Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

รมว.ธรรมนัส นำทีมเกษตร ขึ้นเหนือม่วนใจ๋ เช็กอิน ‘พะเยา’

 
เมื่อวันที 14 มีนาคม 2567  ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมลงพื้นที่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2567 ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายกำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือนตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) ในทุกมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านสภาพแวดล้อมที่ดี มีเป้าหมายให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ภายในปี 2570 โดยในส่วนของประเด็นการพัฒนาด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผลักดันและขับเคลื่อน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
 

        ประเด็นการพัฒนาที่ 1 พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มุ่งลดต้นทุนการผลิต ใช้ระบบ AI ช่วยการผลิต และส่งเสริมเกษตรกรแบบอัจฉริยะ สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer, Young Smart Farmer และ Smart Product, จัดระบบตลาดและโลจิสติกส์เกษตรชุมชน ส่งเสริมการส่งออก การทำตลาดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Niche Market) และส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีในการทำตลาดการเกษตรแบบดิจิทัล
 

        และประเด็นการพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาสุขภาวะวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน (new normal to sustainable โดยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถการเป็นคลังอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐานควบคุมคุณภาพ GAP ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การทำตราสินค้า (Branding) และตรารับรองคุณภาพสินค้า (Quality Mark) พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและแปรรูป เช่น สมุนไพร ให้ได้มาตรฐาน
 

        ขณะที่กำหนดการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ครั้งนี้ ได้ปักหมุด ณ จังหวัดพะเยา ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ทั้งหมด 3.959 ล้านไร่ หากพิจารณามิติด้านการเกษตร พบว่า มีการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร 1.503 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.96 ของพื้นที่ทั้งหมด ครัวเรือนเกษตร 77,868 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ กระเทียม หอมแดง และมันสำปะหลัง มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) กว่า 35,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จังหวัดพะเยายังมีสินค้าโดดเด่น ที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวก่ำล้านนา ข้าวหอมมะลิพะเยา และ ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย และมีสินค้า OTOP ของจังหวัด รวมทั้งสิ้นกว่า 2,098 ผลิตภัณฑ์ มียอดจำหน่ายสินค้ามากถึง 2,394 ล้านบาท/ปี โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง คัดเลือกประเภทสินค้าเกษตร จำนวน 6 ชนิด ได้แก่
 
1) โคเนื้อ ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา 
2) ข้าวหอมมะลิ ต.จำป่าหวาย อ.เมือง จ.พะเยา 
3) มันฝรั่ง ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา 
4) ปลานิล ต.แม่ปืม ต.บ้านตั้ม อ.เมือง จ.พะเยา 
5) ลิ้นจี่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา 
และ 6) ลำไย ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา
 

   ทั้งนี้ จังหวัดพะเยา ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญ ลักษณะภูมิประเทศเต็มไปด้วยบรรยากาศและทัศนียภาพที่น่าค้นหา เป็นเมืองเก่าที่น่าย้อนรอยอดีตในบรรยากาศเมืองล้านนาร่วมสมัย โดยเฉพาะชื่อเสียงของกว๊านพะเยา ที่ถือเป็นหัวใจของจังหวัด จนมากลายมาเป็นต้นกำเนิด พิธีการเวียนเทียนหนึ่งเดียวของโลก ตลอดจนมีแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สวยงาม มีเสน่ห์ตามภูมิประเทศของเมืองเหนือ ทั้งภูเขา สายหมอก และผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการลงพื้นที่ของ ครม.สัญจร ที่จังหวัดพะเยาครั้งนี้ ได้เตรียมหารือและขับเคลื่อนในส่วนของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา การก่อสร้างรถไฟรางคู่ แนวทางการผลิตสุราชุมชน โครงการชลประทานพะเยา โครงการก่อสร้างระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
SOCIETY & POLITICS

รมว.เกษตรฯ รับปากจะช่วยแก้ไขให้ พี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด

 
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินงาน ณ ท่าเทียบเรือกัลปังหา และพบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังปัญหา และติดตามสถานการณ์ พร้อมแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

        ทั้งนี้ จังหวัดตราด เป็นจังหวัดชายแดนสุดฝั่งทะเลตะวันออก มีอาณาเขตด้านชายแดนติดกับประเทศกัมพูชาทั้งทางบกและทางทะเล มีความยาว 330 กิโลเมตร โดยทางบกติดกับทางจังหวัดของประเทศกัมพูชา ได้แก่ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดโพธิสัต และจังหวัดเกาะกง ซึ่งมีแนวชายแดนธรรมชาติติดทิวเขาบรรทัด เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตลอดแนวมีความยาว 165 กิโลเมตร และมีแนวอาณาเขตทางทะเลมีความยาว 185 กิโลเมตร โดยจังหวัดตราดเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญ ทั้งประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ รวมทั้งพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งชายฝั่งและน้ำจืด ผลผลิตสัตว์น้ำของจังหวัดตราด มีมากกว่า 82,779 ตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 5,599.80 ล้านบาท ผลผลิตจากการทำการประมง 55,643 ตัน มูลค่า 2,344.21 ล้านบาท ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง 27,136 ตัน มูลค่า 3,255.59 ล้านบาท

        สำหรับทะเบียนเกษตรกร มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) 1,317 ราย แบ่งเป็น กุ้งทะเล 476 ราย หอยทะเล 346 ราย ปลาน้ำจืด 317 ราย ปลาทะเล 125 ราย จระเข้ 14ราย สัตว์น้ำสวยงาม 3 ราย และสัตว์อื่น ๆ 36 ราย ผลผลิตจากการเพาะเลี้ยง 27,136 ตัน มูลค่า 3,255.59 ล้านบาท ทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) 539 ราย ทะเบียนผู้ทำอาชีพทำการประมง (ทบ.2) 3,334 ราย เรือประมงพื้นบ้านที่มีทะเบียนเรือไทย จำนวน 3,379 ลำ ได้แก่ อวนติดตา อวนครอบหมึก อวนลอยปลากระบอก อวนจมปูม้า อวนลอยปลาทู และเรือประมงพาณิชย์ที่มีทะเบียนเรือไทย จำนวน 588 ลำ ได้แก่ อวนครอบปลากะตัก อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง

        อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับปากจะช่วยแก้ไขปัญหาพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีความเข้มงวดและเป็นอุปสรรคต่อการทำประมงในปัจจุบัน โดยชาวประมงเสนอให้มีแนวทางบรรเทาผลกระทบในช่วงการเปลี่ยนผ่านของกฎหมาย และจะช่วยดูราคากุ้งตกต่ำ ทั้งกุ้งแวนนาไม กุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม ซึ่งมีปัจจัยมาจากโรคระบาดและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ขอให้มั่นใจว่าจะร่วมแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดทะเล
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News