Categories
NEWS UPDATE

‘หมอเอก’ ย้ำ ไม่สนับสนุนให้ใครสูบบุหรี่ แต่แก้ปัญหาทับซ้อน ทำสิ่งเดิมๆซ้ำๆ

 
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ หรือ หมอเอก อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “หมอเอก Ekkapob Pianpises” เกี่ยวกับข้อเสนอในเรื่องมาตรการการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าจากที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า
 
 
“มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” จากข้อสรุปของที่ประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้มีข้อเสนอเรื่องมาตรการควบคุม บุหรี่ไฟฟ้า สรุปได้ 5 ข้อ 
1.พัฒนาการจัดการความรู้ 
2.สร้างการรับรู้ 
3.เฝ้าระวังการบังคับใช้กฏหมาย 
4.พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย 
5.ยืนยันมาตราการป้องกัน-ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า 
 
 
ทั้ง 5 ข้อนั่นก็คือการ doing the same thing over and over (ทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ) แล้วเราจะหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างได้หรือ? เมื่อแปลความหมายจากข้อเสนอ โดยเฉพาะข้อ 1-4 มีความหมายอะไรแอบแฝงหรือไม่ 
 
 
ข้อ 1-2-4 มีงบประมาณหลักจาก สสส. ปีละกว่า 300 ล้านบาทในการแจกให้ “เครือข่าย” ซึ่งอยากให้สังคมช่วยกันดูว่าเครือข่ายที่ว่าคือใคร คือกลุ่มไหน คือองค์กรไหน แล้วได้เงินไปปีละเท่าไหร่ 
 
ข้อ 3 เป็นหน้าที่หลักของกรมควบคุมโรค และ อนุกรรมการด้านกฏหมายของคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ โดยงบประมาณสนับสนุนหน่วยงานควบคุมยาสูบส่วนหนึ่งได้รับจาก สสส. ทั้งงบประมาณทำกิจกรรมต่างๆ และแม้กระทั่งงบประมาณจ้างบุคลากร 
 
นำมาสู่ข้อ 5 คือการเสนอให้ใช้วิธีการเดิมๆ ให้คนกลุ่มเดิมๆ ที่ทำแล้ว “ล้มเหลว” แบบเดิมๆ ?!!! สิ่งต้องทำคือ “การควบคุมยาสูบ” นั่นหมายถึงการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า-ยาเส้น ในภาพรวม โดยต้องมีเป้าหมาย “สังคมไร้ควัน” หมายถึงมีอัตราคนสูบยาสูบน้อยกว่า 5% จากที่ตอนนี้อัตราผู้สูบยาสูบมีประมาณ 17-18% ดังนั้น หากเห็นแก่ประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน การทำข้อเสนอนโยบายยาสูบจึงควรทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่พอเห็นข้อเสนอแล้วเหมือนเรียกร้องให้เพิ่มงบประมาณให้กลุ่มเครือข่ายหน้าเดิมๆ มาทำกิจกรรมเดิมๆ แต่หวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง แบบนี้เรียกว่า Insane แต่ประชาชนและผู้ติดตามประเด็นสาธารณสุขไม่ได้ Insane และไม่ได้ Innocent ที่จะตามไม่ทันว่าข้อเสนอนี้ใครได้ประโยชน์ !!!
 
 
ซึ่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม หมอเอก อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุขเรื่องปัญหาการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า 31 พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก กับประเทศไทยที่โหมทำกิจกรรมเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า เหมือนกับจะเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจที่ ความล้มเหลวในการควบคุมยาสูบ ?!!!
 
 
ตั้งแต่ปี 2545 ที่มีองค์กรอย่าง สสส.
ตั้งแต่ปี 2557 มีประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้า
ตั้งแต่ปี 2560 มี พรบ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ
 
 
มีงบประมาณประจำ มีงบประมาณรณรงค์จาก สสส. ปีละกว่า 300 ล้านบาท มีเครือข่ายที่เก่งๆ ระดับได้รางวัลจากองค์การอนามัยโลกด้านควบคุมยาสูบเดินทั่วบ้านทั่วเมือง มีทุนวิจัยเรื่องการจัดการยาสูบโดยเฉพาะ ดูเหมือนจะมีพร้อมทุกอย่าง แต่ทำไมตลอด 20-30 ปี ไม่สามารถลดอัตราผู้สูบบุหรี่ได้ ทำไมปล่อยให้บุหรี่ไฟฟ้าระบาดเข้ามาจนมีมูลค่าตลาดมหาศาล ทำไมขึ้นภาษีบุหรี่จนการยาสูบไทยแทบเจ๊ง ส่งผลต่อไปถึงชาวไร่ยาสูบ แล้วปล่อยให้บุหรี่เถื่อนมีสัดส่วนการตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
 
 
แสดงว่าต้องมีอะไรผิดพลาดแล้วล่ะ แต่เราจะเดินย่ำวิธีการเดิมๆ กลุ่มเครือข่ายเดิมๆ อีกหรือ??? ทำงานพลาดเป้ามาร่วม 30 ปี ทั้งที่มีคน เงิน กฏหมาย จะยังให้ทำแบบเดินกันต่ออีกหรือ??? คนที่เป็นองค์กรเอกชนทำงานเกี่ยวกับยาสูบ รวมกลุ่มกันกับอีกหลายองค์กรมาร่วมกันผลักดันและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ สสส. แล้วหลังจากนั้นก็มาเป็นคนทำกฏหมายควบคุมยาสูบเอง พอมีกฏหมายก็มามีตำแหน่งในคณะกรรมการควบคุมยาสูบเอง มีการรับเงิน สสส. เข้าองค์กรของตน มีการแจกเงิน สสส. ให้กับเครือข่าย มีการใช้เงิน สสส. 
 
 
ไปสนับสนุนงานของราชการบางหน่วย มีการจ้างคนไปทำงานในหน่วยงาน จนหน่วยงานราชการนั้นไม่จำเป็นต้องฟังอธิบดี ไม่ต้องสนใจปลัดกระทรวงก็ได้ เคยมีการสอบหาข้อเท็จจริงโดยกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วพบว่ามีมูลในประเด็น ผลประโยชน์ทับซ้อน จึงส่งเรื่องต่อให้กรรมาธิการ ปปช. แต่ยังสอบหาข้อเท็จจริงไม่เสร็จก็ต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากยุบสภาเสียก่อน ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ และในฐานะของผู้ที่ติดตามปัญหาด้านสาธารณสุข ผมย้ำมาโดยตลอดว่า ไม่สนับสนุนให้ใครสูบบุหรี่
 
 
ใครสูบอยู่ก็ควรที่จะเลิก โดยต้องดำเนินการด้วยชุดข้อมูลวิชาการที่ไม่บิดเบือน คำนึงถึงสิทธิของประชาชน และการมองปัญหารวมทั้งรับฟังจากทุกภาคส่วน ในเมื่อชุดความคิดเดิมๆ ในเมื่อคนกลุ่มเดิมๆ ทำงานไม่ได้ตามเป้ามาร่วม 30 ปี เราจะให้โอกาสคนที่ทำพลาดซ้ำๆ ทำงานต่ออีกหรือ? หากอยากเห็นวันงดสูบบุหรี่โลกในอีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยเหลือคนสูบบุหรี่น้อยกว่า 5% กลายเป็น ประเทศไร้ควันบุหรี่ ก็ต้องเปลี่ยนชุดความคิดและเปลี่ยนคนที่เป็นเครือข่ายเดิมออกไป แค่วิ่งไล่จับบุหรี่ไฟฟ้ารายย่อย อาจทำให้มีข่าว มีคอนเท้นต์ให้ดูเหมือนได้ทำอะไร แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วก็แค่ปิดบังความล้มเหลวของการทำงานที่ผ่านมาเท่านั้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME