Categories
TOP STORIES

สธ. ตั้งเป้าผลิตหมอปีละ 5,000 คน ร่วมมือ ม.พะเยา และมหาวิทยาลัยอีก 15 แห่ง

 

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่าง สธ. กับมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง ประกอบด้วย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จุฬาฯ ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.นเรศวร ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหาสารคาม ม.มหิดล ม.วลัยลักษณ์ ม.สงขลานครินทร์ ม.อุบลราชธานี และสถาบันพระบรมราชชนก

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า สธ. โดยสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ผลิตแพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าสู่ระบบและกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ 16 แห่ง และมีรพ.ของสธ.ที่เป็นศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก รองรับการฝึกนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 จำนวน 39 แห่ง ผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบแล้ว 13,780 คน ซึ่งแพทย์กลุ่มนี้ยังคงอยู่ในระบบ 77%

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการขยายกรอบความร่วมมือทั้งด้านการศึกษา การผลิตบุคลากรสาธารณสุข การวิจัยเพิ่มมากขึ้น รองรับโยบายรัฐบาลในโครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และอีกส่วนสำคัญคือรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งต้องมีบุคลากรทางการแพทย์รองรับเพิ่มมากขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์ภาพรวมเรามีแพทย์อยู่ประมาณ 50,000 คน อยู่ในสังกัดสธ. 25,000 คน ที่เหลือ 20-30% อยู่ที่ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ และหน่วยความมั่นคง ส่วนอีก 20% อยู่ในภาคเอกชน หากเทียบหลายปีก่อนถือว่าไม่ขาดแคลน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการผลิตแพทย์ 1 คน สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้หลายสิบหลายร้อยล้าน ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมทั้งประเทศโรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์ได้ปีละ 3,500 คน โดยแต่ละปี สธ.ร่วมผลิตในชั้นคลินิกประมาณ 2,000 คน ขณะนี้สธ.กำลังจัดทำร่างยุทธศาสตร์กำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นไกด์ไลน์ในการพัฒนากำลังคน

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า เดิมเรามองแต่บริบทการผลิตบุคลากรสาธารณสุขตอบสนองเฉพาะประชาชนในประเทศ แต่บริบทใหม่จะต้องตอบสนองบริการทางการแพทย์ที่เป็นคนต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งจำเป็นต้องผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลายระดับมากขึ้นโดยความร่วมมือกับทุกหน่วย โดยเฉพาะแพทย์ที่ตั้งเป้าช่วง 6-10 ปีจากนี้จะต้องผลิตให้ได้ปีละ 5,000 คน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ รวมถึงรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
All

DMIND บน “หมอพร้อม” ช่วยคัดกรอง “ซึมเศร้า” เกือบ 2 แสนคน

 

เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาสุขภาพจิตคนไทย “เยาวชน” มีภาวะซึมเศร้าสูง 2,200 ต่อประชากรแสนคน เผยผลสำเร็จใช้ปัญญาประดิษฐ์ DMIND เชื่อมโยงระบบหมอพร้อม ช่วยคัดกรองภาวะซึมเศร้าได้สะดวกรวดเร็วเกือบ 2 แสนคน พบภาวะเสี่ยงรุนแรง 8.7% เตรียมพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลสายด่วน 1323 เพื่อการดูแลกลุ่มวิกฤตเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ทันท่วงที 

          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2558 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการด้านจิตเวช 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านคน ในปี 2565 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา พบว่า ภาวะเครียด ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟสูงขึ้นทั้งหมด ข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ จากกรมสุขภาพจิต ปีงบประมาณ 2562-2566 พบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 7.26 เป็น 7.94 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 20-59 ปี มีจำนวนฆ่าตัวตายมากสุด แต่กลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอัตราฆ่าตัวตายสำเร็จสูงสุด คือ 10.39 ต่อประชากรแสนคน ขณะที่จำนวนคนพยายามฆ่าตัวตายปี 2566 มีถึง 25,578 คน โดยกลุ่มวัยรุ่น/นักศึกษา อายุ 15-19 ปี มีอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงสุด คือ 116.81 ต่อประชากรแสนคน สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช (AIMET) ที่ประเมินว่า มีเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจพบอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 ต่อประชากรแสนคน

 


          นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้ที่เริ่มมีป้ญหาสุขภาพจิตได้เข้าถึงบริการ โดยเฉพาะการประเมินและให้คำปรึกษาต่อภาวะซึมเศร้า ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression (DMIND) เพื่อคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า มีความแม่นยำ เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก ช่วยลดภาระงานของแพทย์และนักจิตวิทยาในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งมีการเชื่อมต่อช่องทางการสื่อสารกับไลน์”หมอพร้อม” โดยเลือกเมนูคุยกับหมอพร้อม (Chatbot) และเลือกเมนูตรวจสุขภาพใจ เพื่อตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ พร้อมมีระบบ ตรวจจับการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และประเมินภาวะซึมเศร้าเป็นคะแนน 4 ระดับ คือ ปกติสีน้ำเงิน เสี่ยงต่ำหรือเสี่ยงน้อยสีเขียว เสี่ยงปานกลางสีเหลือง ซึ่งกลุ่มนี้นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับให้คำปรึกษาภายใน 7 วัน และเสี่ยงรุนแรงสีแดง จะติดต่อกลับภายใน 1-24 ชั่วโมง

 


          “ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 – ธันวาคม 2566 มีผู้ใช้บริการ DMIND ทำแบบประเมินสุขภาพจิต 180,993 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่ปกติ 18,906 ราย ผู้มีความเสี่ยงน้อย 113,400 ราย ผู้มีความเสี่ยงปานกลาง 33,039 ราย และผู้มีความเสี่ยงรุนแรง 15,648 ราย หรือคิดเป็น 8.1% ซึ่งมีการยินยอมให้ติดตาม 1,118 คน ติดตามสำเร็จ 778 คน โดยกระบวนการติดตามจะดูว่ามีกรณีเสี่ยงฆ่าตัวตายหรือไม่ หากเสี่ยงรุนแรงจะส่งต่อไปยัง Hope Task Force ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตายให้การดูแล ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง DMIND กับระบบหมอพร้อมทำให้การดำเนินงานสะดวกมากยิ่งขึ้น ในอนาคตจึงอาจมีการเพิ่มฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ให้มากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว

 

.
           นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้มีการพัฒนาและปรับปรุง DMIND ซึ่งมาจากการรับฟังจากความเห็นจากการใช้งานของประชาชน โดยมีแพทย์ AI ให้เลือกพูดคุยปรึกษามากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงแพทย์AIผู้หญิง จะเพิ่มทั้งแพทย์AIผู้ชาย และ มีอายุหลากหลายมากขึ้น มีการปรับการพูดคุยของผู้ใช้งานให้เป็นธรรมชาติและกระชับมากขึ้น รวมทั้งในอนาคตจะพัฒนาการทำงานของ DMIND เพิ่ม ได้แก่ 1. มีการวิเคราะห์ผู้ใช้งานตาม User Journey เพื่อให้สามารถเข้าใจบริบทของผู้ใช้งาน และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับใช้ในการดำเนินงาน 2. ปลดล็อกในส่วนการช่วยเหลือผู้ป่วยขั้นวิกฤตตามกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการติดตามกลุ่มวิกฤตที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายจากการประเมินของ DMIND ทำให้มีความสะดวกและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคจาก PM2.5 เพิ่มสูงขึ้น

 

วัน 24 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม


          นพ.โอภาสกล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมฯ มีการทบทวนและพิจารณากฎกระทรวงและประกาศกระทรวงจำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ 1.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม 2.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม 3.การขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการ 4.การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ 5.การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมจากประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ 6.คุณสมบัติหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จะดำเนินการขึ้นทะเบียน 7.การแจ้งและการรายงานข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและแรงงานนอกระบบ หรือการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ 8.การเข้าไปในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง แหล่งกำเนิดมลพิษ ยานพาหนะ หรือสถานที่ใดๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบทั้ง 8 ฉบับ และมีมติเห็นชอบเพิ่มเติมใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ พ.ศ. ….   2. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. 


          นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้รับทราบสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช โรคซิลิโคสิสจากฝุ่นซิลิกา โรคจากแอสเบสตอส โรคจากตะกั่ว ที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มลดลง ส่วนโรคผิวหนังจากการทำงาน และโรคประสาทหูเสื่อม พบผู้ป่วยมากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวจึงส่งผลให้แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหมอกควันมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ จัดทำระบบและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อม


          ทั้งนี้ นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมถึงปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1) กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด 2) กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 3) กลุ่มโรคตาอักเสบ และ 4) กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ได้แก่ โรคผื่นลมพิษ และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ หากผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าวมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

สธ.เฝ้าระวังมลพิษจากโกดังพลุระเบิด รัศมี 500 เมตร พบน้ำยังมีปัญหา!

 วันนี้ (1 สิงหาคม 2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิด ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ว่า เหตุระเบิดดังกล่าวเป็นการเผาไหม้ของดินปืน อาจทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในแหล่งน้ำได้ ล่าสุด นพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ได้รายงานความคืบหน้าการตรวจเฝ้าระวังผลกระทบมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) ทั้ง 13 อำเภอใน จ.นราธิวาส ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา ได้ลงพื้นที่ร่วมคัดกรองผลกระทบด้านสุขภาพ เก็บตัวอย่างน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพ เคมี และแบคทีเรีย รวมถึงตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพแหล่งน้ำใช้ โดยเครื่องมือวัดภาคสนาม ณ จุดเกิดเหตุและรัศมี 500 เมตรโดยรอบ พบว่าไม่มีปัญหาด้านคุณภาพอากาศ ส่วนคุณภาพน้ำยังไม่เหมาะสมทั้งการอุปโภคและบริโภค จึงเสนอให้ใช้แหล่งนำจากพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ประปา อบต. และน้ำบาดาลโรงเรียนมูโนะ เป็นต้น


          นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ส่วนการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ทีม MCATT จากศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ และ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้บาดเจ็บที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก 10 ราย เป็นผู้ใหญ่ 8 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 7 ราย และเด็ก 2 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตทั้ง 2 ราย 2.ครอบครัวผู้เสียชีวิต 1 ครอบครัว ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย ประเมินบุตรของผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตทั้ง 2 ราย และ 3.ผู้ได้รับผลกระทบในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 5  จำนวน 241 ราย เป็นผู้ใหญ่ 209 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 43 ราย เด็ก 32 ราย มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 8 ราย รวมผู้มีความเสี่ยงทางสุขภาพจิตทั้งหมด 62 ราย ซึ่งทุกรายทีม MCATT ได้ให้การปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นแล้ว สำหรับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ยังได้รับการดูแลเพิ่มเติมด้วย Crisis intervention หรือการช่วยให้วางแผนรับมือความเครียดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และในรายที่พบความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต จะส่งต่อให้ทีม MCATT ในพื้นที่ประเมินตามมาตรฐานการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

สธ.-อว. เตรียมความพร้อม ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี

 

 วันนี้ (17 กรกฎาคม 2566) ที่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรุงเทพมหานคร นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการเตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (Medical Preparedness and Response for Radiological and Nuclear Emergency) โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นสักขีพยาน


          นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการส่งเสริม ยกระดับภารกิจด้านการเตรียมความพร้อม และการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงตอบโต้ภัยฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับบริบทของประเทศ ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 แผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2564 – 2570 และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงในโครงการ “เตรียมความพร้อมและตอบสนองทางการแพทย์ต่อภาวะฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี  (Medical Preparedness and Response for Radiological and Nuclear Emergency)” เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐาน เป้าหมายและการปฏิบัติงานให้มีความเชื่อมโยงทุกระดับ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงและจัดการสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ “การรู้รับ – ปรับตัว – ฟื้นเร็วทั่ว – อย่างยั่งยืน”


            โดย กระทรวงสาธารณสุข จะมีภารกิจในการประสานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานงานกลางของหน่วยงานทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในระดับต่างๆ สนับสนุนและพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากร ระบบข้อมูลสารสนเทศ องค์ความรู้ นวัตกรรมด้านบริหารจัดการในการจัดการภาวะฉุกเฉิน รวมถึงด้านวิชาการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัย


          ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ขอบเขตและแนวทางการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย, การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความเข้มแข็ง, บริหารจัดการระบบฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสถานพยาบาล, พัฒนาศักยภาพบุคลากรและงานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง, การกำหนดรายละเอียดเฉพาะเรื่องให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ,การติดตามประเมินผลร่วมกัน, จัดตั้งคณะทำงาน รวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะมีภารกิจในการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง และแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และกำกับให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ประชาชน และสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการ กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี ตามพันธกรณีหรือความตกลงระหว่างประเทศและมาตรฐานสากล

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News