Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

อพท.เชียงราย เส้นทางท่องเที่ยว อุทยานธรณี Chiang Rai Geopark

 
เมื่อวันที่ 27 – 28 มิถุนายน 2567 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. มอบหมายให้ อพท. เชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบเส้นทางท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดเชียงราย “3 พี่น้องท้องถิ่นรวมใจ สู่เชียงรายเที่ยวได้ ทั้งปีมีดีทุกเดือน” โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เส้นทางที่ 2 เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงราย Chiang Rai Geopark โดยนายประเสริฐ ชุ่มเมืองเย็น รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยมีผู้นำท้องถิ่น มัคคุเทศก์ ผู้แทนจากบริษัททัวร์ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย จำนวนกว่า 20 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เสริมสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และกระจายรายได้สู่ชุมชน
 
 
เส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงราย Chiang Rai Geopark เริ่มจากวัดป่าหมากหน่อ ซี่งตามตำนานพื้นถิ่นเล่าสืบต่อกันมาว่า พื้นที่บริเวณรอบวัดเดิมคือเมืองโยนกนาคพันธุ์ แต่ชาวเมืองไปจับปลาไหลเผือกตัวใหญ่มารับประทาน เนื่องจากปลาไหลเผือกตัวดังกล่าวเป็นลูกของพญานาคราช ส่งผลให้เกิดพายุใหญ่และแผ่นดินล่มสลายเมืองทั้งเมืองจมอยู่ใต้น้ำ เหลือเพียงบ้านของหญิงหม้ายที่ไม่ได้รับประทานปลาไหลเผือกเช่นคนอื่นๆ กลายมาเป็นเกาะแม่หม้ายหรือพื้นที่บริเวณวัดป่าหมากหน่อซึ่งตั้งอยู่บริเวณเวียงหนองหล่มในปัจจุบัน ดังปรากฏอยู่ในตำนานสิงหนวัติ โดยนายธีรภัทร ทองใบ ผู้อำนวยการอุทยานเมืองโยนกนาคพันธุ์ จังหวัดเชียงราย ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเมืองโยนกนาคพันธุ์ 
 
 
จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางไปยังจุดชมวิวเวียงหนองหล่ม ซึ่งมีหอชมวิวสามารถมองเห็นแนวรอยเลื่อนแม่จัน และเวียงหนองหล่มโดยรอบ รวมถึงจุดที่พบน้ำพุร้อน ภาคบ่ายคณะผู้ร่วมกิจกรรมลงพื้นที่สำรวจถ้ำหลวง- ขุนน้ำนางนอน เรียนรู้เหตุการณ์การช่วยเหลือ 13 ชีวิตหมูป่า ที่เคยติดถ้ำเมื่อปี พ.ศ. 2561 และเรียนรู้ภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน
สำหรับกิจกรรมในวันที่สอง เป็นการเรียนรู้กระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรบ้านสันธาตุ อ.เชียงแสน จากนั้นเดินทางไปยังเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย หรือทะเลสาบเชียงแสน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar site) ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ แต่ละปีจะมีนักดูนกจากทั่วโลกเดินทางเพื่อมาดูนกอพยพที่บริเวณนี้ โดยเฉพาะในฤดูหนาว จะมีนก อพยพจากรัสเซียและไซบีเรีย มาอาศัยอยู่ในบริเวณทะเลสาบเชียงแสนเป็นจำนวนมาก
 
 
ในโอกาศนี้ ผู้ปฏิบัติงาน อพท.เชียงราย และผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมกันถอดบทเรียนและให้ข้อเสนอแนะแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นข้อมูลนำไปพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวแก่ชุมชนต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อพท.เชียงราย DASTA Chiang Rai

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

อพท. ประสานภาคีร่วมขับเคลื่อน เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย

 
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้ ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (Thailand Creative Cities Network : TCCN 2024) โดยมี นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมฯ เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์การดำเนินงานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล จากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคประชาคม ร่วมกันสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และกระบวนการยกระดับเมือง ตลอดจนขั้นตอนการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่งผลถึงการเป็นต้นแบบของ “นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ น่าน อ่างทอง ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานจากจังหวัดต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม
 

              นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า กิจกรรมสร้างการรับรู้ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ TCCN 2024 ในครั้งนี้ อพท. หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แก่เมืองเป้าหมายในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. และในภาพรวมของประเทศไทย ให้ครอบคลุมกลไกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังมุ่งเป้าในการสร้างโอกาสและยกระดับการพัฒนาเมืองในพื้นที่ จากการระดมความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีการประชุม การเสวนาจากภาคีเครือข่ายและความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาคีในการประสานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกไปพร้อมกัน  โดยในปี ๒๕๖๗ อพท. ได้จัดกิจกรรม TCCN 2024 ขึ้นถึง ๒ ครั้ง ในเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network) เมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ซึ่งกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้น ณ จังหวัดสุพรรณบุรี เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านดนตรี ในประเด็นสำคัญ “การพัฒนานวัตกรรมเมืองอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์เพื่ออนาคตอย่างเท่าเทียม” ซึ่งการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเป็นประเด็นของการขับเคลื่อนธุรกิจภายในประเทศ เท่านั้น แต่ยังเป็นเทรนด์ในโลกของการลงทุน เสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย
 

         ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมครั้งที่ ๒ ในวันนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๖๗) ณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านการออกแบบ อพท. ยังเดินหน้าสนับสนุนตามเป้าหมายในการสร้างเวทีขยายการรับรู้ประโยชน์ของความยั่งยืนในการขับเคลื่อนเมือง ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมออกแบบเพื่อ “การขับเคลื่อนเมืองให้มีชีวิตสำหรับผู้คนในทศวรรษหน้า” ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาร่วมเวทีเสวนา แสดงความคิดเห็น “การสร้างสรรค์นวัตกรรมเมืองภายใต้บริบทของการส่งเสริมโอกาสของคนในพื้นที่” ซึ่งมีผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยเข้าร่วมถึง ๗ เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สุพรรณบุรี และเชียงราย ตลอดจนหน่วยงานจากเมืองต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก มาร่วมแลกเปลี่ยน รับรู้ถึงประโยชน์และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีมาตรฐานระดับสากล สะท้อนบทบาทหน้าที่ในการเป็น“นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News