Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

เชียงราย จัดตั้งกองทุนฯ ฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย สูงสุด 150,000 บาท

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 ณ ห้องจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการแถลงข่าว การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเรียงรายฯ โดยมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองรู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว โดยมีนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้ววยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าวในครั้งนี้

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย ได้จัดตั้งกองทุนฯ ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ผ่านบัญชีธนาคาร กรุงไทย สาขาเชียงราย เลขที่บัญชี 504-3-23-732-5 ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ.2567 โดยยอดบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ซึ่งการจัดตั้งกองทุนในครั้งนี้เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย สำหรับการช่วยเหลือด้านสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก ก็ได้มีส่วนราชการ ภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ภาคสังคมสงเคราะห์ เหล่ากาชาด ในการแจกจ่ายสิ่งของเครื่องใช้ เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการดำรงชีพพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ

นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์จังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 67 เป็นต้นมา เกิดอุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในระหว่างวันที่ 14 ส.ค. – 5 ก.ย. 67 จำนวน 18 อำเภอ 106 ตำบล 925 หมู่บ้าน และบางส่วนในเขตเทศบาลนครเชียงราย จำนวน 27 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบ 34,131 ครัวเรือน 127,809 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 31 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 2,861 หลัง ซึ่งเกิดจากน้ำป่าและดินสไลด์ สำหรับภาคการเกษตรได้รับผลกระทบภาพรวม 189,275 ไร่ ส่วนใหญ่ได้แก่ นาข้าว ไร่ข้าวโพด ไร่มัน พืชสวน พืชยืนต้น ด้านปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 356,000 ตัว ด้านประมง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งบ่อปลาและบ่อกุ้ง รวม 4,137 ไร่ ถนนได้รับความเสียหาย 499 จุด สะพานและคอสะพาน 13 แห่ง ฝาย 69 แห่ง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 3 แห่ง ศาสนสถานและวัด 34 แห่ง สถานศึกษาได้รับผลกระทบ 30 แห่ง สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมี 4 อำเภอได้แก่อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น อำเภอพญาเม็งราย และอำเภอขุนตาล ซึ่งทั้ง 4 อำเภอนอกจากได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากน้ำอิงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมทั้งพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำของลำน้ำอิงด้วย

นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง ได้กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม จนถึงปัจจุบันนี้ อำเภอเทิงได้เกิดอุทกภัยขึ้น ได้รับผลกระทบ 10 ตำบล 156 หมู่บ้าน 713 ครัวเรือน มีผู้อพยพมายังศูนย์พักพิงรวมกว่า 105 ราย ซึ่งขณะนี้ทุกคนได้กลับบ้านแล้ว บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 7 หลังคาเรือน แต่ยังถือว่าเป็นเรื่องดีที่สถานการณ์เกิดในช่วงเวลากลางวัน ทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิต มีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บเพียงแค่ 1 รายเท่านั้น

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงกรณีการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัยจำนวน 2 ราย คือ รายที่ 1 นายสุรชัย อายุ 56 ปี เป็นราษฎร ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถูกน้ำป่าพัดร่างขณะขี่จักรยานยนต์เข้าไปทำงานในไร่ ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ องค์การบริหารส่วนตำบลปอ ได้มอบค่าจัดการศพและเงินสงเคราะห์ครอบครัว เป็นเงิน 59,400 บาท และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงราย มอบเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตน มาตรา 33 เสียชีวิตให้แก่ทายาทนายสุรชัยฯ เป็นเงิน 87,353.97 บาท และ คปภ. เยียวยาให้อีก 35,000 บาท รายที่ 2 นายชวฤทธิ์ อายุ 49 ปี เป็นราษฎรบ้านป่าตาลแดง หมู่ที่ 3 ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ถูกน้ำป่าพัดร่างสูญหายตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 67 เวลา 09.00 น. พบร่างในวันที่ 24 ส.ค. 67 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มอบค่าจัดการศพ 29,700 บาท และสำหรับพี่น้องประชาชนที่บ้านเรือนเสียหาย จะได้รับเงินเยียวยาตามระเบียบหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 หลักเกณฑ์ ค่าซ่อมแซมที่พักอาศัยเนื่องจากเสียหายทั้งหลังไม่เกิน 49,500 บาท หลังที่เสียหายบางส่วนเท่าที่เสียหายจริงไม่เกิน 49,500 บาท  
.
ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ของกองทุนฯ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งบ้านที่ได้รับถวามเสียหายทั้งหลัง และมีการประเมินความเสียหายเกินกว่า 1 ล้านบาท  จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 150,000 บาท ความเสียหาย 700,000 – 1 ล้านบาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 125,000 บาท ความเสียหาย 500,000 – 700,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 100,000 บาท ความเสียหาย 300,000 – 500,000 บาท  จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ  75,000 บาท ความเสียหายตำกว่า 300,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 50,000 บาท สำหรับที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายบางส่วน และมีการประเมินความเสียหายเกิน 500,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ 75,000 บาท ความเสียหาย 300,000 – 500,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ ร้อยละ 10 ของประมาณการความเสียหายแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ความเสียหาย 100,000 – 300,000 บาท จะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ ร้อยละ 5 ของประมาณการความเสียหายแต่ไม่เกิน 15,000 บาท หากความเสียหายต่ำกว่า 100,000 บาท จะใช้งบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเยียวยา
.
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การเยียวยาของทาง กองทุนฯ จะสมทบกับการเยียวยาของราชการ เพื่อให้ผู้ประสบภัยกลับมาลุกขึ้นสู้ได้อีกครั้ง ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวเชียงราย และในวันที่ 7-9 กันยายน นี้ ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องของผลกระทบจากพายุฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ซึ่งทางจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดเชียงราย ที่ภายในหอประชุมคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เราต้องร่วมกันเตรียมความพร้อม ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพราะหากเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นอีก เราต้องทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกอำเภอจัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เราทุกคนต้องดูแลซึ่งกันและกัน เพราะเราชาวเชียงรายจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างเด็ดขาด
จากนั้น ผู้เข้าร่วมแถลงข่าวได้รับชมคลิปวีดีโอสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือในจังหวัดเชียงราย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้รับมอบเงินและสิ่งของจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ร้านค้า เข้าสู่กองทุนฯ เพื่อนำไปช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

“จากใจคนใต้ ถึงใจพี่น้องคนเหนือ” ร่วมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น. ที่อาคารปฏิบัติการไปรษณีย์เชียงราย โครงการ “จากใจคนใต้ ถึงใจพี่น้องคนเหนือ” ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนของชุมชนเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ / นครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการส่งมอบสิ่งของบริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.เชียงราย) นำโดยนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้มอบหมายให้กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบจ.เชียงราย เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เชียงราย และกำลังพลจาก มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) ร่วมกันรับของบริจาคเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

การบริจาคที่เริ่มต้นจากใจคนใต้

โครงการนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 31 สิงหาคม 2567 โดยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในจังหวัดสงขลา เช่น สมาคมชุมชนสร้างสรรค์, สมาคมชาวเหนืออีสานจังหวัดสงขลา, ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ , เคแอนด์เคชุปเปอร์สโตร์ , สงขลาโฟกัส, นครเชียงรายนิวส์ , พะเยาน่าอยู่ ,ไปรษณีย์เขต9 , มูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้, โดยเป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวใต้ร่วมบริจาคสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง และสิ่งของจำเป็นต่างๆ การบริจาคครั้งนี้ไม่รับเงินบริจาค เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งของที่ได้รับจะส่งตรงไปยังผู้ที่ต้องการในทันที จุดรับบริจาคตั้งอยู่ที่ เคแอนด์เค ชุปเปอร์สโตร์ ถนนนวลแก้ว และ ลานจอดรถหน้าห้างไดอาน่า ถนนศรีภูวนารถ มีการรับบริจาคตั้งแต่เวลา 08.00 น. จนถึง 20.00 น.

การตอบรับจากชุมชนในสงขลาเป็นอย่างดี พี่น้องคนใต้ต่างนำสิ่งของมาร่วมบริจาคกันอย่างล้นหลาม ซึ่งของบริจาคเหล่านี้ได้ถูกจัดส่งมายังเชียงราย เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนที่ทับถมในหลายหมู่บ้าน

สถานการณ์น้ำท่วมในเชียงราย

ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 หลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย เช่น อำเภอเทิง, อำเภอพญาเม็งราย, อำเภอขุนตาล, และ อำเภอเชียงของ ยังคงมีน้ำท่วมสูง แม้ระดับน้ำจะลดลงวันละประมาณ 10-15 เซนติเมตร แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังการมาของมวลน้ำรอบใหม่ที่คาดว่าจะถูกปล่อยมาจากกว๊านพะเยา ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำอิง มวลน้ำดังกล่าวอาจจะทำให้สถานการณ์กลับมารุนแรงอีกครั้งในไม่ช้า

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง ทางจังหวัดเชียงรายได้จัดการแจกถุงยังชีพและตั้งโรงครัวพระราชทานในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งทำความสะอาดบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม กรมชลประทานเองก็เร่งระบายน้ำจากแม่น้ำอิงลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว เพื่อคลี่คลายปัญหาที่ชาวบ้านประสบอยู่

การรับมอบสิ่งของบริจาคในเชียงราย

ทางด้านเชียงราย สิ่งของบริจาคจากโครงการ “จากใจคนใต้ ถึงใจพี่น้องคนเหนือ” ได้ถูกส่งมอบของบริจาคมายังทางจังหวัดเชียงราย โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เป็นผู้รับมอบสิ่งของและจัดสรรไปยังพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน

นอกจากทางส่วนกลางจังหวัดเชียงรายแล้ว ยังได้รับสิ่งเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง มอบให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยมีนายกนก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย พร้อมด้วยนายวิญญู ทองทัน เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย เป็นผู้ดูแลการรับมอบ นอกจากนี้ นางวรินทร ยานะนวล หัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้ประสบภัย กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมไปถึงนายจิราวุฒิ แก้วเขื่อน ที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงราย และเจ้าหน้าที่การกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกันประสานงานเพื่อส่งมอบของบริจาคไปยังพื้นที่ประสบภัยที่ยังต้องการความช่วยเหลือ

การร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน

กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานและภาคส่วนในจังหวัดเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เชียงราย และกำลังพลจาก มณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งการแจกจ่ายถุงยังชีพ การจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน และการประสานงานกับกรมชลประทานในการเร่งระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำท่วมในพื้นที่

การตอบสนองต่อวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของคนไทยจากทุกภูมิภาค พี่น้องคนใต้ที่ร่วมบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือพี่น้องภาคเหนือ และหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โครงการ “จากใจคนใต้ ถึงใจพี่น้องคนเหนือ” นับเป็นตัวอย่างที่ดีของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยในการเผชิญกับภัยพิบัติ

ขอขอบคุณพี่น้องคนใต้

ทางสำนักข่าว นครเชียงรายนิวส์ ในฐานะสื่อท้องถื่นในการประสานงานโครงการ ขอขอบคุณพี่น้องชาวใต้ที่ได้ร่วมบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือพี่น้องภาคเหนือในครั้งนี้ โดยหวังว่าความร่วมมือเช่นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยทั่วประเทศร่วมแรงร่วมใจกันในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามวิกฤต

โครงการ “จากใจคนใต้ ถึงใจพี่น้องคนเหนือ” จึงแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยในการเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นจากภาคใต้หรือภาคเหนือ ล้วนมีส่วนช่วยให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในภาวะที่ประเทศต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ความสามัคคีจะทำให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างเข้มแข็ง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ชลประทานเชียงราย ยืนยันไม่กระทบ มวลน้ำเข้าเมืองทุกสายไหลลงสู่แม่น้ำกก

 

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 67 นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย พร้อมด้วย นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หน. กลุ่มนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย และนายประพันธ์ ช่างแก้ว หัวหน้าฝ่ายปกครอง (นักบริหารงานทั่วไป) เทศบาลนครเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตรวจสถานที่กักเก็บน้ำ / กั้นน้ำ แหล่งน้ำ และทางระบายน้ำ คลองผันน้ำอาคารควบคุมน้ำ และทิศทางการไหลของน้ำ ในเขตตัวเมืองเชียงราย โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์สำหรับวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนเมืองเชียงราย

     โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ตรวจสอบท่อส่งน้ำบริเวณหัวสนามบิน ฝูงบิน 416 ตำบลรอบเวียง จุดที่ 2 ตรวจสอบประสิทธิภาพการผันน้ำของคลองผันน้ำแม่กรณ์สู่แม่น้ำกกที่บริเวณบ้านหัวฝาย ตำบลรอบเวียง จากนั้นได้เดินทางไปตรวจสอบทิศทางการไหลของน้ำที่ฝายชัยสมบัติ ต.ท่าสาย อ.เมืองเชียงราย และที่บริเวณอาคารควบคุมน้ำ การรับน้ำ และการระบายน้ำ ณ เขื่อนเชียงราย เดิมเรียกว่า (ฝายเชียงรายเดิม) ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย 

ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของแม่น้ำกก ที่อยู่ในเขตตัวเมืองเชียงราย ไหลผ่านลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ตามที่อุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนว่า ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อน และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 โดยในบริเวณประเทศไทยตอนบน สภาพอากาศมีฝนตกชุกหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ 60 และต่อเนื่อง 3 วันขึ้นไป โดยพื้นที่จังหวัดเชียงรายเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม ถึง 3 สิงหาคม 2567 เป็นเหตุให้เกิดอุทกภัยและดินสไลด์ มีผลกระทบระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 และอาจส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงช่วงฤดูฝนปีนี้ โดยทางผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย ยืนยันว่ามวลน้ำทุกสายที่ไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองเชียงราย และไหลลงสู่แม่น้ำกก ผ่านไปยังแม่น้ำโขงไม่กระทบต่อชุมชนในเขตเมือง และพื้นที่อื่นๆ อย่างแน่นอน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

7 วันอันตรายเชียงราย สังเวยแล้ว 2 ราย อุบัติเหตุ 9 ครั้ง เจ็บ รวม 7 คน

 

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 66 นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 จังหวัดเชียงราย ณ ห้องประชุมอูหลง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย พร้อมคณะกรรมการศูนย์ฯ เข้าร่วมประชุม และประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านจอภาพ (Video Conference) พร้อมกันทั่วประเทศ 

 

โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเพื่อติดตามข้อสั่งการ และสรุปยอดผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนเพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุในการวางมาตรการป้องกันเเละลดอุบัติเหตุ ในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ข้อมูลประจำปวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตามบริบทแต่ละพื้นที่ 

 

โดยขอให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ประสานศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการรายงานข้อมูลด่านชุมชนเพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และให้จังหวัดเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายตาม 10 รสขม มาตรการหลักและให้ด่านชุมชนตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ที่ผิดและฝ่าฝืนกฎหมายโดยให้คำแนะนำและห้ามปราม หากฝ่าฝืนประสานตำรวจบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีทันที พบว่าไม่สวมหมวกนิรภัย 488 ราย ไม่มีใบขับขี่ 224 ราย ดื่มแล้วขับ 87 ราย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 8 ราย

 

 

สรุปข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2567 จังหวัดเชียงราย ของวันที่ 30 ธ.ค. 66 มีอุบัติเหตุทางถนนในจังหวัดเชียงรายเกิดขึ้นรวม 9 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) รวม 7 คน เป็นเพศชาย 6 คน เพศหญิง 1 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นเพศชาย 2 ราย สาเหตุเกิดจากขับรถเร็วเกินกำหนด ดื่มแล้วขับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ รถจักรยานยนต์ โดยจังหวัดเชียงรายได้บูรณาการร่วมในการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ได้มีการตั้งจุดตรวจหลักทั้งหมดรวม 35 จุดตรวจ และจุดบริการหน่วยงาน / อปท. มีผู้ปฏิบัติหน้าที่ จำนวน 1,119 คน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News