Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

คาดการณ์ บ้านป่าข่า อ.ขุนตาล จมน้ำอยู่อีกประมาณ 1 เดือน

 

เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 67 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ เดินทางจากท่าอากาศยานฝูงบิน 466 กองทัพอากาศ จ.น่าน ไปที่สนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่บ้านหนองบัว ม.5 ต.สันทรายงาม อ.เทิง จ.เชียงราย และบ้านหล่ายงาว ม.1 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย 


        โดยก่อนที่จะเดินทางลงพื้นที่ประสบภัย คณะของนายภูมิธรรม ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชนจาก นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ณ ห้องรับรองท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง หลังจากรับฟังรายงานแล้ว รองนายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางด้วยรถยนต์ไปที่บ้านหนองบัว ม.5 ต.สันทรายงาม อ.เทิง และเดินทางต่อไปที่บ้านหล่ายงาว ม.1 ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น เพื่อพบปะให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย


สำหรับสถานการณ์น้ำที่จังหวัดเชียงราย ตอนนี้พื้นที่ทีมีปัญหาน้ำท่วมจะเป็นที่อำเภอขุนตาล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รับมวลน้ำต่อจากอำเภอเทิง บวกกับมวลน้ำที่มาจากจังหวัดพะเยาไหลมาสมทบ จนทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำอิงล้นฝั่ง เอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 ตำบลคือตำบลต้าและตำบลป่าตาล ขณะทื่การให้ความช่วยเหลือนั้น จังหวัดเชียงรายระดมกำลังทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่  

โดยพื้นที่ บ้านป่าข่า ม.8 ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ประสบอุทกภัยจากน้ำอิงที่เอ่อท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร มีชาวบ้านเดือดร้อนกว่าครึ่งหมู่บ้าน วันนี้กองทัพบกได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน โดยนำเรือท้องแบนมาบรรทุกถุงยังชีพไปแจกจ่ายผู้ประสบอุทกภัย และตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน

นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าข่า ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำก็ได้เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยได้ประสานขอหน่วยงานจากทหาร หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 35 สำนักงานพัฒนาภาค3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นพค.35) นำเรือท้องแบนมาช่วยเหลือชาวบ้าน เพื่อส่งสิงของให้ชาวบ้านที่ยังจมน้ำ บางรายก็ออกมาได้ บ่งรายก็ออกมาไม่ได้ ตอนนี้ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐบาล ขอให้เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้ทางหมู่บ้านได้รับความลำบากมาที่สุด มีบ้านเรือนที่จมน้ำ และออกบ้านได้ประมาณ 70 หลังคาเรือน ซึ่งบ้านป่าข่าเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำอิงที่มีต้นน้ำมาจาก กว๊านพะเยา ซึ่งคาดว่าหมู่บ้านจะจมน้ำอยู่แบบนี้ไปอีกประมาณ 1 เดือน ทางชาวบ้านก็ขอขอบคุณหน่วยงานต่าง งภาคเอกชนและราชการที่มาช่วยเหลือชาวบ้าน

พันตรี วัลลภ เสือโฮก หัวหน้าศูนย์บรรเทาสาธารณภัย พัฒนาสำนักงานพัฒนาภาค 3 กล่าวว่า ทางทหารหน่วยพัฒนา ได้มีการนำชุดเคลื่อนที่เร็วจำนวน 2 ชุด เรือท้องแบน และรถครัวสนามเข้ามาช่วยเหลือประชาชน โดยตั้งครัวพระราชทานอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอเทิง เพื่อสนับสนุนอาหารให้กับผู้ประสบภัย โดยได้ประสานงานกับผู้ใหญ้บานในการช่วยเหลือ นำอาหารไปส่งให้กับชาวบ้านและรับผู้ที่จะออกจากหมู่บ้านออกมา ในการเคลื่อนย้าย ปัจจุบันมีการ้องขอ 2 พื้นที่คือ บ้านป่าข่า และบ้านต้า อ.ขุนตาล ซึ่งเป็นจุดที่มีประชาชนได้รับการเดือดร้อน และยังมีเรือท้องแบบอีก 2 ลำที่จะเข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย / Poom Pakpoom Wilai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

“สุดาวรรณ” ห่วงสถานการณ์น้ำท่วม ‘วัดเสาหิน’ โบราณสถาน จ.เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยของโบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนืออย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้รายงานว่ามีสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานในพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ตั้งอยู่ ณ วัดสองแคว ต.ป่าแมต อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ มีมวลน้ำมาเร็ว ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เร่งระดม เคลื่อนย้ายของ และเครื่องประกอบเกียรติยศประกอบศพโดยทันที เพราะหากน้ำสูงกว่านี้สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหาย ขณะนี้ได้มีข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่ ได้ออกประกาศ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์อุทกภัย การติดต่อขอรับพระราชทาน จากเดิม ณ ห้องงานประสานขอรับพระราชทานเพลิงศพ ศาลากลางจังหวัดแพร่ ทางทายาทของ ผู้วายชนม์ผู้ประสงค์ขอรับพระราชทาน สามารถติดต่อขอรับพระราชทานได้ที่ 1. ห้องประชุม เทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ 2. เบอร์โทรศัพท์ 065 523 4058 081 137 5191, 081 297 8396 , 086 911 4844 3.Facebook : กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในการนี้เพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธีในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานของกลุ่ม พิธี การศพที่ได้รับพระราชทานและกลุ่มอํานวยการพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและต่อเนื่องโดยเฉพาะจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการ ณ์อุทกภัยและอยู่ระหว่างเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยจึงขอให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1. ดําเนินการขนย้ายเครื่องเกียรติยศประกอบศพและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีการศพ ที่ได้รับพระราชทานไปเก็บรักษาไว้ในที่ที่ปลอดภัย 2. แ จ้ ง ประกาศชี้แจงรายละเอียดช่องทางการติดต่อขอพระราชทานเกี่ยวกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานและการปฏิบัติหน้าที่ ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานตามหมายรับสั่งในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยให้มีการประกาศชี้แจงรายละเอียดช่องทางที่สาม ารถติดต่อขอรับบริการให้เจ้าภาพ / ทายาทและประชาชนในพื้นที่ทราบ 3. จังหวัดที่เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยขอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธีติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวัง อุทกภัยที่อาจะเกิดขึ้นในพื้นที่และให้เตรียมพร้อมในการขนย้ายเครื่องเกียรติยศ ประกอบศพ และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในพิธีการศพที่ได้ รับพร ะราชทาน 4.รายงานสถานการณ์อุทกภัยที่ได้รับผลกระทบและความต้องการในการขอรับ ความช่วยเหลือให้กองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมทราบโดยด่วน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า ในส่วนกรมศิลปากรรายงานว่าจากกรณีฝนตกต่อเนื่องหลายวันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง น้ำหลากท่วมทุ่งในหลายพื้นที่ของจังหวัดน่าน พะเยาและเชียงราย ขณะนี้กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้ลงพื้นที่และประสานงานกับเครือข่ายอาสาสมัครในการดูแลมรดกศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ดังกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อโบราณสถานในพื้นที่ 3 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดน่าน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.วัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งมีโบราณสถานคือ วิหารที่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังน้ำท่วมขึ้นถึงภายในวิหาร แต่ยังไม่ถึงภาพจิตรกรรมซึ่งสูงกว่าระดับน้ำท่วมประมาณ 50 ซม ดังนั้น ภาพจิตรกรรม จึงไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วม 2.วัดภูมินทร์ อำเภอ เมือง จังหวัดน่าน โบราณสถานคือวิหารจตุรมุขที่ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง (ปู่ม่านย่าม่าน) ปัจจุบันน้ำยังท่วมไม่ถึงด้านบนวิหาร เนื่องจากอาคารนี้เป็นอาคารที่มีฐานสูงและบันไดสูงไปถึงพื้นด้านบนวิหารน้ำจึงท่วมเพียงบันไดเท่านั้น และ 3.พิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ปัจจุบันน้ำยังไม่ท่วมเข้ามาในพื้นที่เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณที่สูงที่สุดของเมืองน่าน เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดเวลาและให้นำรถยนต์เข้ามาจอดภายในได้ในช่วงนี้เพื่อบรรเทาความเสียหายของทรัพย์สินประชาชน

ขณะที่ จังหวัดพระเยามีโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบคือ เมืองโบราณเวียงลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เมืองนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำอิง น้ำจึงล้นฝั่งท่วมทั้งเมืองโบราณสถานจึงมีน้ำท่วมขังหลายแห่งแต่ไม่พบความเสียหายของตัวอาคาร ส่วนที่จังหวัดเชียงราย โบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ คือวัดเสาหิน เป็น วิหารและเจดีย์ขนาดใหญ่ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่รอบอาคารแต่ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายของตัวอาคาร

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กรมศิลปากร ได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 2.รับฟังข้อมูลจากอาสาสมัครฯ ของกรมศิลปากรที่อยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 3.หลังจากน้ำลดให้เข้าพื้นที่สำรวจตรวจสอบสภาพและความเสียหายโดยด่วน โดยเฉพาะงานศิลปกรรมที่ได้รับความเสียหายต้องได้รับการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน 4.วางมาตรการลดความเสี่ยงของโบราณสถานในช่วงฤดูฝนนี้ หากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องครั้งต่อไป เช่น ปกป้องน้ำไม่ให้ท่วมเข้าไปในอาคารโบราณสถานอีก หรืออื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และ 5.หากพบความเสียหายต่ออาคารโบราณสถานให้รีบแจ้งกรมศิลปากรเพื่อดำเนินการฉุกเฉินเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมในส่วนกระทรวงวัฒนธรรม รู้สึกเป็นห่วงและขอเป็นกำลังใจให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคน จึงได้ สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยใช้สายด่วนวัฒนธรรม 1765 ในการรับแจ้งข้อมูลและรวบรวมข้อมูลหน่วยงานในสังกัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน รวมไปถึงแหล่งโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย เพื่อสรุปข้อมูลสำหรับลงพื้นที่สำรวจและตรวจสอบสภาพความเสียหายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย รวมถึงจัดทำแผนช่วยเหลือเบื้องต้น และบูรณะซ่อมแซมในอนาคตต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงวัฒนธรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

สทนช. ทำหนังสือด่วนประสานจีน ชะลอระบายน้ำเขื่อนลงแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 16.30 น. นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบายน้ำอิงสู่น้ำโขง ณ สะพานบ้านเต๋น ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ติดตั้งเครื่องดันน้ำของโครงการชลประทานเชียงราย เพื่อดันน้ำจากแม่น้ำอิง ลงแม่น้ำโขง บริเวณปากอิง ต.ศรีดอนชัย ที่อยู่ห่างจากสะพานนี้ประมาณ 1 กม. โดยมีนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย และนายอุดม ปกป้องวรกุล นายอำเภอเชียงของ และผู้นำชุมชน ต.ศรีดอนชัย และต.สถานให้การต้อนรับ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดไม่ได้อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้น้ำเอ่อ แต่พยายามทำให้ลงแม่น้ำโขงเร็วที่สุดระยะทางจากพะเยากว่า 100 กม.เพื่อไม่ให้ประชาชนระหว่างทางเดือดร้อน ทั้งที่อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล ที่เป็นทางผ่านของแม่น้ำอิง ซึ่งได้รับความเสียหายกันมาก ผสมกับเราเจอน้ำป่า ร่องกดอากาศต่ำพาดผ่าน สังเกตว่าทำไมตกอยู่แต่ที่เชียงราย เป็นเวลาเดือนกว่า ยังไม่ผ่านไปเลย แต่ยังอยู่ที่เชียงรายอยู่

“วันนี้ฝนยังตกเรื่อย ๆ น้ำจากจังหวัดอื่นก็มาสะสม ไหลมารวมกันที่บ้าน พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ประสบกันทั่วหน้า ภาพรวมที่ติดริมน้ำอิง ตั้งแต่เทิง ลงมาพญาเม็งราย และขุนตาล เชียงของ เป็นปลายทางน้ำอิงลงน้ำโขง ที่สังเกตว่าเป็นลานีญา เห็นว่าตกสะสมจึงวันที่ 23 ส.ค. รวม 600 กว่ามิลลิเมตรแล้ว เทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2566 รวม 200 กว่ามิลลิเมตรเอง 3 เท่าของปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่ครบเดือน อยากเตือนพี่น้องประชาชน เป็นประเด็นปัญหาที่ป้องกันแก้ไขด้วย”ผวจ.เชียงราย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีการเตรียมสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงซึ่งห่างจากชายแดนไทยเพียง 96 กม.ทำให้อนาคตยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อีกหรือไม่ นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้รัฐบาลดูแล ทราบว่ารัฐบกาลกำลังเจรจาอันนี้เป็นเรื่องเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้เร่งเจรจากำลังทำอยู่ ส่วนตนมีหน้าที่รักษาพื้นที่ภาย ทำอย่างไรให้เราเดือดร้อนน้อยที่สุด และเร่งน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด “เรื่องนี้ผมไม่สามารถตอบได้ ต้องเป็นรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศ”

ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ระดับน้ำล่าสุดในแม่น้ำโขงวัดที่อำเภอเชียงของ พบว่าปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งโดยวัดล่าสุดในช่วง 18.00 น.อยู่ที่ 10.30 เมตร

เย็นวันเดียวกัน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด

โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำโขงในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

สทนช. จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษา วิเคราะห์ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวโน้ม คาดการณ์ วัน เวลา และปริมาณน้ำสูงสุด (Peak) และการสิ้นสุดของสถานการณ์ ณ สถานีต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขง 8 จังหวัดของประเทศไทย

โดยให้รายงานผลการดำเนินงานและมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแนวทางและมาตรการให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ทราบและช่วยกันดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย

นอกจากนี้ยังขอให้ MRCS ประสานงานกับ สปป.ลาว เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ระดับน้ำลดลงจากการล้นตลิ่งของแม่น้ำโขง พร้อมทั้งให้ประสานงานกับจีน เพื่อแจ้งสถานการณ์ในปัจจุบันของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้จีนชะลอการปล่อยน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ตลอดจนติดตามสถานการณ์การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการแจ้งเตือนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนริมโขงให้มากที่สุด โดย สทนช. จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำและประสานงานร่วมกับ MRCS อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวชายขอบ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ภูมิธรรม ควง อนุทิน ลุยน้ำท่วมเชียงราย ไม่เจอตัวผู้ว่าฯ ไม่แน่ใจว่าติดภารกิจ

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย ทั้งนี้ นายภูมิธรรมและนายอนุทินพร้อมคณะได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ ณ ที่ว่าการอำเภอเทิง จากนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง เนื่องจากนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไม่อยู่ในพื้นที่ จากนั้นคณะรองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยที่สถานีขนส่งอำเภอเทิง

นายภูมิธรรมกล่าวว่า การลงพื้นครั้งนี้ เนื่องจากทางรัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะน้ำมาเร็วและแรง ซึ่งรับทราบว่าในพื้นที่มีประชาชนเสียชีวิตแล้ว 1 คน โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เองก็มีความห่วงใยประชาชน แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ได้สั่งการให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนให้ช่วยดูแลพี่น้องประชาชนที่ลำบากอยู่ให้เร็วที่สุด ซึ่งก็น่าดีใจที่ตอนนี้น้ำหลากลดลง ด้วยปกติเชียงรายน้ำจะไหลลงแม่น้ำโขง แต่ขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงสูงจึงมีน้ำรอระบาย จึงให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลประชาชน กระทรวงคมนาคมดูแลในส่วนว่ามีจุดใดกีดขวางทางน้ำหรือไม่ แต่ในภาพรวมแล้วสถานการณ์เบาบางลง เพียงแต่การระบายต้องใช้เวลา ฝากกับทางรองผู้ว่าฯไปด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ควรสรุปเป็นบทเรียน จะได้เตรียมการรองรับต่อไปเนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงมรสุม

“ตอนนี้ทางจังหวัดต้องเตรียมการทำงาน คุยกับรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านก็ได้สั่งการให้ทุกส่วนจัดตั้งศูนย์ดูแลเหตุการณ์อย่างเต็มที่ แต่ก็น่าเสียใจที่วันนี้มาแล้วไม่เจอตัวผู้ว่าฯ ไม่แน่ใจว่าติดภารกิจอะไร ภาวะแบบนี้ควรต้องลงมาดู มาอยู่กับประชาชนเพื่อจะได้เข้าใจปัญหา หาทางบรรเทาให้พี่น้องประชาชน แต่ถึงแม้ผู้ว่าฯไม่อยู่ ก็ขอให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ลงพื้นที่ดูแล ส่วนของเครื่องไม้เครื่องมือรัฐมนตรีมหาดไทยท่านก็สั่งการแล้ว ส่วนของอาหารก็มาจากหลายทาง มีโรงครัวพระราชทานเข้ามาหลายคัน เข้ามาดูแลเรื่องอาหารการกิน เอกชนก็เข้ามา หน่วยจิตอาสาเข้ามาช่วยกันแพคของ เป็นเวลาที่ได้พึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงช่วยราษฎร ทางกระทรวงพาณิชย์เองวันนี้ปลัดมาลงพื้นที่ด้วย จะได้ดูและประสานสิ่งที่ยังขาดเข้ามาช่วยเหลือต่อไป” นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม จะเข้ามาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อีก โดยได้สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมถุงยังชีพไว้แล้วอย่างน้อยน่าจะได้เข้ามา 5,000 ชุด และจะได้หารือการช่วยเหลือกับเพิ่มเติมกับทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แต่ขอฝากพี่น้องประชาชนว่ารัฐบาลมีความห่วงเป็นใย และเรากังวลที่เห็นพี่น้องลำบากและพยายามทำงานเต็มที่เพื่อบรรเทาปัญหาของพี่น้องให้เร็วที่สุด

ด้านนายอนุทินกล่าวว่า การช่วยเหลือทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนเครื่องจักรสาธารณภัย เช่นรถแบ๊กโฮ ขุดตัก เกลี่ยดินที่ถล่มลงมาในพื้นถนน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสัญจรได้ และขอฝากให้ผู้ว่าฯรีบกลับมาเชียงรายด้วย คนเชียงรายรออยู่

ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจใน จ.เชียงราย คณะของนายภูมิธรรมและนายอนุทิน ได้เดินทางไปจังหวัดน่านเพื่อลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยใน อ.เมืองน่าน และ อ.ภูเพียง 

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากการลงพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือแล้ว นายอนุทินยังได้มอบหมายให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่เพื่อติดตามเหตุการณ์อุทกภัยและดินสไลด์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยนายชาดา พร้อมคณะได้ลงพื้นที่สำรวจจุดเกิดเหตุ ที่หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต รับฟังรายงานสถานการณ์ในภาพรวม พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย จากนั้นร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ จิตอาสา ภาคประชาชนประมาณ 100 คน ดำเนินกิจกรรม Big Cleaning Day ปัดกวาด เคลียร์พื้นที่เกิดเหตุด้วย

“นายอนุทินให้ความสำคัญกับการติดตามเหตุการณ์ดินสไลด์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีการกำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ดูแลความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ วันนี้จึงได้มอบหมายให้นายชาดาลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ล่าสุด พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

หน่วยงานเร่งบรรเทาความเดือดร้อนเส้นทาง ภูซาง-ภูชี้ฟ้า-ผาตั้ง ดินสไลด์-ถนนทรุด

 

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 67 จากกรณีที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย ทำให้เกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม ดินสไลด์ ถนนขาด ในหลายจุดของ อ.เทิง และ อ.เวียงแก่น กรมทางหลวงเร่งดำเนินการซ่อมแซมถนนเชื่อมทางสัญจร ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอเทิงยังคงทรงตัว หลายหน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือ

ถนนทางหลวงหมายเลข 1093 ช่วงบ้านฮวก-เวียงแก่น มีดินสไลด์และถนนทรุดตัวหลายแห่ง รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ โดยจุดสำคัญพบถนนขาดที่บริเวณบ้านไทยสามัคคี ม.16 ต.ตับเต่า อ.เทิง และที่บริเวณถนนช่วงบ้านร่มโพธิ์ไทย ม.9 ดินสไลด์ ถนนฝังขาไปภูชี้ฟ้าดินสไลด์ทรุดลงไปด้านล่าง ผิวถนนพังเสียหายเป็นเส้นทางประมาณ 100 ม. เหลือเพียงเลนถนนฝั่งมุ่งหน้าไปบ้านฮวก อ.ภูซาง จ.พะเยา เพียงเลนเดียว ส่วนฝั่งตั้งแต่ดอยผาตั้งลงไปทาง อ.เวียงแก่น มีดินสไลด์และถนนทรุดตัวที่บริเวณบ้านปางปอ ม.1 และถนนขาดที่บ้านสันติพัฒนและถนนขาดที่บ้านอยู่สุข ม.10 ต.ปอ อ.เวียงแก่น รถยนต์ไม่สามารถสัญจรได้ แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 แนะว่ารถยนต์ทุกชนิดไม่ควรจะใช้เส้นทางดังกล่าว โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวงจะต้องรอให้ฝนหยุดตกจึงจะสามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อซ่อมแซมถนน คาดว่าอย่างเร็วน่าจะได้เข้าซ่อมแซมถนนได้ประมาณ 1-1.5 เดือนข้างหน้า จะต้องรอให้หมดฤดูฝนไปก่อน ระหว่างนี้ขอให้ผู้ใช้ถนนเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นไปก่อน หากพร้อมจะเปิดใช้งานเมื่อไหร่ประกาศเป็นทางการอีกที ปัจจุบันคนที่ติดค้างอยู่ตรงกลางจะโดนตัดขาดทั้งไฟฟ้า การสื่อสาร ทางสัญจร ไม่สามารถเดินทางออกไปที่ไหนได้ ต้องรอให้สะพานที่บริเวณบ้านปางค่าซ่อมเสร็จ หมู่บ้านในโซนบนดอยจึงสามารถเดินทางลงมาข้างล่างได้ ตอนนี้ยังอยู่ในระหว่างโดนตัดขาดอยู่

ส่วนถนนหมายเลข 1155 ช่วงเทิง-เวียงแก่น มีคอสะพานขาดที่บ้านเหล่า ม.1 ต.ตับเต่า อ.เทิง ทางเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 ได้นำเอาเครื่องจักรเขามาทำการซ่อมแซมคอสะพานจนสามารถสัญจรผ่านไปมาได้แล้ว ด้านชาวบ้านกำลังทำความสะอาดบ้านเรือน เนื่องจากมีน้ำหงาวไหลบ่าท่วมทั้งหมู่บ้าน เสียหาย 49 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 56 หลังคา ข้าวของภายในบ้านเสียหายทั้งหมด นางซอน รู้หาเงิน อายุ 59 ปี บ้านเลขที่ 37 เผยว่า ช่วงเวลาที่น้ำป่าไหลเอ่อท่วมบ้าน น้ำมาเร็วมาก เก็บข้าวของไม่ทัน เสียหายเกือบทั้งหมด โชคดีที่ย้านตนมี 2 ชั้น จึงไปอาศัยที่ชั้นบนได้อยู่ แต่บ้านที่มีชั้นเดียวทรัพย์สอนเสียหายหมดเลย ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยทำความสะอาด เห็นมีเพียงกู้ภัยเอาน้ำมาแจกจ่าย ตอนนี้อยากให้ทาง อบต.ตับเต่า มาช่วยฉีดน้ำทำความสะอาดเป็นอันดับแรก

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ซึ่งนำเอาอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในฝั่งบ้านปางค่า เผยว่า วันนี้จะนำเสนออาหารไปให้พี่น้องประชาชนซึ่งอยู่โซน 14 หมู่บ้านบนดอยที่โดนตัดขาดทางสัญจร โดยทาง อบจ.เชียงราย ได้เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเครื่องจักรลงพื้นที่เพื่อช่วยพี่น้องที่ประสบปัญหาอุทกภัยในทุกพื้นที่ของ จ.เชียงราย อย่างเร่งด่วนแล้ว

ด้านสะพานข้ามแม่น้ำหงาว พื้นที่บ้านปางค่า ม.8 ต.ตับเต่า ที่โดนน้ำหงาวซัดขาดไปเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้บ้านเรือน 7 หมู่บ้านโซนล่างภูชี้ฟ้าโดนตัดขาด ต้องใช้โดรนการเกษตรในการส่งอาหารให้ผู้ประสบภัยที่ออกมาไม่ได้ โดยในวันนี้ทางศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 1 จ.พิจิตร ได้นำเอาสะพานแบลี่ย์มาติดตั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน

นายไพบูลย์ อินทร์สอน นายช่างไฟฟ้าชำนาญงาน ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 1 จ.พิจิตร เผยว่า วันนี้ทางศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน ได้นำเอาสะพานแบลี่ย์มาติดตั้งการติดตั้งที่บ้านปางค่า ม.8 พบว่ามีตัวสะพานพังเป็นระยะทาง 30 ม. และคอสะพานทรุดตัวอีก 10 ม. การสัญจรระหว่าง 2 ฝั่งโดนตัดขาด ซึ่งในการติดตั้งนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จึงจะแล้วเสร็จ

และในเส้นทางเดียวกัน มีถนนพังช่วงบ้านแผ่นดินทอง-พญาพิภักดิ์ บริเวณเลยสามแยกด่านทหารไปประมาณ 50 ม. ถนนโดนน้ำซัดจนผุพัง ปัจจุบันผิวถนนอสีหายทั้งหมด รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้เชียงราย ทุกอำเภออยู่ระดับเฝ้าระวังสถานการณ์

 

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงรายได้แจ้งสภาพอากาศจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ที่่านมาว่ามีฝนปานกลาง – อ่อน ในบางพื้นที่ของจังหวัด และมีฟ้าหลัวสลับปลอดโปร่งในตอนกลางวัน ซึ่งหลังจาก 14 สิงหาคม 2567 ได้เกิดฝนตกต่อเนื่องสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย รายงานพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 4 อำเภอ 12 ตำบล 34 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (5ชุมชน) ตลาด/ชุมชนเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ดังนี้ อำเภอแม่สาย ตำบลเวียงพางคำ ม.1 เมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. แม่น้ำสายบริเวณจุดสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ไทย-เมียนมา เพิ่มระดับสูงขึ้น จนล้นตลิ่งเข้าท่วมตลาดการค้าชายแดน “ตลาดสายลมจอย” และชุมชนโดยรอบ ส่วนตำบลแม่สาย ม.1 น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและถนนในชุมชน อปท. และประชาชนวางแนวกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม และตำบลเกาะช้าง ม.6 เวลา 09.10 น. พนังดินกั้นแม่น้ำสายที่บ้านป่าซางงาม ม.6 ถูกกระแสน้ำกัดเซาะ พังทลายลง มวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรด้านล่าง

อำเภอเมืองเชียงราย ตำบลแม่ยาว ม.10,14 น้ำหลากท่วมพื้นที่เกษตร อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย และมีดินสไลด์ ต้นไม้ล้มทับกีดขวางถนนเป็นบางจุด ด้านตำบลนางแล ม.11 น้ำนางแลกัดเซาะพนังกั้นน้ำ ได้รับความเสียหาย ส่วนตำบลบ้านดู่ น้ำป่าดอยโป่งพระบาทไหลเข้าเขตชุมชน ได้รับผลกระทบประมาณ 5 หมู่บ้าน และน้ำท่วมผิวจราจรถนนพหลโยธินสาย 1 ฝั่งขาขึ้น (ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อธนพิริยะจนถึงคุ้มภูคำ) รถสัญจรได้ทางเดียว และในเขตเทศบาลนครเชียงราย จำนวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนห้วยปลากั้ง/ชุมชนแควหวาย/ชุมชนวัดใหม่หน้าค่าย/ชุมชนสันกลาง/ชุมชนสันเมืองเหล็ก (ซอย18 มิถุนา 6/3) น้ำท่วมขัง/น้ำล้นท่อรอการระบาย/น้ำล้นจากคลองระบายน้ำ ท่วมหมู่บ้านจัดสรร บ้านเรือนประชาชน และผิวถนนเป็นบางจุด ระดับน้ำทรงตัวรถเล็กสามารถสัญจรผ่านได้ เทศบาลนครเชียงราย ออกสำรวจความเสียหาย กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ/ท่อระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
 
อำเภอแม่จัน ตำบลป่าตึง ม.1,3,4 ‘แม่น้ำจันล้นตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนราษฎรและถนนภายในหมู่บ้าน รถเล็กยังสามารถสัญจรได้ ในขณะที่ตำบลแม่คำ (พื้นที่ 8 หมู่บ้าน) น้ำท่วมถนนในหมู่บ้านเป็นบางจุด ในพื้นที่เขตเทศบาลตำบลสายน้ำคำ
อำเภอแม่ฟ้าหลวง ตำบลแม่สลองนอก ม.10 ดินสไลด์ กำแพงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านแม่จันหลวง ม.10 ทรุดตัวลง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนที่ตำบลเทอดไทย ม.1,4,16 ดินสไลด์ บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 3 หลัง ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีดินสไลด์และต้นไม้ล้มทับถนน 4 จุด ได้แก่ เส้นทางบ้านเทอดไทย – บ้านปางมะหัน / เส้นทางบ้านเทอดไทย – เเม่หม้อ/ เส้นทางบ้านปูนะ – บ้านจะตี/ เส้นทางบ้านห้วยหม้อ – บ้านทูหมออาเน สำหรับที่ตำบลแม่สลองใน ม.1,9,14,15 ม.1 ดินสไลด์บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1 หลัง/ ม.9,14,15 มีดินสไลด์และต้นไม้ล้มทับถนน อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดเส้นทาง รถยนต์ยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้
 
แนวโน้มสถานการณ์ อยู่ในระดับเฝ้าระวัง ภาพรวมระดับน้ำแม่น้ำสายหลัก มีแนวโน้มทรงตัว ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สั่งการและเน้นย้ำให้ทุกอำเภอ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งอย่างต่อต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อม เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องจักรกล ยุทโธปกรณ์ กำลังพลพร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีตลอด 24 ชั่วโมงเมื่อได้รับการร้องขอ และเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News