Categories
TOP STORIES

เคาะ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เน้นย้ำให้คงนโยบาย ‘ห้ามขาย – นำเข้า

 

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่

 

  1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้
  2. สร้างการรับรู้ภยันตราย และการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน
  3. เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  5. ยืนยันนโยบาย และมาตรการป้องกัน และปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบาย ‘ห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า’ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชา ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญโดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณีซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช.ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ นำไปขับเคลื่อนซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช.เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

 

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่า มีความสำคัญ คือ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่า การสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริงจำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะ กล่าว

 

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME