รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน เป็นมาตรการต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 33 บาท/ลิตร ระยะเวลาดำเนินการ 20 เม.ย. – 31 ก.ค. 2567
2. ตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ระดับ 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. ระยะเวลาดำเนินการ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2567
3. ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 19.05 สตางค์/หน่วย แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ค. – ส.ค. 2567 (4 เดือน)
ทั้งนี้คาดว่าจะใช้งบฯ สำหรับดำเนินทั้ง 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
– มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 6,500 ล้านบาท
– ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 6,000 ล้านบาท
– ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาท
– มาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 1,800 ล้านบาท)
โดย ในที่ประชุม ครม. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้การดำเนินการของมาตรการดังกล่าวพิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบฯ ปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะลดลงได้อย่างไร ว่า ตอนนี้องค์ประกอบต่างๆเป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน ซึ่งตนกำลังแก้ไขอยู่ และเมื่อแก้เสร็จแล้วจะเปลี่ยนใหม่ จะเร่งทำให้เร็วที่สุด เพราะยอมรับว่าราคาน้ำมันขึ้น-ลง ตามอำเภอใจ ทุกวันนี้ไม่มีใครคุมได้ ผู้ค้าคิดจะขึ้นก็ขึ้น คิดจะลงก็ลง ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาคือการแก้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐไม่มีอำนาจ ได้แต่ขอความร่วมมือ ตลกหรือไม่ อยู่กันมาแบบนี้
เมื่อถามว่า การแก้กฎหมายใช้เวลานานหรือไม่ นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนกำลังร่างอยู่ พร้อมยกตัวอย่างว่า การผลิตไฟฟ้าก็ต้องใช้แก๊ส ราคามีความผันผวนเช่นกัน แต่ไม่ได้ปรับราคาขึ้นลงทุกวัน เพราะไฟฟ้ามีกฎหมายกำกับ แต่ราคาน้ำมันปรับขึ้นลงทุกวัน ตอนนี้ทำได้แค่เพียงการประกาศให้มีการแจ้งต้นทุน เมื่อ 15 เมษายน ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพราะที่ผ่านมาสังคมไม่รู้ต้นทุน
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี