เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงแรงงาน ได้ปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดในธุรกิจโรงแรม และเตรียมทยอยขึ้นค่าแรงในธุรกิจ ทั่วประเทศภายในปี 2567 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการสำรวจความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ พบว่า การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้งมักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ผลเชิงบวก คือ เมื่อผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) เพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย กระตุ้นกำลังซื้อดีและการผลิตและการลงทุนดีขึ้น
ทั้งนี้หากผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นอาจช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า เมื่อต้นทุนต่อหน่วยลดลง จะช่วยให้สินค้าในประเทศแข่งขันได้มากขึ้น และเมื่อค่าแรงสูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงาน
ส่วนผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง เช่น ฝรั่งเศส ปี 2543 ค่าแรงขึ้นมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน และถ้าผลิตภาพไม่เพิ่มตามค่าแรง ความสามารถแข่งขันอาจลดลง กระทบการส่งออกและ GDP
ขณะเดียวกัน นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว
เช่นเดียวกับ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า แน่นอนว่าผลกระทบนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน
ส่วนมุมของแรงงาน หรือ ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำรวจทั่วประเทศจำนวน 1,259 ตัวอย่าง พบว่ากรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงได้อย่างที่คาดหวังไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3% ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ราคาสินค้าที่ปรับตัวตาม ซึ่ง60.8% ของแรงงานไม่สามารถรับได้ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงหรือค่าครองชีพ คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจแรงงานจะได้มีรายได้เพิ่ม
หรือนายจ้างช่วยค่าอาหารช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น และมีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย นอกจากนี้ แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน และมีความเสี่ยงจากการไม่มีเงินเก็บซึ่งสัดส่วนถึง 81.3% จะสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยหอการค้า