Categories
EDITORIAL

แนะรัฐปรับอัตราบำนาญพื้นฐานให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ

 

บำนาญพื้นฐานหรือเบี้ยยังชีพเป็นเครื่องมือความคุ้มครองทางสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุจะโชคร้ายกลายเป็นคนยากจนในวัยชราที่เปราะบางและสิ้นไร้กำลัง  โดยระดับความคุ้มครองขั้นต่ำที่จะคุ้มครองความยากจนให้กลุ่มครัวเรือนที่ยากจนสุด คือ 2,000 บาท/เดือน ตามข้อมูลสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ดังนั้น หากอัตราบำนาญพื้นฐานหรือเบี้ยยังชีพต่อเดือนต่ำกว่า 2,000 บาท หมายความว่า เป้าหมายของการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุล้มเหลวโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม ระดับอัตราบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน ซึ่งกำหนดจากเส้นความยากจนและเรียกร้องกันมายาวนานหลายปี โดยเฉพาะจากภาคประชาชน และ เป็นนโยบายหาเสียงของหลายพรรคการเมือง ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นจริง ทั้งที่ อัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดในปัจจุบัน เฉลี่ยได้รับคนละประมาณ 650 บาท/เดือน ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ มีระดับต่ำกว่าเส้นความยากจนอย่างมาก และ ไม่มีการปรับยาวนานมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยหลักการแล้ว อัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสม ควรจะต้องสอดคล้องกับเส้นความยากจน มีการปรับตามค่าครองชีพหรืออัตราเงินเฟ้อ

อุปสรรคสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายของความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ คือ การขาด “เจตจำนงทางการเมือง” จากภาครัฐ และได้รับการคัดค้านโดยเหตุผลกล่าวอ้าง เช่น ไม่มีงบประมาณ และ ไม่ได้จ่ายภาษี จึงไม่ควรได้รับ อันเป็นแนวคิดที่ไม่น่าจะถูกต้อง

หลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ควรต้องคำนึง หากจะอ้างว่า ไม่มีงบประมาณ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม จะต้องพิจารณา “ความมีประสิทธิภาพ” คือ การใช้งบประมาณสำหรับบำนาญพื้นฐานมีประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากผลทวีคูณทางการคลัง (fiscal multipliers) และความคุ้มครองความยากจน (poverty protection) เปรียบเทียบกับการสะสมทุนปีละหมื่นล้านแสนล้านของแต่ละตระกูลเครือข่ายบนยอดปิรามิดและความไร้ประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและมีการฉ้อฉลคดโกงทุจริตงบประมาณ  อีกหลักการสำคัญที่จะต้องพิจารณาได้แก่ “การกระจายอย่างเป็นธรรม” คือ การถ่ายโอนทรัพยากรให้สังคมโดยรวมมีระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยควรตระหนักถึงปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเราสามารถออกแบบระบบบำนาญพื้นฐาน เป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำผ่านนโยบายการคลังแบบก้าวหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น หากจะอ้างว่า ไม่ได้จ่ายภาษี จึงไม่ควรได้รับ ก็ควรจะต้องยึดหลักพื้นฐานทางภาษีที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “ความเป็นธรรมในแนวดิ่ง” (vertical equity) หมายความว่า กลุ่มที่มีโอกาสและทรัพยากรมากกว่า ควรจะเป็นผู้เสียภาษีมากกว่า อีกทั้งทุกคนในสังคมได้ร่วมจ่ายภาษีจากการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีการค้า ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ ภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีเครื่องดื่ม ภาษีเครื่องใช้ไฟฟ้า ภาษีรถยนต์ ภาษีรถจักรยานยนต์ ภาษีแบตเตอรี่ ภาษีสุราและยาสูบ เป็นต้น จึงไม่ใช่ความจริงตามที่กล่าวอ้างกันว่า คนไทยเสียภาษีแค่ 4 ล้านคน

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า การใช้งบประมาณเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุ มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่เป็นภาระงบประมาณ และทุกคนสมควรจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทั่วถึงและเป็นธรรม เพราะทั้งสังคมได้ร่วมกันจ่ายภาษี อีกทั้งประโยชน์ของบำนาญพื้นฐาน คือ สามารถช่วยป้องกันวิกฤตสังคมเรื่องความยากจนในผู้สูงอายุ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านตัวทวีคูณทางการคลัง และ สามารถลดความเหลื่อมล้ำผ่านการออกแบบเครื่องมือทางการคลัง โดยงานวิจัยนานาชาติแสดงให้เห็นว่า การลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเกิดผลทางบวกต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่า และ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง

ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายสวัสดิการบุคลากรภาครัฐ มีการเบิกจ่ายรวม เพิ่มขึ้นจาก 1.45 แสนล้านในปี 2550 เป็น 4.6 แสนล้าน ในปี 2564 ตามรูปที่ 1 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในเมื่อประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ก็ควรจะใช้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาโครงสร้าง โดยปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรม และ สร้างระบบสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตมนุษย์

 
 
 

ที่มา: รายงาน “การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน” คณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2567) โดยใช้ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง

 

            แหล่งรายได้สำหรับระบบบำนาญพื้นฐานแบบความคุ้มครองทางสังคม ได้มีข้อเสนอโดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำและองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ สามารถประมวลสรุปได้ ดังนี้

1.ปฏิรูประบบภาษี ใช้เครื่องมือทางการคลังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความคุ้มครองความยากจนสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้ามากขึ้นสำหรับภาษีทรัพย์สินและภาษีที่ดิน การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่อยู่นอกระบบ ห้ามร้านค้าปฏิเสธการโอนเงินชำระค่าสินค้าและบริการ ตลอดจนลดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย (Pro-rich) เช่น BOI ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีมูลค่าประมาณ 2.8 แสนล้านบาท โดยประมาณครึ่งหนึ่งที่ได้ประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษี คือ กลุ่มทุนไทย

2.ปฏิรูประบบงบประมาณ มุ่งเป้าการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน ซึ่งจำเป็นจะต้องตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น งบโฆษณา งบซื้ออาวุธ งบก่อสร้าง เป็นต้น ตลอดจนต่อต้านการคอร์รัปชัน (Corruption) ของเครือข่ายธุรกิจการเมืองและภาครัฐ แล้วนำงบประมาณกลับคืนมาเพิ่มสวัสดิการและลงทุนให้ประชาชน เช่น บำนาญพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ หรือ พัฒนาทักษะแรงงานทุกช่วงวัย

3.พัฒนาระบบการออม จะต้องบังคับหรือจูงใจให้ “ทุกคน” ในวัยทำงานต้องอยู่ในระบบ และ มีระบบฐานข้อมูล เพื่อให้ผู้ที่สามารถออมเงินได้ ต้องร่วมรับผิดชอบสะสมเงินในวันทำงานเพื่อยามชราภาพ โดยรัฐบาลร่วมจ่ายสมทบการออม

ในเมื่อจะต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับงบประมาณสำหรับกำลังคนภาครัฐ ก็ควรจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง เพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรม และ สร้างระบบสวัสดิการคุณภาพชีวิต โดยดำเนินการตามข้อเสนอต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์เรื่องแหล่งรายได้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ  

เพราะประเทศไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรอย่างรวดเร็ว และ กำลังก้าวเข้าสู่ Super–Aged Society หรือ สังคมผู้สูงอายุขั้นสูงสุด ดังนั้น การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานสำหรับประชาชน ตามหลักการ “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” และ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จะเป็นสามารถป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและโอกาสการทำงาน กลายเป็นความยากจนในวัยชรา แล้วส่งต่อความยากลำบากทางเศรษฐกิจไปยังรุ่นลูกหลาน

อัตราบำนาญพื้นฐานที่เหมาะสม ควรจะสอดคล้องกับเส้นความยากจนเพื่อให้คุ้มครองความยากจนได้ตามวัตถุประสงค์ของบำนาญพื้นฐาน และมีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อ โดยมีแหล่งรายได้ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์มากมายที่รอรัฐบาลเพียบพร้อมความกล้าหาญทางจริยธรรมช่วยวางรากฐานที่มั่นคงให้อนาคตของประเทศ

 

หมายเหตุ: เนื้อหาของบทความนี้มาจากรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน” โดยคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร (2567) และ โครงการวิจัย “การวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลัง แหล่งรายได้ และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบำนาญแห่งชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ” โดย ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย, ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล และคณะ (2566) ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
EDITORIAL

เส้นทางอันพึงปรารถนาของปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) สำหรับประเทศไทย

 

ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI หรือ GenAI) คือ ปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่สามารถใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์สถิติในรูปแบบของอัลกอริทึม (Algorithm) ในการเรียนรู้ชุดข้อมูลเพื่อสร้างผลลัพธ์ในรูปแบบใหม่ เช่น ข้อความ รูปภาพ เพลง หรือ สื่อในรูปแบบอื่น ๆ โดยมีการประยุกต์ใช้งานแล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น ศิลปะ, การพัฒนาซอฟต์แวร์, การออกแบบผลิตภัณฑ์, การเขียน, สุขภาพ, การเงิน, เกม, การตลาด, และแฟชั่น เป็นต้น ด้วยกระบวนการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นไปอย่างอัตโนมัติ จึงสามารถช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดเวลาและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในระบบปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) เติบโตอย่างมากในช่วงต้นทศวรรษ 2020 โดยบริษัทระดับโลก เช่น Microsoft, Google, และ Baidu รวมถึงบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากก็กำลังช่วยให้เทคโนโลยีนี้กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

 

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลกที่ MIT คือ ศาสตราจารย์ Daron Acemoglu, David Autor, และ  Simon Johnson ได้นำเสนอบทความวิเคราะห์เชิงนโยบายชื่อ Can we Have Pro-Worker AI? Choosing a path of machines in service of minds เผยแพร่ผ่าน MIT Shaping the Future of Work Initiative เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566  ดังนั้น ผู้เขียนบทความจึงเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) เป็นเรื่องสำคัญระดับความท้าทายของมนุษยชาติ จึงขอนำเรียนรับใช้สังคมโดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา การแพร่กระจายเทคโนโลยีดิจิทัล (diffusion of digital technologies) ได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ  ในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) จะมีผลกระทบต่อความไม่เสมอภาคของสังคมอย่างแน่นอน แต่ลักษณะของผลกระทบนั้น จะขึ้นอยู่กับวิธีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีนี้  อย่างไรก็ตาม ไม่มีเส้นทางสำหรับเทคโนโลยีนี้ (หรือเทคโนโลยีใด ๆ) ที่เป็นไปไม่ได้

 

ขณะนี้ภาคเอกชนกำลังอยู่บนเส้นทางสำหรับปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) ที่มุ่งเน้นการทำให้เป็นระบบอัตโนมัติ (automation) และการแทนที่แรงงานโดยปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับมีการสอดแนมในสถานที่ทำงาน  แน่นอนว่า การแทนที่แรงงาน ไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับตลาดแรงงาน แม้จะให้ผลตอบแทนสูงในมุมของผู้ประกอบการ  โดยแรงงานเงินเดือนสูงที่ถูกแทนที่ จะลงมาแย่งงานจากแรงงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่า (ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าอยู่แล้วที่จะถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์) อันจะส่งผลต่อโครงสร้างค่าจ้างที่จะลดลงอย่างรวดเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม เรายังมีเส้นทางที่ดีกว่า คือ ทำให้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) สามารถร่วมมือกับมนุษย์ส่วนมากในการทำงานร่วมกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาศักยภาพทางทักษะที่จำเป็น โดนจะต้องครอบคลุมรวมถึงคนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนระดับมหาวิทยาลัยด้วย  ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกเส้นทางที่สามารถร่วมมือกันทำงานระหว่างปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) และมนุษย์ส่วนมาก จะต้องมีการเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนานวัตกรรม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงในแนวทางปฏิบัติและพฤติกรรมองค์กรของบริษัทเอกชน 

 

เป้าหมายสำหรับเส้นทางที่พึงปรารถนา คือ การทำให้ปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI)  สามารถช่วยสร้างและสนับสนุนงานที่ทำในแต่ละอาชีพ ตลอดจนเพิ่มความสามารถของแรงงาน เพราะหากเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยให้ครู พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา และ อาชีพที่ต้องใช้ความชำนาญประเภทต่าง ๆ สามารถผลิตงานที่ตนเองเชี่ยวชาญได้มากขึ้น ก็จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน และ กระตุ้นการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง

 

นโยบายสาธารณะจึงเป็นศูนย์กลางของความสำคัญในเรื่องนี้ โดยสามารถกระตุ้นการพัฒนาไปสู่เส้นทางที่เทคโนโลยีสามารถร่วมมือกับมนุษย์ เพื่อยกระดับทักษะแรงงานและความเชี่ยวชาญสำหรับทุกคน  โดยศาสตราจารย์ Daron Acemoglu, David Autor, และ  Simon Johnson ที่ MIT ได้เสนอแนะนโยบายสำหรับรัฐบาลกลาง ดังนี้

  1. ทำให้อัตราภาษีมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ระหว่างแรงงาน และ ผู้ครอบครองปัญญาประดิษฐ์ เพื่อควบคุมระดับการแข่งขันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์
  2. ปรับปรุงกฎเกณฑ์ความปลอดภัยทางอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อคุ้มครองหรือจำกัดการสอดแนมพนักงาน ตลอดจนรับฟังเสียงของแรงงาน
  3. เพิ่มทุนวิจัยด้านการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ โดนจะต้องตระหนักด้วยว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เอกชนให้ความสนใจ
  4. สร้างศูนย์วิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ของรัฐบาล เพื่อช่วยแบ่งปันความรู้สำหรับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ
  5. ใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญระดับรัฐบาล เพื่อช่วยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีว่าเหมาะสมในการนำมาใช้หรือไม่อย่างไร เช่น ทางการศึกษาและสาธารณสุข เป็นต้น

 

ในส่วนของผู้เขียนบทความนี้เพื่อรับใช้ท่านผู้อ่าน ได้ค้นพบหลักฐานเชิงประจักษ์จากข้อมูลสำรวจการทำงานของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดังแสดงในบทความ Labour Skills, Economic Returns, and Automatability in Thailand พบว่า แรงงานอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ จะสามารถสร้างรายได้มากกว่า กล่าวคือ ทั้ง GDP เฉลี่ยต่อหัวของจังหวัด และ รายได้ต่อชั่วโมงของแรงงานมีมูลค่าสูงกว่า ในทางกลับกัน อาชีพที่ไม่ค่อยต้องใช้ทักษะการวิเคราะห์และทักษะการสื่อสาร จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ หรือแม้แต่ภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้มีความตื่นตัวที่จะยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจแบบ inclusive growth อย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นเรื่องน่ากังวลมาก เพราะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (Generative AI) มีแนวโน้มจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยยิ่งขยายกว้างมากขึ้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะไม่สามารถแข่งขันได้หรือจะอยู่รอดอย่างยากลำบากในโลกอนาคต อันจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศทางเศรษฐกิจสังคม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News