Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

แม่น้ำลาวยังคงความอุดมสมบูรณ์ หลังพบเต่าปูลูตัวแรกในรอบ 2 ปี ที่พะเยา

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้รับการแจ้งจากชุมชนว่ามีชาวบ้านพบตัวเต่าปูลูในแม่น้ำลาว บ้านคะแนง ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะของเต่าปูลู และทำการบันทึกข้อมูลสัญฐานเต่า ก่อนให้ชุมชนนำไปปล่อยไว้ตามที่อยู่เดิมในชุมชน

 

จากการสำรวจ เป็นเต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว เพศเมีย น้ำหนัก 0.290 กิโลกรัม กระดองมีความยาว 120.4 มิลลิเมตร กระดองส่วนกลางกว้าง 95.5 มิลลิเมตร มีชาวบ้านได้ไปหาปลาตอนหัวค่ำเจอตัวเต่าปูลูกำลังว่ายเข้าหลบในซอกหิน
นายวีระวัฒน์ พากเพียร ชาวบ้านคะแนง อายุ 23 ปี ได้กล่าวว่า
 
 
“ตอนเย็นผมไปเดินเล่นหาปลา ดำจับปลาในน้ำเจอเต่าปูลูกำลังว่ายผ่านหน้าเข้าหลบในซอกหิน บริเวณต้นน้ำแม่ลาว ห่างจากชุมชนประมาณ 2 กิโลเมตร เจอตัวในเย็นวันที่ 2 เมษายน เวลาประมาณ หกโมงกว่าเกือบหนึ่งทุ่มครับในหมู่บ้านมีคนพบเต่าปูลูบ่อย แต่ผมพึ่งเจอเป็นครั้งแรก”
 
 
เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลาว เป็นระบบนิเวศน์ลำธาร ที่ตั้งชุมชนบ้านคะแนงตั้งอยู่ในหุบเขา ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยสาขาล้อมรอบ มีแม่น้ำลาวเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญในชุมชนจำนวน 10 ลำห้วย ได้แก่ ห้วยคะแนง ห้วยผาลาด ห้วยตาดเก๊าซาง ห้วยปูลู ห้วยผีหลอก ห้วยสวนหมาน ห้วยหินแดง ห้วยขุนลาว ห้วยน้ำลาวฝั่งซ้าย และห้วยน้ำตกขุนลาว ชาวบ้านยังมีการพบเจอตัวเต่าปูลูอยู่เป็นระยะๆ และมีชุกชุมในชุมชน
น้ำแม่ลาวมีต้นกำเนินในเทือกเขาภูลังกา ในเขตอำเภอเชียงคำ ไหลผ่านอำเภอเชียงคำ และไปบรรจบแม่น้ำอิงที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย รวมความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร
 
 
เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว มีสถานภาพการอนุรักษ์ อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(Critically Endangered-CR มีลักษณะจำเพาะกระดองหลังมีสีน้ำตาลดำ กระดองท้องสีเหลืองอมส้ม หัวใหญ่ จงอยปากแหลมคล้ายปากนกแก้ว หดหัวเข้ากระดองได้ไม่เต็มที่ ขาใหญ่และหดเข้ากระดองไม่ได้ เท้ามีเล็บ หางยาวกว่าความยาวของกระดอง มีเดือยแหลมขนาดเล็กบริเวณขา รอบ ๆ รูทวารและที่โคนหาง กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย
 
 
นายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้กล่าวถึงการเก็บข้อมูลครั้งนี้ว่า “วันนี้ทางสมาคมได้ทำการตีแปลงวิทยาศาสตร์และวัดข้อมูลตัวเต่า ศึกษาจุดระบบนิเวศน์ที่เจอตัวเต่าเต่าปูลู การพบเต่าปูลูครั้งนี้เป็นการพบเต่าตัวแรกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจากการลงมาศึกษาเต่าปูลูร่วมกับชุมชนบ้านคะแนง และแนวทางต่อไปจะปรึกษาชุมชนหาแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมชุมชนต่อไป เต่าปูลูเป็นตัวชี้วัดสำคัญของระบบนิเวศน์ การพบตัวเต่าปูลูแสดงว่าต้นแม่น้ำลาวยังคงความอุดมสมบูรณ์”
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

รมว.ธรรมนัส นำทีมเกษตร ขึ้นเหนือม่วนใจ๋ เช็กอิน ‘พะเยา’

 
เมื่อวันที 14 มีนาคม 2567  ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมลงพื้นที่ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมคณะรัฐมนตรี ในการลงพื้นที่ตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2567 ณ จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 18 – 19 มีนาคม 2567 ซึ่งการลงพื้นที่ตรวจราชการครั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายกำหนดทิศทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือนตอนบน 2 (จังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย และแพร่) ในทุกมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสุขภาพ และมิติด้านสภาพแวดล้อมที่ดี มีเป้าหมายให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน ภายในปี 2570 โดยในส่วนของประเด็นการพัฒนาด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะผลักดันและขับเคลื่อน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่
 

        ประเด็นการพัฒนาที่ 1 พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง มุ่งลดต้นทุนการผลิต ใช้ระบบ AI ช่วยการผลิต และส่งเสริมเกษตรกรแบบอัจฉริยะ สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเกษตรกรที่เป็น Smart Farmer, Young Smart Farmer และ Smart Product, จัดระบบตลาดและโลจิสติกส์เกษตรชุมชน ส่งเสริมการส่งออก การทำตลาดเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย (Niche Market) และส่งเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีในการทำตลาดการเกษตรแบบดิจิทัล
 

        และประเด็นการพัฒนาที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาสุขภาวะวิถีใหม่สู่ความยั่งยืน (new normal to sustainable โดยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถการเป็นคลังอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐานควบคุมคุณภาพ GAP ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ การทำตราสินค้า (Branding) และตรารับรองคุณภาพสินค้า (Quality Mark) พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและแปรรูป เช่น สมุนไพร ให้ได้มาตรฐาน
 

        ขณะที่กำหนดการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ครั้งนี้ ได้ปักหมุด ณ จังหวัดพะเยา ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพะเยา มีพื้นที่ทั้งหมด 3.959 ล้านไร่ หากพิจารณามิติด้านการเกษตร พบว่า มีการใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร 1.503 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 37.96 ของพื้นที่ทั้งหมด ครัวเรือนเกษตร 77,868 ครัวเรือน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ลำไย ลิ้นจี่ กระเทียม หอมแดง และมันสำปะหลัง มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GPP) กว่า 35,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จังหวัดพะเยายังมีสินค้าโดดเด่น ที่ได้รับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) มีจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวก่ำล้านนา ข้าวหอมมะลิพะเยา และ ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวย และมีสินค้า OTOP ของจังหวัด รวมทั้งสิ้นกว่า 2,098 ผลิตภัณฑ์ มียอดจำหน่ายสินค้ามากถึง 2,394 ล้านบาท/ปี โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินงานตามนโยบายการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง คัดเลือกประเภทสินค้าเกษตร จำนวน 6 ชนิด ได้แก่
 
1) โคเนื้อ ต.บ้านถ้ำ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา 
2) ข้าวหอมมะลิ ต.จำป่าหวาย อ.เมือง จ.พะเยา 
3) มันฝรั่ง ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา 
4) ปลานิล ต.แม่ปืม ต.บ้านตั้ม อ.เมือง จ.พะเยา 
5) ลิ้นจี่ ต.แม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา 
และ 6) ลำไย ต.ภูซาง อ.ภูซาง จ.พะเยา
 

   ทั้งนี้ จังหวัดพะเยา ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญ ลักษณะภูมิประเทศเต็มไปด้วยบรรยากาศและทัศนียภาพที่น่าค้นหา เป็นเมืองเก่าที่น่าย้อนรอยอดีตในบรรยากาศเมืองล้านนาร่วมสมัย โดยเฉพาะชื่อเสียงของกว๊านพะเยา ที่ถือเป็นหัวใจของจังหวัด จนมากลายมาเป็นต้นกำเนิด พิธีการเวียนเทียนหนึ่งเดียวของโลก ตลอดจนมีแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สวยงาม มีเสน่ห์ตามภูมิประเทศของเมืองเหนือ ทั้งภูเขา สายหมอก และผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งการลงพื้นที่ของ ครม.สัญจร ที่จังหวัดพะเยาครั้งนี้ ได้เตรียมหารือและขับเคลื่อนในส่วนของการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาด่านชายแดน จุดผ่านแดนถาวรบ้านฮวก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา การก่อสร้างรถไฟรางคู่ แนวทางการผลิตสุราชุมชน โครงการชลประทานพะเยา โครงการก่อสร้างระบบน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ตลาดนัดแนะแนวอาชีพสร้างโอกาสเด็กและเยาวชน เลือกสร้างทางการศึกษา

 

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 นายพิสุทธิศักดิ์ ธรรมะวุฒิสุข ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานทะเบียนและบัตร ได้เป็นประธานในการเปิดงาน ตลาดนัดแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของการเรียนต่อและมีงานทำ ที่ สวนสุขภาพ 100 ปี อ.เชียงคำ จ.พะเยา โดยมี นายธีระชัย สมฤทธิ์ นายกเทศมนตรีตำบลเชียงคำ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมจัดซุ้มนิทรรศการให้กับเด็กและนักเรียนกว่า 300 คน เข้าร่วม ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ.เพื่อเด็กและเยาวชนฯ ในพื้นที่ของโครงการฯ จังหวัดพะเยา ได้จัดกิจกรรม นิทรรศการตลาดนัดแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของการเรียนต่อและมีงานทำ

 

นาย ขจรศักดิ์ กาติ๊บ ประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ.จังหวัดพะเยา กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการแนะแนวอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โลกของงาน หรือตลาดนัดแนะแนวอาชีพ ครั้งนี้ โครงการพัฒนาเด็ก ซี.ซี.เอฟ. จังหวัดพะเยา ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการพัฒนาเด็ก ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสโดยไม่จำกัดเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา สุขภาพ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และเป็นโอกาสดีที่เด็กและเยาวชนในจังหวัดพะเยา ได้รับการช่วยเหลือ และส่งเสริมอาชีพเพื่อนำไปต่อยอดในการเลี้ยงชีพในอานาคตได้
 
 
โดยมี สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานพะเยา วิทยาลัยเทคนิคเชียงคำ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเชียงคำ ศูนย์ฝึกอาชีพเด็กและสตรี จังหวัดเชียงราย โรงเรียนทวิบริบาลศาสตร์ เชียงราย โรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ ณชจันทร์ และ ฟาร์มเห็ดเศรษฐกิจร่มเย็น แนะแนวทางการศึกษาต่อแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสร้างทางเลือกการศึกษาต่อ ทั้งด้านสายอาชีพและอุดมศึกษา ที่ตรงกับความต้องการและความถนัดของตนเอง เพิ่มช่องทางให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของสถาบันการศึกษา และเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อหรือเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่ายโรงเรียน ชุมชน จัดซุ้มนิทรรศการทักษะอาชีพเด็กในโรงเรียน เพื่องานประชาสัมพันธ์
 
 
นายพิสุทธิศักดิ์ ธรรมะวุฒิสุข กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมสู่โลกของการศึกษาต่อและมีงานทำ โดยภายในงานมีหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ร่วมจัดนิทรรศการ สร้างความเข้าใจในเส้นทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจ (INSPIRATION) ในหัวข้อเรื่องความสำคัญของการศึกษา สำหรับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนภาคี ในพื้นที่การดำเนินงานโครงการฯ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนสร้างทางเลือกการศึกษาต่อ ทั้งด้านสายอาชีพและอุดมศึกษา ที่ตรงกับความต้องการและความถนัดของตนเอง เพิ่มช่องทางให้นักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของสถาบันการศึกษา และเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อหรือเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
 
สำหรับ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพื้นที่ดำเนินงานในจังหวัดพะเยา ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจุน อำเภอปง อำเภอภูซาง และ อำเภอเชียงคำ ปัจจุบัน มีเด็กในการดูแลของโครงการ จำนวน 1,191 ราย กิจกรรมตลาดนัดแนะแนวอาชีพ ในวันนี้ได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากองค์กร หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีโรงเรียน ชุมชน จัดซุ้มนิทรรศการเพื่อประชาสัมพันธ์ แนะแนวทางการศึกษาต่อแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS VIDEO

ปฏิบัติการพญางำเมือง จับ 2 จุด กลางเมืองพะเยา

 

วันที่ 17 กันยายน 2566 เวลา 00.30 น. นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง สั่งการให้ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง โดย นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง พร้อมสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน กว่า 40 นาย

นำกำลังเข้าจับกุมสถานบริการขนาดใหญ่ในพื้นที่ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา “ฮอลลีวูด ผับ” เปิดให้บริการเกินเวลากว่าที่กฎหมายกำหนด ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและปล่อยปละละเลยให้เด็กเข้าใช้บริการจำนวนมาก พบนักเที่ยวเด็ก อายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 143 ราย อายุต่ำสุดเพียง 17 ปี!

ในเวลาเดียวกันชุดช่วยเหลือสนับสนุน ได้เข้าช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ โรงแรมภูทองเพลส ในตัวเมืองพะเยา เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกร้านคาราโอเกะนำมาแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ รับส่วนแบ่งเงินจากการค้าประเวณี อ้างเป็นค่าเวลาของร้าน คิดเป็นรายชั่วโมง โดยสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้ 2 คน เด็กมีอายุต่ำสุดเพียง 14 ปี เจ้าพนักงานชุดช่วยเหลือได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เก็บรวบรวมพยานหลักฐาน และร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าของร้านคาราโอเกะที่นำเด็กมาค้ามนุษย์ด้วยแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณีต่อไป

ความเชื่อมโยงของปฏิบัติการดังกล่าว เริ่มต้นจากกมูลนิธิอิมมานูเอล ลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริง และพบว่ามีการค้ามนุษย์ นำเด็กมาค้าประเวณี ณ ร้านคาราโอเกะ แห่งหนึ่ง ในตัวเมืองพะเยา โดยสามารถให้เด็กออกมาขายบริการเพศให้แก่ลูกค้า แต่จะต้องเสียค่าเวลาให้แก่ร้านเป็นส่วนแบ่งที่เด็กออกมาให้บริการทางเพศ และเด็กได้มีการชักชวนทีมงานชุดสืบสวนให้มาเที่ยวต่อยังผับในตัวเมืองพะเยา โดยเป็นที่รู้กันว่าเปิดดึก เด็กอายุไม่ถึง 20 ปี สามารถเข้าใช้บริการได้ จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการสืบสวนการกระทำผิดของสถานบริการ ฮอลลีวูด ผับ

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้รับใบอนุญาตตั้งสถานบริการว่า ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ซึ่งมิได้ทำงานในสถานบริการนั้นเข้าไปในสถานบริการระหว่างเวลาทำการ, เปิดทำการเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนด, จำหน่ายสุราให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี, จำหน่ายสุราเกินกว่าเวลาที่กฎหมายบัญญัติ, ความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม, ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร, จำหน่ายสุราแก่เด็ก และยังเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ข้อ 4 (1)-(4) ทั้งนี้ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองชุดจับกุม จะได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตสถานบริการดังกล่าว และห้ามมิให้มีการเปิดสถานบริการในสถานที่ดังกล่าวอีกเป็นเวลา 5 ปี ต่อไป

นายรณรงค์ ทิพย์ศิริ ผู้ตรวจราชการ กรมการปกครอง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายพนักงานฝ่ายปกครอง ฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการสถานบันเทิง ควรประกอบธุรกิจด้วยความมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ที่ 22/2558 ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ กระทำการใดที่ห้ามไว้ตามคำสั่งดังกล่าว

สรุปให้จำง่ายๆ “ห้ามเด็ก การพนัน ค้ามนุษย์ อาวุธ ยาเสพติด ปิดเกินเวลา ถูกจับแล้วโดนปิดแน่นอน” จึงควรประกอบกิจการโดยมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามข้างต้น นายรณรงค์ กล่าวปิดท้ายฯ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมการปกครอง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

“ธรรมนัส” ลงพื้นที่จ.พะเยา ระดมครอบครัวเกษตรฯ ปฏิบัติงานทันที

 

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 เวลา 16.00 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา เป็นประธานการประชุมแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาและบริหารจัดการกว๊านพะเยา  ลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวต้อนรับ รวมทั้ง นายอัครา พรหมเผ่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา นางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนให้การต้อนรับกว่า 1,300 คน และร่วมมอบดอกไม้แสดงความยินดีในโอกาสได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

         “การลงพื้นที่จังหวัดพะเยาในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้กลับมาในจังหวัดพะเยา หลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และขอขอบคุณพี่น้องประชาชน เกษตรกร ที่ได้ให้กำลังใจ ทั้งนี้ ผมจะแถลงและมอบนโยบายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทันที ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐาทวีสินแถลงนโยบายในวันที่ 11 – 12 .นี้ และเตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทันที เพราะปัญหาของพี่น้องเกษตรกรสะสมมานาน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข โดยนโยบายที่จะขับเคลื่อนเร่งด่วน อาทิ การพักหนี้เกษตรกร การยกระดับแปลงใหญ่ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU) การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน(...) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลแล้ว จะลงพื้นที่จังหวัดพะเยาอีกครั้ง โดยจะประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อมอบนโยบายและหารือแนวทางการพัฒนาจังหวัดพะเยาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ อีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

         สำหรับในพื้นที่จังหวัดพะเยา มีประเด็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขและพัฒนา คือ การให้ความช่วยเหลือเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่หนองเล็งทราย การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ของกว๊านพะเยา การติดตามและขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯรวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเพิ่มการกักเก็บน้ำให้มากขึ้น

           โอกาสนี้ รมว.เกษตรฯ ได้นำมังคุดมาแจกจ่ายให้กับประชาชนชาวพะเยา ซึ่งเป็นมังคุดที่รับซื้อจากเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 5 ตัน แบ่งเป็น 4 ตันสำหรับแจกจ่าย  และอีก 1 ตัน ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่เหมาะกับการบริโภคมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรเพื่อใช้ทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ ต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News