เพื่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยและการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อคุณภาพบริการแบบครบวงจร และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวเชียงราย

 

พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง กล่าวว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่จังหวัดเชียงรายมีศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร ขอชื่นชมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ที่ได้มีความมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างครอบคลุมทั้งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษา และบริการรังสีรักษาตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่ายจังหวัดเชียงราย-พะเยา ให้เข้มแข็ง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นให้เกิดปรโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน พร้อมกล่าวต่อไปว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่ต้องความสำคัญ 

 

ทั้งในด้านการป้องกัน และดูแล รักษา การเปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผู้ป่วยมะเร็งของจังหวัดเชียงราย-พะเยา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จะสามารถเข้าถึงการรักษา ลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่าย ในการเดินทางเพื่อไปรักษา อีกทั้งยังได้รับการรักษาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เครื่องมือที่มีมาตรฐานเป็นการดูแลแบบครบวงจรอีกด้วย

 

ทั้งนี้สมาชิกวุฒิสภา และมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระราชูปถัมภ์ ได้มอบเครื่องอุปโภค ของใช้จำเป็นให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อมอบต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการรับการรักษาต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯ เชียงราย ลงพื้นที่ตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวอำเภอพาน

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 67 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายวุฒิกร คำมา นายอำเภอพาน นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ บ้านปางกล้วยค้าว หมู่ที่ 16 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่ท้องที่ ท้องถิ่น ประชาชนบ้านปางกล้วยค้าวให้การต้อนรับ ในการนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และชลประทานเชียงราย ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการ พร้อมทำความเข้าใจลักษณะโครงการ และการดำเนินการแก่ประชาชนในพื้นที่

 

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายชัยเดช จินดาวิจิตร ราษฎรบ้านปางกล้วยค้าว หมู่ที่ 16 ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำริน พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรตำบลป่าหุ่ง ตำบลสันกลาง และตำบลเมืองพาน อำเภอพานจังหวัดเชียงราย ซึ่งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร 


ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567
กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 2 ได้ตรวจสอบสภาพพื้นที่และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วได้พิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้วยการก่อสร้างฝ่ายบ้านปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ ระบบส่งน้ำความยาว 2,000 เมตร พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 200 ไร่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ได้ โดยกำหนดชื่อว่า “โครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ”

 

สำหรับโครงการฝายปางกล้วยค้าวพร้อมระบบส่งน้ำ เมื่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตรแก่เกษตรกรในฤดูฝนได้ 200 ไร่ และฤดูแล้งได้ 200 ไร่ และเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภค – บริโภคของราษฎร ลักษณะโครงการ มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือที่ตั้งหัวงาน 36.50 ตารางกิโลเมตร ความยาวลำน้ำจากต้นน้ำถึงหัวงาน 10 กิโลเมตร มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,308.47 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำไหลผ่านหัวงานเฉลี่ยทั้งปี 12,372,109.88 ลูกบาศก์เมตร/วินาที การก่อสร้าง เป็นอาคารหัวงาน ประเภทฝายคอนกรีตล้วนปนหินใหญ่ ความยาว 12.00 เมตร ความสูง 2.00 เมตร มีอาคารบังคับน้ำปากท่อ จำนวน 1 แห่ง ประตูระบายทราย ขนาด 1.80 x 1.50 เมตร ระบบส่งน้ำประเภทคลองดาดคอนกรีตความยาว 2,000 เมตร ส่งน้ำได้ 0.05 ลูกบาศ์กเมตร/วินาที 

 

ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่ราษฏรขอพระราชทานความช่วยเหลือ ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะทำให้ในพื้นที่มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรได้ได้ตลอดทั้งปี

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

คุณตัน มอบเงินแสนให้ 54 หมู่บ้านหลังจบ ภารกิจท้าชาวเชียงใหม่ลด “จุดความร้อน”

 

เมื่อวันที่  2 พ.ค.2567 ที่ผ่านมา หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ คุณตัน ภาสกรนที หรือ “ตัน อิชิตัน” นักธุรกิจเจ้าของเครื่องดื่มชื่อดังของเมืองไทย ได้เดินทางมามอบเงินรางวัลให้กับหมู่บ้านที่สามารถลดจุดความร้อนได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขที่ได้มีการลงนาม MOU ร่วมกันระหว่างมูลนิธิตันปัน กับ มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอำเภอแม่ริมและนายอำเภอหางดง ร่วมเป็นสักขีพยาน

หลังมูลนิธิตันปัน นำโดย คุณตัน ภาสกรนที ได้มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับมูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน จังหวัดเชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567  เพื่อบูรณาการความร่วมมือ และทดสอบความท้าทายในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ร่วมกับ 69 หมู่บ้าน โดยเริ่มเก็บสถิติเป็นเวลา 40 วัน เงื่อนไขให้ลดจำนวนจุดความร้อนให้ได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับจำนวนจุดความร้อนในช่วงระยะเวลาเดียวกันในปี 2566  ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม – 30 เมษายน 2567 หากสามารถทำได้ตามเงื่อนไขได้ จะมอบงบประมาณสนับสนุนเป็นเงินรางวัลให้หมู่บ้านละ 100,000 บาท

ซึ่งผลปรากฏว่า มี 54 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 69 หมู่บ้าน ที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายและดำเนินการตามเงื่อนไขได้สำเร็จ ประกอบไปด้วย หมู่บ้านในอำเภอแม่ริม 36 หมู่บ้าน และ หมู่บ้านในอำเภอหางดง 18 หมู่บ้าน ส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนใน 2 อำเภอ ลดลงเป็นจำนวนมาก จากเดิมในปี 2566 เกิดจุดความร้อนทั้งหมด 324 จุด ส่วนปีนี้ลดลงเหลือเพียง 111 จุด หรือลดลงจากเดิมกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม คุณตัน ยังได้มอบเงินรางวัลปลอบใจให้กับอีก 15 หมู่บ้าน ที่ไม่สามารถทำได้ตามเป้าอีกหมู่บ้านละ 10,000 บาท รวมเป็นยอดเงินสนับสนุนในครั้งนี้กว่า 5.5 ล้านบาท

โดย คุณตัน ภาสกรนที เปิดเผยว่า การดำเนินการดังกล่าวถือว่าประสบผลอย่างมาก ทั้งสองอำเภอสามารถช่วยกันลดจุดความร้อนได้กว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลาเพียง 40 วัน ทั้งที่อยู่ในช่วงที่เป็นจุดพีคของการเกิดไฟป่า อย่างไรก็ตามหากจะให้เกิดความยั่งยืน ประชาชนทุกคนจะต้องให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง ส่วนในปีหน้าก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอีก แต่เพียงตนเองอาจจะมีกำลังไม่มากพอ ดังนั้น อาจจะต้องร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ โรงแรม ห้างร้าน และหน่วยงานภาคเอกชนอื่นๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน เพื่อให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด ถือเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ต้นแบบระดับจังหวัดเชียงราย ธนาคารขยะฮอมบุญบ้านหนองบัว แม่ลาว

 
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย และ ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่โครงการขับเคลื่อนธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ณ ธนาคารขยะฮอมบุญบ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชน หมู่บ้าน ต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะระดับจังหวัด ตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จัดงานประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย มีข้อสั่งการผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะอย่างต่อเนื่องและจัดสวัสดิการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายเจตณรงค์ อินกัน ท้องถิ่นจังหวัดเชียงราย นายรุ่งโรจน์ ตันวุฒิ นายอำเภอแม่ลาว นายสุริยัน ตื้อยศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ ตลอดจนผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นเข้าที่ร่วมพิธี พร้อมรับมอบป้ายธนาคารขยะสำหรับการจัดตั้งธนาคารขยะในเขตพื้นที่ อบต.ป่าก่อดำ จากทั้ง 7 หมู่บ้าน ที่ได้มีการดำเนินการธนาคารขยะมาแล้ว จำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 บ้านสันหนองล้อม หมู่ที่ 6 และบ้านแม่ผง หมู่ที่ 5 และมีการขยายผลไปยังหมู่บ้านที่เหลืออีก 4 หมู่บ้าน โดยได้เริ่มดำเนินการธนาคารขยะ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 67 ได้แก่ บ้านโป่งมอญ หมู่ที่ 1 บ้านต้นม่วง หมู่ที่ 3 บ้านท่าขี้เหล็ก หมู่ที่ 4 และบ้านสันหนองบัว หมู่ที่ 11 จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อีกด้วย
 

      นายสุริยัน ตื้อยศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ กล่าวว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดความยั่งยืน และเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานธนาคารขยะให้กับประชาชนได้เห็นคุณค่า และให้ความสำคัญในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของธนาคารขยะ จังหวัดเชียงรายได้คัดเลือกธนาคารขยะบ้านหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลป่าก่อดำ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นธนาคารขยะต้นแบบในระดับจังหวัด เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนธนาคารขยะและผลการบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณขยะที่นำฝากผ่านธนาคารขยะทั้ง 3 หมู่บ้าน มีจำนวนเฉลี่ย 335 กิโลกรัมต่อเดือน มีเงินทุนในธนาคารขยะ จำนวนกว่า 4,000 บาท ที่หมุนเวียนกลับไปให้สมาชิกในรูปแบบการสังคมสงเคราะห์ เช่น กรณีเสียชีวิตช่วยรายละ 500 บาท ถุงอุปโภคบริโภคเพื่อการยังชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส และสมทบเพื่อสาธารณประโยชน์ในหมู่บ้าน ต่อไป
 

      สำหรับการขับเคลื่อนธนาคารขยะในพื้นที่ อบต.ป่าก่อดำ ได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน ครัวเรือน และภาคีเครือข่ายฯ ในพื้นที่ร่วมสนับสนุนเพื่อสร้างกลไก สร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารจัดการขยะ และธนาคารขยะให้เกิดความยั่งยืน เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากการขับเคลื่อนธนาคารขยะแล้ว อบต.ป่าก่อดำ ได้มีการบริหารจัดการขยะภายในครัวเรือนโดยเน้นให้ทุกครัวเรือนได้ช่วยกันลดปริมาณขยะมูลฝอยและคัดแยกขยะในครัวเรือนอย่างเข้มข้น อีกทั้งได้สนับสนุนให้ทุกครัวเรือนใช้ประโยชน์จากถังขยะเปียกลดโลกร้อนเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยได้มีการใช้สมุดบันทึกประจำครัวเรือนรักษ์โลก เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการตรวจติดตามการบริหารจัดการขยะของทุกครัวเรือน นับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และที่สำคัญคือมีการจัดทำหลักสูตร EF บูรณาการในการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อที่จะได้เป็นพลังในการสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่สืบไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News