Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

รมว.วัฒนธรรม เยี่ยมบ้านเมืองรวง ชุมชนโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการกิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2568 ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าและผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวชุมชนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง เข้าร่วม

 
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กราบนมัสการพระพระณัฐวัฒน์ กิตฺติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดท่าไคร้ บ้านเมืองรวง ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จังหวัดเชียงราย และร่วมรับฟังผลการดำเนินงานของชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน
 
ทั้งนี้ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนชาวไทยวนและมีชาติพันธุ์อาข่าอพยพมาอยู่ในชุมชนร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสามัคคี ชุมชนก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2397 ผู้ริเริ่มสร้างหมู่บ้านครั้งแรก เป็นชาวลวงซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ชื่อหมู่บ้านว่า บ้าน “เมืองลวง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้าน “เมืองรวง”
 
ชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ อยู่เย็น เป็นสุขดีเด่น ระดับเขตและระดับภาค ชุมชนต้นแบบจัดการขยะ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ต่อเนื่องกัน 2 ปี ได้แก่ ปี 2564 และ 2565 มีกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน หมู่บ้านน่าอยู่ ผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน เช่น กาแฟ น้ำพริกตาแดงปลาช่อนป่น มะขามแก้ว ผลิตภัณฑ์จักสาน สบู่สมุนไพร และ “แหนมหมู”หรือ “จิ้นส้ม” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ที่ขึ้นชื่อของชุมชนแห่งนี้ เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวผ่านตลาดวัฒนธรรม“สุดสาย ยายกอง” และมีลานวัฒนธรรมสร้างสุข นำเสนอความเข้มแข็งของชุมชน ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของชุมชน เช่น การแสดงฟ้อนเล็บ การแสดงชาติพันธุ์อาข่า เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดท่าไคร้ วัดพุทธมิ่งโมลี และเทศกาล ประเพณีท้องถิ่น เช่น พิธีสงเคราะห์ทำบุญสืบชะตาหมู่บ้านเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นต้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“บ้านเมืองรวง” สนองนโยบายกระทรวงมหาดไทย สร้างความเข้มแข็งของชุมชน

 
วันที่ 2 ธันวาคม 2566 เวลา 09.00 น. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองเชียงราย นำโดย นางสาวชาลิสา กาปัญญา พัฒนาการอำเภอเมืองเชียงราย พร้อมด้วย นางสาวณัฐนัญช์ ยอดดวงจันทร์ พัฒนากรตำบลแม่กรณ์ติดตาม สนับสนุน การดำเนินกิจกรรม ตามหลัก 5 ก ของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเมืองรวง หมู่ที่ 5 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
 
หลักการและวิธีการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจสำคัญในการสนองนโยบายกระทรวงมหาดไทยในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก/วิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมระบบการจัดการทุนของชุมชนและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวิธีการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการสามารถพึ่งตนเองได้โดยในส่วนของการส่งเสริมและพัฒนาทุนกรมการพัฒนาชุมชนมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในชนบท รวมตัวกันระดมเงินออมเพื่อจัดตั้ง กองทุนของชุมชนในรูป ”กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต”เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเงินทุนประกอบอาชีพหรือใช้จ่ายยามเดือดร้อน จำเป็นโดยการบริหารจัดการของสมาชิกและช่วยเหลือแบ่งปันกันในชุมชน
 

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจัดตั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2517 ที่ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดย ศ.ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้ปรัชญา “ใช้หลักการออมทรัพย์เป็นอุปกรณ์ในการพัฒนาคน” เพื่อให้เกิดการพัฒนา คุณธรรม 5 ประการ คือ ความซื่อสัตย์ ความเสียสละ ความรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ และความไว้วางใจในหมู่สมาชิกความหมาย“กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมายถึง การรวมตัวกันของชาวบ้าน เพื่อช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยการประหยัดทรัพย์ แล้วนำมาสะสมรวมกันทีละเล็กละน้อยเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นทุนให้สมาชิกที่มีความจำเป็นเดือดร้อนกู้ยืมไปใช้ในการ ลงทุนประกอบอาชีพ หรือเพื่อสวัสดิการของตนเองและครอบครัว
 

หลักการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตจะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ และมีประสิทธิภาพจะต้องบริหารจัดการอยู่ภายใต้คุณธรรม 5 ประการ ดังนี้
1.ความซื่อสัตย์
2.ความเสียสละ
3.ความรับผิดชอบ
4.ความเห็นอกเห็นใจกัน
5.ความไว้วางใจกัน
 

แนวคิดของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีดังนี้
1. การรวมคนในหมู่บ้านให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยรวมคนที่มีฐานะแตกต่างกันให้ช่วยเหลือกัน อันจะเป็นการยกฐานะคนยากจน
2. การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเงินทุน โดยรวมกลุ่มกันออมเงินแล้วกู้ไปทำทุน
3. การนำเงินทุนไปดำเนินการด้วยความขยัน ประหยัดและถูกต้อง เพื่อให้ได้ทุนคืนและมีกำไรเป็นรายได้
4. การลดต้นทุนในการครองชีพ โดยการจัดตั้งศูนย์สาธิตการตลาด เป็นการรวมกันซื้อ-ขาย สามารถลดต้นทุนในการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค และปัจจัยการผลิต
 

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เมื่อดำเนินการระดมเงินออมมาได้ระยะหนึ่งจนสมาชิก มีความเข้าใจในการดำเนินงานกลุ่มแล้ว กลุ่มสามารถนำเงินทุนที่มีอยู่มาดำเนินกิจกรรมเพื่อ ช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาของสมาชิกและชุมชน โดยดำเนินกิจกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่
1. ด้านการพัฒนาอาชีพ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเป็นแหล่งเงินทุนให้สมาชิกกู้เงิน ไปประกอบอาชีพ ขยายการผลิต และเพื่อใช้เป็นสวัสดิการในครอบครัว โดยการดำเนินกิจกรรม การบริการเงินกู้
 
2. ด้านการพัฒนาระบบการจัดการทางธุรกิจ เป็นการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน เป็นการฝึกการดำเนินธุรกิจในระบบกลุ่ม และมุ่งหวังผล กำไรเพื่อนำไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มและการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกและชุมชน กิจกรรม เชิงธุรกิจที่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตดำเนินการ ได้แก่ ศูนย์สาธิตการตลาดเป็นร้านค้าที่กลุ่มฯ ลงทุนจัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงปัจจัยการผลิตให้ กับสมาชิก ยุ้งฉาง เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ลงทุนจัด ขึ้น เพื่อดำเนินการซื้อขายผลผลิตของสมาชิก 
 
ด้วยการรับซื้อ ขายฝาก หรือ ฝากขาย ทั้งนี้กลุ่มจะช่วยให้สมาชิกไม่ต้องขายผลผลิตอย่างเร่งด่วน ถูกกดราคา และเป็นการหากำไรให้กับกลุ่มฯ ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่กตั้งกลุ่มดำเนินการ ตามมติของสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาและความต้องการของสมาชิกและชุมชน เช่น ปั๊มน้ำมัน เพื่อจัดหาน้ำมันมาบริการแก่สมาชิกและประชาชนในราคายุติธรรม ลานตากผลผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิต มีความชื้น เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง โรงสีข้าว เพื่อแก้ไขปญัหาข้าวเปลือกราคาตกต่ำ โดยแปรรูปเป็น ข้าวสาร และส่งเสริมอาชีพเลี้ยงสัตว์โดยใช้รำและปลายข้าว กองทุนปุ๋ยชีวภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาดิน เสื่อมสภาพ การผลิตน้ำดื่มสะอาด โรงแป้งขนมจีน เป็นการฝึกหัดให้กลุ่มรู้จักดำเนินธุรกิจ
 
3. ด้านการสงเคราะห์และสวัสดิการ เป็นกิจกรรมที่กลุ่มดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ สมาชิกและคนยากจนในชุมชน ได้แก่ ธนาคารข้าว เป็นกิจกรรมที่กลุ่มฯ ดำเนินการเพื่อการสงเคราะห์ ช่วยเหลือโดยการให้กู้ ให้ยืม และให้เปล่า นอกจากนี้กลุ่มฯ นำผลกำไรส่วนหนึ่งจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ มาช่วยเหลือ สมาชิกที่เดือดร้อนและคืนสู่ชุมชน เช่น การรักษาพยาบาล ทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก ช่วยเหลือ การจัดงานศพสมาชิกการสงเคราะห์คนชรา การพัฒนาหมู่บ้านและบำรุงรักษาสาธารณประโยชน์ เป็นต้น
 

วัตถุประสงค์ของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
1. ส่งเสริมให้มีการประหยัดและออมเงินในรูปเงินสัจจะ
2. ให้บริหารเงินทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพและสวัสดิการของสมาชิก
3. ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดทำเงินทุนด้วยตนเอง
4. ส่งเสริมให้มีความสามัคคี การทำงานร่วมกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
5.ให้มีประสบการณ์ในการบริหาร และจัดการเงินทุนของตนเอง
 

เงินทุนของกลุ่ม
1. เงินสัจจะสะสมเป็นเงินที่ได้จากการออมของสมาชิกจำนวนเท่าๆกันทุกเดือนตามกำลังความสามารถเพื่อใช้เป็นทุนในการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตซึ่งจะจ่ายคืนเงินสัจจะสะสมเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพแล้วเท่านั้น ซึ่งกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล
2. เงินสัจจะสะสมพิเศษ เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก ที่มีเงินเหลือและประสงค์จะฝากเงินได้กับกลุ่ม ซึ่งสามารถถอนเงินออกไปใช้จ่ายเมื่อจำเป็น และกลุ่มจะจ่ายผลตอบแทนใน รูปแบบดอกเบี้ยตามระเบียบของกลุ่ม
3. เงินรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าสมัคร/ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ ดอกเบี้ย
4. เงินอุดหนุน จากส่วนราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น และองค์กรอื่น ๆ
 

สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตมี 3 ประเภท คือ
1.สมาชิกสามัญ ได้แก่บุคคลทุกเพศ ทุกวัยภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม ตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม
2. สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ กลุ่ม/บุคคล ภายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่สนใจและสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยไม่ประสงค์จะกู้เงินจากลุ่ม
3. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ข้าราชการ หรือคหบดี ที่สนใจและให้การสนับสนุนกลุ่มโดยไม่หวังผลตอบแทน
 
หน้าที่ของสมาชิก
1. ส่งเงินสัจจะสะสมเป็นประจำทุกเดือน
2. ส่งคืนเงินกู้ตามกำหนด
3. เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่ม
4. เข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี
5. มีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม
6. ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ดีแก่กลุ่ม
7. กำกับ ตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่ม
 
คณะกรรมการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ มี 4 คณะ ดังนี้
1. คณะกรรมการอำนวยการ จำนวน 5-9 คน มีหน้าที่ในการบริหาร จัดการกลุ่มออมทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่พึงพอใจของสมาชิก ตลอดจนเป็นตัวแทนของกลุ่มในการประสานงาน และติดต่อกับองค์กรภายนอก
 
2. คณะกรรมการพิจารณาเงินกู้ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการพิจารณาให้กู้ – ยืมเงิน ติดตามโครงการ และเร่งรัดหนี้สิน
 
3. คณะกรรมการตรวจสอบ จำนวน 3-5 คน มีหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีและผลการดำเนินงานของกลุ่ม
 
4.คณะกรรมการส่งเสริมจำนวนขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกและระเบียบข้อบังคับของกลุ่มมีหน้าที่ชักชวน ผู้สมัครใจสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มออมทรัพย์แก่สมาชิกประสานงานระหว่างสมาชิกกับกลุ่ม และกลุ่มกับสมาชิกให้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
 
กิจกรรมของกลุ่ม
1. กิจกรรมด้านการให้บริการรับฝากเงิน และการกู้ยืมเงิน
2. กิจกรรมด้านการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก
3. ขยายเครือข่ายและทำธุรกิจ เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด, โรงสี เป็นต้น
4. กิจกรรมในการพัฒนาสมาชิก เช่น การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน
 
 
ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์
1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงิน และนำเงินไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ โดยลดภาระการกู้ยืมเงินจากแหล่งอื่น ๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
 
2. พัฒนาคนให้มีคุณธรรม 5 ประการ คือ ซื่อสัตย์ เสียสละ รับผิดชอบ เห็นอกเห็นใจ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน
 
3. ฝึกประสบการณ์การบริหารเงินทุน ให้กับบุคคลในชุมชน
 
4. พัฒนาศักยภาพของคนในด้านต่าง ๆ เช่น การเป็นผู้นำ การปกครอง ตามระบบประชาธิปไตย
 
5. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา คิดและแก้ปัญหาของตนเองด้วยวิธีการทำงานร่วมกัน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สพอ.เมืองเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

เชียงราย 3 ปีซ้อน หลังวัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน ถูกเลือกเป็น 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ ปี 66

 

วันที่ 20 ก.ย. 2566 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินโครงการชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร เน้นใช้ “พลังบวร” เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชน และได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาชุมชนคุณธรรมฯ ในระดับต่าง ๆ รวมจำนวนกว่า 27,000 ชุมชน ทั่วประเทศ ในปี 2566 นี้ วธ. จึงดำเนินโครงการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2566 มุ่งเน้นยกระดับชุมชนคุณธรรมฯ สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อคัดเลือกชุมชนคุณธรรมฯ ที่มีศักยภาพ และความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ จำนวน 10 ชุมชน จากชุมชนคุณธรรมฯ ทั่วประเทศ เพื่อประกาศยกย่อง เชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจแก่ชุมชนและผู้ในการสนับสนุนการขับเคลื่อน พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดและขยายผลความสำเร็จไปยังชุมชนที่ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อยู่ดีมีสุข ดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม ปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ต่อไป

นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว อาทิ การมีผู้นำชุมชนเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการชุมชนที่ดี สมาชิกมีส่วนร่วมจัดกิจกรรม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) มีส่วนร่วมขับเคลื่อน มีอัตลักษณ์ของชุมชนมีความโดดเด่น อาทิ เป็นชุมชนที่มีความเชื่อหรือประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นที่น่าสนใจ มีสถานที่ สถาปัตยกรรม หรืออื่นๆ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว มีวัฒนธรรมและประเพณีที่สร้างประสบการณ์ร่วมให้กับนักท่องเที่ยวสนุกสนาน น่าสนใจ สร้างความประทับใจ มีศิลปะการแสดง ผลิตภัณฑ์ชุมชน สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชน มีภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้รู้ที่สามารถถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน รวมถึงอาหาร การบริการการท่องเที่ยว มีนักเล่าเรื่อง/ผู้นำทางแนะนำอัตลักษณ์ของชุมชนได้ เส้นทางคมนาคมที่สะดวก ง่ายต่อการเข้าถึง มีรถรับจ้าง รถสาธารณะบริการในชุมชน ตลอดจนที่พัก/โฮมสเตย์มีมาตรฐาน สะอาด สวยงาม เป็นต้น

 

สำหรับผลการคัดเลือกดังกล่าว ปรากฏว่าผลการคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2566 จำนวน 10 ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ และมีผลการดำเนินงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีดังนี้

1.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดท่าขนุน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

2.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านปากน้ำชุมพร ต.ปากน้ำ อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร

3.ชุมชนคุณธรรมฯวัดพระธาตุผาเงา ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

4.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่

5.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชัยชนะ จังหวัดยโสธร

6.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดบ้านหงาว ตำบลหงาว อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง

7.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่ามะขาม ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

8.ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

9.ชุมชนคุณธรรม ฯ บ้านท่าฉลอม ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร 10.ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านโนนกอก ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

“ขอแสดงความยินดีแก่ 10 ชุมชนทีได้รับรางวัล ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ ซึ่งทางกระทรวงวัฒนธรรมพร้อมสนับสนุน และจะประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ชุมชนได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดึงดูดนักท่องเที่ยว ตลอดจนประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และมุ่งหวังให้การท่องเที่ยวชุมชนในรูปแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จะสามารถสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” รมว.วธ. กล่าว

ทั้งนี้ จะมีพิธีมอบโล่ ให้แก่ผู้แทน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 2566 และลงพื้นที่เปิดชุมชนที่ได้รับคัดเลือกแต่ละแห่ง ในช่วงปลายปี 2566 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ และเป็นโมเดลต้นแบบขยายไปสู่ชุมชนอื่น ๆ ต่อไป

 

ซึ่งทางเพจ สวท. เชียงราย ได้โพสต์แจ้งข้อมูลว่า จังหวัดเชียงราย คว้า 3 ปีซ้อน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ปี 66 ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ทั้งนี้ ตลอดสามปีที่ผ่านมา จังหวัดเชียงราย ได้รับการพิจารณาให้เป็น สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ต่อเนื่องทั้งสามปี โดย

ปี 2564 ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย 

ปี 2565 ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย 

และปี 2566 ล่าสุด ได้แก่ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ทุกท่านสามารถเที่ยววัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

โดยมีรายละเอียดค่าบริการ
1.มีค่าบริการรถรับส่งท่านละ 30 บาท ขึ้น/ลง
2. แล้วก็บัตรเข้าชมสกายวอล์คท่านละ 40 บาท
เข้าขึ้นชมฟรี! สำหรับ
– ผู้สูงอายุ 80 ปี
– เด็กส่วนสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร
– พระภิกษุสงฆ์ สามเณร
หมายเหตุ : คุณครูโรงเรียนถ้าจะพานักเรียนมา ทัศนศึกษาให้ทำใบขอมาก่อนล่วงหน้า แล้วก็แต่งกายใสชุด ประจำโรงเรียน
 
ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่โทร 0612081998
เปิดให้เข้าชมสกายวอล์ทุกวัน
เวลาเปิดทำการ : 07.30 น.
เวลาปิดทำการ : 17.30 น.
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์ / คนเก็บภาพ แม่สาย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
CULTURE

กระทรวงวัฒนธรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ บ้านศรีดอนชัย และบ้านเมืองรวง เชียงราย

เมื่อวันที่ 5-8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม เอส รัชดา เลเชอร์ กรุงเทพมหานคร

กระทรวงวัฒนธรรม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 5- 8 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม เอส รัชดา เลเชอร กรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ในด้านการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว เตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
 
วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (Cultural Product of Thailand : CPOT) ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีนางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วิทยากร ผู้ประกอบการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เข้าร่วม จำนวน 70 คน
 
การอบรมฯ ในวันนี้มุ่งเน้นการเรียนรู้การนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าทางวัฒนธรรม การพัฒนาต่อยอดสินค้าทางวัฒนธรรม การยื่นคำขอจดลิขสิทธิ์ การขยายช่องทางการจำหน่ายและสร้างเครือข่ายทางการค้า
 
วันที่ 7 มิถุนายน 2566 กิจกรรม Workshop เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไทย นำเสนอแบบแนวคิดในการพัฒนาสินค้า
 
วันที่ 8 มิถุนายน 2566 ศึกษาดูงาน ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี และชุมชนคุณธรรมฯ บ้านจอมปลวก จังหวัดสมุทรสงคราม
 
ในการนี้ จังหวัดเชียงราย มีผู้ประกอบการเข้าร่วมประชุม จำนวน 2 แห่ง คือ
1. ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปี 2564 ผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ผ้าทอไทลื้อศรีดอนชัย และผลิตภัณฑ์ กระเป๋าและตุ๊กตาไทลื้อศรีดอนชัย
 
2. ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปี 2565 ผู้ประกอบการ จำนวน 2 ราย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ กาแฟอาข่ามิโน และผลิตภัณฑ์ ผ้าปักเมืองรวง
 
ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางกัลยา แก้วประสงค์ และนายจิรัฏฐ์ ยุทธ์ธนประวิช นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ กลุ่มกิจการพิเศษ เข้าร่วมอบรมและอำนวยความสะดวกเครือข่ายวัฒนธรรมตลอดการจัดกิจกรรมนี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

กฤษยา จันแดง,กัลยา แก้วประสงค์ : รายงาน
จิรัฏฐ์ ยุทธ์ธนประวิช : ภาพ
อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว
 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News