Categories
SOCIETY & POLITICS

“หมอชลน่าน” หนุน เครือข่ายฯ ร่วมสร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า

 
เมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อาคารเฉลิมพระบารมี ๕๐ ปี  แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมมหกรรมวิชาการฟ้าใส 2567 “ปกป้องสุขภาพของคนไทยห่างไกลควันบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” และมอบรางวัลเพชรนคราอวอร์ด ประจำปี 2567 ให้แก่องค์กรและบุคคลที่มีผลงานในการควบคุมยาสูบด้านต่าง ๆ จำนวน 65 รางวัล โดยมี ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ รศ. นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาธิการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ บุคลากรวิชาชีพสุขภาพ และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน
 

         นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอันดับ 1 ของประชากรทั่วโลก และทำให้คนไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึงปีละกว่า 70,000 คน ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนปีละกว่า 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันประเทศไทยมีกระบวนการควบคุมการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากร้อยละ 35 ในปี 2532 เหลือร้อยละ 17.4 ในปี 2564 ซึ่งนับเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมของทุกภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์การควบคุมยาสูบของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีรูปลักษณ์ที่เย้ายวนใจให้กลุ่มเด็กและเยาวชนทดลองสูบ โดยจากการสำรวจล่าสุด ในปี 2566 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนและสตรีเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2566 ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการแก้ไขจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างตามมา ทั้งด้านสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
 

          นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การเข้าถึงกระบวนการเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยาเลิกบุหรี่มาตรฐานมีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน ซึ่งต้องขอบคุณสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ที่ได้จัดตั้งเครือข่ายคลินิกฟ้าใส เป็น one stop service ให้บริการเลิกยาสูบโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ ปัจจุบันมี 563 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และขณะนี้องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาเลิกบุหรี่ที่ชื่อว่า Cytisine ได้แล้ว จึงนับเป็นโอกาสดีที่คนไทยจะได้เข้าถึงยาชนิดนี้ต่อไป
 

          “การดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การสนับสนุนสร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าลดจำนวนผู้สูบปัจจุบัน ป้องกันผู้สูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น สร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ฟ้า ไม่ให้หลงเชื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ” นพ.ชลน่านกล่าว
 

          สำหรับการประชุมในวันนี้ เครือข่ายหลายภาคส่วน อาทิ เครือข่ายคลินิกฟ้าใส สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุรี่ และเครือข่ายสถานประกอบการปลอดบุหรี่ จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน ข้อมูลสถานการณ์ของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ๆที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้ เพื่อนำไปปรับใช้ตามบริบทพื้นที่ และเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นๆ ได้ร่วมกันสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และปลอดภัยจากพิษของบุหรี่
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
EDITORIAL

ห่วงเด็กไทย ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า “สร้างมายาคติ ความเชื่อผิดๆ”

 

รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอนามัยชุมชนและหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผย ผลการวิจัย ‘การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษาและการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน’ ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า เด็ก 9.6% มีประสบการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในรอบ 30 วันที่ผ่านมา และที่สำคัญเด็กที่ไม่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า 17.6% มีความตั้งใจที่จะทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอนาคต

“ทั้งนี้พบว่า เด็กขาดความรู้และมีความเชื่อที่ไม่ถูกต้องต่อบุหรี่ไฟฟ้าใน 10 เรื่อง ดังนี้ 1) 49.2% เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่ยอมรับในกลุ่มวัยรุ่น 2) 40.5% ไม่รู้ว่าการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองผิดกฎหมาย 3) 39.3% ไม่รู้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะผิดกฎหมาย 4) 39.3% ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย 5) 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 6) 36.6% ไม่เชื่อว่าการได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้ามือสองมีอันตรายต่อสุขภาพ 7) 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) 8) 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้ 9) 21.8% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่แบบมวนได้ และ 10) 20.5% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่แบบมวน” รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากผลการวิจัยดังกล่าว น่าเป็นห่วงที่เด็กไทยได้รับมายาคติความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า จากธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าที่พยายามทำการตลาดบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน ทั้งๆ ที่มีนิโคตินเท่ากันหรือมากกว่าบุหรี่มวน จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อทุกระบบของร่างกายโดยเฉพาะต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงเสนอให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บุคลากรสาธารณสุข ครู ผู้ปกครอง เร่งพัฒนามาตรการเสริมสร้างความรู้และความเชื่อที่ถูกต้องให้กับเด็ก รวมทั้งสื่อมวลชนทุกแขนงควรมีจรรยาบรรณเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้สาธารณะทราบ ซึ่งจะเป็นการสร้างภูมิป้องกันให้เด็ก รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งมีความรู้ด้านกฎหมาย ที่บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย ทั้งห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามครอบครอง และห้ามสูบในที่สาธารณะ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

หายนะ “บุหรี่ไฟฟ้า” คืบคลานสู่ “เด็ก” ที่อายุน้อยลงมาก

 

จากข่าวเหตุการณ์สะเทือนอารมณ์ที่มีคุณแม่หัวใจสลายที่รับทราบว่าลูกสาววัย 9 ขวบ ไปลองดูดบุหรี่ไฟฟ้าเพราะเพื่อนที่โรงเรียนชวน ซึ่งได้มีจิตแพทย์เด็กได้ให้คำแนะนำในการดูแลลูกและเตือนว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ประมาท เลิกคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องไกลตัวแล้วนั้น  รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กอายุเพียง 9 ปี หรือวัยประถมศึกษา นับเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่ง เพราะอายุเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าน้อยลงกว่าอายุเฉลี่ยของการเริ่มสูบบุหรี่มวนที่มักจะเริ่มสูบที่อายุ 18 ปี หรือชั้นมัธยมปลาย ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอื่นๆ 

 

ที่ผ่านมาจึงมักจะเริ่มสำรวจในเด็กระดับชั้นมัธยมต้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2562 การสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (อายุราว 13 ปี) ทั่วประเทศ จากกลุ่มตัวอย่าง 6,045 ราย พบว่า อัตราการสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าของเด็ก ม.1 อยู่ที่ร้อยละ 7.2 และ 3.7 ตามลำดับ โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเรียงจากสูงสุดจากงานวิจัย ดังนี้ 1) การที่พ่อแม่สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็น 6.1 เท่า 2) การที่ไม่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย เพิ่มความเสี่ยง 5.3 เท่า และ 3) การที่มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยง 3.8 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้จากการติดตามเด็กกลุ่มนี้เป็นเวลา 1 ปี พบเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้มีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า

 

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การที่พบว่าเด็กอายุน้อยขนาดนี้ ไปลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นประเด็นที่สังคมไทยจะต้องตระหนักอย่างจริงจัง เพราะแสดงว่าหายนะจากบุหรี่ไฟฟ้ากำลังคืบคลานไปสู่เด็กไทยที่มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูงสุด เมื่อลองแล้วจะเสพติด ที่อันตรายที่สุดคือนิโคตินจะทำลายสมองที่กำลังพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี 

 

โดยเฉพาะหากเสพตั้งแต่อายุน้อยกว่า 14 ปี โดยการป้องกันลูกจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความระมัดระวังและหมั่นเอาใจใส่ดูแลลูกรวมถึงให้ความรู้ในประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ามากยิ่งๆ ขึ้น ให้มีทักษะชีวิตอย่าให้ลูกไปริลอง และโรงเรียนต้องมีหลักสูตรให้ความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า ที่สำคัญรัฐบาลต้องจัดบรรยากาศที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าทั้งที่โรงเรียนและชุมชน นั่นคือบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดในการห้ามนำเข้า ห้ามขายและห้ามโฆษณาโดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องหายนะนี้จากเด็กไทย

อ้างอิง: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/36104174. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34319044.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

อังกฤษชื่นชมไทย ตัดสินใจรวดเร็ว “ห้ามนำเข้า ห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า”

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2566 สองวันหลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียประกาศนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ British Medical Journal ชองประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ความเห็นทางวิชาการว่า นโยบายการปราบปรามอย่างเด็ดขาดดังกล่าว เพราะความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของบุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมืด จะส่งผลให้มีการเสพติดในกลุ่มเยาวชนเพิ่มมากขึ้น โดยระบุว่า การแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนมิใช่ความเสี่ยง แต่เป็นหายนะทางด้านสาธารณสุข ในขณะที่ยกตัวอย่างประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการใช้มาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า มาตั้งแต่ พ.ศ.2557

“ซึ่งแนวคิดการห้ามบุหรี่ไฟฟ้านี้ มีพื้นฐานจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) ดังนี้ 1) บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดและสารพิษต่างๆ เทียบเท่ากับหรือมากกกว่าบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อทุกระบบของร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งผู้สูบและผู้อยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะทำลายสมองของเยาวชน 2) ไม่มีหลักฐานงานวิจัยยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่มวน 3) บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่มวนหรือสารเสพติดประเภทอื่นในเยาวชนต่อเนื่องตลอดชีวิต 4) ด้วยรูปลักษณ์และสารปรุงแต่งกลิ่นรสของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความยั่วยวนใจ ให้วัยรุ่นหันมาทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการโหมโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการระดมขายในสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้ที่นิยมใช้สื่อเหล่านี้คือเยาวชน จึงเกิดการระบาดอย่างกว้างขวางในกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้เสรีภาพของเยาวชนเป็นหลักการที่สำคัญ แต่ไม่ควรถูกบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้านำมาบิดเบือนหลอกล่อโดยการตลาดล่าเหยื่อให้เสพติดเป็นนักสูบหน้าใหม่ และ 5) บทเรียนและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ พบว่ายังไม่มีมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึง และริลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ ดังนั้นการคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และเร่งบังคับใช้กฎหมาย เป็นสิ่งที่ดีที่สุด” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

ในเรื่องที่ไทยได้รับการชื่นชมนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า น่าสนใจที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังระบาดในเด็กนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ โดยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 สิงหาคม นี้ มีวาระ 6.4 ที่เสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาผลประโยชน์ของการมีกฏหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของความเป็นจริงในประเทศไทย สิ่งที่อยากจะฝากถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันคือ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นศึกษาปัญหาบุหรี่มาแล้ว 2 ชุด เกิดการแทรกแซงของล็อบบี้ยิสต์บริษัทบุหรี่ ถึงขนาดมีการตั้งแกนนำล็อบบี้ยิสต์บุหรี่ไฟฟ้า 2 คน เข้าเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการชุดหนึ่ง ซึ่งขัดกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมี ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ห้ามแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่พิจารณานโยบายควบคุมยาสูบ จึงหวังว่ากรรมาธิการวิสามัญที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่จะตั้งขึ้น จะไม่เกิดเหตุการณ์ดังที่เกิดขึ้นกับกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
HEALTH

เตือน บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพ ไม่น้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน

 

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายพิษร้ายต่อสุขภาพ” ของกรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก ที่ออกคำเตือนบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะทำลายสุขภาพและเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคต่าง ๆ แล้ว ยังอันตรายไม่น้อยไปกว่าการสูบบุหรี่มวนทั่วไปอีกด้วย จึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังผู้สูบบุหรี่ ควร ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ

นายอนุชาฯ กล่าวถึงข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของใหม่ที่ผู้สูบหันมานิยมสูบมากขึ้น เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา และเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะปลอดภัย อันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิม ๆ แต่ความจริงแล้วสารประกอบในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษที่อันตรายไม่ต่างกว่าบุหรี่มวนทั่วไป มีสารนิโคตินเหลวซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่านิโคตินในบุหรี่มวนปกติ โดยในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีสารประกอบ ได้แก่ 

1) นิโคติน (Nicotine) ที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ทําให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ 

2) โพรไพลีนไกลคอล (Propylene glycol) เป็นสารสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ดวงตาและปอด โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง 

3) สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) และ 

4) กลีเซอรีน (Glycerin) โดยบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโทษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ หายใจไม่ออก ไอ จาม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ระคายเคืองในช่องปากและคอ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ หากได้รับไปนาน ๆ จนเกิดการสะสมจะทำให้เกิดอาการ เยื่อหุ้มฟันอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ต้อกระจก ซีด นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ชัก วิตกกังวล ซึมเศร้า ปวดบวม จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา 

นอกจากนี้ กรมการแพทย์ยังระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสูบบุหรี่ สร้างความร้อนและไอน้ำด้วยแบตเตอรี่จึงไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้ ส่วนประกอบสำคัญคือ “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” ที่มีส่วนผสมหลัก คือนิโคตินที่เป็นพิษร้ายต่อร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหดตัว เหนื่อยง่าย ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดรวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ยังมีสารโพรไพลีนไกลคอล และสาร Glycerol/Glycerin และสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่าการสูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าล้วนมีสารพิษที่ให้โทษต่อร่างกาย 

ขณะที่ข้อมูลกรมอนามัย เผยว่า การสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากได้มากถึง 10 เท่า หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและจำนวนปีที่สูบ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบอื่น ๆ จากการสูบบุหรี่ คือ คราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนผิวฟัน วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี มีกลิ่นปาก ความสามารถในการรับรสลดลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดฟันผุ และการสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม จากการมีคราบเหนียวของน้ำมันดินในบุหรี่ติดแน่นบนตัวฟัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการขัดออกนาน ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง รักษาไม่หายขาด

“สำหรับแนวทางการลด ละ เลิก ตามคำแนะนำของกรมการแพทย์ สิ่งที่สําคัญที่สุดในการเลิกบุหรี่ คือตัวผู้สูบเอง ด้วยการตั้งเป้าหมาย เช่น การลดปริมาณการสูบบุหรี่ให้น้อยลง ปฏิเสธเมื่อถูกชวน หากมีอาการอยากสูบสิ่งที่ต้องทำคือเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อไม่ให้มีการหยิบบุหรี่ขึ้นมาสูบ เช่น การหักดิบ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ทำ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็มีส่วนต่อการช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงกำลังใจจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง โดยการเลิกบุหรี่ให้หายขาดไม่ใช่เรื่องยาก เพียงทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้ไม่กลับไปสูบบุหรี่ได้ รวมทั้งยังส่งผลให้ผิวพรรณสดใส สุขภาพร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายอีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว  

ทั้งนี้ สถาบันโรคทรวงอก เปิดให้บริการคลินิกอดบุหรี่ ในทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8.30 – 16.30 น. หยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยมีการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ โดยบุคลากรทางการแพทย์ เฉพาะทาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเปิดบริการ อดบุหรี่ด้วยยา ทุกวันพุธ เวลา 08.00 น.– 12.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02-5470999 ต่อ 30927 รวมทั้ง กรมอนามัยเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคก่อนมะเร็งช่องปากได้ที่คลินิกทันตกรรมของรัฐทุกแห่ง เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ ประชาชนสามารถตรวจรอยโรคในช่องปากได้ด้วยตนเอง หากมีรอยโรคแดง ขาว แผลหรือก้อนที่ไม่หายใน 3 สัปดาห์ก็ควรมาพบทันตแพทย์หรือแพทย์เพื่อการตรวจรักษาต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมการแพทย์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News