เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดงานครบรอบ 27 ปี โดยจัดเวทีปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ความท้าทายรัฐบาล” โดย ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย” ตอนหนึ่งว่า สังคมเฝ้าติดตามอยู่ว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้จะไปอย่างไร การเมืองไทยเปราะบาง ในความเห็นของตนก็เช่นเดียวกัน เศรษฐกิจไทยวันนี้เริ่มมีความเปราะบางค่อนข้างสูง การวางทิศทาง การวางนโยบาย การกำหนดแผนงานต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิบัติการในส่วนทำให้นโยบายและไปในทิศทางถูกต้อง เป็นเรื่องสำคัญมาก
ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจโลก และทิศทางเศรษฐกิจไทย ถ้าจำกันได้เมื่อประมาณ 15-16 ปีที่ผ่านมา โลกได้เคยเผชิญกับปัญหาหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องรุนแรง ถึงขนาดเป็นวิกฤติด้วย โดยเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจนมากขึ้น กระทำโดยผู้ที่มีอำนาจระดับโลก ระเบียบการค้าโลกจึงเสื่อมความขลังลงไปเช่นกัน ต่อมาเราเผชิญปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของโควิด-19 ในส่วนนี้เป็นที่รับรู้กันว่า ทำให้โลกหยุดนิ่ง รวมทั้งไทยด้วย เราไม่รู้ว่าเวลานั้นจะเดินต่อไปทางไหน แต่สำหรับไทย คิดว่าเรามีความยืดหยุ่น และมีความพร้อมที่จะแก้สถานการณ์ให้กลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้นมีเรื่องรัสเซีย ยูเครน ตามมาอีก เป็นสงครามที่คิดว่าไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และก็เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ส่วนเรื่องอิสราเอล และฮามาส ที่มีปัญหามายาวนาน แต่ปัญหาก็ไม่เคยปะทุรุนแรงเท่ากับครั้งนี้
ดร.ปานปรีย์ กล่าวอีกว่า เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจของโลกเกิดความไม่แน่นอน มีความหวั่นไหวมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ถือว่า มีความสำคัญเสริมเข้ามา เช่น เทคโนโลยีดิสรัปชัน สร้างความพลิกผันทางธุรกิจอย่างสูง เรื่องอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น จนถึงเวลาแล้วที่เราต้องจัดการ มิฉะนั้นจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชาวโลก ขณะที่เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ พวกเราอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่ภูมิรัฐศาสตร์มีส่วนสำคัญมากในการกำหนดชะตากรรมแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากมีผลกระทบกว้างขวาง ถ้าประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดขัดแย้ง อีกประเทศได้รับผลกระทบตามไปด้วย
“ทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจเกิดความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราเดินไม่ถูกทาง จะทำให้เกิดปัญหากับเศรษฐกิจต่อประเทศนั้น ๆ ได้ค่อนข้างรุนแรง ในสภาวะปัจจุบันนี้” ดร.ปานปรีย์ กล่าว
ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจไทย เราพบและรับรู้ว่า ไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกสูงถึง 70% รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศด้วย การลงทุนในประเทศไม่เพียงพออุ้มชูเศรษฐกิจของเรา และขึ้นอยู่กับการส่งออกและการลงทุน เป็นส่วนสร้างรายได้ให้กับประเทศมาก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิเศรษฐกิจ การส่งออกของไทย และการลงทุนของไทย จะเห็นว่าเริ่มประสบปัญหา โดยจากการขยายตัวของการส่งออกที่ลดลง ส่งผลทำให้ GDP –องไทยมีการขยายตัวอยู่ในระยะต่ำ ซึ่ง IMF คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 2.2-2.7% ถือว่าต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันในกลุ่มอาเซียน
ดร.ปานปรีย์ ตั้งคำถามว่า ทำไมไทยขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ต่ำสุดในอาเซียน การใช้จ่ายภาครัฐในเวลานี้ก็มีข้อจำกัด เป็นที่ทราบได้ดีว่า เศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 65.05% ทำให้การใช้จ่ายในภาครัฐมีข้อจำกัด หนี้ครัวเรือนในสิ้นปี 2567 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 91.4% ต่อ GDP ซึ่งมีผลต่อภาวการณ์บริโภคในประเทศ หลายฝ่ายก็มีความเป็นกังวลอยู่ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการ หรือนโยบายใดที่จะมีความชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ความสำคัญทิศทางเศรษฐกิจ เหตุใดเราต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ และแผนงานทิศทางเศรษฐกิจ เพราะว่าสามารถวางแผนล่วงหน้าให้แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคราชการ ภาคธุรกิจ นักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศ แรงงาน การศึกษา แลประชาชน ตาม Roadmap ทิศทางที่ถูกต้อง โดยภาครัฐและภาคเอกชนสามารถจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุนภาคเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และเวียดนาม
ดร.ปานปรีย์ ชี้ว่าปัญหาของเศณษฐกิจไทยคือ เครื่องยนต์เศรษฐกิจทั้ง 4 ด้านทำได้ไม่เต็มที่ นั่นคือ ส่งออกขยายตัวไม่ตรงเป้า การลงทุนมีการปรับเปลี่ยนย้ายฐานการผลิตจาก New Global Supply Chain หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง ไม่สามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ส่งผลถึงรายได้และการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจปรับตัวได้ช้า ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ไม่ทันท่วงที
“ที่สำคัญคือการปรับโครงสร้าง มีการพูดคุยเรื่องนี้ยาวนาน รู้ปัญหากันหมด แต่ไม่ได้จัดการแก้ไข หรือมีแผน หรือมีนโยบาย มาตรการที่ชัดเจนว่า จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่อไปอย่างไร และควรเริ่มดำเนินการเมื่อไหร่ วันนี้เกือบจะสายไปแล้ว ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไทยคงชะลอตัวอยู่อย่างนี้ และเติบโตต่อไปยาก” ดร.ปานปรีย์ กล่าว
อดีตรองนายกฯ กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งคือเสถียรภาพทางการเมืองไทย ที่ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาก็เติบโตมาได้ ไม่ใช่สุ่มเสี่ยงแบบบางประเทศในกลุ่มอินโดจีน รวมถึงขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในอดีตมีการนำวิสัยทัศน์มาพัฒนาเป็นนโยบายและแผนงานเศรษฐกิจ สามารถออกมาตรการมาสนับสนุนแผนงานได้อย่างชัดเจน เช่น การส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนา Eastern Seaboard นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบาย และมาตรการอย่างไรเพื่อปรับทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ของโลก ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์ก่อนว่าสำคัญอย่างไร กระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจภาคเอกชนอย่างไร
ดร.ปานปรีย์ มีข้อเสนอทิศทางเศรษฐกิจไทย 8 ข้อได้แก่ 1. ไทยกําลังเผชิญความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความยืดหยุ่นในการปรับตัวของนโยบายเศรษฐกิจไทยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก 2. วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีการดําเนินการมาถูกทางแล้ว เช่น การปรับโครงสร้างเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตัล Industry 4.0 หรือการต่อยอดการพัฒนา Eastern Seaboard มาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC แต่หลายเรื่องยังขาดมาตรการรองรับที่ชัดเจน และยังมีกฎระเบียบต่างๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย
- การที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Economy, Green and Clean Economy เราคงไม่สามารถที่จะละทิ้งอุตสาหกรรมเก่าไปหาอุตสาหกรรมใหม่ทั้งหมดได้เพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้อง Re-Balance การดูแลอุตสาหกรรมเก่า ให้เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่
- นโยบายเศรษฐกิจต้องสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกได้ เช่น ปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซีย ทําให้หลายประเทศขาดแคลนสินค้าที่เดิมนําเข้าจากทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าทดแทนไปตลาดแบบนี้ก็เป็นได้ หรือพิพาทเรื่อง Chip War ระหว่างจีนกับสหรัฐ เราจะชักชวนใครมาลงทุนการผลิต Semiconductor หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในไทย เพื่อตอบโจทย์ Geopolitics และ Global Supply Chain ที่เปลี่ยนไป
- เรียนรู้จากคู่แข่งขัน เวียดนามสร้างความชัดเจนทางนโยบายที่จับต้องได้ เช่น การเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจ Digital การส่งเสริมการลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือ สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์มองในเรื่อง Resilient Growth แล้วสามารถนําออกมาพัฒนาเป็นนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อบริหารทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
- Skilled Labour คือสิ่งที่ประเทศไทยเราต้องให้ความสําคัญ และต้องเร่งพัฒนาให้ฝีมือแรงงานไทยให้สามารถยกระดับรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
- ภาคเอกชนคือ Key Economic Driver ของเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต ภาครัฐคือ Key Facilitator ทําหน้าที่สนับสนุนการสร้างโอกาสของภาคเอกชนให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
- ภาคเอกชนควรทําข้อเสนอเศรษฐกิจ หรือ White Paper เสนอต่อรัฐบาล โดยเฉพาะหากมีประเด็นข้อคิดเห็นใหม่ๆ สําหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ดร.ปานปรีย์ สรุปภาพรวมว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจต้องคํานึงถึงผลกระทบจาก “VUCA World” ซึ่งเป็นคําย่อของ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) โดยปัจจุบันนี้ปัจจัยหลักสําคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจของโลก คือ geopolitics การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และ climate change ไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและแข็งแรง เกิดขึ้นจากการมองทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้ อย่างชัดเจน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเดิม ไทยจําเป็นต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสโลก ทั้งนี้ไม่ควรละทิ้งอุตสาหกรรมเและธุรกิจเก่า แต่ควรสนับสนุนให้มีการปรับตัวเพื่อเดินต่อได้ พร้อมกับพัฒนา ความพร้อมให้สามารถยกระดับเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
“ที่สำคัญท้ายที่สุดคือ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยด่วน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป” ดร.ปานปรีย์ กล่าว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ