รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและน้ำท่วมในขณะนี้ว่า ภาคเหนือน้ำเริ่มลดแล้วแต่ต้องเฝ้าระวังภาคกลางเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ระดับน้ำสูงขึ้นไล่มาตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก อุทัยธานี นครสวรรค์ ลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา อาจมีน้ำท่วมริมตลิ่งและมีโอกาสล้นคันกั้นน้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระนครศรีอยุธยาระดับน้ำเพิ่มจาก 1,832 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,682 ลบ.ม./วินาที ถือว่าใกล้ปริ่มน้ำมาก หากเกิน 3,000 ลบ.ม./วินาที อาจต้องปล่อยน้ำเข้าพื้นที่อำเภอบางบาลและบางไทรซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ
“การคาดการณ์ฝนในช่วงนี้ ร่องความกดอากาศต่ำจะทำให้ปลายสัปดาห์นี้ มีโอกาสฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณภาคกลาง จึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือทั้งพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบ้านเรือนริมน้ำ ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้กรุงเทพมหานครแล้ว โดยทาง กทม. ได้เตรียมขุดลอกคูคลองและท่อระบายน้ำ แก้ปัญหาพื้นที่ฟันหล่อพร้อมรับมือ กับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นตามแผนรับมือหน้าฝนปี 2567 แล้ว” รศ. ดร.สุจริตระบุ
สำหรับสถานการณ์น้ำ ฝนคาดการณ์ การบริหารเขื่อน และสภาพน้ำท่าท้ายเขื่อน ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึง 14 ตุลาคม 2567 จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทีมวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พบว่ามีพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ น่าน ยม วัง และเจ้าพระยารวม 20 จังหวัด จำนวน 1.347 ล้านไร่ โดยจะยังคงมีปริมาณน้ำฝนสูงในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และเริ่มลงภาคใต้ โดยปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ 61 เขื่อนสิริกิติ์ร้อยละ 91 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนร้อยละ 68 และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร้อยละ 64
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ