Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

พายุ “ยางิ” ทำเชียงรายน้ำท่วมหนัก แม่สาย-เชียงของ ได้รับผลกระทบ

 

เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน 2567 จังหวัดเชียงรายเผชิญกับฝนตกหนักต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของพายุ “ยางิ” ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอแม่สายและอำเภอเชียงของ โดยบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างหนัก

 

ความเสียหายจากน้ำท่วมในอำเภอแม่สาย

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า อำเภอแม่สายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ ตลาดสายลมจอย ซึ่งเป็นจุดขายสินค้าชายแดนไทย-เมียนมา น้ำจากแม่น้ำสายได้เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้พ่อค้าแม่ค้าไม่สามารถเก็บสินค้าขึ้นหนีน้ำได้ทัน ส่งผลให้สินค้าหลายร้านเสียหายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้น้ำยังพัดพาขอนไม้และเศษวัสดุลงมาจากต้นน้ำในประเทศเมียนมา ซึ่งคาดว่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำมีฝนตกหนักเช่นกัน

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย พร้อมฝ่ายปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน โดยมีการแจ้งเตือนประชาชนให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและอยู่ในจุดปลอดภัย

 

น้ำท่วมเชียงของ พื้นที่หมู่บ้านได้รับผลกระทบ

อีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย คือ อำเภอเชียงของ โดยเฉพาะในตำบลสถาน น้ำได้เอ่อล้นตลิ่งและท่วมในพื้นที่หมู่ 2, 5, 12 ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนกว่า 50 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม เจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลสถานได้เร่งใช้เครื่องจักรเปิดทางน้ำและระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่เริ่มลดลง แต่ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

เตรียมความพร้อมรับมือฝนตกหนักและน้ำท่วมระลอกใหม่

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ระบุเพิ่มเติมว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำและฝนตกในพื้นที่ มีแนวโน้มว่าอาจมีฝนตกหนักและมวลน้ำระลอกใหม่เข้าท่วมเพิ่มเติมในช่วง 2-3 วันนี้ ทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมรับมือ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังและเตรียมการรับมืออย่างทันท่วงที

สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น น้ำตกและถ้ำ หากพบว่ามีฝนตกหนักและเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำการปิดกั้นพื้นที่และแจ้งเตือนประชาชนอย่างชัดเจน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

 

การช่วยเหลือเบื้องต้นและมาตรการป้องกันเพิ่มเติม

ในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ทางจังหวัดเชียงรายได้ประสานกับหลายหน่วยงานในการจัดหาอาหาร น้ำดื่มสะอาด เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ ให้แก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้เร่งซ่อมแซมเส้นทางคมนาคมที่ได้รับความเสียหาย และอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้เตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมและการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมตัวรับมือและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรสายด่วนนิรภัย 1784 หรือสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือประสานงานกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อรับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำ ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยนางพัชรวีร์ สุวรรณิก ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่รับฟังบรรยายผลการดำเนินการมาตรการฤดูฝน ปี 2567 พื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยมีนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย นางสาวนันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เข้าร่วมประชุม และบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่อำเภอแม่สาย ตลอดจนการบริหารจัดการน้ำ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

จากนั้นคณะฯ ได้ลงพื้นที่จำนวน 2 จุด ได้แก่สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 และบ้านป่าซางงามหมู่ที่ 6 ตำบลเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามการดำเนินการการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากความห่วงใยจากรองนายกรัฐมนตรี ท่านภูมิธรรม เวชยชัย ที่ได้มอบเป็นนโยบายให้กับทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำ ได้เข้ามาดำเนินการดูแลในเรื่องของสถานการณ์ที่เป็นห่วง กังวลในเเรื่องของอุทกภัยตั้งแต่ภาคเหนือ ซึ่งคาดว่าจะประสพกับเรื่องของฝนที่ตกในช่วงเดือนกันยายนนี้ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมเตรียมในเรื่องของมวลน้ำให้สามารถระบายลงสู่น้ำโขงได้อย่างรวดเร็ว ไม่เป็นอุปสรรคในการที่จะดำรงชีพ  
สำหรับ สทนช.เป็นหน่วยงานในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการคาดการณ์ฝน ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ในเรื่องของการดูแลมวลน้ำและมวลชน ร่วมกับกรมบรรเทาสารณภัยท้องที่ ท้องถิ่น และอำเภอ ซึ่งในพื้นที่ อ.แม่สาย เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง ซึ่งถ้าเกิดปัญหาอุทกภัยแล้วก็จะก่อเกิดความเสียหาย ก็ควรที่จะต้องเร่งมีมาตรการให้บรรเทาให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในขณะนี้ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ทางหน่วยงานได้มีการติดตามประเมินในเรื่องของปริมาณน้ำฝน โดยเฉพาะในช่วงของ สิงหา ถึง กันยายน  โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงราย ภาคเหนือตอนบน ฝนจะตกสะสม และมากกว่าค่าเฉลี่ย จะเห็นได้ว่าขณะนี้ฝนเริ่มตกแล้ว  มีน้ำไหลหลากลงมา โดยเฉพาะแม่สายส่งผลให้น้ำเอ่อล้น 5 รอบแล้ว และ หลังจากนี้ไป ช่วงต้นเดือนกันยายนจนถึงวันที่ 15 กันยายน ฝนก็ยังจะตกซ้ำอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนเหมือนเดิม และทยอยตกตลอดเดือนสิงหาคม เพราะฉะนั้น สถานการณ์ต่อจากนี้ไปในเรื่องของน้ำหลากยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลปริมาณน้ำฝน จึงขอให้มีการติดตามเฝ้าระวังติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด สำหรับพี่น้องประชาชน เมื่อทราบข้อมูลแล้วอยากให้มีการส่งข่าวทางกลุ่มไลน์ กลุ่มเครือข่ายของพี่น้องประชาชนเพื่อให้รับทราบร่วมกัน ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งและเป็นช่องทางที่ดีที่สุด ในการที่จะร่วมกันแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

งานสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อ ปี 67 บ้านสันบุญเรือง ครั้งที่ 6 อ.แม่สาย

 

เมื่อวันที่วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.00 น. นายก นก นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงานสืบสานวัฒนธรรมไทลื้อ บ้านสันบุญเรือง ครั้งที่ 6 ประจำปี 2567 พร้อมด้วย นายจิราวุฒิ แก้วเขื่อน ที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงราย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายชาญชัย แสนรัตน์ สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย อ.แม่สาย เขต 2 ณ ลานอเนกประสงค์ บ้านสันบุญเรือง ต.เกาะข้าง อ.แม่สาย โดยมี ร.ต.อ.เด่นวุฒิ จันต๊ะขัติ นายก อบต.เกาะช้าง เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจาก นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย นายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย นายเด่นชัย ลาวิชัย นายก อบต.ศรีเมืองชุม เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย

 

ในงานดังกล่าวมีกิจกรรมการประกวดหนูน้อยขวัญใจไทลื้อ 4 ไตยเฮือน การแสดงชุดสีสันไทลื้อ โดยกลุ่มพัฒนาสตรีบ้านสันบุญเรือง การประกวดขบวนไตยเฮือน และการแสดงของนักเรียนโรงเรียนบ้านสันบุญเรือง โดยทางบ้านสันบุญเรือง ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นทุกๆปี เพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ นำเสนอวิถีชีวิต การแต่งกายที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่า แก่การอนุรักษ์ ส่งเสริมให้คงอยู่สืบไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อ.แม่สาย จัดงานเมาลิดนบี (ซ.ล) ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย เป็นประธานในพิธีเปิดงานเมาลิดนบีมูฮัมหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 – 15.30 น. ณ อาคารเอนกประสงค์มัสยิดอันนูร แม่สาย ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายราชัน รุจิพรรณ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงานการจัดงาน นายสมจิต มุณีกร ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอันนูร แม่สาย กล่าวต้อนรับ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวอวยพร และนายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย กล่าวพบปะพี่น้องมุสลิมที่มาร่วมงาน และให้เกียรติมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนผู้ผ่านการสอบอัลกุรอานขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน

      ความสำคัญของานเมาลิดดิลนบี หมายถึง วันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาของศาสนาอิสลาม ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในห้วงเดือนดังกล่าว มุสลิมทั่วโลกจะมีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) โดยการนำชีวประวัติของท่านศาสดาตั้งแต่วันประสูติจนถึงวันที่ท่านวากาฟ (ถึงแก่กรรม) มาเสนอหลากหลายรูปแบบ อาทิ การนำบทกวี (บัรซัญญี) การบรรยายธรรม เล่าชีวประวัติของท่านศาสดา เพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต การยกย่องวันเกิดของท่านศาสดามูฮัมหมัดทำได้โดยดำเนินการปฏิบัติในวันเกิดของท่าน คือ การถือศีลอดในวันจันทร์ การกล่าวซอลาวาตเป็นส่วนหนึ่งของการให้เกียรติยกย่อง รวมถึงปฏิบัติตามคำสั่ง ละเว้นการปฎิบัติตามคำสั่งห้ามของท่าน และดำเนินตามแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมหมัด การจัดงานเมาลิด เป็นประเพณีหนึ่งที่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดสันติสุขสู่พื้นที่ ถือเป็นการนำทุนทางศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนทุนวิถีชีวิตของคนในชุมชนมุสลิมมาเป็นสื่อกลางในการสร้างจิตสำนึก และรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด รวมทั้งสร้างความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อทำสิ่งดีงามให้แกชุมชน สังคม และประเทศชาติสืบไป

     ดำเนินการจัดโดย คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอันนูร แม่สาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติศาสดานบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) รำลึกถึงความดีงาม เผยแพร่จริยวัตรทางด้านศาสนาอิสลาม ให้ชาวมุสลิมนำไปปฏิบัติตามในชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงได้มาพบปะกัน และสร้างความสามัคคีเป็นหมู่คณะ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมงานเป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดงานดังกล่าวมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. พิธีเปิดงานและร่วมอวยพร
  2. พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนผู้ผ่านการสอบอัลกุรอานขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน
  3. พิธีมอบทุนให้แก่เด็กและเยาวชนมุสลิมในพื้นที่อำเภอแม่สาย จำนวน 50 ทุน
  4. งานเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน
  5. การพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือระหว่างผู้นำมุสลิม ภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  6. การบันทึกภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก
  7. ตลาดฮาลาล จำหน่ายผลิตภัณฑ์วิถีชีวิตมุสลิม ถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมด้านอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เสื้อผ้า และประเพณีท้องถิ่นโดยบูรณาการเกี่ยวกับการยกระดับอำนาจละมุน (Soft Power) ตามนโยบาย 5F (Food, Fashion, Film, Festival and Fighting)

    ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายวิชชากรณ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ (ผู้ประสานงานอำเภอแม่สาย) และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานฯ อวยพร แสดงความยินดี และมอบดอกไม้ประดับอันเป็นมงคลให้แก่ผู้นำศาสนาอิสลาม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News