Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

สทนช. ทำหนังสือด่วนประสานจีน ชะลอระบายน้ำเขื่อนลงแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 16.30 น. นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบายน้ำอิงสู่น้ำโขง ณ สะพานบ้านเต๋น ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ติดตั้งเครื่องดันน้ำของโครงการชลประทานเชียงราย เพื่อดันน้ำจากแม่น้ำอิง ลงแม่น้ำโขง บริเวณปากอิง ต.ศรีดอนชัย ที่อยู่ห่างจากสะพานนี้ประมาณ 1 กม. โดยมีนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย และนายอุดม ปกป้องวรกุล นายอำเภอเชียงของ และผู้นำชุมชน ต.ศรีดอนชัย และต.สถานให้การต้อนรับ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดไม่ได้อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้น้ำเอ่อ แต่พยายามทำให้ลงแม่น้ำโขงเร็วที่สุดระยะทางจากพะเยากว่า 100 กม.เพื่อไม่ให้ประชาชนระหว่างทางเดือดร้อน ทั้งที่อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล ที่เป็นทางผ่านของแม่น้ำอิง ซึ่งได้รับความเสียหายกันมาก ผสมกับเราเจอน้ำป่า ร่องกดอากาศต่ำพาดผ่าน สังเกตว่าทำไมตกอยู่แต่ที่เชียงราย เป็นเวลาเดือนกว่า ยังไม่ผ่านไปเลย แต่ยังอยู่ที่เชียงรายอยู่

“วันนี้ฝนยังตกเรื่อย ๆ น้ำจากจังหวัดอื่นก็มาสะสม ไหลมารวมกันที่บ้าน พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ประสบกันทั่วหน้า ภาพรวมที่ติดริมน้ำอิง ตั้งแต่เทิง ลงมาพญาเม็งราย และขุนตาล เชียงของ เป็นปลายทางน้ำอิงลงน้ำโขง ที่สังเกตว่าเป็นลานีญา เห็นว่าตกสะสมจึงวันที่ 23 ส.ค. รวม 600 กว่ามิลลิเมตรแล้ว เทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2566 รวม 200 กว่ามิลลิเมตรเอง 3 เท่าของปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่ครบเดือน อยากเตือนพี่น้องประชาชน เป็นประเด็นปัญหาที่ป้องกันแก้ไขด้วย”ผวจ.เชียงราย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีการเตรียมสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงซึ่งห่างจากชายแดนไทยเพียง 96 กม.ทำให้อนาคตยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อีกหรือไม่ นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้รัฐบาลดูแล ทราบว่ารัฐบกาลกำลังเจรจาอันนี้เป็นเรื่องเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้เร่งเจรจากำลังทำอยู่ ส่วนตนมีหน้าที่รักษาพื้นที่ภาย ทำอย่างไรให้เราเดือดร้อนน้อยที่สุด และเร่งน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด “เรื่องนี้ผมไม่สามารถตอบได้ ต้องเป็นรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศ”

ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ระดับน้ำล่าสุดในแม่น้ำโขงวัดที่อำเภอเชียงของ พบว่าปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งโดยวัดล่าสุดในช่วง 18.00 น.อยู่ที่ 10.30 เมตร

เย็นวันเดียวกัน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด

โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำโขงในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

สทนช. จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษา วิเคราะห์ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวโน้ม คาดการณ์ วัน เวลา และปริมาณน้ำสูงสุด (Peak) และการสิ้นสุดของสถานการณ์ ณ สถานีต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขง 8 จังหวัดของประเทศไทย

โดยให้รายงานผลการดำเนินงานและมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแนวทางและมาตรการให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ทราบและช่วยกันดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย

นอกจากนี้ยังขอให้ MRCS ประสานงานกับ สปป.ลาว เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ระดับน้ำลดลงจากการล้นตลิ่งของแม่น้ำโขง พร้อมทั้งให้ประสานงานกับจีน เพื่อแจ้งสถานการณ์ในปัจจุบันของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้จีนชะลอการปล่อยน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ตลอดจนติดตามสถานการณ์การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการแจ้งเตือนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนริมโขงให้มากที่สุด โดย สทนช. จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำและประสานงานร่วมกับ MRCS อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวชายขอบ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ส่งเครื่องผลักดันน้ำถึงเชียงราย ผลักดันน้ำ 1.15 ลบ.ม.ต่อวินาที

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 17.00 น. ว่าที่ ร.ต. ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่อำเภอเชียงของเพื่อติดตามการประกอบและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังทวีความรุนแรงในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงที่มีปริมาณน้ำมหาศาลไหลมาจากจังหวัดพะเยา ผ่านอำเภอเทิงและอำเภอขุนตาล เพื่อให้สามารถระบายน้ำลงสู่ลำน้ำโขงได้อย่างรวดเร็วที่สุด

นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย เปิดเผยว่า โครงการชลประทานเชียงรายได้รับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 10 เครื่องจากกรมชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย โดยเครื่องผลักดันน้ำนี้มีความสามารถในการสูบหรือผลักดันน้ำได้ที่อัตรา 1.15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระยะยกน้ำ 1.2 เมตร และใช้พลังงาน 25 กิโลวัตต์ ซึ่งเครื่องดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานในพื้นที่ที่มีความเร็วน้ำไม่เกิน 1.8 เมตรต่อวินาที

การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน ณ จุดบ้านเต๋น หมู่ที่ 8 ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการระบายน้ำจากแม่น้ำอิงลงสู่แม่น้ำโขง การดำเนินการนี้เป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายปี 2567 ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพื้นที่หลายอำเภอ

ในปี 2567 จังหวัดเชียงรายเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกหนักเกินกว่าปกติ ส่งผลให้หลายพื้นที่ในจังหวัดต้องประสบกับปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดได้แก่ อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ ซึ่งเส้นทางน้ำจากจังหวัดพะเยาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ยากและทำให้ระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

เพื่อรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันในการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอย่างรวดเร็ว และจะมีการติดตามการทำงานของเครื่องผลักดันน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติในอนาคต โดยจะมีการทบทวนและปรับปรุงแผนการจัดการอุทกภัยในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

โดยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการควบคุมและบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัยในอนาคต

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายปี 2567 เป็นการเตือนภัยที่ชัดเจนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ไขปัญหาและสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีกในอนาคต.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ชลประทานเชียงราย ยืนยันไม่กระทบ มวลน้ำเข้าเมืองทุกสายไหลลงสู่แม่น้ำกก

 

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 67 นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย พร้อมด้วย นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หน. กลุ่มนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย และนายประพันธ์ ช่างแก้ว หัวหน้าฝ่ายปกครอง (นักบริหารงานทั่วไป) เทศบาลนครเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสถานที่กักเก็บน้ำ / กั้นน้ำ แหล่งน้ำ และทางระบายน้ำ คลองผันน้ำอาคารควบคุมน้ำ และทิศทางการไหลของน้ำ ในเขตตัวเมืองเชียงราย โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สำหรับวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนเมืองเชียงราย

     โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ตรวจสอบท่อส่งน้ำบริเวณหัวสนามบิน ฝูงบิน 416 ตำบลรอบเวียง จุดที่ 2 ตรวจสอบประสิทธิภาพการผันน้ำของคลองผันน้ำแม่กรณ์สู่แม่น้ำกกที่บริเวณบ้านหัวฝาย ตำบลรอบเวียง จากนั้นได้เดินทางไปตรวจสอบทิศทางการไหลของน้ำที่ฝายชัยสมบัติ ต.ท่าสาย อ.เมืองเชียงราย และที่บริเวณอาคารควบคุมน้ำ การรับน้ำ และการระบายน้ำ ณ เขื่อนเชียงราย เดิมเรียกว่า (ฝายเชียงรายเดิม) ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย 

ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของแม่น้ำกก ที่อยู่ในเขตตัวเมืองเชียงราย ไหลผ่านลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ตามที่อุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนว่า ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อน และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 โดยในบริเวณประเทศไทยตอนบน สภาพอากาศมีฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 และต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป โดยพื้นที่จังหวัดเชียงรายเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2567 เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยและดินสไลด์ มีผลกระทบระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 และอาจส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูฝนปีนี้ โดยทางผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย ยืนยันว่ามวลน้ำทุกสายที่ไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองเชียงราย และไหลลงสู่แม่น้ำกก ผ่านไปยังแม่น้ำโขงไม่กระทบต่อชุมชนในเขตเมือง และพื้นที่อื่นๆ อย่างแน่นอน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News