Categories
FEATURED NEWS

“กสว. ร่วมมือ ผู้ว่าฯเชียงใหม่” จัดงบ 150 ล้านบาท แก้ปัญหา PM 2.5

 
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้นำผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของกองทุน ววน. มุ่งแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วนตามโจทย์และความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่ โดย สกสว.จัดสรรงบประมาณวิจัยภายใต้งบประมาณปี 2566 – 2567 รวม 2 ปี งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท คิดเฉลี่ยปีละ  70 กว่าล้านบาท ใน 4 มิติเร่งด่วนสำหรับการลดฝุ่นจากต้นตอแหล่งกำเนิด ได้แก่ การลดไฟในพื้นที่ป่าไม้ การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การลดไฟในพื้นที่เกษตร และการลดฝุ่นข้ามแดน โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยทุกภาคส่วนตั้งเป้าผลลัพธ์ทั้งการลดปัญหาที่เกิดซ้ำในแต่ละพื้นที่ การติดตามสถานการณ์ การวางแผนป้องกันและรับมือฝุ่นจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
 
 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลังการปฏิรูประบบ ววน. ในปี 2562 ได้มีการจัดตั้งกองทุน ววน. ขึ้น โดยมี กสว. ทำหน้าที่กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่สภานโยบายได้กำหนดไว้

 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเสริมว่า กสว. ได้อนุมัติงบประมาณ แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ในประเด็น “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” โดยใช้งบประมาณ 2 ปี รวมจำนวน 155,000,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 77,700,000 บาทและปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 77,300,000 บาทรวมทั้งให้ทุนแก่หน่วยงาน/นักวิจัยตามโจทย์สำคัญเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการอนุมัติแผนงานสำคัญเร่งด่วนและงบประมาณให้ทันต่อสถานการณ์มองทั้งระยะสั้น กลางและระยะยาว สำหรับการนำผลงานวิจัยไปใช้ในสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน ววน. ไปช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชน เพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ร่วมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้ทราบถึงโจทย์สำคัญของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และให้สามารถแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบท มีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาที่เร่งด่วนหน่วยงานภาควิชาการ ได้เร่งระดมหาทางออกให้กับจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากกองทุน ววน. อย่างเข้มข้น เพื่อสนับสนุนการบริหารท้องถิ่นให้คล่องตัวและสามารถบูรณาการการทำงานบนระบบข้อมูลและงานวิจัยอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“ความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง”

 
 
ขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤติไฟป่า ฝุ่นควันต่างๆ งานวิจัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดข้อถกเถียงของวิธีแก้ไขที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนระหว่างปฏิบัติงาน อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม งานวิจัยได้ช่วยให้มีบทสรุปขององค์ความรู้ วิธีดำเนินการ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ตรงกับบริบทของพื้นที่ ชีวิตของคนในชุมชน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแบบที่ทุกภาคส่วนต้องการ ดังนั้น เมื่อพื้นที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำได้ คือ การเปิดพื้นที่ เชิญหลากผู้รู้จากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์องค์ความรู้ที่มีร่วมกัน จนนำไปสู่การลงมือปฎิบัติจริง นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยให้หลากผู้รู้ยอมรับว่าการตกผลึกขององค์ความรู้ว่าทางออกที่แท้จริงของพื้นที่คืออะไร
 
 
 

ด้านนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับสกสว. นับเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะทำให้วิกฤติคลี่คลายได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาทางเชียงใหม่ได้มีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้แล้วแต่อาจยังไม่ทั่วถึง และบางนวัตกรรมอาจยังไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมีความยินดีและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 16 โครงการวิจัยที่สกสว. และกองทุน ววน. ได้สนับสนุนมานั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเฉพาะในระยเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหา และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยการนำงานวิจัยมาใช้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการออกนโยบาย ยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เกิดการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ที่เป็นบริบทสำคัญของจังวัดได้อย่างเข้มข้น”

 

นายทศพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การถอดบทเรียนจากสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่าเมื่อ จ.เชียงใหม่ ได้ทดลองปรับโครงสร้างให้องค์กรส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาใช้ติดตาม วางแผนการรับมือ และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้การสนับสนุบงบประมาณจากกองทุน ววน. จะช่วยให้ จ.เชียงใหม่ ได้รับประโยชน์จากงานวิจัย และเกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเป็นระบบที่จะเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาและบุกรุกป่า การส่งเสริมความเข้าใจและค่านิยมของประชาชนจากความเข้าใจถึงผลกระทบและช่วยกันลดปัญหาต่าง ๆ ปรับโครงการสร้างการเพาะปลูกเพื่อเข้าสู่วิถีเกษตรไม่เผา และมีทางเลือกสำหรับการทำเกษตรกรรมที่จะมีพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านองค์ความรู้ การร่วมบริหารจัดการและป้องกัน รวมถึงนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ

 
 
 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำ และขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณของกองทุน ววน. ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สกสว. พร้อมนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วน ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา สกสว. โดยกองทุน ววน. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณวิจัยในประเด็นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ปฏิบัติการ จ. เชียงใหม่  ภายใต้งบประมาณปี 2566 -2567 เป็นงบประมาณวิจัยปีละกว่า 70 ล้านบาท รวม2ปี  150 ล้านบาท  โดยพิจารณาอนุมัติงบประมาณเป็นแบบรายปี จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 43,050,000 บาท และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 34,650,000 บาท โดยมุ่งขับเคลื่อน 4 มิติเร่งด่วน ดังนี้

 

1.โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการรักษาผืนป่า มากกว่าเดิมด้วยกลไกการตอบแทนคุณนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Service (PES) ด้วยการศึกษาบริการทางนิเวศและมูลค่าของทรัพยากรเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนไปใช้สนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ป่าและป้องกันไฟป่า เช่น การขายคาร์บอนเครดิต การทำวิจัยชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการอนุรักษ์และกองทุนอนุรักษ์ระดับชุมชน เพื่อ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการไฟป่าของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาระบบติดตามและการวิเคราะห์โอกาสความเสี่ยงที่แม่นยำผ่านการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและงานวิจัย

 

2.การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า – ปัญหาฝุ่นควันที่แต่เดิมมีความซับซ้อน ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำ ๆ และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลชุดที่ 1 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ข้อมูลด้านจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ข้อมูลชุดที่ 2 ด้านอุตุนิยมวิทยา และสภาพของพื้นที่ ข้อมูลชุดที่ 3 ด้านการป้องกันผลกระทบและวิธีการเยียวยา ข้อมูลชุดที่ 4 ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ การลดสาเหตุ การรองรับการเผชิญเหตุ และรองรับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยทั้ง 4 ชุดข้อมูลนี้ยังมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปสู่การกำกับและติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมทั้งประเทศที่ดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษ และพ.ร.บ.อากาศสะอาดและมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดฝุ่น PM 2.5 ของกรรมการร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด

 

3.การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร การทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา และมีนวัตกรรม / วิธีทำเกษตรที่สร้างรายได้สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะวิธีการจัดการแปลงก่อนเริ่มทำการเพาะปลูกและหลังกระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการปรับเปลี่ยนจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด หรือ ไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน และโครงการวิจัยในกลุ่มนี้ยังมุ่งให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกร ผลผลิต และไร่นาแต่ละพื้นที่มีความยั่งยืนขึ้น

 

4.การลดฝุ่นข้ามแดน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลกับการผลิตการเกษตรภายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเกิดการถ่ายอดองค์ความรู้ที่สำคัญที่สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสามประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมา และถอดบทเรียนการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน

 

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 กรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า ขณะนี้ (ร่าง) พ.ร.บ. อากาศสะอาด อยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งเป็นกระบวนการนี้ต้องการข้อมูลงานวิจัยมาช่วยสนับสนุนการพิจารณาให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ และครบถ้วนในทุกมิติ  

 

       การจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการมากที่สุด ดังนั้น การหารือในครั้งนี้จะทำให้ กสว. และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวเสริม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สกสว.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME