Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ นับหมื่นคนในเชียงราย

ครม. เตรียมรับมือฝุ่น PM2.5 และปัญหาสัญชาติ พร้อมบูรณาการแก้ไขแบบครบวงจร

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือเรื่องมาตรการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูหนาว โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำในการบูรณาการมาตรการป้องกันและลดผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ซึ่งต้องทำงานร่วมกันกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคมนาคมและภาคอุตสาหกรรม

มาตรการบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 หลายมิติ

ในการประชุมดังกล่าว มีการพูดถึงแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยใช้หลายมาตรการ ทั้งการคุมเข้มการตรวจสอบยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ การลดการเผาวัสดุทางการเกษตร เช่น ข้าวโพดและอ้อย รวมถึงการควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม โดยขอความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ ให้ตรวจจับและควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างเข้มงวด ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จะมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจจับรถยนต์ที่ปล่อยควันดำ ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมจะควบคุมมาตรการในโรงงานและกิจการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะโรงงานที่มีการเผาไหม้หรือใช้สารเคมีที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังได้เสนอแผนการจัดการไฟป่าและการควบคุมหมอกควันข้ามแดนที่เข้มงวดเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปี 2568 ซึ่งจะมีมาตรการทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด เช่น การสร้างแผนที่เสี่ยงการเผา การตั้งจุดตรวจสกัดในพื้นที่เสี่ยง การตรวจจับการเผาในเขตชุมชนและริมทาง รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้วิธีการที่ไม่ต้องเผาในการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก โดยการให้สิทธิประโยชน์และสนับสนุนเกษตรกรที่ปฏิบัติตามแนวทางนี้

แนวทางแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล

อีกหนึ่งวาระสำคัญในที่ประชุม ครม. คือการเร่งรัดแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติให้แก่ผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน รวมถึงบุตรที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังคงเหลือบุคคลที่รอการพิจารณาสถานะถึง 483,626 ราย โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอให้ปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลาพิจารณาถึง 270 วัน ปรับลดลงเหลือ 5 วัน ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาสถานะบุคคลเกิดประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น

มติสำคัญในการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจก

ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีการเห็นชอบในวาระสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ การสนับสนุนโครงการความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย-เยอรมัน เพื่อการพัฒนาพลังงานและการเคลื่อนย้ายด้วยเงินอุดหนุน 234 ล้านบาท การส่งเสริมชุมชนคาร์บอนต่ำในระดับพื้นที่ การควบคุมโรงงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชน และมาตรการรับมือสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในปี 2568 ซึ่งจะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับภาคและระดับจังหวัดเพื่อประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหา

บทสรุปของแนวทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ

ในช่วงท้ายของการประชุม ครม. ได้ย้ำถึงการเตรียมความพร้อมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เช่น การควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะ โรงงาน การเผาในพื้นที่ชุมชน รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุข เช่น การสื่อสารเตือนประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิดผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

งดเก็บค่าไฟก.ย. ลด 30% เดือน ต.ค.เยียวยาพื้นที่ประสบน้ำท่วม

 

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล  นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ เรื่องของมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับค่าไฟฟ้าในเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม 2567 โดยที่เดือนกันยายน จะไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า และในเดือนตุลาคมจะให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ในระยะ 2-3 ฟื้นฟูและการพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธกส. เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยในระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึง กันยายน 25661 ตุลาคม 2567 ถึง 30 กันยายน 2568 ส่วนระยะ 3 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2568 ไปจนถึง 30 กันยายน 2569

 

นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยอีกว่า จากการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร ได้สั่งการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะอนุกรรมการ อคส. และ ศปช. ดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ 

 

เพื่อใช้สำหรับการรายงานตัวของอาสาสมัคร เพื่อแบ่งหน้าที่ และความรับผิดชอบ และใช้ในการรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้รับคำแนะนำมาว่า การรายงานตัวของอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มีการรายงานซ้ำซ้อน ทำให้เสียเวลา และเตรียมจะใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวในการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา และการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้เกิดการบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในส่วนของภาครัฐ ภาคประชาชน รวมถึงเร่งรัดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย หรือ ปภ. เร่งดำเนินการใช้ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast Service เพื่อให้การเตือนภัยให้ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

 

เมื่อถามว่าในอนาคตที่จะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในการจ่ายเงินเยียวยา และเช็กสิทธิต่าง ๆ ประชาชนควรโหลดแอปฯ ดังกล่าวเก็บไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องนี้ได้เคยประชาสัมพันธ์โครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้วว่าให้โหลดแอปฯ ดังกล่าวไว้ เพราะนอกจากการลงทะเบียน ยังเป็นการต่อยอดเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเยียวยา รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลพยายามพัฒนาระบบนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลถึงประชาชนโดยตรงให้ได้มากที่สุด เวลาที่เราจ่ายเงินเพื่อความรวดเร็วในเวลาที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยา ก็จะรวดเร็วขึ้น จึงขอให้ประชาชนโหลดแอปฯ ดังกล่าวไว้ และลงทะเบียนใส่ข้อมูลสำคัญให้ครบถ้วน 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทำเนียบรัฐบาล

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI

ครม.ตั้งศูนย์อำนวยการอุทกภัย ใช้งบฯ ทดลองจ่าย 20 ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมองว่าน้ำท่วมเป็นปัญหาซ้ำซากเรื้อรังมานานจากหลายปัจจัย ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การกักเก็บน้ำ การไม่มีที่รองรับน้ำในภาคเหนือ ทำให้มีปัญหาน้ำท่วมหนักทุกปี ต้องช่วยเหลือผู้ที่ลำบากทุกปี

โดยเฉพาะในปีนี้ (2567) มีมวลน้ำปริมาณมาก สถานการณ์ฝนตกมีความแตกต่างจากที่ผ่านมา มีภาวะฝนตกเป็นจุดๆ จากปัญหาโลกร้อน ซึ่งปัญหานี้นับวันจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงมีการวางแนวทางการบริหารจัดการ คือ

1.ต้องมีการบริหารจัดการไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปมากกว่านี้

2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหลังน้ำลด

3.การแก้ปัญหาระยะยาว โดยบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อมีคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศก็จะบรรจุเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้ทัน

รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้คาดการณ์สถานการณ์บางพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว แต่บางพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมยังหนักอยู่ เช่น จังหวัดสุโขทัย ซึ่งยอมรับว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนระบายสู่จังหวัดต่างๆ ถือว่าค่อนข้างหนัก คันกั้นน้ำไม่สามารถรับได้ จึงเกิดกรพังทลาย คันกั้นน้ำยังมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว 

และนำมาสู่การตั้งศูนย์แก้ปัญหาให้มีเอกภาพ จึงตั้งเป็นศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย มีอำนาจหน้าที่และการใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีนายภูมิธรรม เวชชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน

ส่วนองค์ประกอบที่เหลือคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยแบ่งภารกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 

1.การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ การแจ้งเตือน ให้ทราบข่าวว่าน้ำจะมาประมาณ ไหน ไม่ให้เกิดความตระหนก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำนวณและยืนยันว่าจะไม่ถึงสถานการณ์ปี 2554 โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ จะเป็นผู้ดูแล 

2.การดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหลักในการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน

สำหรับงบประมาณที่ใช้จะใช้จากงบประมาณกลาง อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งบางจังหวัดมีการประกาศพื้นภัยพิบัติจะใช้งบทดลองจ่าย จำนวน 20 ล้านบาท หากไม่เพียงพอต้นสังกัดจะขอมาที่งบกลาง แต่เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้วการดำเนินการทุกอย่างจะต้องรวดเร็วตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“หน้าที่มีทั้งการป้องกัน แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งต้องดูสถานการณ์ในรายจังหวัด เช่น จังหวัดน่านสถานการณ์น้ำท่วมผ่านไปแล้วจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟู ส่วนจังหวัดที่น้ำยังมาไม่ถึงจะป้องกันอย่างไร เช่น จังหวัดนครสวรรค์ หรือต่ำกว่านั้น ก็ต้องหามาตรการป้องกัน แก้ไขไม่ใช่ทำงานเชิงรับ” รองเลขาธิการนายกฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

ครม.สั่งศึกษาแนว “นักศึกษาฝึกงาน” ต้องได้เงินค่าตอบแทน และเบี้ยเลี้ยง

 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า การฝึกงานเป็นการจัดระบวนการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา โดยการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานไม่มีลักษณะเป็น “ลูกจ้าง” ตามสัญญาจ้างแรงงาน มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติงานโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของ “การศึกษาเพื่อให้สำเร็จตามหลักสูตร” เท่านั้น 

จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเช่นเดียวกับลูกจ้าง และปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานในระดับอุดมศึกษาโดยตรง ปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นทางการ เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้เกิดการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ดังนั้นจึงได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 4 ประเด็น ดังนี้

1. สิทธิของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาฝึกงาน การกำหนดค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยง การจัดทำประกันอุบัติเหตุการมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานในที่ทำงานแก่ผู้รับการฝึกอบรมฝีมือแรงานและผู้ฝึกงานอาชีวศึกษา แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานระดับอุดมศึกษาโดยตรง 

หากกรณีมีปัญหาเกิดขึ้นโดยเฉพาะกรณีค่าตอบแทน การประสบอันตราย หรือการเจ็บป่วยจากการฝึกปฏิบัติงานอาจต้องเทียบเคียงจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะเกิดความยุ่งยากหรือเกิดปัญหาการตีความ ทำให้นักศึกษาฝึกงานไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม

2. การคุ้มครองนักเรียน นิสิตและนักศึกษาฝึกงาน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาฝึกงานได้รับความคุ้มครองตามฎหมาย นั้น นักเรียนระดับอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการ พ.ศ. 2565 เรียบร้อยแล้ว 

ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาตรีควรมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาได้รับการคุ้มครองในระหว่างการฝึกงาน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานกลาง 

เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่ละแห่งจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการส่งนักศึกษา เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการและการคุ้มครองนักศึกษาระหว่างการฝึกงานให้เหมาะสมกับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยกระทรวงแรงงาน สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน

3. ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ควรสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการสร้างความตระหนักการสร้างความรู้ความเข้าใจ การกำหนดมาตรการป้องกันและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และตำเนินการเมื่อเกิดกรณีการร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศอย่างทันท่วงที รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศขึ้น

4. ข้อเสนอการยกระดับการคุ้มครองการฝึกงานในประเทศไทยของศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรม ศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในภาคีได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติการฝึกงาน พ.ศ. …. เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้ ในฐานะลูกจ้างคนหนึ่ง 

โดยสถาบันอุดมศึกษาอาจอนุญาตให้บุคลากรและผู้เรียนไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตามระเบียบที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนดตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 

ดั้งนั้น สภาสถาบันอุดมศึกษา อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดระเบียบการฝึกงานหรือเงื่อนไขหลักเกณฑ์การฝึกงานของนักเรียน นักศึกษาฝึกงาน ให้ครอบคลุมเนื้อหาและรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562

นายคารม กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณารายละเอียดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ และศึกษาแนวทางการออกกฎหมาย เช่น กฎหมายฉบับรอง มาบังคับใช้ต่อไป

  






เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAMกองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News

MOST POPULAR
FOLLOW ME


Facebook


Times


Instagram


Youtube


Line

NEWS UPDATE
BREAKING NEWS


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566

Categories
SOCIETY & POLITICS

รับทราบกันการทุจริต ​คณะรัฐมนตรีมีมติ รับข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. เงินอุดหนุน ‘อปท.’

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (20 มิถุนายน 2566) มีมติรับทราบกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนของ อปท. กรณีรัฐอุดหนุนแก่ อปท. ดังนี้ 

1. ข้อเสนอด้านการจัดทำคำขอและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน ซึ่ง 1) ควรมีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งวิธีการและระยะเวลาในการส่งเสริมและพัฒนารายได้ให้กับ อปท. 2) ในขณะที่ อปท. ยังไม่มีเงินเพียงพอต่อการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ควรพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. ในรูปแบบเงินอุดหนุนทั่วไป โดยลดการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ซึ่งมักมีปัญหาการทุจริตจากการวิ่งเต้นและการบริหารงานงบประมาณให้เหลือน้อยที่สุด 3) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และตัวชี้วัดอย่างชัดเจนในการจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจให้แก่ อปท. เพื่อลดอำนาจการใช้ดุลยพินิจในการจัดสรรโดยมิชอบ 4) ควรเร่งดำเนินการให้ อปท. เป็นหน่วยงานที่ขอรับเงินงบประมาณโดยตรง 

2. ข้อเสนอด้านการนำเงินอุดหนุนไปจัดทำข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ และการบริหารจัดการงบประมาณเงินอุดหนุน 1) ควรกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของ อปท. อย่างเป็นรูปธรรมและเข้มข้นในทุกกระบวนการ 2) ควรส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของสมาชิกสภาท้องถิ่น และประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาท หน้าที่ และอำนาจกฎหมาย ระเบียบ และข้อกำหนดต่าง ๆ 3) ควรส่งเสริมและพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในของ อปท. ทั้งในด้านประสิทธิภาพ ความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ 4) ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการของ อปท. 

3. ข้อเสนอด้านการติดตามและประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน 1) ควรดำเนินการให้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ (Big Data) 2) ควรกำหนดรูปแบบการรายงานผลการดำเนินงานของ อปท. ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 3) ควรกำชับให้ผู้ใช้อำนาจในการกำกับดูแล อปท. ตรวจสอบติดตามและการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของ อปท. 4) ควรสนับสนุนให้ อปท. ทุกแห่งใช้ระบบการจ่ายเงินโดยให้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) 5) ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้จ่ายและการบริการเงินอุดหนุนของ อปท. ว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการหรือไม่

ทั้งนี้ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับเงินอุดหนุนของ อปท. กรณี อปท. อุดหนุนไปยังหน่วยงานอื่น ดังนี้ 

1. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่หน่วยงานอื่นโดยไม่เป็นไปตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่กำหนดรวมถึงหน่วยงานที่รับเงินอุดหนุนจาก อปท. ใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามระเบียบและวัตถุประสงค์ อันอาจนำไปสู่การทุจริต 1) ควรแจ้งและกำกับให้ อปท. กำหนดมาตรการควบคุมภายใน โดยให้จัดทำแผนการตรวจสอบประเด็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงต่อการใช้จ่ายงบประมาณเงินอุดหนุน และควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับการติดตามว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ 2) ควรกำหนดระเบียบห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้แก่หน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ในปีงบประมาณถัดไป 3) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนโครงการที่มีลักษณะเกี่ยวกับการจัดหาครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง 4) ควรกำหนดให้ อปท. ต้องจัดให้มีวิธีการที่จะให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการ 5) ควรให้ความสำคัญในการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ต้องให้ความสำคัญทั้งในส่วนของ อปท. ที่ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุน และการดำเนินการของหน่วยงานที่ขอรับเงินอุดหนุน พร้อมรายงานผลต่อสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย

2. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานที่ทำการปกครองอำเภอ และสำนักงานจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกำกับดูแล อปท. ตามกฎหมายอันเป็นการขัดกันต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแลเพื่อให้เกิดความถูกต้องและปราศจากการทุจริตทุกรูปแบบ 1) แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินอุดหนุนฯ โดยห้าม อปท. ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้ที่ทำการปกครองอำเภอและสำนักงานจังหวัด 2) กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ผู้กำกับดูแล อปท. ให้ อปท. ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการของ มท.

3. ประเด็น อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้า การประปา และองค์การจัดการน้ำเสีย) โดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางเช่นเดียวกับหน่วยงาน/องค์กรอื่นที่ขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท. 1) ห้าม อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนตามโครงการขยายเขตไฟฟ้าและประปา เพื่อจำหน่าย 2) ในกรณีที่ อปท. ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่ออุดหนุนให้รัฐวิสาหกิจในภารกิจตามหน้าที่ของ อปท. จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการให้เงินอุดหนุนหน่วยงานอื่นคือให้นำเงินอุดหนุนนับรวมในอัตราส่วนไม่เกินร้อยละของรายได้จริงในปีงบประมาณที่ผ่านมา

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

ครม. “ประยุทธ์” ปฏิรูปกฎหมาย ล้างวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 

1.ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. …. 

2.ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. และ 

3.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….

 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับจะสนับสนุนให้การบังคับใช้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะมีผบังคับใช้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นี้เกิดผลได้จริง เพื่อเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญโดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดเพียงเล็กน้อยต้องชำระค่าปรับอย่างเดียว ไม่มีการจำคุกหรือกักขังแทนการปรับ และไม่มีการลงบันทึกในประวัติอาชญากรรม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังผลักดันให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลบล้างวาทกรรม ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ และเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย 

 

สาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ สรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ร่างกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจง หรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. …. จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสวงหาข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้รู้ว่ามีการกระทำความผิดทางพินัยหรือไม่และใครเป็นผู้กระทำความผิด และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพบเห็นว่ามีบุคคลกำลังกระทำความผิดทางพินัย หรือแทบจะไม่มีความสงสัยว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดทางพินัย และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแจ้งเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบข้อกล่าวหา พร้อมทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และแจ้งด้วยว่าผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิจะให้การทันทีหรือจะให้ถ้อยคำภายหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ได้ และกำหนดกรอบเวลาให้การพิจารณาและออกคำสั่งปรับเป็นพินัยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยสามารถขยายระยะเวลาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนในกรณีที่จะฟ้องคดีต่อผู้ถูกกล่าวหา เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องส่งสำนวนให้พนักงานอัยการอย่างช้าไม่น้อยกว่า 45 วันก่อนวันที่คดีจะขาดอายุความ

 

2.ร่างกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้การชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ 

(1) ธนาคาร 

(2) หน่วยบริการรับชำระเงินที่เป็นของรัฐหรือเอกชนตามที่หน่วยงานของรัฐกำหนด 

(3) เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) 

(4) บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 

(5) โมไบล์แบงกิง (Mobile Banking) 

(6) อินเทอร์เน็ตแบงกิง (Internet Banking) 

(7) สถานที่หรือวิธีการอื่นใดที่สามารถเข้าถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยทุกช่องทางหน่วยงานรัฐจะไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

3.ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. เป็นการวางระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย รวมทั้งระยะเวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับ เป็นพินัย พ.ศ. 2565 ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีช่องทางติดต่อสื่อสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นใด สามารถขยายเวลาการดำเนินการปรับเป็นพินัยได้ สามารถผ่อนชำระได้ และจำนวนค่าปรับเป็นพินัยต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับแต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยกำหนดไว้

 

“รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลงานด้านการปฏิรูปกฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เห็นเด่นชัดเพราะท่านนายกฯ มีความจริงใจที่จะดำเนินการลดความเหลื่อมล้ำ ยกเลิกวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน” ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. จึงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดทางพินัยมีฐานะยากจนและกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อยังชีพของตนและครอบครัว ให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยในอัตราต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาทหรือไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ และสามารถขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยโดยพิจารณาฐานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และภาระหนี้สินของผู้กระทำความผิดทางพินัย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News